‘โลตัส’ ชู "ลงมือ-ปฏิบัติ" เคลื่อนธุกิจยั่งยืน

‘โลตัส’ ชู "ลงมือ-ปฏิบัติ" เคลื่อนธุกิจยั่งยืน

“โลตัส” ประกาศโยบายเคลื่อนธุรกิจสู่ความยั่งยืน เน้นดึงทุกภาคส่วน "ลงมือทำ" ผ่าน “Vision 2030. Actions every day.” สานธุรกิจเติบโตคู่เป้าหมายการเป็น New SMART Retail

ปัจจุบันการขับเคลื่อนธุรกิจอย่างยั่งยืนเป็น “วาระโลก” ที่ทุกประเทศ ตลอดจนองค์กรต่างๆต้องให้ความสำคัญ และบรรจุอยู่ในแผนงาน พร้อมวางเป้าหมายในการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม การรักษ์โลกระยะยาวต้องดำเนินการอะไรบ้าง

เครือเจริญโภคภัณฑ์หรือซีพี มีกรอบการสานภารกิจความยั่งยืน 15 ข้อ เพื่อให้บริษัทในเครือนำไปปรับปฏิบัติสอดคล้องกับแต่ละธุรกิจ โดยค้าปลีกรายใหญ่อย่าง “โลตัส” จึงประกาศโยบายหรือ “Vision 2030. Actions every day.” ควบคู่เป้าหมายการเป็น New SMART Retail

สลิลลา สีหพันธุ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านบุคคลและความยั่งยืน บริษัทเอก-ชัย ดีสทริบิวชั่น ซิสเทม จำกัด ผู้บริหารห้างค้าปลีกโลตัส ฉายภาพว่า บริษัทขานรับนโนบายการมุ่งสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนภายในปี 2573 สอดคล้องกับแนวทางขององค์การสหประชาชาติหรือ SDGs 17 ข้อ โดยนำ 5 ข้อมาปรับให้เหมาะสมกับธุรกิจค้าปลีกมากขึ้น

ทั้งนี้ การพัฒนาอย่างยั่งยืนจะครอบคลุมทั้งด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และการกำกับดูแลกิจการ หรือ ESG เริ่มจากด้านสิ่งแวดล้อม ที่ให้ความสำคัญกับการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เนื่องจากมีผลกระทบโดยตรงต่อทุกคน จึงวางแผนลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ทั้งทางตรงและทางอ้อม เช่น การติดตั้งแผงพลังงานแสงอาทิตย์(โซล่าร์ เซลล์)บนหลังคาของสาขาโลตัส และศูนย์กระจายสินค้าจำนวน 1,042 สาขา ภายในปี 2567 จากปัจจุบันติดตั้งแล้ว 522 สาขา

การใช้รถพลังงานไฟฟ้า(อีวี) ในการขนส่งสินค้า รวมถึงการปลูกต้นไม้เพิ่มเติมจากดำเนินการแล้วกว่า 20 ล้านต้น นอกจากนี้ จะนำระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนมาใช้ ไม่ว่าจะเป็นมุ่งลดปริมาณของเสียจากการนำขยะไปฝังกลบ ลดขยะจากอาหารเป็นศูนย์ ด้วยการนำอาหารที่ยังรับประทานได้ไปบริจาค และเพื่อไม่ให้เกิดของเสียที่ปลายทาง จะแจกจ่ายแต่พอดี รวมถึงการนำบรรจุภัณฑ์สินค้าแบรนด์ของโลตัสหรือเฮ้าส์แบรนด์ 100% ผลิตจากวัสดุรีไซเคิลภายในปี 2567 เป็นต้น

“บริษัทวางเป้าหมายภายในปี 2573 มุ่งสู่การเป็นองค์กรที่มีความเป็นกลางทางคาร์บอนหรือCarbon Neutral”

ด้านสังคม โลตัส มุ่งสนับสนุนการมีสุขภาพและสุขภาวะที่ดี ซึ่งภารกิจสำคัญคือการผลักดันให้ผู้บริโภคที่ซื้อสินค้าและบริการต้องมี “สินค้าสุขภาพ” อยู่ในตะกร้ามากขึ้น จากปัจจุบันราว 70-80% ให้ความใส่ใจเรื่องดังกล่าวมากขึ้น ทั้งการซื้อผัก ผลไม้ อุปกรณ์ออกกำลังกาย เป็นต้น

นอกจากนี้ สินค้าเฮ้าส์แบรนด์จะมีการ “ปรับสูตร” ที่ลดปริมาณน้ำตาล โซเดียม ความมันหรือปริมาณแคลอรี ฯ มีฉลากดึงดูดการเลือกซื้อ รวมถึงใช้กลยุทธ์ “ราคา” จัดโปรโมชัน แจกคะแนนสะสม ให้ผู้บริโภคเข้าถึงสินค้าสุขภาพได้มากขึ้น การใช้ช่องทางออมนิชาแนลให้ความรู้ข้อมูลส่งเสริมเรื่องสุขภาพ เป็นต้น

“ภายในปี 2573 ทุกตะกร้าสินค้าของลูกค้าต้องมีสินค้าส่งเสริมสุขภาพและสุขภาวะที่ดี”

ส่วนการสร้างคุณค่าและประโยชน์ทางเศรษฐกิจให้แก่สังคม โลตัส ตั้งเป้าหมายการจ้างงานแตะ 200,000 ตำแหน่ง ภายในปี 2573 จากปัจจุบันจ้างงานกว่า 119,000 ตำแหน่ง โดยการเปิดสาขาขนาดใหญ่จ้างงานไม่ต่ำกว่า 200 คน ส่วนโมเดลร้านเล็กจ้างงงานกว่า 20 ตำแหน่ง รวมถึงการเปิดพื้นที่ให้เกษตรกร เอสเอ็มอีเติบโตร่วมกันด้วย เช่น การให้พื้นที่ฟรีจำหน่ายสินค้า

ด้านการกำกับกิจการที่ดี มุ่งการจัดการห่วงโซ่อุปทานอย่างรับผิดชอบ เนื่องจากโลตัส มีพันธมิตรผู้ผลิตสินค้าหรือซัพพลายเออร์จำหนวนหลักพันถึงหมื่นราย จึงมีระบบตรวจสอบย้อนกลับได้ตลอดห่วงโซ่ โดยทุกรายต้องดำเนินการตามแผนพัฒนาอย่างยั่งยืน หากไม่สามารถปรับหรือแก้ไขได้จะขึ้นบัญชีดำในการทำธุรกิจ ซึ่งกลุ่มที่จะดำเนินการลำดับต้นๆ คือประมง เสื้อผ้า เนื่องจากมีความเกี่ยวข้องกับประเด็นแรงงาน สิทธิมนุษยชน สวัสดิภาพสัตว์ การจัดการด้านสิ่งแวดล้อม เป็นต้น

“การเป็นผู้นำ New SMART Retail คือการเป็นผู้ประกอบการค้าปลีก ที่ดำเนินธุรกิจอยู่บนพื้นฐานของความยั่งยืน ธุรกิจใดก็ตามจะไม่สามารถอยู่รอดและเติบโตได้ และตามวิสัยทัศน์การขับเคลื่อนอย่างยั่งยืน บริษัทให้ความสำคัญกับการดึงทุกคนเข้ามามีส่วนร่วมในการลงมือปฏิบัติทุกวัน ไม่ใช่แค่มีแรงบันดาลใจ หรือสร้างแรงจูงใจเท่านั้น ซึ่งประเด็นดังกล่าวเป็นความท้าทายและยากมาก”