ส.ทีวีดิจิตอลยันถ่ายทอดสดบอลโลก ต้องไม่จ่ายเพิ่ม-ทุกช่องได้สิทธิ์

ส.ทีวีดิจิตอลยันถ่ายทอดสดบอลโลก ต้องไม่จ่ายเพิ่ม-ทุกช่องได้สิทธิ์

อลหม่านการทุ่มเงิน “พันล้านบาท” เพื่อซื้อลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก 2022 มาให้คนไทยได้ดู ยังเกิดขึ้นจนเกือบจะวินาทีสุดท้าย เนื่องจากวานนี้(17 พ.ย.65) ได้เกิดประเด็นการขอให้ทีวีดิจิทัลที่จะถ่ายทอดสดร่วม “ลงขัน” เพิ่มเติม

ทั้งนี้ อีกเพียง 3 วัน การถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก ที่ประเทศกาตาร์เป็นเจ้าภาพจะเริ่มขึ้นวันที่ 20 พฤศจิกายน-18 ธันวาคม 2565 โดยประเทศไทย ได้ข้อสรุปว่ามีเอกชนเพียง 3 ราย ได้แก่ บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น บมจ.ไทยเบฟเวอเรจ และบมจ. ปตท. ที่ยอมควักกระเป๋า วงเงินรวม 500 ล้านบาท เพื่อสมทบกับ โดยคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ซึ่งได้ดึงเงินจากกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ หรือกองทุน กทปส.วงเงิน 600 ล้านบาท สำหรับใช้ซื้อลิขสิทธิ์ครั้งนี้

สุดท้ายวงเงินทั้งจากกองทุนกทปส.และเอกชน รวมมูลค่า 1,100 ล้านบาท! ต่ำกว่าราคาที่คนไทยทั้งประเทศรับทราบมาตลอดว่าตัวแทนขายลิขสิทธิ์ฟุตบอลโลก 2022 ของฟีฟ่าโขกราคาแพงระยับถึง 1,600 ล้านบาท

เมื่อนับถอยหลังคนไทยจะได้รับ “ผลประโยชน์” ในการรับชมกีฬาระดับโลก กลับต้องลุ้นว่าทีวีดิจิทัล “ทุกช่อง” จะได้ถ่ายทอดสดหรือไม่ อีกด้านมีการระบุว่า หากจะถ่ายทอดทุกช่อง ทีวีแต่ละค่ายต้อง​ “จ่ายเงินเพิ่ม” เพื่อร่วมลงขันกับสปอนเซอร์ที่ควักเงินไปก่อนหน้านี้

ทีวีดิจิทัลทุกช่อง!ต้องได้ถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก

นายสุภาพ คลี่ขจาย นายกสมาคมโทรทัศน์ระบบดิจิตอล (ประเทศไทย) เปิดเผยว่า วานนี้(17 พ.ย.65) คณะทำงานสมาคมฯ ได้มีการประชุมกันเกี่ยวกับประเด็นการถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก 2022 ซึ่งมีประเด็นการเรียกเงินเพิ่มเติม แต่ทางการกีฬาแห่งประเทศไทย(กกท.) ได้ทำการชี้แจงว่าเป็นการเข้าใจผิดกันเกี่ยวกับการลงขันเพิ่มเติม

นอกจากนี้ สมาคมทีวีดิจิตอลฯ ขอยืนยันชัดเจนเกี่ยวกับการถ่ายทอดสดฟุตบอลโลกครั้งนี้ ต้องประกอบด้วย 1.ทีวีดิจิทัลทุกช่องต้องได้รับสิทธิ์ถ่ายทอดสดฟรี ส่วนช่องใด จะได้รับการถ่ายทอดคู่ไหน ต้องไปบริหารจัดการให้เรียบร้อย หากบางช่องต้องการถ่ายทอดคู่พรีเมียม แมทช์สำคัญให้ได้ ทุกฝ่ายต้องดำเนินการเจรจากันเอง

ยึดกฎมัสต์แคร์รี่ถ่ายทอดสดเพื่อเท่าเทียม

นอกจากนี้ เมื่อภาครัฐมีการนำเงินจากกองทุน กทปส.วงเงิน 600 ล้านบาท เพื่อเป็นทุนตั้งต้นไปจ่ายค่าลิขสิทธิ์ฟุตบอลโลก 2022 จึงมีเหตุมีผลที่ทีวีดิจิทัลครบทุกช่องต้องได้รับการถ่ายทอดสด

2.เมื่อมีการดึงเงินจากกองทุน กทปส. มูลค่า 600 ล้านบาทไปแล้ว ทำให้ผู้ประกอบการทีวีดิจิทัล ไม่ต้องจ่ายเพิ่มเติมด้วย เนื่องจากเหตุผลใช้เงินครั้งนี้ กสทช. มีการอ้างอิง มาตรา 52(1) เพื่อให้เกิดความเท่าเทียมกัน ช่วยคนพิการ หรือผู้ด้อยโอกาสได้มีการเข้าถึงการกระจายเสียงวิทยุโทรทัศน์เช่นเดียวกันกับทุกคน

 ที่สำคัญตามกฎมัสต์ แคร์รี่ ทีวีดิทัลต้องถ่ายทอดสดรายการกีฬาสำคัญให้กับชาวไทยได้รับชมอย่างเท่าเทียมกันด้วย อย่างไรก็ตาม หากยังเกิดปัญหาการถ่ายทอดสดอีก โดยเฉพาะมีเพียงทีวีดิจิทัลของรัฐ และช่องของสปอนเซอร์ผู้สนับสนุนเงินเพิ่ม ส่วนช่องอื่นๆไม่ได้รับสิทธิ์ในการถ่ายทอด เป็นสิ่งที่กสทช. จะต้องแอ๊คชั่นต่อ เพราะเงินส่วนหนึ่งยังมาจากกองทุน กทปส. ที่เก็บจากผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลตอนประมูลใบอนุญาตประกอบกิจการ(ไลเซ่นส์)

“ตามกฎมัสต์ แคร์รี่ทีวีดิจิทัลต้องได้รับการถ่ายทอดสดฟุตบอลโลกครั้งนี้ เพื่อเท่าเทียม ทั่วถึง”

อย่าคาดหวังเม็ดเงินโฆษณา

นายสุภาพ กล่าวอีกว่า หากมีการถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก 2022 ผ่านทีวีดิจิทัลทุกช่อง สมาคมฯไม่คาดหวังเม็ดเงินโฆษณาจะสะพัด เนื่องจากสภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว ทำให้ไม่มีเงินในตลาดแล้ว อีกทั้งที่ผ่านมา ภาคธุรกิจได้รับผลกระทบจากวิกฤติโควิด-19 ทำให้คนรวย-จน บาดเจ็บเท่ากันถ้วนหน้า

ส่วนภาพรวมทีวีดิจิทัลคาดว่ามีความคึกคักเล็กน้อย เนื่องจากรายการกีฬาสดระดับโลก รับชมผ่านทีวีจอใหญ่มีความมันส์มากขึ้น รวมถึงช่วยกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอย เงินสะพัดในธุรกิจร้านอาหาร ขนมขบเคี้ยว เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เครื่องดื่มไม่มีแอลกออฮอล์ เป็นต้น

“อย่าไปคาดหวังมาก เรื่องเม็ดเงินโฆษณา เพราะในอุตสาหกรรมไม่มีเงินแล้ว ไม่ใช่แค่การได้ลิขสิทธิ์แบบฉุกละหุก ต่อให้เตรียมตัวล่วงหน้า 3-4 เดือน เศรษฐกิจแบบนี้ เงินในท้องตลาดหายไปค่อนข้างมาก ส่วนภาพรวมธุรกิจเกี่ยวเนื่อง หรือเงินบนโต๊ะอาจสะพัดบ้าง”

บวกสุด แบรนด์อาจควักเงินเพิ่ม 5% เกาะกระแส

นายภวัต เรืองเดชวรชัย ประธานกรรมการ บริษัท มีเดีย อินเทลลิเจนซ์ จํากัด หรือเอ็มไอ กล่าวว่า แม้จะมีการถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก 2022 ในประเทศไทย แต่ยังเชื่อว่าไร้ตัวแปรเพิ่ม เพื่อกระตุ้นเม็ดเงินในอุตสาหกรรมโฆษณา หรือไม่เห็นการโยกงบเดือนพฤศจิกายน เนื่องจากแบรนด์สินค้าต่างวางงบประมาณเพื่อทำแคมเปญสื่อสารการตลาดไว้แล้ว

ส่วนเดือนธันวาคม หากมองเชิงบวกขั้นสุด แบรนด์ที่มีงบสำรองอาจควักเงินทำกิจกรรม เกาะกระแสฟุตบอลโลกบ้าง อย่างมากอยู่ระดับ 5% เช่น แบรนด์วางงบ 1 ล้านบาท อาจออนท็อปเป็น 1.2 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม การถ่ายทอดสดฟุตบอลโลกครั้งนี้ เอเยนซี ยังมอง “ทีวีดิจิทัล” ที่อยู่ภายใต้บริษัทเอกชนที่สนับสนุนงบประมาณที่เหลือ จะเป็นผู้ได้สิทธิ์ตามสัดส่วนเงินที่ลงขัน เช่น กลุ่มทรู ฯ มีช่องทรูโฟร์ยู ส่วนกลุ่มไทยเบฟฯ มีช่องอมรินทร์ ฯ ส่วนจะมีช่องอื่นที่อยู่ในเครือของสปอนเซอร์แต่ละรายหรือไม่ต้องติดตาม

“การถ่ายทอดสดอาจไม่หนีจากช่องทีวีดิจิทัลที่เป็นสปอนเซอร์ ซึ่งถูกฟิกซ์ไว้แล้วจากการแบ่งเค้กตามสัดส่วนที่ลงทุน ส่วนเม็ดเงินโฆษณาจะคึกคักไหม มองว่าไม่มีตัวแปรเพิ่ม หากกระตุ้นได้อาจไม่ถึง 5% ด้วยซ้ำ เพราะมิติการสื่อสารการตลาด ซื้อขายโฆษณา ตอนนี้ยังไม่เห็นทีวีช่องต่างๆตั้งไข่ หรือมีสัญลักษณ์ถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก ทั้งที่จริงๆต้องรีบคุยแล้ว แต่นี่ถือเป็นประวัติศาตร์ชาติไทยที่ยังไม่มีการคอนเฟิร์มเรื่องลิขสิทธิ์ การถ่ายทอด ทั้งที่อีกไม่กี่วันฟุตบอลจะเริ่มแล้ว”