‘ไฮเนเก้น’ เล็งหารือกรมสรรสามิต ค้านรีดภาษีเบียร์ 0% เหตุไร้แอลกอฮอล์

‘ไฮเนเก้น’ เล็งหารือกรมสรรสามิต  ค้านรีดภาษีเบียร์ 0% เหตุไร้แอลกอฮอล์

ภารกิจรัฐต้องหารายได้ อุดฐานะการคลัง หนึ่งในหน่วยงานจัดเก็บภาษี "กรมสรรพสามิต" เล็งดึงเครื่องดื่มมอลต์ที่ไม่มีแอลกอฮอล์ หรือผู้บริโภครู้จักกันคือ "เบียร์ 0%" ไปอยู่ในหมวดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพื่อเสียภาษีในพิกัดสูงขึ้น "ไฮเนเก้น ศูนย์จุดศูนย์" จึงออกโรงค้านทันที

หลายครั้งที่ภาครัฐมีแนวทางการจัดเก็บภาษีต่างๆเพื่อเพิ่มรายได้ หลายหมวดสินค้าจะโดนหมายหัวเข้าข่ายถูกเก็บภาษีเพิ่ม เมื่อโฟกัส “ภาษีสรรพสามิต” กลุ่มสินค้า “เครื่องดื่มแอลกอฮอล์” ถูกเพ่งเล็งและโดนจัดเก็บเพิ่มตามมา

หากย่อยตลาดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มีมูลค่า “หลายแสนล้านบาท” จากสุราขาว สีราสี ไวน์ เบียร์ เป็นต้น

ทว่า ล่าสุดกระแสข่าวการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตร หวยออกที่ “เครื่องดื่มมอลต์ที่ไม่มีแอลกอฮอล์ หรือผู้บริโภคคุ้นชินเรียก “เบียร์ 0%” และแบรนด์ “ไฮเนเก้น ศูนย์จุดศูนย์” รวมถึงแบรนด์อื่น เช่น บาวาเรีย 0.0 ที่ต่างเป็นสินค้านำเข้ามาทำตลาดในประเทศ

เมื่อแนวทางเก็บภาษีสรรพสามิตส่งสัญญาณแรง ทำให้ผู้ประกอบการต้องออกมาแสดงความเห็นถึงประเด็นดังกล่าว โดยเฉพาะ ผลกระทบที่จะเกิดขึ้น โดย ปริญ มาลากุล ณ อยุธยา รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ไทยเอเชีย แปซิฟิค บริวเวอรี่ จำกัด ในฐานะผู้ประกอบการและจัดจำหน่ายเครื่องดื่มมอลต์ไม่มีแอลกอฮอล์ แบรนด์ “ไฮเนเก้น ศูนย์จุดศูนย์” (Heineken 0.0) ได้แสดงจุดยืนเกี่ยวกับเครื่องดื่มมอลต์ไม่มีแอลกอฮอล์ ซึ่งบริษัททำตลาดในไทยราว 3-4 ปีแล้ว

โจทย์การนำไฮเนเก้น ศูนย์จุดศูนย์ เพื่อต้องการเป็นสินค้า “ทางเลือก” ให้กับผู้บริโภค ทั้งด้านสุขภาพ และการดื่มอย่างรับผิดชอบ สำหรับบางโอกาสที่ไม่สามารถดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อย่างเบียร์ได้ เช่น ต้องขับรถ ซึ่งสอดคล้องกับเทรนด์ทั่วโลกหันมาบริโภคเพื่อทดแทนหรือลดปริมาณการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

ทั้งนี้ ที่ผ่านมาการทำตลาดไม่ง่าย กลับเจออุปสรรคหลายด่าน หนึ่งในนั้นคือมุมมองที่คลาดเคลื่อนของภาครัฐ เห็นว่าเครื่องดื่มมอลต์ 0.0 ปูทางไปสู่การสร้างนักดื่มหน้าใหม่ ซึ่งบริษัทมองว่าไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ตลาดที่เกิดขึ้น

สำหรับไฮเนเก้น 0.0 ทำตลาดในทั่วโลก เทรนด์เบียร์แอลกอฮอล์ 0% ยังมีแนวโน้มเติบโตขึ้น หลายประเทศมีสัดส่วน 5-10% ของตลาดเบียร์ด้วย ขณะที่ประเทศไทยขนาดตลาดยังเล็กมาก แต่คาดการณ์อนาคตจะมีผู้เล่นใหม่ๆเข้ามาเพิ่ม ขานรับเทรนด์บริโภคเบียร์แอลกอฮอล์ต่ำ ดื่มอย่างรับผิดชอบมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม เมื่อรัฐมีแนวทางจะเพิ่มหมวดเครื่องดื่มมอลต์ไม่มีแอลกอฮอล์ ไปปรับพิกัดภาษีใหม่จัดให้อยู่ในกลุ่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ จะส่งผลกระทบต่อภาพรวมตลาดได้

“ที่สุดแล้วหากรัฐ จะจัดให้เครื่องดื่มมอลต์ไม่มีแอลกอฮอล์ ไปอยู่ในหมวดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ บริษัทจะยังทำตลาดสินค้าไฮเนเก้น 0.0 ต่อไป”

ทั้งนี้ บริษัทเตรียมเข้าหารือกับอธิบดีกรมสรรพสามิตภายในเดือนนี้ เพื่อแสดงจุดยืนไม่เห็นด้วยในการจัดตั้งหมวดหมู่ใหม่เพื่อเก็บภาษีเครื่องดื่มมอลต์ โดยที่ผ่านมา “ไฮเนเก้น 0.0” มีการเสียภาษีสรรพสามิตอยู่แล้ว แต่อยู่ในหมวดเครื่องดื่มอัดลมหรือ Soft Drink คือจะเสียภาษีในอัตราโครงสร้างอยู่ที่ 14% ปัจจุบันเมื่อรวมกับภาษีมูลค่าเพิ่ม(VAT) ทำให้ราคาขายปลีกแนะนำอยู่ที่ 41 บาทต่อกระป๋อง 330 มิลลิลิตร(มล.) ซึ่งต่างจากเบียร์ที่มีปริมาณแอลกอฮอล์ 5% จะเสียภาษีสรรพสามิตอยู่ที่ระดับ 22% เมื่อรวมภาษีมูลค่าเพิ่ม ราคาขายปลีกแนะนำอยู่ที่ 45 บาทต่อกระป๋อง 330 มล.

“ในต่างประเทศเครื่องดื่มประเภทแอลกอฮอล์ 0% จะไม่ถูกเก็บภาษีสรรพสามิต หรือบางประเทศก็มีการเก็บภาษีในอัตราเดียวกันกับเครื่องดื่มจำพวกซอฟต์ดริ้งค์ ดังนั้น สิ่งที่เราต้องการเห็นคือประเทศไทยมีการยกระดับมาตรฐานการจัดเก็บภาษีสรรพสามิต ให้เทียบเท่าประเทศที่เจริญแล้ว เป็นไปตามมาตรฐานสากล ส่วนประชาชนมีสินค้าทางเลือกในการบริโภคอย่างรับผิดชอบ”

สำหรับการจัดเก็บรายได้ภาษีสรรพสามิตของรัฐบาล ปีงบประมาณ 2565(ต.ค.64-ก.ย.65) มีมูลค่า 503,465.44 ล้านบาท ลดลงจากปีงบประมาณ 2564 จัดเก็บได้จริง 531,606.37 ล้านบาท ขณะที่เป้าหมายปีงบประมาณ 2566 อยู่ที่ 567,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 11.2%

ทั้งนี้ การจัดเก็บภาษีสรรพสามิตปีงบประมาณ 2564 อยู่ที่ลำดับ 2 รองจากกรมสรรพากร เมื่อลงรายละเอียดการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตปีงบประมาณ 2565

  1. อันดับ 1 มาจากภาษีน้ำมัน
  2. ตามด้วยภาษีรถยนต์
  3. ภาษีเบียร์
  4. ภาษีสุรา
  5. ภาษียาสูบ
  6. ภาษีเครื่องดื่ม

ขณะที่ประเภทรายได้ในกลุ่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จัดเก็บได้จริงรวม 144,295.31 ล้านบาท แบ่งเป็น

  • ภาษีเบียร์อยู่ที่ 85,035.20 ล้านบาท คิดเป็น 58.93%
  • ภาษีสุรา 59,260.11 ล้านบาท คิดเป็น 41.07%

ปัจจุบันตลาดเบียร์มีมูลค่าราว 200,000 ล้านบาท ปีนี้คาดการณ์เติบโต 3-5% เนื่องจากสถานการณ์โควิดคลี่คลาย นโยบายเปิดประเทศนักท่องเที่ยวเดินทางมาเยือนไทย กระตุ้นการบริโภคมากขึ้น