เปิดที่มา “อาหารเกาหลี” ร้านเต็นท์แดง ที่กำลังเป็นกระแสแรงในไทย

เปิดที่มา “อาหารเกาหลี” ร้านเต็นท์แดง ที่กำลังเป็นกระแสแรงในไทย

หันไปทางไหนก็เจอแต่ “อาหารเกาหลี” ในรูปแบบเต็นท์แดงผุดขึ้นมาทั่วทุกหย่อมหญ้า ไขข้อสงสัย! “ร้านเต็นท์แดง” มีความเป็นมาอย่างไร ทำไมถึงเป็นซอฟต์พาวเวอร์ที่ทรงพลังแทรกซึมไปในหลายประเทศทั่วโลก

ปฏิเสธไม่ได้ว่าหลายปีที่ผ่านมา (ตั้งแต่ก่อนการระบาดโควิด) “Korean Wave” ได้แทรกซึมไปยังหลายๆ ประเทศทั่วโลกทั้งในอเมริกา ยุโรป จีน ญี่ปุ่น รวมถึงประเทศไทยด้วย ไม่ว่าจะเป็นซีรีส์เกาหลี เพลง K-pop หรือแม้กระทั่ง “อาหารเกาหลี” กลายเป็นซอฟต์พาวเวอร์ที่มาแรงในไทยมายาวนานจนถึงปัจจุบัน

ที่ผ่านมามีการคาดกาณ์ว่ามูลค่าตลาดร้านอาหารเกาหลีในไทยปี 2564 อยู่ที่ 1,850 ล้านบาท ลดลงจากปี 2561 ที่มีมูลค่าตลาดรวม 2,000 ล้านบาท เนื่องจากสถานการณ์ COVID-19 ส่งผลกระทบต่อธุรกิจร้านอาหารโดยรวม

ขณะที่ในปี 2565 ถูกคาดการณ์ไว้ว่าวัตถุดิบอาหารเกาหลีเติบโตได้ดีอย่างต่อเนื่อง จากปัจจัยบวกที่เข้ามาส่งเสริม ทั้งสถานการณ์โควิด-19 ในประเทศไทยดีขึ้น ธุรกิจร้านอาหารฟื้นตัว ภาคการท่องเที่ยวกลับมาคึกคัก และเทรนด์ความนิยมเกาหลีของคนไทยที่ยังทรงอิทธิพล จึงทำให้กลุ่มวัตถุดิบอาหารเกาหลียังคงมีการเติบโตกว่า 30% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว จึงไม่น่าแปลกใจที่ช่วงปีนี้จะเห็นว่ามีร้านอาหารเกาหลีใหม่ๆ ผุดขึ้นมามากมายในไทย 

เปิดที่มา “อาหารเกาหลี” ร้านเต็นท์แดง ที่กำลังเป็นกระแสแรงในไทย

ล่าสุด..กับปรากฏการณ์ “ร้านเต็นท์แดง” ร้านอาหารเกาหลีแนวใหม่ที่กำลังสร้างแรงกระเพื่อมแก่แวดวง #ธุรกิจร้านอาหาร ในเมืองไทยขณะนี้ ด้วยรูปแบบร้านที่โดดเด่นด้วยผ้าใบสีแดง สื่อถึงสตรีตฟู้ดเกาหลีชัดเจน ประกอบกับกระแส Korean Wave ที่ยังมาแรงเสมอ จึงทำให้มีผู้ประกอบการเจ้าเล็กเจ้าใหญ่ หันมาลงทุนทำธุรกิจร้านเต็นท์แดงมากขึ้นในไทย ทั้งพื้นที่กรุงเทพฯ และต่างจังหวัด

ที่น่าสนใจคือเจ้าใหญ่อย่างแบรนด์ “Red Sun” ลงมาเล่นตลาดนี้ด้วย ด้วยการเปิดร้าน K-Pop Up Store เรดซันเต็นท์แดงสไตล์เกาหลี ณ สยามสแควร์ ซอย 3 พร้อมเสิร์ฟอาหารและบรรยากาศสไตล์เต็นท์แดงเกาหลีแท้ๆ โดยเพิ่งจะเปิดให้บริการเมื่อช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา และจะให้บริการไปถึง 15 กุมภาพันธ์ 2566 เท่านั้น

ทั้งนี้ “ร้านเต็นท์แดง” สไตล์เกาหลี หรือที่เรียกว่า “โพจังมาจา” (포장 마차) นั้น คือร้านอาหารข้างถนนหรือร้านแนว Street food กึ่งถาวร มักจะเป็นร้านอาหารเล็กๆ ที่ตั้งอยู่ริมถนน มีโต๊ะเล็กๆ และเก้าอี้ไว้สำหรับบริการลูกค้า โดยตัวร้านจะคลุมด้วยผ้าใบหรือแผ่นพลาสติกสีแดงเพื่อกันลมกันฝน 

เปิดที่มา “อาหารเกาหลี” ร้านเต็นท์แดง ที่กำลังเป็นกระแสแรงในไทย

สำหรับชาวเกาหลีแล้วร้านเต็นท์แดงข้างทาง ไม่ใช่ร้านอาหารสำหรับมื้อจริงจัง แต่เป็นสถานที่นัดดื่มเพื่อพูดคุยกับเพื่อนฝูง ปรับทุกข์ หรือแชร์เรื่องราวกับคนสนิทไว้วางใจ ส่วนเมนูอาหารก็เน้นเป็นเมนูง่ายๆ ในราคาย่อมเยา

ย้อนกลับไปในปี 1950 “โพจังมาจา” เป็นรถเข็นขายอาหารข้างทาง ที่ขายเพียงนกกระจอกเทศย่างกับโซจู จากรถเข็นเคลื่อนที่ก็เริ่มมีการกางเต็นท์ผ้าใบเพื่อกันฝนและลมหนาว พร้อมกับเก้าอี้นั่ง จนถึงปี 1970 เริ่มมีเมนูเครื่องดื่มอย่างมักกอลลีและเบียร์เข้ามา พร้อมๆ กับเมนูอื่นที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เช่น คิมบับ ต็อกบกกี ปลาแผ่นออมุก เค้กข้าวเกาหลี ซุนแด (ไส้กรอกเลือด) ข้าวห่อสาหร่าย ไก่ย่างเสียบไม้ คอร์นดอก ไก่ทอดซอสเกาหลี ฯลฯ

แม้ในช่วงปี 1986-1988 ร้านเต็นท์แดงจะล้มหายตายจากไปบ้าง เนื่องจากเป็นช่วงที่เกาหลีใต้จัดแข่งขันเอเชียนเกมส์และโอลิมปิก ทำให้รัฐบาลเกาหลีบังคับใช้กฎจัดระเบียบร้านค้าข้างทางอย่างเข้มงวด เพื่อทำให้เมืองสะอาดเรียบร้อย แต่ต่อมาในปี 1997 สตรีตฟู้ดโพจังมาจาก็กลับมาเฟื่องฟูอีกครั้ง และจากนั้นเป็นต้นมา โพจังมาจาก็กลายเป็นส่วนสำคัญของวัฒนธรรมการดื่มของเกาหลีจนถึงปัจจุบัน

---------------------------------------

อ้างอิง : KruaCreatripBrandbuffetGourmet and Cuisine