‘ตัน’ ทวงเป้ายอดขาย ‘หมื่นล้าน’ ใน 3 ปี เปิดแนวรบใหม่ “ตันซันซู” รุกน้ำอัดลม

‘ตัน’ ทวงเป้ายอดขาย ‘หมื่นล้าน’ ใน 3 ปี  เปิดแนวรบใหม่ “ตันซันซู” รุกน้ำอัดลม

ปฏิบัติการไล่ล่า "ยอดขายหมื่นล้าน" กลับมาอีกครั้ง สำหรับบิ๊กเครื่องดื่มชาเขียว "อิชิตัน" โดยเปิดแนวรบใหม่ รุก Non-Tea ทำเงิน ส่งพระเอกใหม่ "ตันซันซู" สู้ศึกน้ำอัดลม ชูกระแส K-POP เอาใจแฟนด้อมเกาหลี มั่นใจ 3 ปี ต่อจิ๊กซอว์รายได้ทะลุ 10,000 ล้านบาท

ก่อนวิกฤติโควิด-19 ระบาดย้อนไปราว 4-5 ปีก่อน “อิชิตัน” เคยวาดเป้าหมายยอดขายเครื่องดื่มสู่ “หมื่นล้านบาท” ไม่เพียงเติบโตจากชาเขียวพร้อมดื่ม แต่จะมี ธุรกิจใหม่ สินค้าใหม่ และตลาดใหม่เป็นโอกาสที่บริษัทจะบุกเข้าไป

นอกจากนี้ ยังมีจิ๊กซอว์ “ธุรกิจที่ไม่ใช่ชา” หรือ Non-Tea มาช่วยสร้างการเติบโต เมื่อสถานการณ์โควิดคลี่คลาย จึงเป็นเวลาที่บริษัทจะ “ทวง” เป้าหมายยอดขายทะยานสู่ 10,000 ล้านบาทอีกครั้งภายใน 3 ปีข้างหน้าหรือปี 2568

“เราเคยตั้งเป้ายอดขายหมื่นล้าน และปีนี้เป็นครั้งแรกที่ยอดขายไตรมาส 3 ชนะไฮซีซั่นหน้าร้อนในไตรมาส 2 ที่ผ่านมา เราล้มลุกคลุกคลาน เจออุปสรรคหนักทั้งการจัดเก็บภาษีความหวาน พอปรับตัวได้ ต้องมาเจอวิกฤติโควิดระบาด ทำให้ยอดขายไม่ถึงเป้าหมายสักที เหมือนอกหักมาหลายปี แต่จากปี 2566 จะเป็นโอกาสโอกาสอีกครั้ง หากไม่มีปัจจัยอื่นกระทบเพิ่ม” ตัน ภาสกรนที กรรมการผู้อำนวยการ บริษัท อิชิตัน กรุ๊ป จำกัด(มหาชน) ฉายภาพ

สำหรับการผลักดันยอดขายเติบโต บริษัทให้ความสำคัญกับการเปิดแนวรบใหม่ในกลุ่มผลิตภัณฑ์นอนที จากเดิมมีน้ำด่าง ล่าสุด ปลุกปั้นสินค้าใหม่น้ำอัดลมสไตล์เกาหลีภายใต้แบรนด์ “ตันซันซู” เข้าทำตลาด ซึ่งเป็นครั้งแรกในรอบ 20 ปี ที่ก้าวข้ามจากกระแสญี่ปุ่น และเครื่องดื่มชาเขียว

ทั้งนี้ การเลือกทำตลาดน้ำอัดลม เนื่องจากมองศักยภาพขนาดตลาดที่ใหญ่ และมีการเติบโตต่อเนื่อง ประกอบกับเทรนด์ผู้บริโภคยังต้องการเครื่องดื่มที่หลากหลาย เพื่อตอบสนองความต้องการ ที่ขาดไม่ได้ จากการสังเกตพฤติกรรมผู้บริโภคชาวไทยจะเห็นกระแสเกาหลีหรือ K-pop ทรงอิทธิพลอย่างมาก และมีการถาม “อิชิตัน” จะพัฒนาโปรดักท์ใดเพื่อดึงศิลปิน ไอดอลคนโปรดมาเป็นพรีเซ็นเตอร์ ให้แฟนคลับใกล้ร่วมกิจกรรมอย่างใกล้ชิด

“ตัน” จึงให้โจทย์ทีมงาน ไปศึกษาโอกาสทางการตลาด พัฒนาสินค้า และแบรนด์ เพื่อเปิดเกมรุกเต็มสูบ

ด้านพฤทธิพงศ์ ลิมาภรณ์วณิชย์ ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด บริษัท อิชิตัน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า หลังศึกษาโอกาสทางธุรกิจจากกระแสเกาหลีเชิงลึก เทรนด์ที่มาแรงและทรงอิทธิพลต่อผู้บริโภคชาวไทย มีทั้งศิลปิน ไอดอล ซีรีส์ อาหาร แฟชั่น และการท่องเที่ยว ฯ แต่ละหมวดมีการเติบโตต่างกัน เช่น ไทยท่องเที่ยวเกาหลีเพิ่มขึ้น 12.1% สูงกว่าตลาดรวม 3.3% คนไทยโพสต์ทวิตเตอร์เกี่ยวกับเคป๊อปติดอันดับ 4 ของโลก เป็นต้น

ขณะที่ตลาดเครื่องดื่ม หมวดแอลกอฮอล์โซจูในประเทศไทย 2-3 ปีที่ผ่านมาเติบโตหลัก 100% มูลค่าแตะ 1,000 ล้านบาท หรือเทรนด์ในเกาหลีเองสินค้าดังกล่าวมีจำหน่ายทั่วไป และใช้พรีเซ็นเตอร์เป็นนักแสดง ศิลปินระดับแถวหน้า ทำให้บริษัทนำมาต่อยอด สู่แบรนด์ “ตันซันซู” น้ำอัดลมสไตล์เกาหลี 2 รสชาติยอดฮิตมาเสิร์ฟผู้บริโภค ได้แก่ โซจูบอมบ์ และโซจู โยเกิร์ต และเกาะเทรนด์สุขภาพด้วยสูตรไม่มีน้ำตาล

สำหรับกลุ่มเป้าหมายของ “ตันซันซู” มุ่งไปที่เจนเนอเรชั่นซี(Z) และสาวกผู้คลั่งไคล้เกาหลี(Korea Lover) อายุ 13-35 ปี เพราะเป็นกลุ่มใหญ่ และมีอำนาจซื้อสูง มีรายงานระบุต่อปีการใช้จ่ายอยู่ที่ 9.6 ล้านดอลลาร์ หรือกว่า 350 ล้านบาท เช่น บัตรคอนเสิร์ตแพงยังยินดีจ่าย การทุ่มเงินซื้อสินค้าสูงสุด(Top Spender) เพื่อให้ได้ทำกิจกรรมใกล้ชิดศิลปิน ไอดอลคนโปรด เป็นต้น

ด้านแผนการทำตลาด “ตันซันซู” บริษัทวางงบประมาณ 100 ล้านบาท เพื่อทำกิจกรรมในปีหน้า รวมถึงดึง “ศิลปินเกาหลีเป็นพรีเซ็นเตอร์” ซึ่งต้องมีคาแร็กเตอร์สนุกสนาน สอดคล้องกับแบรนด์ การสื่อสารจะเน้นไปที่ออนไลน์สัดส่วน 60% ซึ่งการเปิดแนวรบใหม่ บริษัทตั้งเป้ายอดขายแตะ 600 ล้านบาท หรือมีส่วนแบ่งการตลาดราว 25-30% จากตลาดน้ำอัดลมสีไม่มีน้ำตาล มูลค่า 2,026 ล้านบาท ซึ่ง 9 เดือนที่ผ่านมา เติบโตสูงสุด 52.7% ขณะที่ภาพรวมน้ำอัดลม(น้ำดำและน้ำสี)มีมูลค่า 42,695 ล้านบาท เติบโต 5.5%

“โปรดักท์ที่ใช่ กลุ่มเป้าหมายเราชัด จึงมั่นใจว่า แม้เราตัวเล็ก แต่เราพร้อมจะไปสู้กับตลาดใหญ่อย่างน้ำอัดลม และการบุกตลาดครั้งนี้ จะเป็นจิ๊กซอว์ผลักดันยอดขายแตะหมื่นล้านบาท ภายในปี 2568 และปีหน้าตันซันซู จะช่วยเพิ่มสัดส่วนนอนทีเป็น 12% จากปัจจุบันอยู่ที่ 4% ของพอร์ต”

อย่างไรก็ตาม ภาพรวมธุรกิจเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ปี 2565 มีการฟื้นตัวขึ้นจากสถานการณ์ต่างๆเข้าสู่ภาวะปกติ โดยชาเขียวพร้อมดื่ม 9 เดือน มีมูลค่า 10,380 ล้านบาท เชิงมูลค่าโต 23.07% เป็นอัตราสูงสุด คาดการณ์ทั้งปีมูลค่าแตะ 13,000 ล้านบาท โตกว่า 20% ส่วนแนวโน้มปี 2566 ตลาดยังแกร่ง มีโอกาสโตสูงสุดติดท็อป 3 ต่อเนื่อง และมูลค่าแตะ 16,000 ล้านบาท เข้าสู่ภาวะปกติเทียบก่อนโควิดระบาด