ตลาดไมซ์ไทยฟื้น “อาร์เอ็กซ์” ชี้ "กรุงเทพฯ" เทียบชั้นเมืองคานส์-ลาสเวกัส

ตลาดไมซ์ไทยฟื้น “อาร์เอ็กซ์” ชี้ "กรุงเทพฯ" เทียบชั้นเมืองคานส์-ลาสเวกัส

“อาร์เอ็กซ์” บิ๊กธุรกิจจัดงานแสดงสินค้าระดับโลก ชี้ศักยภาพ “ไมซ์” ไทย เติบโตเทียบชั้นจุดหมายไมซ์ระดับโลก “เมืองคานส์ ฝรั่งเศส – ลาสเวกัส สหรัฐ” ลุยนำ “เทคโนโลยี” ประยุกต์ใช้กับงานจริง เพิ่มความสำเร็จแก่การจัดงาน พลิกโฉมอุตสาหกรรมไมซ์

นายฮิวจ์ เอ็ม โจนส์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร “อาร์เอ็กซ์” ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของ “อาร์เอ็กซ์ เทรดเด็กซ์” กล่าวว่า การศึกษางานวิจัยของบริษัทวิจัยชื่อ Research Dive พบว่าตัวเลขภาพรวมอุตสาหกรรมไมซ์ (MICE: การจัดงานประชุม เดินทางเพื่อเป็นรางวัล สัมมนา และงานจัดแสดงสินค้า) ทั่วโลกในปี 2563 อยู่ที่ 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ มีอัตราการเติบโตเฉลี่ยที่ 5.9% ต่อปี และคาดว่าในช่วงปี 2564-2571 อัตราการเติบโตของอุตสาหกรรมไมซ์ทั่วโลก จะทะยานสู่ 1.6 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ จากปัจจัยขับเคลื่อนด้านการทำงานร่วมกันระหว่างพันธมิตรทางธุรกิจและเทคโนโลยี ที่ช่วยให้การติดต่อประสานงานเป็นไปได้อย่างง่ายดาย

ด้านภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ในช่วงเวลาเดียวกัน จะมีอัตราการเติบโตต่อปีประมาณ 7% หรือคิดเป็นสัดส่วนรายได้ประมาณ 5 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ จากปัจจัยเกื้อหนุนหลายประการ ทั้งการเติบโตของระบบสาธารณูปโภค และการผ่อนคลายมาตรการต่างๆ  รวมถึงการยื่นขอวีซ่าที่สะดวกและง่ายขึ้น ทำให้การเดินทางสะดวกมากขึ้น ขณะที่ “ประเทศจีน” ที่เคยเป็นตลาดใหญ่ คาดว่าจะสามารถเปิดประเทศได้ในอีกไม่นานนี้ เพื่อให้การเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศไม่หยุดชะงัก

สำหรับทิศทางของอุตสาหกรรมไมซ์ประเทศไทยในอนาคต หลังได้รับผลกระทบจากการวิกฤติโควิด-19 ไม่ต่างจากทุกประเทศทั่วโลก ทาง “อาร์เอ็กซ์” ไม่เพียงดูแลพนักงานทั้งด้านสุขภาพและผลักดันทิศทางการทำงานที่มุ่งสู่โลกดิจิทัล แต่จากประสบการณ์ที่บริษัทแม่ของอาร์เอ็กซ์ ซึ่งคือบริษัท เรเล็กซ์ (RELX) ทำงานด้านข้อมูลและเทคโนโลยีมายาวนาน พบว่าสามารถนำ “เทคโนโลยี” ต่างๆ มาประยุกต์ใช้กับอาร์เอ็กซ์ได้ และมีหลายเทคโนโลยีที่ถูกนำมาใช้งานจริงแล้ว อาทิ เทคโนโลยีการเก็บข้อมูล ทั้งการสแกนเก็บข้อมูลคนที่มาชมงาน และเทคโนโลยีการจับคู่ทางธุรกิจเพื่อใช้ประโยชน์ในการแนะนำผู้แสดงสินค้าที่ตรงกับความสนใจได้

“ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีความปลอดภัย และมีอีกหลายปัจจัยที่ส่งเสริมให้กรุงเทพฯ เหมาะที่จะเป็นสถานที่สำหรับจัดงานแสดงโชว์ต่างๆ ซึ่งเอื้อให้อุตสาหกรรมไมซ์เติบโตขึ้นได้ เหมือนกับอีกหลายเมืองใหญ่ที่สามารถทำตลาดงานโชว์ได้ดี เช่น เมืองคานส์ ประเทศฝรั่งเศส และลาสเวกัส สหรัฐ กล่าวได้ว่างานแสดงสินค้า เป็นปัจจัยที่ทำให้อุตสาหกรรมไมซ์เติบโตได้เร็วที่สุด”

ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีศักยภาพสูง และเป็นตลาดที่มีทิศทางการเติบโตที่ดี บุคลากรในไทยก็มีความสามารถ ซึ่งยังมีหลายอุตสาหกรรมที่อาร์เอ็กซ์ เทรดเด็กซ์ ยังไม่ได้เข้าไปจัดงาน เช่น งานด้านปัญญาประดิษฐ์ และความปลอดภัยในโลกไซเบอร์ โดยเชื่อมั่นว่าความแข็งแกร่งของอาร์เอ็กซ์ที่มีเครือข่ายงานแสดงสินค้าทั่วโลก และประสบการณ์ยาวนานจะช่วยให้นำงานใหม่ๆ มาจัดแสดงในไทยได้อย่างไม่ยาก แต่สิ่งที่ท้าทายคือการโปรโมทงานที่ถูกจัดขึ้นใหม่ที่ต้องใช้ระยะเวลากว่าจะได้รับการยอมรับ อาจต้องได้รับการสนับสนุนจากหลายฝ่าย ฟูมฟักงานใหม่ให้เติบโตได้

 

++ “เทคโนโลยี” วัดผลคุณภาพธุรกิจ

นายฮิวจ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับมุมมองเกี่ยวกับนวัตกรรมและเทคโนโลยีกับธุรกิจการจัดงานแสดงสินค้า อนาคตการจัดงานแสดงโชว์จะไม่ได้วัดผลที่จำนวนคนเข้าร่วมงาน แต่วัดที่คุณภาพของธุรกิจที่เกิดขึ้นในงานมากกว่า เนื่องจากมีเทคโนโลยีทันสมัยที่ช่วยให้สามารถชมงานทางออนไลน์ได้ โดยไม่จำเป็นต้องเดินทางมาที่งานด้วยตัวเอง เป็นการช่วยลดระยะเวลาในการเดินทางและประหยัดค่าเดินทาง อาทิ ระบบการชมงานเสมือนจริง ซึ่งอาร์เอ็กซ์กำลังทดลองใช้ในต่างประเทศ เช่น การส่งหุ่นยนต์มาชมงานและเก็บข้อมูลแทนคนจริงๆ เป็นต้น

“การเข้ามารับตำแหน่งที่อาร์เอ็กซ์ในช่วงต้นปี 2563 ก่อนที่จะมีการแพร่ระบาดของโรคโควิด เปิดโอกาสให้ผมได้เรียนรู้สิ่งต่างๆ มากมาย และสามารถนำมาปรับใช้กับการบริหารงานในอนาคตได้ ทำให้รู้ว่าจะต้องทำอะไรบ้างหากเกิดเหตุการณ์ท้าทายอื่นขึ้นอีกในอนาคต ซึ่งความคล่องตัวในการดำเนินธุรกิจ ประกอบกับการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้ จะทำให้งานของเราเดินหน้าต่อไปได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด”

 

++ ตลาดเดินทาง “งานแสดงสินค้า” ฟื้น 100% ปี 67

ก่อนหน้านี้ นางอรรชกา สีบุญเรือง ประธานกรรมการส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ ทีเส็บ กล่าวว่า ทีเส็บตั้งเป้าหมายตลาดการเดินทางเพื่อร่วมงานแสดงสินค้าทั้งในเชิงจำนวนและรายได้ในปีงบประมาณ 2565 (ต.ค.2564-ก.ย.2565) ฟื้นตัว 20% เมื่อเทียบกับปีงบประมาณ 2562 ก่อนโควิด-19 ระบาด ซึ่งมีนักเดินทางมาร่วมงานในประเทศจำนวน 23,411,821 คน จาก 407 งาน ส่วนนักเดินทางงานนานาชาติ จำนวน 264,005 คน จาก 127 งาน สร้างรายได้การเดินทางเพื่อร่วมงานแสดงสินค้ารวม 111,806 ล้านบาท (ไม่นับรวมเม็ดเงินสะพัดภายในงาน) แบ่งเป็นรายได้การเดินทางงานในประเทศ 91,514 ล้านบาท และงานนานาชาติ 20,292 ล้านบาท

“ขณะที่ปีงบประมาณ 2566 ตั้งเป้าฟื้นงานแสดงสินค้าทั้งในเชิงจำนวนและรายได้ 50% และปีงบประมาณ 2567 ตั้งเป้าฟื้น 100%”

 

++ “TEA” ชี้เอ็กซิบิชั่นไทย อันดับ 1 อาเซียน

นายประวิชย์ ศรีบัณฑิตมงคล นายกสมาคมการแสดงสินค้า (ไทย) หรือ TEA กล่าวว่า หลังจากรัฐบาลไทยประกาศเปิดประเทศเต็มรูปแบบ มีผลเมื่อวันที่ 1 ก.ค.2565 เป็นต้นมา ช่วยสนับสนุนตลาดงานแสดงสินค้าในประเทศไทยฟื้นตัวเร็วกว่าประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาคอาเซียน เช่น สิงคโปร์ ส่งผลให้ตลาดงานแสดงสินค้าของไทยในยุคหลังโควิด-19 ยังครองอันดับ 1 ของอาเซียนอย่างต่อเนื่องเหมือนยุคก่อนโควิด-19 ส่วนอันดับ 2 และ 3 คือ มาเลเซีย และอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นประเทศที่มีพื้นฐานด้านเกษตรกรรมเหมือนไทย

“ประกอบกับประเทศไทยมีพื้นที่จัดงานมากขึ้น เช่น ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ เปิดอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 12 ก.ย.ที่ผ่านมา บวกกับความอัดอั้นของตลาดการจัดงานแสดงสินค้าหลังเจอโควิด-19 ระบาด ทำให้ลูกค้างานแสดงสินค้านานาชาติอยากมาจัดงานที่ไทยมากขึ้น”

 

++ คาดจำนวนงาน-ยอดใช้พื้นที่กลับมา 100% ต้นปี 67

นายประวิชย์ กล่าวว่า สำหรับแนวโน้มการฟื้นตัวของตลาดงานแสดงสินค้าในไทยไตรมาส 4 นี้ ในเชิงจำนวนงานกลับมาเต็ม 100% ส่งผลให้ตลอดปี 2565 มีจำนวนงานฟื้นตัว 70% เมื่อเทียบกับปี 2562 แต่เมื่อดูในเชิงขนาดพื้นที่จัดงาน พบว่าช่วงไตรมาส 4 ไม่ได้ใหญ่โตเหมือนเดิม ขนาดการใช้พื้นที่กลับมา 50-60%

“การไม่มีนักเดินทางจากตลาดจีน ส่งผลกระทบต่องานแสดงสินค้าในไทย เพราะผู้ออกงานจากจีนใช้พื้นที่ 20-30% ของพื้นที่งานแสดงสินค้านานาชาติทั้งหมด ทางสมาคมฯจึงคาดหวังเห็นรัฐบาลจีนผ่อนคลายมาตรการเดินทางมากขึ้น เพราะถ้านักธุรกิจจีนเดินทางมาได้ ตลาดงานแสดงสินค้าในไทยก็รอด”

ทั้งนี้ สมาคมฯมองว่าภาพรวมตลาดงานแสดงสินค้าจะกลับมาอย่างชัดเจนในช่วงไตรมาส 2 ปี 2566 เป็นต้นไป และทำให้ตลอดปี 2566 มีจำนวนงานแสดงสินค้ากลับมาใกล้เคียงกับยุคก่อนโควิด-19 ระบาด ส่วนขนาดการใช้พื้นที่อาจจะยังไม่กลับมาเท่าเดิม ประเมินว่าช่วงปลายปี 2566 หรือภายในต้นปี 2567 ถึงจะมีจำนวนงานและขนาดการใช้พื้นที่กลับมาเท่าเดิม

โดยทางสมาคมการแสดงสินค้าโลก (UFI) ระบุว่ารูปแบบการจัดงานแสดงสินค้าในยุคหลังโควิด-19 กว่า 75% จะเป็นงานแสดงสินค้าในสถานที่จริง โดยเฉพาะตลาดในยุโรป ผู้ร่วมงานต่างมองว่าการพบปะแบบตัวต่อตัว เห็นหน้าค่าตากัน ส่งผลดีต่อธุรกิจมากกว่า ส่วน 20 % จะเป็นงานแบบไฮบริด และ 5% เป็นงานลักษณะประชาสัมพันธ์ผ่านช่องทางต่างๆ