ท่องเที่ยวกระตุ้นเศรษฐกิจ “เอเปค” ฟื้นสร้างอย่างยั่งยืน สู่อนาคตที่ดีกว่า

ท่องเที่ยวกระตุ้นเศรษฐกิจ “เอเปค” ฟื้นสร้างอย่างยั่งยืน สู่อนาคตที่ดีกว่า

งานประชุมสุดยอดผู้นำ “เอเปค 2022” (APEC : Asia-Pacific Economic Cooperation) ใกล้ถึงฤกษ์เปิดฉาก ระหว่างวันที่ 13-18 พ.ย.2565 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ เพื่อหารือเกี่ยวกับความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก

โดยก่อนหน้าที่เวทีใหญ่จะเริ่ม กระทรวงต่างๆ ได้ทยอยจัดประชุมระดับรัฐมนตรีของเขตเศรษฐกิจเอเปค หนึ่งในนั้นคือการประชุม “รัฐมนตรีท่องเที่ยวเอเปค” ครั้งที่ 11 จัดขึ้นเมื่อวันที่ 19 ส.ค.ที่ผ่านมา

สำหรับผลการประชุมรัฐมนตรีท่องเที่ยวเอเปค ซึ่งมี พิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เป็นประธาน ที่ประชุมฯ แสดงเจตนารมณ์ที่จะร่วมมือกันฟื้นฟูและส่งเสริมการพัฒนาการท่องเที่ยวในภูมิภาคอย่างครอบคลุมและยั่งยืน ภายหลังสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลายลง ผ่านการดำเนินการตาม “วิสัยทัศน์ปุตราจายา 2040” และแผนปฏิบัติการ “เอาทีอารอ”

รวมถึงการประยุกต์ใช้โมเดลเศรษฐกิจ BCG และการส่งเสริมความร่วมมือด้านการท่องเที่ยวระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน และระหว่างกรอบการประชุมต่างๆ เพื่อให้ภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก เป็นภูมิภาคที่เปิดกว้าง มีพลวัต และพร้อมรับความเปลี่ยนแปลง ภายในปี 2583 โดยอาศัยการท่องเที่ยวเป็นปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ

ขณะเดียวกัน ที่ประชุมฯ รับทราบผลการดำเนินงานภายใต้แผนยุทธศาสตร์ท่องเที่ยวเอเปค พ.ศ. 2563-2567 เป็นการหารือแนวทางความร่วมมือของเอเปค เพื่อเร่งฟื้นฟูการท่องเที่ยวในช่วงหลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 และบทบาทของภาคการท่องเที่ยวต่อการส่งเสริม “ความเป็นอยู่ที่ดี” ของประชาชนในภูมิภาค แลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการส่งเสริมการฟื้นฟูการท่องเที่ยวในแต่ละเขตเศรษฐกิจ รวมถึงหารือถึงวิธีการรักษาสถานะของการท่องเที่ยวในฐานะภาคส่วนที่สร้างประโยชน์ และความอยู่ดีกินดีให้แก่ประชาชนในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก

สำหรับ “ข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย” เพื่อฟื้นฟูการท่องเที่ยวในภูมิภาคเอเปคให้มีอนาคตที่ดีกว่าเดิม ภายใต้แนวคิด “การท่องเที่ยวฟื้นสร้างอย่างยั่งยืน” ซึ่งมีสาระสำคัญเป็นการนำเสนอหลักการ แนวทาง ในการจัดลำดับความสำคัญของนโยบาย เพื่อให้การท่องเที่ยวมีส่วนทำให้เกิดความอยู่ดีมีสุขของท้องถิ่นในทุกมิติ

สอดคล้องกับโมเดลเศรษฐกิจ BCG และหัวข้อหลักของการประชุมเอเปคในปี 2565 “เปิดกว้าง สร้างสัมพันธ์ เชื่อมโยงกันสู่สมดุล” เช่น การพัฒนาบนพื้นฐานของความหลากหลายทางวัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่นพร้อมส่งเสริมการมีส่วนร่วมของคนในชุมชน การบริหารจัดการแบบองค์รวม เพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างครอบคลุมและทั่วถึง และการให้ความสำคัญกับการท่องเที่ยวอย่างรับผิดชอบ และการท่องเที่ยวที่มีความหมาย รวมถึงการพัฒนาฐานข้อมูล และรูปแบบการจัดเก็บข้อมูลที่สามารถนำมาพัฒนาต่อยอดเพื่อประกอบการจัดทำนโยบายและพัฒนาตัวชี้วัดความสำเร็จของการท่องเที่ยวให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

สำหรับ “คู่มือเอเปค” สำหรับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียด้านการท่องเที่ยวฉบับปรับปรุง ซึ่งมีเนื้อหามุ่งเน้นการกำหนดขอบเขต หลักการ และแนวทางสำหรับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในภาคการท่องเที่ยวและการฟื้นสร้างอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวในภูมิภาคแบบองค์รวม โดยครอบคลุมการลงทุน การสร้างโอกาสในการจ้างงาน การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ มาตรฐานวิชาชีพ รวมถึงการอบรมและการสนับสนุนวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมอย่างมีประสิทธิภาพเพื่อฟื้นฟูอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของภูมิภาคเอเปค

ทั้งนี้ เอกสารดังกล่าวจะถูกผนวกอยู่ใน “เป้าหมายกรุงเทพ (Bangkok Goals)” ซึ่งเป็นเอกสารผลลัพธ์ที่จะเสนอขอการรับรองในที่ประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปคในเดือนพ.ย.นี้

ด้านแถลงการณ์ประธานรัฐมนตรีท่องเที่ยวเอเปค ครั้งที่ 11 มีสาระสำคัญ อาทิ 1.ให้ความสำคัญกับการพัฒนาภูมิภาคผ่านการส่งเสริมการเจริญเติบโตที่ครอบคลุมและยั่งยืน และการประยุกต์ใช้โมเดล BCG โดยจะเน้นย้ำความสำคัญของการดำเนินการภายใต้ APEC Connectivity Blue Print ปี 2558 - 2568 ที่มุ่งส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างประชาชน และลดความเสี่ยงในภาคการท่องเที่ยว

2.ร่วมกันส่งเสริมการท่องเที่ยวที่ปลอดภัย เข้าถึงได้ และครอบคลุมสำหรับทุกคน 3.สนับสนุนความเท่าเทียมทางเพศและบทบาทของผู้หญิงที่เป็นหัวใจสำคัญในการฟื้นตัวจากโควิด-19 อย่างครอบคลุมและยั่งยืน ซึ่งสอดคล้องกับแนวทางขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการลาเซเรนาเพื่อสตรีและการเจริญเติบโตที่ครอบคลุม

และ 4.รักษาความหลากหลายทางชีวภาพอันเป็นเอกลักษณ์ของแต่ละพื้นที่ รวมถึงความหลากหลายทางวัฒนธรรม ความรู้ของคนในชุมชนท้องถิ่น โดยจะส่งเสริมให้คนในท้องถิ่นสามารถเข้าถึงโอกาสทางเศรษฐกิจผ่านการท่องเที่ยวได้

ทั้งนี้ แถลงการณ์ดังกล่าวเป็นเอกสารที่ใช้แทนแถลงการณ์ร่วมรัฐมนตรีท่องเที่ยวเอเปค ครั้งที่ 11เนื่องจากมีความเห็นที่หลากหลายและความขัดแย้งกันของเขตเศรษฐกิจเกี่ยวกับประเด็น “รัสเซีย-ยูเครน” ทำให้ในที่ประชุมไม่สามารถมีฉันทามติรับรองแถลงการณ์ร่วมฯ ได้ (เป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2565) โดยประเทศไทยได้มีการปรับเปลี่ยนรูปแบบประโยคให้เป็นลักษณะของข้อเท็จจริง โดยปราศจากความเห็นหรือมุมมองส่วนตัว

ผลลัพธ์ที่ประเทศไทยคาดหวังว่าจะได้รับจากการนำเสนอแนวคิด “การท่องเที่ยวฟื้นสร้างอย่างยั่งยืน” คือ เพื่อเป็นจุดเริ่มต้นของการกำหนดนโยบายด้านการท่องเที่ยวที่ต่อยอดมาจากแนวคิดการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (Sustainable Tourism) เพื่อจะช่วยฟื้นฟูภาคการท่องเที่ยวที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ดูแลรักษาทรัพยากรในแหล่งท่องเที่ยวของประเทศไทยให้คงอยู่อย่างยั่งยืน

และให้คนในชุมชนมีส่วนร่วม “เกิดการกระจายรายได้” สู่คนในท้องถิ่นอย่างแท้จริง สร้างระบบให้ชาวบ้านมีอาชีพสามารถพึ่งพาตนเอง สร้างประโยชน์ให้กับชุมชนท้องถิ่นที่มีฐานะเป็น “เจ้าบ้าน” ในทุกแหล่งท่องเที่ยว ซึ่งสามารถทำให้คนในชุมชนมีความสุขกับการเติบโตของการท่องเที่ยว โดยคนในชุมชนจะรับประโยชน์ในแบบที่ตนเองต้องการ ไม่ว่าจะเป็นรายได้ที่ที่เพิ่มขึ้น สิ่งแวดล้อมที่ดีขึ้น และการได้ฟื้นฟูวิถีชีวิตดั้งเดิม

พิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวหลังการประชุมรัฐมนตรีท่องเที่ยวเอเปค เมื่อเดือนส.ค.ที่ผ่านมาว่า สมาชิกเอเปคแสดงความกังวลเกี่ยวกับการระบาดอย่างไม่สิ้นสุดของ “โควิด-19” และความท้าทายในปัจจุบันที่ขัดขวางการฟื้นตัวของภาคท่องเที่ยว โดยเฉพาะค่าใช้จ่ายในการเดินทางที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อและราคาน้ำมันที่พุ่งสูงขึ้น

ทั้งนี้ สมาชิกฯเห็นพ้องที่จะปรับปรุงความร่วมมือทางเศรษฐกิจ ให้มีการเคลื่อนย้ายสินค้า การลงทุน และผู้คนได้ดีขึ้น เพื่อหนุนการฟื้นตัวของการท่องเที่ยว ขณะเดียวกันยังเห็นพ้องที่จะผลักดันเอเปคไปสู่ยุคหลังการระบาดของโควิด-19 ที่ยั่งยืนและสมดุล ผ่านแนวคิดของโมเดลเศรษฐกิจ BCG

“จากสภาพธุรกิจที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว รัฐบาลแต่ละแห่งจะช่วยเหลือเรื่องการเปลี่ยนผ่านของบริษัทต่างๆ โดยเฉพาะความสามารถในการปรับตัวให้เข้ากับเศรษฐกิจดิจิทัล วิธีการทำงานแบบใหม่ และการลงทุนอย่างต่อเนื่องผ่านโครงการความร่วมมือของเอเปค”

ขณะเดียวกัน คณะทำงานด้านการท่องเที่ยวเอเปค จะดำเนินการตามแผนยุทธศาสตร์ปี 2020-2024 ต่อไป ซึ่งมุ่งเน้นไปที่ 4 เสาหลัก ได้แก่ การเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัล การพัฒนาทุนมนุษย์ การอำนวยความสะดวกด้านการเดินทาง และความสามารถในการแข่งขัน และการท่องเที่ยวยั่งยืนกับการเติบโตทางเศรษฐกิจ

“ความไม่แน่นอน และความท้าทายใหม่ที่มีนัยสำคัญ ได้เพิ่มความจำเป็นในการใช้ประโยชน์จากความร่วมมือและความก้าวหน้าในการทำงานด้านการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน เพื่อให้บรรลุวิสัยทัศน์ของเราเกี่ยวกับคอมมูนิตี้ของเอเชีย-แปซิฟิก ที่มุ่งเปิดกว้าง มีพลัง ยืดหยุ่น และสงบสุข ภายในปี 2040 ตามวิสัยทัศน์ปุตราจายา 2040”

 

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์