ส่องเทรนด์โซเชียล คนไทยเสพ“ดราม่า” แนะแบรนด์เกาะกระแสต้องระวัง

ส่องเทรนด์โซเชียล คนไทยเสพ“ดราม่า”   แนะแบรนด์เกาะกระแสต้องระวัง

การตลาดดิจิทัล ทรงพลังต่อผู้บริโภคมากขึ้น เพราะพฤติกรรมเสพสื่อของผู้คนเปลี่ยนอย่างสิ้นเชิง จากออฟไลน์ สู่ออนไลน์ ขณะที่ “แพลตฟอร์ม” มากมายยังถูกสร้างสรรค์ออกมาแย่งชิงเวลาของประชากรโลกไม่หยุดหย่อน

เมื่อ 3 ปีที่ผ่านมา ทั้งโลกเผชิญวิกฤติใหญ่ โรคโควิด-19 ระบาด ทำให้ธุรกิจเจอความยากลำบากมาก ผู้ประกอบการต่างปรับตัวทำการตลาด แต่อาจไม่เพียงพอ เพราะการจัดการโซเชียลให้อยู่หมัด เป็นเรื่องยากยิ่งขึ้น เนื่องจากแพลตฟอร์ม แอปพลิเคชัน ไม่ได้มีเพียงหนึ่งเดียว

“แบรนด์ นักการตลาด ผู้ประกอบการไม่สามารถสร้างสรรค์คอนเทนท์เดียว ป้อนทุกแพลตฟอร์มได้ แต่ต้องปรับให้สอดคล้องกับกลุ่มเป้าหมายที่อยู่บนสื่อใหม่ต่างๆ” กล้า ตั้งสุวรรณ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไวซ์ไซท์ (ประเทศไทย) จำกัด ให้มุมมองผ่านงาน Digital SME Conference Thailand 2022 จัดโดย Digital Tip Academy

ทั้งนี้ การค้าขายสินค้าและบริการยุคนี้ การทำให้ประสบความสำเร็จหรือเวิร์ค ไม่มีสูตรตายตัวอีกต่อไป และผู้ประกอบการต้อง “ปรับแนวคิดพิชิตลูกค้าในยุคดิจิทัล” ตลอดเวลา ตัวอย่าง อดีตหากเห็นร้านอาหารที่ไร้เงาผู้คนนั่งรับประทานในร้าน(Dine-in) อาจถูกฟันธงขายไม่ดี..เจ๊ง! ทว่าปัจจุบันไม่ใช่ อาจกลับด้าน ร้านขายดีมากบนแพลตฟอร์มออนไลน์ บริการเดลิเวอรีให้ผู้บริโภคถึงบ้าน เป็นต้น

นอกจากนี้ แอปพลิเคชั่น ที่ทรงพลัง ย้อน 5 ปีก่อน ยกให้ “เฟซบุ๊ก” ที่มีคนไทยใช้งานกว่า 40 ล้านราย ปัจจุบัน “ติ๊กต๊อก” เติบโตก้าวกระโดดและผู้ใช้งาน 44 ล้านคน ไล่เลี่ยกับเจ้าตลาดเดิม

บริบทแวดล้อม แพลตฟอร์มเปลี่ยน แบรนด์จะทำคอนเทนท์เสิร์ฟสื่อหนึ่ง เพื่อให้กลุ่มเป้าหมายกดซื้อสินค้าอีกสื่อ วันนี้ไม่ใช่คำตอบ เพราะผู้บริโภคอาจเลือกแพลตฟอร์มเดียวเป็นคำตอบของทุกเส้นทางการซื้อ(Customer Journey)

ส่องเทรนด์โซเชียล คนไทยเสพ“ดราม่า”   แนะแบรนด์เกาะกระแสต้องระวัง

TikTok เติบโตแรง

เมื่อสื่อล้นหลาม หนึ่งในการทำตลาดที่มีอิทธิพลต่อลูกค้า คือการ “เกาะเทรนด์” ซึ่งหากเป็นเชิงบวก ปั๊มยอดขาย แบรนด์ไม่ควรตกขบวน แต่ถ้าสร้างผลกระทบเชิงลบ ไม่ควรเสียเวลา

รู้เทรนด์ไว้เป็นข้อมูล ซึ่งครึ่งปี 2565 “กล้า” ให้ข้อมูลกระแสฮอตบนโซเชียลมี 3 เรื่อง ได้แก่ ความคิดต่างไม่มีถูก-ผิด พอดีของเราไม่เท่ากัน และ เร็ว สั้น ซ้ำ

สำหรับความคิดต่างไม่มีถูก-ผิด ที่ถกเถียงมากบนโซเชียลมีเดีย คือ “ดราม่า” ที่มีการโพสต์มากถึง 7.6 แสนข้อความ และคนมีส่วนร่วมกว่า 187 ล้านเอ็นเกจเมนต์ แซงปี 2564 การมีส่วนร่วมกว่า 186 ล้านเอนเกจเมนต์

ขณะที่ประเด็น “ดราม่า” ในหมู่คนไทยมี 8 เรื่องเด่น ได้แก่ 1.สิทธิส่วนบุคคล เช่น การเปิด-ไม่เปิดหน้าลูก 2.ความเชื่อ เรื่องศาสนาอดีตอาจห้ามลบหลู่ ปัจจุบันกลับท้าทายพิสูจน์ 3.ปัญหาสังคม สิ่งแวดล้อม อย่างแบรนด์รักษ์โลก แต่ยังใช้ถุงพลาสติก จะถูกตั้งคำถาม 4.เพศ การพูดถึง LGBTQ+ มีทั้งคัดค้านและปกป้อง

5.เชื้อชาติ 6.สิทธิมนุษยชน ความเท่าเทียม การด้อยค่าต่างๆของแต่ละคนเท่ากันไหม 7.คุณค่าชีวิต บางคนแต่งตัวเรียง่ายซื้อรถหรู ถูกปฏิเสธการขาย พอรู้อีกทีเป็นประธานบริษัท กลายเป็นประเด็นสังคม และ8.ความแตกต่างทางความคิดของเจเนอเรชั่น

ส่องเทรนด์โซเชียล คนไทยเสพ“ดราม่า”   แนะแบรนด์เกาะกระแสต้องระวัง คนไทยดราม่าเก่งทะลุ 187 ล้านเอนเกจเมนต์

“การจุดกระแสดราม่า หากบางประเด็นดีต่อธุรกิจสามารถโดดเข้าไปเกาะทำการตลาด ถ้าไม่ดีอย่าเสียเวลาอยู่ในวังวนดราม่า”

ประเด็นพอดีของเราไม่เท่ากัน บางคนคิดว่าทำแล้วพอดี เช่นแบรนด์เกาะกระแส LGBTQ+ เปลี่ยนโลโก้ สังคมคล้อยตาม เมื่อต้องออกกฎหมายสมรสเท่าเทียมกลับมีแรงหนุน-คัดค้าน สุดท้ายกระแสโซเชียลในไทยคือ เร็ว สั้น ซ้ำ หรือเหมือนเด็กโกรธง่ายหายเร็ว เกรี้ยวกราด เกิดแรง เช้ามาลืม และเกิดซ้ำ

“เมื่อก่อนแบรนด์เจอกระแส ทำคอนเทนท์เกาะจะเวิร์ค แต่ตอนนี้บริบทเปลี่ยน หากแบรนด์เกาะกระแส แต่ไม่ทำตลาดต่อ จะถูกมองเอาหน้า โหนกระแส เป็นผลลบ ดังนั้นการจะเล่นกับเทรนด์แบรนด์ควรดู Purpose เป็นสำคัญ”

ส่องเทรนด์โซเชียล คนไทยเสพ“ดราม่า”   แนะแบรนด์เกาะกระแสต้องระวัง น้ำพริกยายน้อย Bully Marketing จนขายดี

นอกจากรู้เทรนด์ อีกเทคนิคพิชิตใจลูกค้ายุคดิจิทัล “กล้า” แนะ 3 สิ่ง ได้แก่ 1.สร้างตัวตนให้แตกต่าง กรณีศึกษาแบรนด์น้ำพริกยายน้อย ที่ใช้ Bully Marketing จนขายดีและโกยเอนเกจเมนต์จากลูกค้า 2.น้อมรับไอเดียเจ๋ง ซึ่งโลกโซเชียลมีสารพัดความคิดปังๆ หนึ่งในนั้นคือไอเดียจากลูกค้า อาจเป็นประโยชน์ต่อแบรนด์ และ 3.ค้นหาตลาดตัวเองให้เจอ บางรายอาจไม่รู้จักลูกค้ากลุ่มเป้าหมาย เพราะขายผ่านตัวแทนจำหน่าย ยอดขายลด อาจไม่รู้เกิดจากอะไร แต่ตัวอย่างที่น่าสนใจ คือ นมเปรี้ยว ที่ผู้บริโภคซื้อเพราะประโยชน์และความอร่อย นี่คือ 2 กลุ่มเป้าหมาย แต่ยังมีบางคนนำไปผสมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ อย่าง โซจู กลายเป็น “มิกเซอร์” และฐานลูกค้าใหม่เพิ่ม ส่งผลต่อยอดขายได้