ร้านอาหารเร่งฟื้นยอด รุกโมเดล-เมนู-น่านน้ำใหม่

ร้านอาหารเร่งฟื้นยอด รุกโมเดล-เมนู-น่านน้ำใหม่

โควิดคลี่คลายกลายเป็นสัญญาณบวกแรงสำหรับธุรกิจร้านอาหารฟื้นตัว ‘เอสแอนด์พี’ ยอดขายโตแกร่งทุกช่องทาง โดยเฉพาะนั่งทานที่ร้านหรือได-อิน พุ่งแรง 576% การคุมเข้มต้นทุน ค่าใช้จ่าย ยังทำให้ ‘กำไร’ พลิกกลับมาทะยานสูงสุดรอบ 7 ปีด้วย

ธุรกิจร้านอาหารที่เคยมีมูลค่ากว่า 4 แสนล้านบาท พอเจอวิกฤติโควิด-19 เล่นงานจนอ่วม มาตรการล็อกดาวน์ของภาครัฐ การห้ามบริการนั่งทานในร้านหรือได-อิน กระทบผู้ประกอบการหนัก จนศูนย์วิจัยธุรกิจต่างๆประเมินตัวเลข “หดตัว” เหลือระดับกว่า 3 แสนล้านบาท

ปี 2565 สถานการณ์ต่างๆคลี่คลาย ผู้คนออกมาใช้ชีวิตนอกบ้านปกติทำให้ ธุรกิจร้านอาหาร “ฟื้นตัว” ตามไปด้วย และผลงานของหนึ่งในบิ๊กแบรนด์ร้านอาหารการันตี

วิทูร ศิลาอ่อน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอส แอนด์ พี ซินดิเคท จำกัด(มหาชน) ฉายภาพผลงานไตรมาส 3 ยอดขายบริษัทอยู่ที่ 1,546 ล้านบาท เติบโต 30% จากช่วงเดียวกันปีก่อน ส่วนกำไรอยู่ที่ 158 ล้านบาท เติบโต 66% เทียบช่วงเดียวกันปีก่อน โดยยอดขายเติบโตทุกช่องทาง แต่ที่มาแรงสุดคือการกลับมานั่งรับประทานในร้าน เพราะโตกระฉูด 57% เป็นไตรมาส 3 ที่ทำเงินเป็นกอบเป็นกำสูงสุดในรอบ 7 ปี

ขณะที่ผลงาน 9 เดือน ยอดขายรวม 4,133 ล้านบาท เติบโต 22% และกำไรสุทิ 328 ล้านบาท เติบโต 51% เป็นสถิติการโตรอบ 7 ปี ไม่แพ้ยอดขาย ยิ่งกว่านั้น การเติบโตกำไรในอัตรา 2 หลัก บริษัทไม่ได้สัมผัสมานาน

ทั้งนี้ การรับประทานอาหารที่ร้านช่วง 9 เดือน เติบโต 90% การซื้อกลับบ้านหรือ Take-away ยังขยายตัว 11% ส่วนเดลิเวอรีโต 29%

“ไตรมาส 3 ยอดขายและกำไรแข็งแกร่ง และเป็นตัวเลขที่ดีสุดในรอบ 7 ปี อย่างกำไรเราไม่เห็นการโต 2 หลักมาสักระยะ”

 

ผู้คนใช้ชีวิตนอกบ้าน ปลดปล่อยไลฟ์สไตล์ปกติเป็นหนึ่งในปัจจัยบวก แต่กุญแจความสำเร็จ ยังเกิดจากบริษัทปรับกระบวนท่าในการทำธุรกิจ การตลาดอย่างเข้มข้น ดังนี้ 1.การเพิ่มยอดขายสินค้าในช่วงเทศกาล เช่น เค้กวันแม่ เดือนสิงหาคม มีการเติบโตสูงมาก 84% ขนมไหว้พระจันทร์ยอดขายโตกว่า 20% และยังมีเมนูอาหารใหม่ๆเสิร์ฟลูกค้า โดยเฉพาะซี่โครงหมู ขายดีจนปีหน้าจะยกไปอยู่ในเมนูปกติด้วย รวมถึงกลุ่มสแน็กบ็อกซ์ ที่องค์กรต่างๆสั่งเป็น “บิ๊กออเดอร์” เป็นต้น

2.การควบคุมส่วนลด โปรโมชั่นต่างๆให้อยู่ในระดับที่ดี เน้นสร้างคุณค่าให้ลูกค้า เพื่อทำให้บริษัทมี “กำไร” ที่แข็งแกร่ง 3.การควบคุมต้นทุนวัตถุดิบการผลิต และบรรจุภัณฑ์สินค้า ซึ่งปี 2565 เป็นตัวแปรใหญ่ เนื่องจากราคาพุ่งต่อเนื่อง และคาดการณ์เป็นความเสี่ยงถึงปี 2566 ด้วย 4.การทำให้องค์กร Lean เนื่องจากบริษัทมีโรงงานผลิตเบอเกอรี และครัวกลาง การซัพพลายสินค้าจาก 2 ส่วนต้องคุมให้ดีทั้งเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน และบริหารจัดการค่าใช้จ่าย ต้นทุนแฝง(โสหุ้ย)ให้ต่ำ และ5.ดูแลต้นทุนทั้งองค์กร เพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน ทักษะของบุคลากร

“เอสแอนด์พี” เป็นแบรนด์ร้านอาหารและเบเกอรีที่เก่าแก่ของไทย ปีหน้าองค์กรก้าวสู่ทศวรรษที่ 5 ภารกิจสร้างการเติบโต “วิทูร” ยังต้องการเห็นยอดขายเติบโตในอัตรา 2 หลัก กว่า 10-20% อย่างต่อเนื่อง

ทว่า ภายใต้แบรนด์เก่าแต่เก๋าประสบการณ์ บริษัทต้องไม่หยุดนิ่งในการปรับตัว และภาพลักษณ์แบรนด์ให้มีความทันสมัย เจาะใจคนรุ่นใหม่ และรักษาฐานลูกค้าเก่าที่อยู่เคียงข้างกันมา 49 ปีด้วย

เพื่อสานเป้าหมายเติบโต บริษัทจะเน้นสร้างประสบการณ์ให้กับลูกค้าดียิ่งขึ้น ที่ผ่านมาจึงเห็นการปรับปรุงร้านอาหาร ทรานส์ฟอร์มร้าน “เอสแอนด์พี เบเกอรี” ไปสู่ “เอสแอนด์พี เบเกอรี มาร์ท” การพัฒนาโมเดลร้าน “เดลต้า” ลุยบริการเดลิเวอรี ตอบไลฟ์สไตล์ผู้บริโภครักสะดวก เป็นต้น

สำหรับปี 2565 การรีโนเวทร้าน จุดขายต่างๆ ดำเนินการทั้งสิ้น 137 จุด จากกว่า 400 จุด เฉพาะร้านอาหารปรับและร้านเดลต้าปรับ 23 สาขา เบเกอรี 46 สาขา และเอสแอนด์พี ฮับ 6 สาขา โดยทุกการปรับปรุงร้าน ทำให้ยอดขายเติบโตเฉลี่ย 15-20%

นอกจากบริษัทก้าวสู่ปีที่ 50 ช่วงโค้งสุดท้ายปี เป็นเทศกาลส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ “เค้ก-คุกกี้” เป็นพระเอกบุกตลาดเต็มสูบ ซึ่งไฮไลท์ใหม่คือเค้กสั่งทำตามออเดอร์ อยากได้รูปแบบ แต่งหน้าอย่างไร “เอสแอนด์พี” พร้อมจัดให้ลูกค้า

ในปีถัดไป “เอสแอนด์พี” ยังมองหาการเติบโตน่านน้ำใหม่(New S-Curve) โดยเฉพาะโมเดลร้านใหม่ๆ สร้างประสบการณ์ใหม่ เพื่อตอบโจทย์กลุ่มเป้าหมาย รวมถึงขยายต่างประเทศ หลังจากวางระบบหลังบ้านแข็งแกร่งพร้อมลุยแล้ว

“ก่อนโควิดระบาดปี 2562 เอสแอนด์พีสร้างให้บริการลูกค้ามากถึง 30 ล้านบิล การเป็นแบรนด์เก่าแก่ ที่จะเจาะลูกค้าคนรุ่นใหม่ในอนาคต เราจึงโฟกัสการสร้างประสบการณ์ให้ผู้บริโภค อย่างปรับร้านเอสแอนด์พี เบเกอรี มาร์ท ทำให้ยอดขายเราเติบโต 43% การทำให้ลูกค้าใหม่ถูกใจสำคัญ แต่เราต้องไม่ลืมลูกค้าเก่าสร้างมา 49 ปีด้วย”