'มัสต์ แฮฟ - มัสต์ แคร์รี่' ต้นตอธุรกิจเมินซื้อลิขสิทธิ์ฟุตบอลโลก

'มัสต์ แฮฟ - มัสต์ แคร์รี่' ต้นตอธุรกิจเมินซื้อลิขสิทธิ์ฟุตบอลโลก

ถอดบทเรียนซื้อลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดกีฬา รัฐสร้างกฎ "มัสต์ แฮฟ" กลายเป็นปม "แทรกแซง" เอกชน ไม่กล้าลงทุน เหตุต้องถ่ายทอดทุกวินโดว์ กลายเป็นซื้อแพง! ทีวีดิจิทัล หนุนคง "มัสต์ แคร์รี่" คุ้มกันธุรกิจตายก่อนหมดไลเซนส์ 15 ปี ที่นับถอยหลังเหลือราว 7 ปี

มหกรรมกีฬาใหญ่อย่าง “ฟุตบอลโลก” ที่ 4 ปีมีครั้ง แต่กลับสร้างประเด็นร้อนให้กับแวดวงธุรกิจ การเมือง สังคมไทย “ป่วน” ไม่น้อย โดยเฉพาะหลังการออกกฎระเบียบมัสต์ แฮฟ(Must Have) และมัสต์ แคร์รี่ (Must Carry) โดยคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ซึ่งมีเจตนารมณ์ให้คนไทยได้ดูคอนเทนต์ชั้นเยี่ยมหรือ Content is King อย่างการถ่ายทอดสดกีฬาบิ๊กๆ

ทว่า กฎ มัสต์ แฮฟ และมัสต์ แคร์รี่ กลายเป็น “อุปสรรค”(Threats)ใหญ่ของคนทำธุรกิจทีวี เพราะถ้าจะให้ใช้เงินมหาศาลไปประมูลซื้อลิขสิทธิ์หรือไลเซนส์รายการกีฬามาราคาแพงระยับ แต่จะวางแผนต่อยอด “ทำเงิน” ให้อยู่ในจุด “คุ้มทุน” ถึงทำ “กำไร” ยาก ย่อมลดทอนความสนใจไปซื้อไลเซนส์ทีละนิด

ฟุตบอลโลก 2022 เป็นอีกครั้งที่ไทยไร้เอกชนรับบทเป็น “เจ้าภาพ” ในการซื้อลิขสิทธิ์ด้วยมูลค่าแพงถึง 1,600 ล้านบาท จนท้ายที่สุด รัฐบาลโดยการกีฬาแห่งประเทศไทย(กกท.)ต้องเต้นหางบประมาณเพื่อนำกีฬายอดฮิตของคนทั้งโลกมาให้คนไทยได้ชม

ทว่า จนแล้วจนรอดเหลือเพียง 9 วัน ของการแข่งขัน ซึ่งจะมีขึ้นวันที่ 20 พฤศจิกายน - 18 ธันวาคม 2565 ที่ประเทศกาตาร์ ยังหาเงินได้ไม่ครบ โดยเงินสมทบก้อนแรก 600 ล้านบาท มาจาก กสทช.เคาะงบจากกองทุน กทปส. มาให้ ส่วนอีก 1,000 ล้านบาท รอ “เอกชน” ร่วมกัน “ลงขัน” ซึ่งกรุงเทพธุรกิจ สอบถามแหล่งข่าววงการธุรกิจพบว่าเหลืออีก 1 ราย ที่ยังไม่ตกลงควักเงิน 200 ล้านบาท เนื่องจากเจรจาเงื่อนไขไม่ลงตัว แต่คาดว่า 1-2 วันจะได้ข้อสรุป พร้อมตั้งโต๊ะแถลงข่าว

การ “บีบ” ให้เอกชนมาลงขัน และดึงเงินจากกองทุน กทปส. เพื่อประมูลซื้อลิขสิทธิ์ฟุตบอลโลก 2022 ในราคาแพงมาก! กลายเป็นอีก “บทเรียน” ของภาคธุรกิจไทย

แหล่งข่าววงการธุรกิจเล่าว่า ปมปัญหาใหญ่ ไม่ใช่แค่เรื่องลิขสิทธิ์ฟุตบอลโลก ที่มีราคาแพงขึ้นเรื่อยๆ แต่ “กฎมัสต์ แฮฟ” และ “มัสต์ แคร์รี่” ก็ไม่เอื้อ เพราะหากเอกชนจะควักงบประมาณเพื่อลงทุนซื้อคอนเทนต์ดังกล่าว แล้วนำมาสร้างรายได้ เป็นไปได้ยากมาก เพราะหาจุด “คุ้มทุน” แทบไม่เจอ

เนื่องจากเมื่อซื้อลิขสิทธิ์มาแล้ว ต้องถ่ายทอดผ่านทีวีดิจิทัลช่องต่างๆ หรือฟรีทีวีได้ ภายใต้กฎมัสต์ แฮฟ อีกด้านยังต้องให้มีการเผยแพร่กิจการโทรทัศน์ที่ให้บริการเป็นการทั่วไปภายใต้กฎมัสต์ แคร์รี่ ที่รวมถึงการให้คนไทยสามารถรับชมคอนเทนต์ผ่านอุปกรณ์ต่างๆ ได้

ขณะที่การเจรจาซื้อลิขสิทธิ์คอนเทนต์กีฬาใหญ่ๆ จะมีเงื่อนไขแตกต่างออกไป เช่น ขายสิทธิการรับชมแยก ผ่านฟรีทีวี เคเบิลทีวี หรือออนไลน์ เมื่อมีการถ่ายทอดผ่านช่องทางอื่นนอกเหนือที่เจรจา ถือเป็นการ “ละเมิดสิทธิ์” และถูกเจ้าของคอนเทนต์ เจ้าของลิขสิทธิ์ “ฟ้องร้อง” เรียกค่าเสียหายตามมา

“คนขายคอนเทนต์ ขายสิทธิแยกช่องทางรับชม แต่ในไทยมีกฎมัสต์ แฮฟ มัสต์ แคร์รี่ ถ่ายทอดผ่านฟรีทีวี เคเบิลทีวี ทีวีดาวเทียม ออนไลน์ หรือโอทีทีได้หมด ทำให้คนซื้อก็ซื้อไม่ไหว เพราะหากเรามีแค่ฟรีทีวี ไม่มีโอทีที แต่ต้องถูกบังคับซื้อ ลิขสิทธิ์ก็แพง ทำธุรกิจไม่ไหว จึงไม่มีใครทำ”

 ทั้งนี้ หากพิจารณาด้านคอนเทนต์ “ฟุตบอลโลก” แหล่งข่าวตั้งคำถามว่าเป็นรายการกีฬาที่ “คนไทยอยากดูมาก..จริงหรือไม่?” รวมถึงการนำเงิน กองทุน กทปส. 600 ล้านบาท ไปสมทบซื้อลิขสิทธิ์ ตรงวัตถุประสงค์หรือ? ยิ่งดูเม็ดเงินรวม 1,600 ล้านบาท มีความคุ้มค่าเพียงใด กับการนำรายการกีฬาที่ไม่มี “ทีมชาติไทย” เข้าแข่งขันมาเอาใจคนทั้งประเทศ

 

 

เนื่องจากอีกด้านมองว่ายังมีกีฬาประเภทอื่น เช่น วอลเลย์บอลหญิงทีมชาติไทย กีฬากอล์ฟหญิง ที่มี “คนไทย” ขึ้นเป็น “มือ 1 ของโลก” อีกครั้ง รวมถึงฟุตบอลชิงแชมป์แห่งชาติอาเซียน หรือเอเอฟเอฟ คัพ ที่สร้างความภาคภูมิใจ สามารถสร้างแรงบันดาลใจให้คนไทย การนำเม็ดเงิน 1,600 ล้านบาท มาทุ่มตรงจุดนี้ ไม่ดีกว่าหรือ

“ทำไมวอลเลย์บอลหญิง เอกชนควักเงินซื้อลิขสิทธิ์มาถ่ายทอดได้ แล้วทำไมเราต้องนำเงินไปซื้อลิขสิทธิ์กีฬาที่ทีมชาติไทยไม่เคยได้เข้ารอบด้วยซ้ำ นำเงินไปส่งเสริมกีฬาที่ทำให้เราภูมิใจ ทำให้นักกีฬาไทยเก่งขึ้น อาจดีกว่าซื้อลิขสิทธิ์ฟุตบอลโลก”

อีกมิติที่ผู้ประกอบการมองคือ “ราคา” ค่าลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก 2022 ที่แพงมาก! เพราะมองในด้านเจรจาการค้า เมื่อสินค้ากำลังจะต้องขายในวินาทีสุดท้าย ก่อนถ่ายทอดสด “คนขาย” ต้องอยู่ในสถานการณ์ “เสียเปรียบ” ผู้ซื้อแล้ว เนื่องจากฟุตบอลไม่มีใครย้อนดูเทป หรือรู้ผลการแข่งขันแล้ว จึงกลายเป็น “วัดใจ” คนขาย

“นี่ของเรา บอกให้รู้ว่าต้องซื้อฟุตบอลโลกมาให้คนไทยดู คนขายจึงได้เปรียบ” แหล่งข่าวเล่า และขยายความว่าการเจรจาต่อรองธุรกิจ เมื่อแพงเกินกว่าจะประกอบธุรกิจได้ย่อมต้องถอย ส่วนคนขายต้องหาคนที่ให้ราคาดีสุด ได้เงินดีกว่าไม่ได้สักบาท

เมื่อมีสารพัดปัญหา จำเป็นต้องแก้กฎระเบียบมัสต์ แฮฟ และมัสต์ แคร์รี่ หรือไม่ แหล่งข่าวกล่าวว่า ภาครัฐควรไปดูว่าประเทศใดในโลกที่มีกฎระเบียบเหมือนไทยบ้าง เพื่อเป็นกรณีศึกษา อีกด้านการซื้อลิขสิทธิ์มาถ่ายทอดสดผ่านทีวีดิจิทัลบางช่องยังเป็นความคมชัดปกติหรือเอสดี ซึ่งยุคนี้เทคโนโลยีมีแต่ความคมชัดสูงหรือเอชดี ไปจนถึง 4K แล้ว รวมถึงหาช่องถ่ายทอดสดไม่ค่อยเจอด้วย

“ตามหลัก ควรคืนใบอนุญาตประกอบกิจการทีวีดิจิทัลให้หมด”

ด้านแหล่งข่าวแวดวงสื่อมวลชน ระบุว่า การซื้อลิขสิทธิ์ฟุตบอลโลก 2022 เป็น “บทเรียน” และ “พฤติกรรมซ้ำซาก” ที่เกิดในประเทศไทย เพราะลิขสิทธิ์ฟุตบอลโลก รับรู้ล่วงหน้าราว 3 ปีแล้ว ที่ผ่านมา หากต้องการแก้ไขกฎระเบียบมัสต์ แฮฟ และมัสต์ แคร์รี่ สามารถดำเนินการได้อยู่แล้ว

ด้าน สุภาพ คลี่ขจาย นายกสมาคมโทรทัศน์ระบบดิจิตอล (ประเทศไทย) กล่าวว่า มัสต์ แคร์รี่ ยังมีความจำเป็นสำหรับอุตสาหกรรมทีวีดิจิทัล เพื่อให้คนดูสามารถรับชมรายการที่สำคัญได้อย่างทั่วถึง ขณะที่ลิขสิทธิ์แพง เป็นเรื่องของการเจรจาทางธุรกิจ เพราะกระแสข่าวการเจรจาครั้งแรกกับครั้งต่อมา มีราคาแพงขึ้นเป็นเท่าตัว

“กฎมัสต์ แฮฟ ทำให้เอกชนที่ต้องการลงทุนซื้อลิขสิทธิ์รายการกีฬาใหญ่ๆ ต้องถอย เพราะทำแล้วไม่มีกำไร ไปซื้อไลเซนส์มาแล้ว ใครๆ ก็ดูได้”

เดียว วรตั้งตระกูล เลขาธิการสมาคมโทรทัศน์ระบบดิจิตอล (ประเทศไทย) กล่าวเสริมว่า 10 ปี ของการเกิดกฎระเบียบมัสต์ แฮฟ และมัสต์ แคร์รี่ ให้บทเรียนกับธุรกิจสื่อ สังคมไทย 2 ข้อ ได้แก่ 1.การกลัดกระดุมผิดเม็ดของภาครัฐ เป็นการแก้ปัญหา “จอดำ” ในปี 2555 ด้วยการทำก่อนแล้วแก้แห นำไปสู่กระแสสังคมให้ความสนใจในการตรวจสอบประเด็นต่างๆ มากขึ้น 2.คนไทยเรียนรู้เรื่องลิขสิทธิ์คอนเทนต์ การถ่ายทอดสดมากขึ้น เนื่องจาก “สื่อ” อยู่ในมือผู้บริโภค นอกจากมีการรักษาสิทธิของตัวเอง ทำให้เข้าใจสิทธิของผู้อื่นด้วย

ทั้งนี้ ย้อนรอย 10 ปีของการเกิดกฎมัสต์ แฮฟ เพราะการซื้อสิทธิถ่ายทอดสดฟุตบอลยูโร 2012 ของค่าย “แกรมมี่” ที่ต้องรับชมผ่านกล่อง “จีเอ็มเอ็มแซด” เท่านั้น กลายเป็นฟรีทีวีภาคพื้นดินบนบางแพลตฟอร์มไม่สามารถรับชมได้ โดยเฉพาะทีวีดาวเทียม ซึ่งขณะนั้นครอบคลุมการรับชมของคนไทยมากขึ้น

ปม “จอดำ” กลายเป็นประเด็นใหญ่ที่สังคมไทยตื่นตัวเรื่องลิขสิทธิ์ อีกด้านกลายเป็นคดีความที่จบลงโดย ผู้ซื้อลิขสิทธิ์มาถ่ายทอดชนะ เนื่องจากทุกอย่างต้องเป็นไปตามการเจรจาทางการค้าที่เกี่ยวข้องกับลิขสิทธิ์ถ่ายทอดวินโดว์ ใดต้องเป็นไปตามนั้น

ขณะที่กฎมัสต์ แคร์รี่ เป็นสิ่งที่ “พ่วง” ไปกับกฎมัสต์ แฮฟ และเป็นช่วงของการเกิด “ทีวีดิจิทัล” ที่ต้องการขยายทีวีภาคพื้นดินให้ครอบคลุมประชาชนทั่วประเทศ แต่อีกด้านจะกระเทือนเคเบิลทีวี ทีวีดาวเทียมได้ ทว่า การจะทรานส์ฟอร์มทีวีดิจิทัลให้ได้ทั่วทุกครัวเรือน ต้องรอการติดตั้งเสารับสัญญาณทีวีดิจิทัลที่กินเวลานานนับปี “มัสต์ แคร์รี่” จึงแก้ปัญหาเวลานั้นเพื่อให้คนไทยรับชมรายการจากทีวีดิจิทัลได้ทั้งหมด

ดังนั้น เมื่อมีเอกชนรายใดที่ไปซื้อรายการกีฬาใหญ่ระดับโลก จึงต้องกัดฟันซื้อสิทธิถ่ายทอดทุกวินโดว์ทำให้ราคาแพง! ยิ่งกว่าเดิม

เมื่อแพงแต่นำมาหารายได้แล้ว ไม่คุ้มทุน ทำให้ไร้เงาของผู้ประกอบการไปซื้อรายการกีฬามาให้คนไทยได้ดูหลายปี จนที่สุด รัฐต้องหาเม็ดเงินมา “อุดหนุน” แทน

ส่วนลิขสิทธิ์บอลโลก 2022 ที่เคาะราคา 1,600 ล้านบาท เมื่อคำนวณค่าโฆษณาแบบเทียบบัญญัติไตรยางศ์ตกนาทีละ 1 ล้านบาท ถือว่าสูงมาก เทียบกับสถานการณ์จริง รายการยอดนิยม อย่างละครดังปังสุดๆ ยังขายโฆษณาหลัก “แสนบาท” ต่อนาทีเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม จากการสอบถามแหล่งข่าววงธุรกิจทีวี หลายราย ให้ความเห็นเกี่ยวกับปัญหาของกฎ “มัสต์ แฮฟ” ต่างต้องการให้ “ยกเลิก” เสีย เพราะเป็นอุปสรรคใหญ่มากๆ ต่อการดำเนินธุรกิจ ส่วนกฎ “มัสต์ แคร์รี่” ต้องการให้คงไว้ แต่อาจต้องปรับปรุงแก้ไขรายละเอียดบางประเด็น เช่น การยกเว้นการถ่ายทอดสดกีฬาใหญ่ๆ เป็นต้น

“กฎมัสต์ แฮฟ โอกาสคุ้มทุนทางธุรกิจลำบาก ส่วนกฎมัสต์ แคร์รี่ มีความเป็นห่วง เพราะที่ผ่านมามีการพยายามยกเลิก หากเป็นเช่นนั้น ผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลลุกฮือแน่นอน เพราะปัจจุบันการทำธุรกิจมีความยากลำบากอยู่แล้ว หากเลิกกฎดังกล่าว จะทำให้คนสวิทช์การคอนเทนต์ข้ามไปดูแพลตฟอร์มโอทีทีเลย และทีวีดิจิทัล..ตายแน่!”

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์