ส่อง 10 ปรากฏการณ์แห่งปี 2565 เหตุการณ์ใหญ่เขย่าโลกธุรกิจ

ส่อง 10 ปรากฏการณ์แห่งปี 2565 เหตุการณ์ใหญ่เขย่าโลกธุรกิจ

ปีเก่ากำลังจะผ่านพ้นไป เข้าสู่ปีกระต่ายทอง หรือปีใหม่ 2566 ผู้อ่านยังจำกันได้ไหม ตลอดทั้งปี 2565 เกิดปรากฏการณ์เชิงบวกอะไรบ้างในโลกการตลาด รวมถึงเรื่องราวสุด “ดราม่า” เป็นกรณีศึกษาให้กับแบรนด์ซ้ำแล้วซ้ำเล่า

กรุงเทพธุรกิจ สรุป 10 ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นตลอดทั้งปี มีเรื่องไหน ตรงใจกันบ้างติดตาม

1.สินค้าขึ้นราคาแห่งปี ต้องยกให้เป็นปรากฏการณ์สำคัญอีกครั้งของวงการบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป “หมื่นล้านบาท” เพราะปี 2565 ที่ผ่านมา ผู้ประกอบการอ้อนรัฐแล้วอ้อนอีก เพื่อขอ “ปรับราคา”​ บะหมี่ฯ จาก 6 บาท เป็น 8 บาทต่อซอง ซึ่งถือเป็นสินค้าหลักที่ครองสัดส่วนใหญ่ของตลาด

ทว่า ความที่ “บะหมี่ฯ” เป็นสินค้าการเมือง ที่รัฐไฟเขียวให้ขึ้นราคา ย่อมโดนประชาชนก่นด่า ยิ่งกว่านั้น ถูกนำมาเป็น “ดัชนีชี้วัด” ภาวะเศรษฐกิจเติบโต-ถดถอยด้วย หากเคาะให้เอกชนขึ้นราคา ย่อมโดนเล่นงานจากหลายด้าน

ทั้งนี้ ภาวะสงครามความขัดแย้งระหว่าง “รัสเซีย-ยูเครน” ทำให้ต้นทุนวัตถุดิบหลายตัวพุ่งแรง อย่างแป้งสาลี รวมๆทำให้ผู้ประกอบการยักษ์ใหญ่บะหมี่ฯ 5 ราย ลงความเห็นว่าต้นทุนสูงในรอบ 50 ปี จึงรวมตัวกันครั้งประวัติศาสตร์ ตั้งแต่ทำธุรกิจมา ที่ 5 บิ๊กบะหมี่ฯ ทั้ง “มาม่า-ไวไว-ยำยำ-ซื่อสัตย์-นิชชิน” มาอยู่ร่วมเฟรมเดียวกันแบบไม่เห็นมาก่อน

ที่สุดแล้ว การขอขึ้นราคาบะหมี่ฯจาก ซองละ 6 บาท เป็น 8 บาท รัฐเคาะให้จริงคือ “ซองละ 7 บาท” เท่านั้น แต่นี่นับเป็นการขึ้นราคาบะหมี่ฯ ในรอบ 15 ปี กว่าจะขยับแต่ละบาท ผู้ประกอบการลากเลือดเลยทีเดียว

2.กรณีศึกษา “ลาซาด้า”(LAZADA) กับแคมเปญ 5.5 กลายเป็นบทเรียนราคาแพง ของนักการตลาด “เลือกข้าง” แบ่งขั้วการเมือง เพราะไม่เพียงการใช้อินฟลูเอ็นเซอร์มาทำการตลาด สร้างคอนเทนต์ที่กระทบความรู้สึกผู้บริโภคฝั่งใดฝั่งหนึ่ง รวมถึงสะท้อนการ “Bully” ตลอดจน Body shaming ผู้พิการ จนแบรนด์โดนกระหน่ำรอบทิศ

ส่อง 10 ปรากฏการณ์แห่งปี 2565 เหตุการณ์ใหญ่เขย่าโลกธุรกิจ วิกฤติแบรนด์ครั้งนั้น ไม่เพียงผู้บริโภคตำหนิลาซาด้าหนักหน่วง แต่หลายสมาคม ต้องออกโรงเตือน ถึงการทำตลาดอย่างมี “จริยธรรม-จรรยาบรรณ” ด้วย ไม่ว่าจะเป็นสภาคนพิการทุกประเภทแห่งประเทศไทย ไออกแถลงการณ์เรื่อง ข้อเรียกร้องต่อผู้เกี่ยวข้องในการจัดทำคลิปวิดีโอประชาสัมพันธ์ แคมเปญ LAZADA 5.5 เพราะการแสดงดูหมิ่น ด้อยค่า ลดทอนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ต่อคนพิการ

นอกจากนี้ สมาคมโฆษณาแห่งประเทศไทย และสมาคมการตลาดแห่งประเทศไทย ออกแถลงการณ์ย้ำถึงงานสร้างสรรค์ แคมเปญการตลาดควรอยู่บนพื้นฐานจริธรรม เป็นต้น งานนี้ “ลาซาด้า” ต้องแก้วิกฤติแบรนด์ครั้งสำคัญ

3.ถึงเวลาสังคายนากติกาเจ้าปัญหา ปมหาเงินซื้อลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสด “ฟุตบอลโลก 2022” เมื่อกฏมัสต์ แฮฟ ทำให้เอกชน ไม่อยากควักเงินไปซื้อรายการกีฬาใหญ่มาถ่ายทอดสด เพราะคนไม่ลงขันแพลตฟอร์มอื่น มีสิทธิ์ได้ดูเนื้อหาด้วย เพื่อเท่าเทียม ทั่วถึง

ส่อง 10 ปรากฏการณ์แห่งปี 2565 เหตุการณ์ใหญ่เขย่าโลกธุรกิจ เมื่อเป็นเช่นนั้น ทำให้ฟุตบอลโลก 2022 คนไทยเกือบไม่ได้ดู เพราะหาเงินไปซื้อลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดไม่ได้ สุดท้าย กสทช.ต้องดึงเงิน กองทุน กทปส.มาตั้งต้น แล้วให้เอกชนมาลงขันรวมได้ “พันล้านบาท” ไปจ่ายฟีฟ่า และนำกีฬาใหญ่มาให้ประชาชนได้ดู

เอกชนมองกรณีนี้คือบทเรียนความล้มเหลว และขอให้ กสทช. สังคายนากติกาที่ล้าหลัง ไม่สอดคล้องกับเทคโนโลยียุคปัจจุบันเสียที ซึ่งต้องรอดูต่อ จะเป็นอย่างไร และ 4 ปีข้างหน้า ปัญหาซื้อลิขสิทธิ์ฟุตบอลโลก 2026 จะมีอะไรวุ่นๆอีกหรือไม่

4.ไทยเจ้าภาพจัดการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเเอเชีย-แปซิฟิก หรือ APEC 2022 ต้องบอกว่านี่คือปรากฏการณ์ใหญ่รอบ 20 ปี ที่ประเทศไทยได้จัดงานต้อนรับผู้นำโลก ผ่านเวที APEC 2022 ระหว่างวันที่ 18-19 พฤศจิกายน 2565 ที่ผ่านมา

ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น ไม่เพียงไทยทำหน้าที่เจ้าภาพอย่างสมเกียรติ ยังเห็นเอกชนไทยร่วมไม้ร่วมมือเต็มที่ และในโลกธุรกิจการตลาด ยังเกิดกระแสบนโลกออนไลน์ แต่ประเด็นความสนใจ กลับไม่ใช่หัวข้อที่ผู้นำจะถกกัน แต่คือเรื่องราวของ “สมเด็จฮุน เซน" นายกฯ กัมพูชา ตรวจพบติดเชื้อโควิดทำให้ต้องยกเลิกการเดินทางมาร่วมประชุมที่ไทย

กรณี “โจ ไบเดน” ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ไม่เข้าร่วมประชุมเอเปค ไทยมีวันหยุดราชการกรณีพิเศษ ในพื้นที่กรุงเทพฯ จ.นนทบุรี และจ.สมุทรปราการ เพื่ออำนวยความสะดวกด้านการจราจรให้กับการประชุมเอเปค ตลอดจนการรักษาความปลอดภัยของผู้ร่วมเข้าประชุม 20 เขตเศรษฐกิจ ป้ายต้อนรับที่สะกดผิดจาก “Welcome” เป็น “Welcom” เป็นต้น

ส่อง 10 ปรากฏการณ์แห่งปี 2565 เหตุการณ์ใหญ่เขย่าโลกธุรกิจ 5.ธุรกิจตื่นตัว เคลื่อนทัพสู่ความยั่งยืน ปฏิเสธไม่ได้ว่า การรักษ์โลก แผนพัฒนาอย่างยั่งยืน คือ “กำแพงใหม่” ที่ใหญ่สำรับภาคธุรกิจ เพราะการค้ายุคใหม่ ไม่ได้มีแค่มาตรการกีดกันทางภาษีเหมือนในอดีต แต่ถ้าธุรกิจสร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ชุมชน โลก นานาประเทศอาจไม่ต้องการค้าขายด้วย

ปี 2565 จึงเห็นเอกชนยักษ์ใหญ่ลุกมาทำธุรกิจผนวกกับแผนพัฒนาอย่างยั่งยืนเข้มข้นมาก หากไม่ทำ ผู้บริโภคอาจไม่สนับสนุนซื้อสินค้าและบริการด้วย ทิศทางดังกล่าวไม่ใช่เทรนด์ แต่เป็นสิ่งที่ผู้ประกอบการ “ต้องทำ” ไม่งั้นอาจมีแรงต้าน แทนสนับสนุน

6.รถยนต์พลังงานไฟฟ้า(อีวี)เขย่าธุรกิจ เพราะหลายบริษัท พยายามนำรถอีวีมาเป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนธุรกิจ เพราะถือเป็นส่วนหนึ่งของแนวทางสร้างความยั่งยืนด้วย ไอศกรีม “วอลล์” นำร่องรถบรรทุกอีวี เพื่อขนส่งไอศกรีมในไทยเรียบร้อยแล้ว

ส่อง 10 ปรากฏการณ์แห่งปี 2565 เหตุการณ์ใหญ่เขย่าโลกธุรกิจ ส่วนยักษ์ใหญ่เครื่องดื่ม “ไทยเบฟเวอเรจ” นำร่องใช้รถบรรทุกอีวีที่โรงงาน เพื่อขนส่งสินค้าจากโรงงานไปยังศูนย์กระจายสินค้า และมีสถานีชาร์จรถบรรทุกอีวีเป็นของตนเอง ซึ่งโครงการดังกล่าวเพิ่งเป็นต้นแบบเท่านั้น จะทำเชิงรุกต้องรอให้ค่ายรถยนต์เปิดเกมด้วย

7.ไทยเพิ่งตื่น! ผลักดัน Soft Power ปรากฏการณ์กระแสเกาหลีฟีเวอร์ หรือ K-Pop ทรงพลังในตลาดโลก โกยเงินมหาศาลเข้าประเทศ ผลักดันเศรษฐกิจ(จีดีพี)เติบโตมาหลายปี ไทยมีแผน แต่ก็ไม่ขึ้นเวทีชกจริงๆจัง กระทั่งระยะหลัง มียุทธศาสตร์ ออกอาวุธบ้าง แต่ดูเหมือนจะห่างไกลนานาประเทศ

9.กัญชงกัญชา พืชเศรษฐกิจแห่งอนาคต ถือเป็นความร้อนแรงต่อเนื่อง สำหรับความหวังของผู้ประกอบการที่จะมี ผลิตภัณฑ์กัญชากัญชง ตลอดจนกระท่อมออกสู่ตลาด สร้างขุมทรัพย์ทางธุรกิจมูลค่ามหาศาล

การปลดล็อกกัญชากัญชง กระท่อมออกจากยาเสพติดประเภท 5 ทำให้หลายบริษัทเตรียมกระบวนท่าทำตลาดเต็มที่ แต่ความล่าช้าของกฏหมาย ทำให้ “แสกน” ผู้เล่นตัวจริง เหลืออยู่ในตลาด จากแรกเริ่มหลายรายคึกคัก แต่ตอนนี้ หลายรายแตะเบรก รอดูความชัดเจนก่อน

10.องค์กรใหญ่ ปรับทัพ “ผู้นำ” เป็นปกติเมื่อเก่าไป ใหม่ย่อมมาแทนที่ ในโลกธุรกิจการตลาด ปี 2565 หลายบริษัทปรับโครงสร้างการบริหาร เปลี่ยนแม่ทัพจากหลายสาเหตุ

เช่น องค์กร 89 ปี “บุญรอดบริวเวอรี่” ที่สูญเสีย “จุตินันท์ ภิรมย์ภักดี” จากอาการป่วย ทำให้ต้องมี “ผู้นำใหม่” แทนที่ ซึ่งก็คือ “ภูริต ภิรมย์ภักดี” ซีอีโออายุน้อยสุดของตระกูล “ภิรมย์ภักดี” มาขับเคลื่อนองค์กรแสนล้าน

“ไทยเบฟเวอเรจ” เขย่าโครงสร้าง “นิวเจน” ขึ้นทำหน้าที่สำคัญ ส่วนผู้อาวุโส ถอยเป็นกุนซือ วางมือบ้าง และยังมีการปรับ 6 หน่วยงานธุรกิจ เพื่อเตรียมพร้อมบริหารสู่ระดับอาเซียน

“เครือสหพัฒน์” บางธุรกิจสับเปลี่ยนมือโยกแม่ทัพ เมื่อ “เจ้าสัวบุณยสิทธิ์ โชควัฒนา” ในฐานะประธานเครือสหพัฒน์ เข้าไปรับตำแหน่ง ประธานกรรมการ บมจ.สหพัฒนาอินเตอร์โฮลดิ้ง ทำหน้าที่กุนซือให้ลูกหลาน ทายาทธุรกิจแทน “ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์” ที่ลาออกเพื่อหวนคืนสนามการเมือง

รวมถึงการลาออกจากตำแหน่ง ประธานกรรมการ บมจ. ไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์ หรือ TFMAMA หรือผู้ผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปเบอร์ 1 “มาม่า” โดยมี “พิพัฒ พะเนียงเวทย์” รับตำแหน่งดังกล่าวแทน เป็นต้น

ส่อง 10 ปรากฏการณ์แห่งปี 2565 เหตุการณ์ใหญ่เขย่าโลกธุรกิจ เหล่านี้ เป็นเพียงหนึ่งในหลายเรื่องราวที่เกิดขึ้นบนโลกธุรกิจ เพราะยังมีอีกประเด็นร้อนเกิดขึ้น เช่น มงลง! “เจเคเอ็น” ซื้อกิจการเวทีประกวดนางงามระดับโลก Miss Universe มาอยู่ในมือทุนไทย และเดินหน้าปฏิรูปจักรวาลครั้งใหม่ ยังมี “ท็อปส์ คลับ” ค้าปลีกโมเดล "เมมเบอร์ชิป สโตร์” ที่เดินตามรอย Costco มาถึงเมืองไทยเรียบร้อยแล้ว

วงการทีวีดิจิทัลของไทยกำลังจะมีแพลตฟอร์มวัดเรทติ้งข้ามแพลตฟอร์ม พลิกวงการอีกครั้ง รวมถึงการพยายามสร้างปรากฏการณ์อีเวนต์ระดับโลกของนัดแข้งแดงเดือด! อย่าง  THE MATCH Bangkok Century Cup 2022 ซึ่งสร้างได้จริง แต่เป็นเชิงลบ เพราะสารพัดดราม่า การขายบัตร แม้กระทั่งดึงคนดัง แจ๊คสัน หวังมาดึงคนดู เพื่อปั๊มยอดขายบัตรให้เป็นไปตามเป้า เป็นต้น และปี 2566 ต้องมาดูต่อว่าจะเกิดอะไรขึ้น และเหตุการณ์ไหนจะเป็นปรากฏการณ์แห่งปีต่อไป