"เดลต้า" รุกผู้นำโซลูชันนวัตกรรมสีเขียว บุกตลาดอีวี ดิจิทัล และออโตเมชัน
"เดลต้า" เดินกลยุทธ์ธุรกิจตอบรับเมกะเทรนด์โลก และนโยบายไทยแลนด์ 4.0 รุกเป็นผู้นำโซลูชันนวัตกรรมสีเขียว ทั้งกลุ่มยานยนต์ไฟฟ้า ดาต้าเซ็นเตอร์ และหุ่นยนต์ออโตเมชัน ตอบโจทย์สร้างสังคมไทยปล่อยมลพิษเป็นศูนย์ ในปี 2065
นายแจ็คกี้ จาง ประธานบริหาร บริษัท เดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า เดลต้า มองทิศทางอนาคตของเมกะเทรนด์โลก ประกอบด้วย 4 เรื่องหลัก ได้แก่ การเติบโตของเมืองและสภาพแวดล้อมความเป็นเมือง การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรที่คนรุ่นใหม่จะเข้ามามีบทบาทมากขึ้น การเปลี่ยนผ่านเทคโนโลยีที่ถูกเร่งให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และปัญหา การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รวมถึงภัยธรรมชาติที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยเมกะเทรนด์เหล่านี้จะยังดำเนินต่อไปในอนาคตอันใกล้นี้
ขณะเดียวกัน การขับเคลื่อนนโยบายพัฒนาประเทศทำให้ไทยเข้าสู่ช่วงการเปลี่ยนผ่านไปสู่ Thailand 4.0 และ Energy 4.0 ถือเป็นโอกาสของโมเดลธุรกิจและโซลูชัน นวัตกรรมสีเขียว ของเดลต้าที่จะช่วยสนับสนุนพันธมิตรภาคเอกชนและผลักดันยุทธศาสตร์การพัฒนาไทยให้ก้าวหน้าทั้งด้านเทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม บรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน รวมทั้งเป้าหมายการปล่อยมลพิษเป็นศูนย์ของไทยภายในปี 2065
ทั้งนี้ เดลต้า ได้ร่วมมือกับทั้งภาครัฐและเอกชนในการนำเสนอโซลูชันการจัดการพลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ โดยโฟกัส 3 อุตสาหกรรมหลัก ได้แก่
- สถานีชาร์จยานยนต์ไฟฟ้า ซึ่งเดลต้าให้บริการโซลูชัน สถานีชาร์จไฟฟ้า แบบครบวงจรตั้งแต่การติดตั้ง ระบบกักเก็บ พลังงานแสงอาทิตย์ และซอฟต์แวร์จัดการพลังงาน โดยสามารถเชื่อมโยงกับระบบจ่ายไฟของภาครัฐ เพิ่มเสถียรภาพการใช้งานสำหรับสถานีชาร์จสาธารณะและเชิงพาณิชย์ นอกจากนี้ เดลต้ายังได้ลงนามความร่วมมือกับการไฟฟ้าฯ และกลุ่มปตท. เพื่อพัฒนาโซลูชันการชาร์จรถอีวี และการสร้างระบบนิเวศสำหรับ รถอีวี ในไทย
- ดาต้าเซ็นเตอร์และโทรคมนาคม 5G เป็นอุตสาหกรรมหนึ่งที่จะขยายตัวตามการเติบโตอย่างก้าวกระโดดของเศรษฐกิจดิจิทัลตามเทรนด์การเปลี่ยนผ่านด้านดิจิทัล รวมทั้งรองรับการใช้งานของเทคโนโลยีขั้นสูง อาทิ IoT คลาวด์คอมพิวติ้ง บล็อกเชน และเทคโนโลยีโลกเสมือน ซึ่งคาดว่าในปี 2570 จะมีสัดส่วนถึง 25% ของจีดีพีประเทศ โดยบริการของเดลต้าจะช่วยให้ดาต้าเซ็นเตอร์มีระบบการจัดการพลังงานและระบบระบายความร้อนอย่างมีประสิทธิภาพ ช่วยลดการปล่อย ก๊าซเรือนกระจก รวมทั้งลดต้นทุนการบริหาร
- ระบบออโตเมชัน จะเข้ามามีบทบาทสำคัญต่อการเพิ่มศักยภาพการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรม โดยเดลต้ามีบริการระบบซอฟต์แวร์อุตสาหกรรมอัตโนมัติและระบบบริหารจัดการภายในโรงงาน ในการควบคุม มอนิเตอร์และวิเคราะห์ข้อมูลแบบเรียลไทม์ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพ กำลังการผลิต คุณภาพการผลิตและลดการพึ่งพาแรงงาน
"บริษัทฯ คาดว่า ผลการดำเนินงานในปี 2565 ปีถัดไปจะเติบโตได้ในระดับสองหลัก ด้วยปัจจัยสนับสนุนจากของเงินบาทอ่อนค่าที่เป็นผลดีต่อการส่งออก ต้นทุนวัตถุดิบที่เริ่มผ่อนคลาย รวมทั้งการเติบโตของตลาด ยานยนต์ไฟฟ้า ในไทยและในระดับโลก อย่างไรก็ตามยังมีปัจจัยเฝ้าระวังเรื่องวิกฤติพลังงานและ เงินเฟ้อ ที่จะกดดันกำลังซื้อของผู้บริโภค" นายแจ็คกี้ กล่าว
ทั้งนี้ สำหรับมุมมองเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มเข้าสู่ภาวะถดถอย นายแจ็คกี้ กล่าวว่า ผลกระทบดังกล่าวจะขึ้นอยู่กับแต่ละอุตสาหกรรมและแต่ละประเทศต่างกัน ซึ่งแน่นอนว่าการดำเนินนโยบายดอกเบี้ยขาขึ้นและภาวะอัตรา เงินเฟ้อ ที่อยู่ในระดับสูงในปัจจุบันส่งผลโดยตรงต่อความเชื่อมั่นและกำลังซื้อของผู้บริโภค อาทิ การตัดสินใจซื้อสินค้าฟุ่มเฟือย
อย่างไรก็ตาม ในช่วงเวลาดังกล่าวจะยังคงมีอุตสาหกรรมซึ่งเป็นที่ต้องการและอยู่ในเมกะเทรนด์โลกจะเติบโตได้ดี อาทิ ช่วงโควิดซึ่งเป็นโอกาสของอุตสาหกรรมดาต้าเซ็นเตอร์และดิจิทัล เนื่องจากการประชุมออนไลน์และอีคอมเมิร์ซ ในขณะที่การเปิดเมืองและคลายล็อกดาวน์ชะลอการซื้อคอมพิวเตอร์
สำหรับการ ตลาดอีวี ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมเป้าหมายหลักของไทย ปัจจุบัน มีค่ายรถยนต์ระดับโลกหลายบริษัทที่ตัดสินใจเข้ามาตั้งฐานการผลิตในประเทศไทย ผลจากการตอบรับนโยบายอุดหนุนของภาครัฐทั้งฝั่งผู้ประกอบการและผู้ซื้อ สะท้อนจากการเติบโตอย่างก้าวกระโดดของดีมานด์ตลาดในประเทศ ซึ่งถือเป็นปัจจัยบวกด้านการลงทุนในอนาคตสำหรับเดลต้าในฐานะผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ไฟฟ้า เทียร์ 1 ซึ่งปัจจุบันส่งออกไปยังต่างประเทศทั้งหมด
นายแจ็คกี้ ให้ความเห็นว่า การขับเคลื่อนให้ไทยขึ้นสู่การเป็นศูนย์กลางการผลิต รถยนต์ไฟฟ้า ของภูมิภาค ยังขาดองค์ประกอบหลักในซัพพลายเชน 2 ส่วน ซึ่งถือเป็นสัดส่วนกว่า 40% ของการผลิตรถอีวี นั่นคือ "แบตเตอรี่" และ "ชิปเซต" นอกจากนั้น แม้ว่าไทยจะมีข้อได้เปรียบด้านซัพพลายเชนการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์จากการเป็นผู้ส่งออกยานยนต์เครื่องยนต์สันดาปลำดับต้นๆ ของโลก แต่เทคโนโลยีการผลิตรถอีวีจะใช้ชิ้นส่วนน้อยลงมากซึ่งจะทำให้อุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ดั้งเดิมในตลาดถูกดิสรัป ซึ่ง เดลต้า ร่วมมือกับภาครัฐในการเร่งให้ผู้ประกอบการชิ้นส่วนเกิดการพัฒนาและเปลี่ยนผ่านไปสู่การผลิตสินค้าชนิดอื่น
ทั้งนี้ สำหรับการลงทุนเรื่องแบตเตอรี่ในไทย จำเป็นต้องมีแต้มต่อโดยการสนับสนุนของภาครัฐ อาทิ การลดภาษีนำเข้าวัตถุดิบทำให้ต้นทุนการผลิตในไทยสามารถแข่งขันได้ รวมถึงการเตรียมความพร้อมด้านแรงงานวิศวกรทักษะสูง การวิจัยและพัฒนาเทคโนเทคโนโลยีใหม่ๆ เกี่ยวกับแบตเตอรี่ ควบคู่กัน
"การส่งเสริมให้เกิดโครงสร้างพื้นฐานของอุตสาหกรรมแบตเตอรี่จะช่วยลดต้นทุนการขนส่งแบตเตอรี่และสร้างความมั่นคงของซัพพลายเชนการผลิต ทำให้ไทยก้าวสู่การเป็นฮับการผลิต ยานยนต์ไฟฟ้า ในภูมิภาคได้อย่างมั่นคง" นายแจ็คกี้ ทิ้งท้าย