"ไทยเที่ยวญี่ปุ่น" ฟื้นแรง! แซงทุกจุดหมาย ลุ้นแตะ 1.3 ล้านคนปี 66

"ไทยเที่ยวญี่ปุ่น" ฟื้นแรง!  แซงทุกจุดหมาย ลุ้นแตะ 1.3 ล้านคนปี 66

ทันทีที่ “ญี่ปุ่น” ประกาศ “เปิดประเทศ” ให้เที่ยวเองได้และกลับมาใช้มาตรการ "ยกเว้นวีซ่า" อีกครั้ง มีผลตั้งแต่วันที่ 11 ต.ค.2565 ตลาด “นักท่องเที่ยวไทย” ดีดตัวเด้งแรง! ตลอดเดือน ต.ค. มีนักท่องเที่ยวไทยไปญี่ปุ่น 34,100 คน เพิ่มขึ้น 4 เท่าเมื่อเทียบกับเดือน ก.ย. ซึ่งมี 7,600 คน

เอนก ศรีชีวะชาติ นายกสมาคมส่งเสริมการท่องเที่ยวไทย-ญี่ปุ่น กล่าวว่า แนวโน้มไตรมาส 4 นี้ (ต.ค.-ธ.ค.2565) น่าจะมีนักท่องเที่ยวไทยเดินทางไปญี่ปุ่นหลายหมื่นคนต่อเดือน สร้างแรงส่งที่ดีถึงปี 2566 คาดมีนักท่องเที่ยวไทยไปญี่ปุ่นถึง 1 ล้านคนแน่นอน! เนื่องจากมีปัจจัยหนุนเรื่อง “เงินเยนอ่อนค่า” ส่งผลดีต่อการจับจ่ายของคนไทย

“ถ้าปี 2566 ไม่มีการกลับมาระบาดซ้ำของโควิด-19 จนถึงขั้นต้องน่ากังวล รวมถึงการฟื้นตัวของเที่ยวบินเส้นทาง ไทย-ญี่ปุ่น กลับมาให้บริการมากขึ้นเป็นปกติ ทำให้ราคาตั๋วเครื่องบินเส้นทางนี้เข้าที่เข้าทาง คาดว่าตลาดคนไทยเที่ยวญี่ปุ่นจะกลับมา 100% หรือมีจำนวน 1.3 ล้านคนเท่ากับปี 2562 ก่อนเกิดวิกฤติโควิด-19”

ด้านรายงานจาก “องค์การส่งเสริมการท่องเที่ยวแห่งประเทศญี่ปุ่น” (JNTO) ระบุถึงสถิติเมื่อปี 2562 ว่า จากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าประเทศญี่ปุ่น 31,880,000 คน เป็นจำนวนนักท่องเที่ยวไทย 1,319,000 คน คิดเป็นสัดส่วน 4.1% ของจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งหมดที่เดินเข้าประเทศญี่ปุ่น มากเป็นอันดับ 6 รองจากเกาหลีใต้ จีน ไต้หวัน ฮ่องกง และสหรัฐ โดยถือเป็นอันดับ 1 ของตลาดอาเซียนเที่ยวญี่ปุ่น ซึ่งเป็นประเทศเดียวในภูมิภาคนี้ที่มีจำนวนนักท่องเที่ยวเกิน 1 ล้านคน

เอนก กล่าวในฐานะประธาน บริษัท ยูนิไทย แทรเวล จำกัด ด้วยว่า หลังจากรัฐบาลญี่ปุ่นเริ่มผ่อนคลายมาตรการเดินทางเมื่อเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา ยูนิไทยได้ลุยขายแพ็กเกจทัวร์พาคนไทยไปเที่ยวญี่ปุ่น ทำให้เดือน มิ.ย.มียอดขายประมาณ 700-800 คน เดือน ก.ค. มียอดขายเพิ่มขึ้น 2 เท่า และค่อยๆ ฟื้นตัวดีต่อเนื่องจนถึงเดือน ต.ค.ที่ญี่ปุ่นประกาศเปิดประเทศ มียอดขายเพิ่มเป็น 6,000 คน ขณะที่ครึ่งแรกของเดือน พ.ย. มียอดขายแล้ว 4,000-5,000 คน คาดตลอดเดือน พ.ย.มียอดขายกว่า 8,000 คน

“สำหรับยอดขายแพ็กเกจทัวร์ไปญี่ปุ่นช่วงหยุดยาวเทศกาลปีใหม่ ตอนนี้มียอดจองเต็ม 100% แล้ว และไม่ใช่แค่ยอดจองของยูนิไทยเท่านั้น แต่ทุกบริษัททัวร์ก็มีนักท่องเที่ยวไทยจองเข้ามาเต็มแล้วเช่นกัน”

อย่างไรก็ตาม “น่าเสียดาย” ที่ตลาดนักท่องเที่ยวญี่ปุ่นเดินทางมาไทยยังฟื้นตัวค่อนข้างช้ากว่า! เป็นเพราะโดนนักท่องเที่ยวไทย “แย่งตั๋วเครื่องบิน” นอกจากนี้ผู้ประกอบการญี่ปุ่นยังไม่ค่อยมั่นใจ เลยยังไม่เริ่มขายอย่างจริงจัง ทั้งยังมีปัจจัยเงินเยนอ่อนค่ากระทบด้วย

ทาดาชิ ชิมระ ประธาน Japan Association of Travel Agents (JATA) ซึ่งมีสมาชิกรวมประมาณ 1,100 บริษัท กล่าวบนเวทีภายในงานสัมมนา Japan-Thailand Tourism Seminar: Embark upon a new adventure, Discover new treasures” จัดโดย JNTO เมื่อวันที่ 19 พ.ย. ว่า มองว่าปัจจัย “เงินเยนอ่อนค่า” ไม่น่าเป็นปัญหาสำหรับตลาดนักท่องเที่ยวญี่ปุ่นมาไทย เพราะเงินบาทเองก็อ่อนค่าไปในทิศทางเดียวกัน หากสายการบินต่างๆ ขยายเครือข่ายเส้นทางบินไทย-ญี่ปุ่นมากขึ้น ก็น่าจะช่วยกระตุ้นดีมานด์การเดินทางได้

อย่างไรก็ตาม Mindset” ของคนญี่ปุ่นเกี่ยวกับการไปเที่ยวต่างประเทศในช่วงนี้ ถือเป็นเรื่องที่ผู้ประกอบการต้องพยายามช่วยกันปรับให้กลับมาปกติ โดยยังเชื่อมั่นว่าจะฟื้นตัวกลับมา เริ่มจากการท่องเที่ยวระยะใกล้ก่อน เนื่องจากการท่องเที่ยวเป็น “ความต้องการพื้นฐาน” ของผู้คน!

สำหรับกลยุทธ์ของ JATA ในการกระตุ้นตลาดนักท่องเที่ยวญี่ปุ่นมาไทย ต้องหา “คอนเทนต์” ใหม่ๆ มาเปิดตลาดเพิ่ม จากเคยนิยมไปเที่ยวกรุงเทพฯและเชียงใหม่ ด้วยการนำเสนอคอนเทนต์น่าสนใจในเมืองรองต่างๆ เช่น เชียงราย สงขลา ขอนแก่น บุรีรัมย์ และกาญจนบุรี

พร้อมยกระดับมูลค่าเพิ่มแก่นักท่องเที่ยว ยกระดับความร่วมมือกับองค์กรจัดการด้านการท่องเที่ยว (Destination Management Organization : DMO) และบริษัทผู้ให้บริการด้านบริหารจัดการการเดินทาง (Destination Management Company : DMC) รุกทำตลาดผ่านช่องทางดิจิทัล และปรับตัวให้ยืดหยุ่นเพื่อรับมือกับพฤติกรรมนักท่องเที่ยวที่เปลี่ยนไป นิยมเดินทางเป็นกลุ่มเล็ก เน้นพักที่เดียวแล้วใช้เวลาทำกิจกรรมต่างๆ รวมถึงการเตรียมรับมือเพื่อสู้กับมหันตภัยอื่นๆ ในอนาคต

ทั้งนี้ จากสถิติขององค์การการท่องเที่ยวโลกแห่งสหประชาชาติ (UNWTO) ระบุว่า มีนักท่องเที่ยวญี่ปุ่นออกไปเที่ยวต่างประเทศในช่วง 9 ปี ตั้งแต่ปี 2554-2562 จำนวน 226 ล้านคน โดยเป็นการไปเที่ยวประเทศในเอเชียตะวันออก 79 ล้านคน และเที่ยวประเทศในกลุ่มอาเซียน 40 ล้านคน

“และเมื่อดูเฉพาะจุดหมายประเทศไทย เมื่อปี 2562 มีนักท่องเที่ยวญี่ปุ่นเดินทางมา 1.8 ล้านคน ขณะที่นักท่องเที่ยวไทยเดินทางไปญี่ปุ่น 1.3 ล้านคน เป็นตลาดที่ค่อนข้างสมดุลสำหรับการท่องเที่ยว 2 ทาง”