ท่องเที่ยวไฮซีซัน ปริมาณที่นั่งโดยสารดีดกลับโต 74%

ท่องเที่ยวไฮซีซัน ปริมาณที่นั่งโดยสารดีดกลับโต 74%

ฤดูกาลท่องเที่ยวหรือ “ไฮซีซัน” มาเยือน นับเป็นช่วงเวลาเก็บเกี่ยวรายได้ที่ผู้ประกอบการท่องเที่ยวและโรงแรมต่างเฝ้ารอ ว่าจะเห็นการพลิกฟื้นกลับมาดีอีกครั้ง สร้างแรงส่งที่ดีแก่อุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยในปี 2566 หลังต้องเผชิญวิกฤติโควิด-19 มายาวนานเกือบ 3 ปี

ยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กล่าวว่า แนวโน้ม “ปริมาณที่นั่งโดยสาร” ของเครื่องบินในช่วง “ตารางบินฤดูหนาว 2022/2023” ที่เดินทางมายังประเทศไทย มีจำนวนรวม 573,538 ที่นั่งต่อสัปดาห์ เพิ่มขึ้น 74.2% เมื่อเทียบกับตารางบินฤดูร้อน 2022 ซึ่งมีจำนวน 329,288 ที่นั่งต่อสัปดาห์

ทั้งนี้ ททท.คาดการณ์ปริมาณที่นั่งโดยสารช่วงตารางบินฤดูหนาว ดังกล่าว ฟื้นตัวเกิน 50% เมื่อเทียบกับตารางบินฤดูหนาว 2019/2020 ก่อนโควิด-19 ระบาด เป็นไปตามเป้าหมายการดึงปริมาณที่นั่งโดยสารกลับมา พร้อมตั้งเป้าฟื้นอัตราการขนส่งผู้โดยสาร (โหลดแฟคเตอร์) เพิ่มเป็น 80-90% เพื่อผลักดันการขยายตัวของนักท่องเที่ยวต่างชาติในระยะยาว!

เมื่อดูจำนวนที่นั่งในตารางบินฤดูหนาว 2022/2023 เป็นรายพื้นที่ พบว่าเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีจำนวน 211,744 ที่นั่งต่อสัปดาห์ เพิ่มขึ้น 60.9% เมื่อเทียบกับตารางบินฤดูร้อน 2022 ส่วนเอเชียตะวันออก มีจำนวน 175,588 ที่นั่งต่อสัปดาห์ เพิ่มขึ้น 153.7% เอเชียใต้ มีจำนวน 66,877 ที่นั่งต่อสัปดาห์ เพิ่มขึ้น 42.4% ขณะที่เอเชียกลาง มีจำนวน 1,589 ที่นั่งต่อสัปดาห์ เพิ่มขึ้น 204.4% แปซิฟิกตะวันตกเฉียงใต้ มีจำนวน 13,150 ที่นั่งต่อสัปดาห์ เพิ่มขึ้น 53.2%

ยุโรปตะวันตก มีจำนวน 56,354 ที่นั่งต่อสัปดาห์ เพิ่มขึ้น 57.8% ตะวันออกกลาง มีจำนวน 44,900 ที่นั่งต่อสัปดาห์ เพิ่มขึ้น 30.1% แอฟริกาฝั่งตะวันออก มีจำนวน 2,414 ที่นั่งต่อสัปดาห์ เพิ่มขึ้น 15% และอเมริกาเหนือ 922 ที่นั่งต่อสัปดาห์

ทั้งนี้ ททท.มั่นใจว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติมาไทยปี 2565 จะถึงเป้าหมาย 10 ล้านคน เฉพาะไตรมาส 4 นี้คาดมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าไทยไม่น้อยกว่า 1.5 ล้านคนต่อเดือน หรือคิดเป็นการฟื้นตัว 50% เมื่อเทียบกับปี 2562 ก่อนโควิด-19 ระบาด ซึ่งเคยมีนักท่องเที่ยวต่างชาติมาไทยเฉลี่ย 3 ล้านคนต่อเดือน

“แม้จะเกิดภาวะเศรษกิจโลกถดถอย แต่มองว่าจากวิกฤติโควิด-19 ทำให้คนทั่วโลกอัดอั้น ไม่ได้ออกไปเที่ยวตลอด 2-3 ปีที่ผ่านมา จะทำให้คนที่เก็บเงินมานาน ออกมาท่องเที่ยวใช้จ่ายให้หายอัดอั้น หนุนภาคท่องเที่ยวเป็นหนึ่งในกลไกสำคัญฟื้นฟูเศรษฐกิจไทย โดยได้สั่งการให้ ททท. ทุกสำนักงานในต่างประเทศไปหารือกับผู้ประกอบการท่องเที่ยวและสายการบิน เพื่อเร่งฟื้นปริมาณที่นั่งโดยสารเส้นทางบินมาไทยคืนสู่ภาวะปกติให้เร็วที่สุด”

ศิษฎิวัชร ชีวรัตนพร นายกสมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว (แอตต้า) กล่าวว่า แอตต้าคาดการณ์ว่าแนวโน้มภาคท่องเที่ยวไทยในไตรมาส 4 นี้น่าจะเป็นไปตามที่ ททท.คาดการณ์ และเห็นการฟื้นตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่องในปี 2566 ซึ่งแอตต้าประเมินว่าจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติมาไทยไม่น้อยกว่า 20 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากปีนี้ที่น่าจะมี 10 ล้านคน แต่ส่วนใหญ่ยังเป็นนักท่องเที่ยวข้ามชายแดนทางบก เช่น มาเลเซีย ตามสถิติ 9 เดือนแรกของปีนี้เดินทางเข้าไทยสะสมมากเป็นอันดับ 1 ด้วยจำนวนประมาณ 1 ล้านคน ทำให้รายได้ยังกระจุกตามพื้นที่ท่องเที่ยวในชายแดนอยู่

“โจทย์ของภาครัฐและเอกชนที่ต้องบูรณาการความร่วมมือ คือเร่งกระจายการเดินทางและรายได้ไปยังเมืองท่องเที่ยวอื่นๆ ทั่วประเทศ”

มาริสา สุโกศล หนุนภักดี นายกสมาคมโรงแรมไทย (ทีเอชเอ) กล่าวว่า สถานการณ์โควิด-19 ในประเทศดีขึ้นเป็นลำดับ ท่ามกลางภาวะ “เงินเฟ้อ” ที่อยู่ในระดับสูง ผู้ประสบปัญหาด้านรายได้มีแนวโน้มเดินทางท่องเที่ยวน้อยลง 

อย่างไรก็ดี คนไทยราว 85% วางแผนเดินทางท่องเที่ยวในประเทศอย่างน้อย 1 ครั้ง สะท้อนให้เห็นว่า แม้ภาวะเงินเฟ้อจะส่งผลกระทบต่อรายได้และรายจ่าย แต่คนไทยยังมี “Pent-up demand” ของการท่องเที่ยวอยู่ค่อนข้างสูง ประกอบกับภาครัฐออกมาตรการกระตุ้นส่งเสริมการท่องเที่ยวภายในประเทศอย่างต่อเนื่อง และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล รวมถึงวันหยุดยาว อาทิ ปิดภาคเรียนเดือน ต.ค. วันหยุดเดือน ธ.ค. และวันหยุดสิ้นปีนั้น

“ธุรกิจโรงแรมส่วนใหญ่ยังต้องใช้กลยุทธ์ด้านราคา ในการแข่งขันผ่านการจัดโปรโมชั่น การกำหนดราคาที่สอดคล้องกับกำลังซื้อของนักท่องเที่ยวในภาวะเศรษฐกิจปัจจุบัน รวมถึงข้อจำกัดจากโควิด-19 ที่ทยอยหมดไป ประเทศคู่แข่งในเอเชียและแปชิฟิกผ่อนคลายมาตรการการเดินทางเข้าประเทศเพิ่มขึ้น ดังนั้นนโยบายภาครัฐสนับสนุนการเดินทางและสร้างความเชื่อมั่นให้แก่นักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าไทย การผ่อนคลายข้อจำกัดการเดินทางระหว่างประเทศของตลาดนักท่องเที่ยวหลักในภูมิภาคเอเชียตะวันออกจึงเป็นสิ่งสำคัญ”

ทั้งนี้ สมาคมฯหวังว่าช่วงโค้งท้ายปี 2565 แผนกลับมาเปิดเที่ยวบินตรงเข้าไทยช่วงไฮซีซั่นปลายปีนี้ กับการประกาศให้โควิด-19 เป็นโรคประจำถิ่น การที่จะสวมหรือไม่สวมหน้ากากอนามัย ส่งผลปัจจัยบวกกับพฤติกรรมของนักท่องเที่ยว รวมถึงการที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพการประชุมเอเปค (APEC 2022) จะเป็นประโยชน์ต่อการขับเคลื่อนและกระตุ้นการฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังจากวิกฤติโควิด-19 โดยเฉพาะภาคการเดินทางและการท่องเที่ยวของประเทศ