บริษัทญี่ปุ่นขนาดใหญ่มองเศรษฐกิจปีนี้ซบเซา

บริษัทญี่ปุ่นขนาดใหญ่มองเศรษฐกิจปีนี้ซบเซา

ปีนี้เป็นปีที่ไม่น่าจะสดใสมากนักในมุมมองของภาครัฐและเอกชนในญี่ปุ่น ล่าสุด ผลสำรวจของเกียวโด นิวส์ บ่งชี้ว่า มีบริษัทขนาดใหญ่ของญี่ปุ่นแค่ 56% เท่านั้นที่คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจจะขยายตัวในปีนี้

ผลสำรวจที่เปิดเผยเมื่อวันจันทร์ (2 ม.ค.) บ่งชี้ว่า มีเพียงบริษัทขนาดใหญ่ในญี่ปุ่นประมาณครึ่งหนึ่งเท่านั้นที่คาดว่า เศรษฐกิจของประเทศจะเติบโตในปี 2566 โดยอ้างเหตุผลจากราคาทรัพยากรธรรมชาติและวัตถุดิบที่พุ่งสูงขึ้น อันเนื่องจากสงครามยูเครนและสกุลเงินเยนที่อ่อนค่า

ผลสำรวจบริษัทรายใหญ่ 117 แห่ง ซึ่งรวมถึงโตโยต้า มอเตอร์ คอร์ป และซอฟต์แบงก์ กรุ๊ป คอร์ป ระบุว่า บริษัท 65 แห่ง หรือ 56% คาดว่า เศรษฐกิจญี่ปุ่นจะขยายตัวอย่างแข็งแกร่งหรือปานกลางในปีนี้ ซึ่งลดลงอย่างมากจากระดับ 84% ของปีที่ผ่านมา

บริษัทโดยรวมคาดว่าเศรษฐกิจจะขยายตัวที่ระดับต่ำที่สุดเป็นอันดับ 2 ในรอบ 10 ปีของการสำรวจ โดยบริษัทต่าง ๆ ยังคงระมัดระวังเกี่ยวกับการชะลอตัวของเศรษฐกิจสหรัฐและจีนในปี 2566

การสำรวจ ซึ่งจัดทำขึ้นระหว่างปลายเดือนพ.ย. - ถึงกลางเดือนธ.ค. ปี2565 บ่งชี้ว่า บริษัท 40 แห่ง หรือ 34% เชื่อมั่นว่าเศรษฐกิจจะทรงตัว ขณะที่อีก 7 แห่งคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจจะหดตัวในระดับปานกลาง และไม่มีบริษัทใดเชื่อว่า เศรษฐกิจจะเข้าสู่ภาวะถดถอย

นอกจากนี้ 92% ของบริษัทที่คาดว่าเศรษฐกิจจะขยายตัวนั้นระบุถึงการฟื้นตัวของการใช้จ่ายของผู้บริโภค หลังร่วงลงเนื่องจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19

ทั้งนี้ 70% ของบริษัทที่คาดว่าเศรษฐกิจจะไม่เติบโตระบุเหตุผลว่า เนื่องจากราคาทรัพยากรธรรมชาติและวัตถุดิบที่สูงขึ้น ขณะที่ 45% คาดว่าการบริโภคส่วนบุคคลจะซบเซา และ 40% ระบุถึงการชะลอตัวของเศรษฐกิจทั้งในสหรัฐและจีน

เมื่อวันที่ 28 ธ.ค.ที่ผ่านมา กระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรม (เมติ) ของญี่ปุ่นเปิดเผยว่า ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมของญี่ปุ่นในเดือนพ.ย.ปรับตัวลงเป็นเดือนที่ 3 ติดต่อกัน เนื่องจากอุปสงค์ผลิตภัณฑ์เครื่องจักรอ่อนแอลงท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจโลกที่ซบเซา

ข้อมูลระบุว่า ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมของญี่ปุ่นในเดือนพ.ย. ลดลง 0.1% เมื่อเทียบเป็นรายเดือน ซึ่งลดลงน้อยกว่าที่ค่ากลางที่ตลาดคาดการณ์ว่าอาจจะลดลง 0.3%

ถือเป็นเดือนที่ 3 ติดต่อกันที่การผลิตภาคอุตสาหกรรมของญี่ปุ่นหดตัวลง หลังจากที่ลดลง 3.2% ในเดือนต.ค. และ 1.7% ในเดือนก.ย. โดยผลผลิตเครื่องจักรทั่วไป ร่วงลง 7.9% ขณะที่ผลผลิตเครื่องจักรการผลิต ลดลง 5.7% ฉุดรั้งดัชนีผลผลิตรวมในเดือนพ.ย. นอกจากนี้ ผลผลิตผลิตภัณฑ์รถยนต์หดตัว 0.8% ด้วยเช่นกัน

เมติ ระบุว่าความต้องการอุปกรณ์ผลิตเซมิคอนดักเตอร์และจอแบนมีแนวโน้มลดลงในตลาดต่างประเทศ เช่น จีน ยุโรป และอเมริกาเหนือ

ที่ผ่านมา “มาร์เซล ธีเลียนท์” นักเศรษฐศาสตร์จากแคปิตอล อีโคโนมิกส์ บริษัทวิจัยด้านเศรษฐกิจระดับโลกเปิดเผยในรายการ Squawk Box Asia ของซีเอ็นบีซีว่า เศรษฐกิจญี่ปุ่นจะเข้าสู่ภาวะถดถอยในปี 2566 เนื่องจากการขยายตัวของการส่งออกชะลอลง และความระมัดระวังที่เพิ่มมากขึ้น ซึ่งมักเกิดขึ้นเมื่อการส่งออกเริ่มลดลง

ขณะที่สำนักงานคณะรัฐมนตรีญี่ปุ่น รายงานว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ไตรมาส 3/2565 หดตัวลง 1.2% เมื่อเทียบเป็นรายปี ซึ่งเป็นการหดตัวครั้งแรกในรอบ 1 ปี สวนทางกับการคาดการณ์ของตลาด เนื่องจากการอุปโภคบริโภคชะลอตัวลง และยอดการนำเข้ามีปริมาณสูงกว่าการส่งออก

เมื่อเทียบเป็นรายไตรมาส ตัวเลขจีดีพีไตรมาส 3 หดตัวลง 0.3% สวนทางกับที่นักเศรษฐศาสตร์คาดการณ์ว่าจะขยายตัว 0.3%

รายงานระบุว่า การอุปโภคบริโภค ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนกว่าครึ่งหนึ่งของระบบเศรษฐกิจญี่ปุ่นปรับตัวขึ้น 0.3% ซึ่งแม้ว่าดีกว่าที่ตลาดคาดการณ์ว่าจะขยายตัว 0.2% แต่ก็ชะลอตัวลงอย่างมากจากไตรมาส 2 ที่มีการขยายตัว 1.2%

นอกจากนี้ เศรษฐกิจญี่ปุ่นยังได้รับแรงกดดันจากอัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้น และเงินเยนที่อ่อนค่าลงอย่างต่อเนื่อง โดยดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) พื้นฐานซึ่งไม่รวมราคาในหมวดอาหารสด พุ่งขึ้นแตะระดับสูงสุดในรอบ 8 ปีในเดือนก.ย.