3 ทศวรรษ "บิ๊กซี" ใต้ร่ม 3 ทุนยักษ์ "เซ็นทรัล - คาสิโน - เจ้าสัวเจริญ"

3 ทศวรรษ "บิ๊กซี" ใต้ร่ม 3 ทุนยักษ์ "เซ็นทรัล - คาสิโน - เจ้าสัวเจริญ"

ส่องเส้นทาง 3 ทศวรรษ "บิ๊กซี" ใต้ร่ม 3 ทุนยักษ์! "เซ็นทรัล - คาสิโน - เจ้าสัวเจริญ" จากยุคแจ้งเกิด "กู้ชีพ" สู่เกมต่อยอดสยายปีก

ยักษ์ค้าปลีก “บิ๊กซี” (Big C) อีกหนึ่งธุรกิจเรือธง! ด่านหน้าในการเข้าถึงผู้บริโภคทุกระดับชั้น ของ “เจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี” แห่งไทยเบฟ มหาเศรษฐีท็อปทรีของประเทศไทย “บิ๊กซี” ภายใต้ร่ม บริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ บีเจซี (BJC) ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายสินค้า และบริการครบวงจร ตั้งแต่ ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ นับเป็นธุรกิจเก่าแก่ของไทยอายุกว่า 140 ปี

เวลานี้ มีกระแสข่าวร้อน "บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์" ห้างค้าปลีกในกลุ่มบริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ กำลังจะถูกแยกออกจากบีเจซี กลับเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย อีกครั้ง ภายในปี 2566 โดยคาดว่าจะเข้าระดมทุน IPO สูงกว่า 500 ล้านดอลลาร์ หรือราว 19,000 ล้านบาท

แนวทางการแยกธุรกิจ “บิ๊กซี” ออกจาก บีเจซี อาจถึงจังหวะเวลาที่เหมาะสม! หลังถอนบิ๊กซีออกจากตลาดหลักทรัพย์ นำรวมไว้กับ “บีเจซี” ซึ่งทำหน้าที่เข้าซื้อกิจการขณะนั้น พร้อมบริหารจัดการวางระบบระเบียบ จัดสรรทรัพยากร เพื่อเคลื่อนทัพค้าปลีกแสนล้าน! ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ 

ห้วงแห่งการลองผิด ลองถูกพัฒนารูปแบบธุรกิจ บ่มเพาะความแข็งแกร่งมาอย่างต่อเนื่อง บิ๊กสเต็ปจากนี้ "บิ๊กซี" วางแผนขยายอาณาจักรตามยุทธศาสตร์ 5 ปี (2565-2568) เตรียมงบลงทุนกว่า 60,000 ล้านบาท!  

อย่างไรก็ตาม เส้นทางกว่าจะได้ขึ้นชื่อว่าเป็นเจ้าของกิจการค้าปลีกขนาดใหญ่ของเจ้าสัวเจริญ แห่งไทยเบฟไม่ง่ายนัก! ในยุคที่ “สร้าง” อาจไม่ทันใช้ (การ) สูตรลัด “ซื้อกิจการ” น่าจะตอบโจทย์ที่สุด ทั้งกำลังคน โมเดลธุรกิจ ฐานลูกค้า ยิ่งทำเลเกรดเอ หัวใจสำคัญของร้านค้าปลีกแทบไม่เหลือ

ว่ากันว่า “ดีลบิ๊ก - บิ๊กซี” กลุ่มเซ็นทรัลเองก็ใช่ว่าไม่อยากได้ เพราะแจ้งเกิด ปลุกปั้นมาเองกับมือ! หากแต่สองเจ้าสัวน่าจะสมประโยชน์ในการแบ่งเค้กแบ่งตลาดโดยเซ็นทรัลคว้าสิทธิบิ๊กซี ในประเทศเวียดนาม ฐานธุรกิจใหญ่ที่เปรียบเสมือนบ้านหลังที่สองของกลุ่มเซ็นทรัล เปิดทางเจ้าสัวเจริญ ครอบครองธุรกิจบิ๊กซี ในประเทศไทย 

ย้อนรอย "บิ๊กซี" ก่อตั้งโดยกลุ่มเซ็นทรัล ราวปี 2536  เริ่มต้นธุรกิจ “ซูเปอร์สโตร์” บริเวณแยกวงศ์สว่าง ก่อนผนึกความร่วมมือกับพันธมิตรร่วมทุน กลุ่มอิมพีเรียล ของตระกูลกิจเลิศไพโรจน์ เปิดบริการ “บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์” สาขาแรกย่านถนนแจ้งวัฒนะ ในปี 2537  นับเป็นไฮเปอร์มาร์เก็ต หรือ ซูเปอร์เซ็นเตอร์ รายแรกในเมืองไทย พร้อมๆ กับการเปิดตัวของคู่แข่งรายสำคัญ “โลตัส” ของเจ้าสัวธนินท์ เจียรวนนท์ แห่งเครือซีพี 

ชื่อ บิ๊กซี - Big C โดยนัยเสมือนสะท้อนความเป็น “Big Central” หรือไม่นั้น?  แต่ในความหมายที่แท้จริง ระบุว่า   “บิ๊ก” (Big) หมายถึง พื้นที่ ที่มีขนาดใหญ่ พร้อมด้วยบริการ และสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ สำหรับลูกค้า และยังครอบคลุมไปถึงความหลากหลายของสินค้าที่บิ๊กซีคัดสรรมาจำหน่าย มากกว่า 100,000 รายการ เพื่อตอบสนองทุกความต้องการของลูกค้า สำหรับ “ซี” (C) หมายถึง ลูกค้า (Consumer) ผู้ให้การสนับสนุนบิ๊กซีด้วยดีเสมอมานั่นเอง

กิจการ “บิ๊กซี” มีการขยายสาขาไปได้ด้วยดีอย่างต่อเนื่อง ก่อนเผชิญมรสุมครั้งใหญ่ วิกฤติต้มยำกุ้งปี 2540 - 2541 ที่ธุรกิจเมืองไทยซวนเซกันอย่างหนัก  กลุ่มเซ็นทรัล เองประสบปัญหาภาระดอกเบี้ยเงินกู้ที่เพิ่มขึ้นมาก จากการปล่อยลอยตัวค่าเงินบาท

ขณะที่ “บิ๊กซี” ด้วยความเป็นร้านค้าปลีกขนาดใหญ่ ใช้พื้นที่หลัก 10,000 ตารางเมตร ในยุคนั้น เป็นการลงทุนที่ใช้เม็ดเงินจำนวนมาก และโมเดลธุรกิจที่ห้ำหั่นกันด้วยราคา!  Everyday Low Price จำเป็นต้องมีเครือข่ายสาขามากระดับหนึ่งเพื่อให้ได้ Economies of Scale รองรับกลยุทธ์ทุบราคาต่ำสู้คู่แข่งได้อย่างมีศักยภาพ

พิษเศรษฐกิจครั้งนั้นฉุดธุรกิจดาวรุ่งอย่าง “บิ๊กซี” สะดุดไม่เป็นท่า! หากจะเดินหน้าต่อแน่นอนว่าต้องตัดใจ ยอมเปิดทาง “ทุนใหญ่” เข้ามากอบกู้สถานการณ์ หลายชื่อยักษ์รีเทลระดับโลก ให้ความสนใจ และสุดท้ายได้ กลุ่มคาสิโน (Casino Group) ค้าปลีกสัญชาติฝรั่งเศส เข้ามาถือหุ้นใหญ่ บิ๊กซี ด้วยสัดส่วน 63%

ไม่ต่างจาก “โลตัส” ที่เปิดทางกลุ่มเทสโก้ สโตร์ อิงก์ (Tesco)  จากประเทศอังกฤษ เข้ามาซื้อกิจการจากกลุ่มซีพี ที่เผชิญปัญหาไม่ต่างกัน! 

จากนั้น “บิ๊กซี” กลับมาเดินหน้าขยายอาณาจักรอีกครั้ง พร้อมพัฒนารูปแบบร้านค้าปลีกหลากหลายขึ้น พร้อมปิดดีลใหญ่ ในปี 2553 เข้าประมูลเข้าซื้อกิจการ “คาร์ฟูร์” (Carrefour) ในประเทศไทย 42 สาขา มูลค่าราว 686 ล้านยูโร ซึ่งเป็นอีกหนึ่งกิจการของกลุ่มเซ็นทรัลที่ร่วมทุนกับค้าปลีกเบอร์ต้นของโลก คาร์ฟูร์ แห่งฝรั่งเศส 

ชื่อ “คาร์ฟูร์” ถูกปรับเปลี่ยนติดป้าย “บิ๊กซี” แทนที่ เพิ่มจำนวนสาขาแบบก้าวกระโดด พร้อมอัปเกรดบางสาขาขึ้นเป็นโมเดลใหม่ “บิ๊กซี เอ็กซ์ตร้า” (Big C Extra) เจาะกลุ่มลูกค้าระดับบนมากขึ้น

อย่างไรก็ดี ช่วงปี 2559 ธุรกิจกลุ่มคาสิโน ประเทศฝรั่งเศส ประสบปัญหาสภาพคล่องอย่างรุนแรง จึงตัดสินใจเปิดประมูลกิจการ “บิ๊กซี” ในประเทศไทย เวียดนาม และลาว นำสู่เจ้าของใหม่สมใจ “เจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี” ที่ชนะการประมูลกิจการบิ๊กซีในประเทศไทย ไปด้วยวงเงินมูลค่ากว่า 2 แสนล้านบาท จากนั้นจึงถอน “บิ๊กซี” ออกจากตลาดหลักทรัพย์ฯ  ย้ายมาเป็นบริษัทย่อยของ “บีเจซี” นั่นเอง 

บิ๊กซี ในยุคเจ้าสัวเจริญ ภายใต้การกุมบังเหียนของ "อัศวิน เตชะเจริญวิกุล" ซีอีโอ บีเจซี มีการพัฒนาต่อยอดโมเดลค้าปลีกใหม่ๆ รองรับดีกรีการแข่งขันในตลาดค้าปลีกที่เคยลดความดุเดือดลงแต่อย่างใด ขณะที่พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว มองหาความสะดวกสบายมากขึ้นยิ่งในยุคเทคโนโลยีดิจิทัล นวัตกรรมสินค้า และบริการสมัยใหม่เข้ามาเป็นตัวแปร และจูงใจในการเลือกใช้บริการ! 

บิ๊กซี มีทั้งร้านค้าปลีกขนาดเล็ก “มินิ บิ๊กซี” (Mini Big C) หัวหอกสำคัญในการขยายตลาดเจาะชุมชนขนาดเล็ก ร้านขายยาเพียว (Pure) บิ๊กซี ฟู้ด เพลส (Big C Food Place) เจาะกลุ่มลูกค้าในเมือง พร้อมกันนี้มีแผนยกระดับสาขาบางแห่งเป็น บิ๊กซี เพลส (Big C Place) อีกด้วย

ปัจจุบัน บิ๊กซี มีเครือข่ายสาขาร้านไฮเปอร์มาร์เก็ต 154 สาขา มินิ บิ๊กซี 1,431 สาขา เทียบคู่แข่งเครือซีพี มี โลตัส (Lotus’s) ไฮเปอร์มาร์เก็ต 224 สาขา และโลตัส โก เฟรช (Lotus’s Go Fresh)  2,171 สาขา

ยุทธศาสตร์ 5 ปี (2565 - 2569) ของ “บีเจซี บิ๊กซี” เตรียมงบประมาณกว่า 60,000 ล้านบาท ทีเดียว ในการขยายธุรกิจต่อเนื่อง โดยน้ำหนัก 70% อยู่ที่การสยายปีกกิจการ “ค้าปลีก” ที่ต้องการจะเร่งสปีด! เพื่อเพิ่มความแข็งแกร่งยิ่งขึ้น

“บิ๊กซี” เข้ามาอยู่ในพอร์ตโฟลิโอของกลุ่มบีเจซี ราว 6 ปี  เทียบกับภาพใหญ่องค์กร 140 ปีของ “บีเจซี” ฉะนั้น “บิ๊กซี” ยังเป็นโจทย์ใหญ่! ต่อภารกิจขับเคลื่อนที่จะต้องพัฒนาสินค้า และบริการ สร้างแพลตฟอร์มสู่ “ออมนิ ชาแนล” เพื่อรองรับความต้องการของลูกค้าได้แบบไร้รอยต่อ ตอบสนองนักช้อปยุคใหม่ รวมถึงการสร้างรายได้และผลกำไรที่ดีให้กับธุรกิจ

ปัจจุบัน “บิ๊กซี” มีฐานลูกค้าผ่านบัตรสมาชิก 17-20 ล้านราย มีลูกค้าชอปปิงทำธุรกรรมต่างๆ กว่า 1 ล้านรายการต่อวัน ขณะที่เครือข่ายร้านค้าปลีกบิ๊กซี มินิบิ๊กซี เพียว เอ็มเอ็มเมก้า มาร์เก็ต มีสาขารวมไม่ต่ำกว่า 2,000 สาขา ปักหมุดในประเทศไทยกว่า 1,900 สาขา เวียดนาม 103 สาขา ลาวเกือบ 60 สาขา และกัมพูชา 2 สาขา โดยมีร้าน “โดนใจ” หนึ่งในโมเดลยกระดับโชห่วยสู่ร้านค้าปลีกสมัยใหม่  ในเวียดนาม ยังมีร้าน “Gia Toh” รูปแบบเดียวกัน เพื่อสร้างเครือข่ายพันธมิตรเติบโตก้าวกระโดด

ตามแผน 5 ปี จะผลักดันยอดขายเติบโตก้าวกระโดดจาก 150,000 ล้านบาท ในปี 2534 ทะยานสู่ 270,000 ล้านบาท หรือเติบโตระดับ 11-16% ต่อปี!

แน่นอนว่าเส้นทางสู่เป้าหมายนั้นจำเป็นต้องเตรียมทุนให้ดี! แม้นาทีนี้ "บีเจซี" จะยืนยันว่ายังไร้ข้อสรุปในการนำ "บิ๊กซี" กลับเข้าตลาดก็ตาม

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์