สมรภูมิธุรกิจกาแฟนอกบ้าน..ใครใหญ่ ส่องขุมกำลังบิ๊กเนม!

สมรภูมิธุรกิจกาแฟนอกบ้าน..ใครใหญ่ ส่องขุมกำลังบิ๊กเนม!

ตัวเลขกลมๆของมูลค่าตลาด “กาแฟ” มีผู้เล่นในตลาดประเมินไว้ที่ระดับ 60,000 ล้านบาท เมื่อซอยหมวดหมู่ย่อยลงไป จะแบ่งเป็น กาแฟสดหรือกาแฟนอกบ้านที่เป็นร้าน คาเฟ่ต่างๆ มูลค่า 27,000 ล้านบาท กาแฟปรุงสำเร็จ 19,000 ล้านบาท และกาแฟพร้อมดื่มหรือกระป๋อง(RTD)ราว 14,000 ล้านบาท

ศึกการขับเคี่ยวของ ตลาดกาแฟ ดุเดือดทุกหมวดไม่แพ้กัน อย่างกาแฟในบ้าน เนสกาแฟเบอร์ 1 ตลอดกาล ยังครองความเป็นผู้นำ ซึ่งมีม็อคโดน่า และแบรนด์รองอื่นๆท้าชิง ส่วน ตลาดกาแฟพร้อมดื่ม นอกจาก “เนสกาแฟ” จากค่ายยักษ์ใหญ่ “เนสท์เล่” ยังมี “เบอร์ดี้” จากค่ายอายิโนะโมะโต๊ะ ที่สู้กันเลือดสาด โดยมีมวยรองของประลองกำลัง เช่น กาแฟพรีเมียมอย่าง “บอส คอฟฟี่” เบอร์ 1 จากญี่ปุ่น ที่ค่ายซันโทรี่ เป๊ปซี่โค เบเวอเรจ (ประเทศไทย)ส่งเข้าแข่ง กาแฟเซกาเฟรโด จากอิตาลี รวมถึงยูซีซี จากญี่ปุ่น เป็นต้น

++ส่องศึกกาแฟนอกบ้าน

อีกหมวดที่แข่งขันสูง ต้องยกให้ “กาแฟนอกบ้าน” ที่พี่เบิ้มวงการธุรกิจต่างแลกหมัดกันสนุกสนาน “จุดแข็ง” แต่ละแบรนด์มีประมือกันแบบไม่ยั้ง ยิ่งไปดูขุมกำลังธุรกิจ “ทุนหนา” ชื่อชั้นยี่ห้อ กลยุทธ์การตลาดพร้อมรบอย่างยิ่ง

หากตีวงผู้เล่นตลาดกาแฟนอกบ้านหรือคาเฟ่ “รายใหญ่” หนีไม่พ้น "คาเฟ่ อเมซอน" ของเบอร์ 1 พลังงานแห่งชาติอย่าง ปตท. โดยผ่านบริษัทในเครือคือ บมจ.ปตท.น้ำมันและค้าปลีกหรือ OR “สตาร์บัคส์” แบรนด์ระดับโลกที่อยู่ในมือราชันย์น้ำเมา “เจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี” ซึ่งภายใต้อาณาจักรยังมีแบรนด์อื่นอีก เช่น “วาวี”

ยังมี “อินทนิล” ที่อยู่ภายใต้บิ๊กพลังงาน “บางจาก” และร้านกาแฟ “พันธุ์ไทย” ที่ยกตัวเป็นไก่รองบ่อน(Underdog) มา 10 ปี แต่ตัวแม่ “พีทีจี เอ็นเนอร์ยี” ไม่ธรรมดาเพราะเป็นยักษ์ใหญ่พลังงานเช่นกัน ไม่พูดถึงคงไม่ได้สำหรับ “เครือซีพี” ของ “เจ้าสัวธนินท์ เจียรวนนท์” เพราะแบรนด์กาแฟในพอร์ตโฟลิโอมีมากมายเหลือเกิน ไม่ว่าจะเป็น ทรู คอฟฟี่ และ ออลคาเฟ่ ขายในเซเว่นอีเลฟเว่น โดยมี ที.เอ.ซี.ซี. เป็นพาร์ทเนอร์ทำงานร่วมกันในการพัฒนาและซัพพลายเครื่องดื่มให้ รวมถึง Jungle Café ที่ขายในห้างโลตัสโมเดลต่างๆ และ Kudsan Bakery & Coffee เป็นต้น

ร้านกาแฟยี่ห้ออื่นในประเทศไทยยังมีอีกมากมาย แต่เป็น “ไม้ประดับ” เล่นในตลาดของตัวเองหรือ Niche Market เท่านั้น เพราะหากเทียบขนาดหรือสเกล เชื่อว่าหลายแบรนด์ยังห่างไกลยักษ์ใหญ่หลายขุม

สมรภูมิธุรกิจกาแฟนอกบ้าน..ใครใหญ่ ส่องขุมกำลังบิ๊กเนม! บิ๊กๆกาแฟนอกบ้าน

++ยักษ์ชนยักษ์ร้านกาแฟ

หากวัดขุมกำลังของยักษ์ใหญ่ตลาดกาแฟนอกบ้าน ศักยภาพหลายด้าน และต้องเรียกว่าเสริมใยเหล็กกันทั้งสิ้น หากมวยรองจะเข้ามาแข่ง ต้องใช้สรรพกำลังมากมายมหาศาล

เบอร์ 1 นาทีนี้ ยกให้ “คาเฟ่ อเมซอน” ของบรรษัทพลังงานแห่งชาติ ซึ่ง ครึ่งปีแรก มีร้านให้บริการทั่วไทย 3,728 สาขา และเป้าหมายการเปิดร้านใหม่ปี 2565 จะอยู่ที่ 415 สาขา ทะลุเป้าหมายที่วางไว้คือ 389 สาขา เพราะมีผู้ประกอบการจ่อคิวเป็นแฟรนไชส์อีกจำนวนมาก

ขณะที่ “กำลังเงิน” ในการซัพพอร์ตธุรกิจกาแฟ ไม่ต้องห่วง เพราะเงินถุงเงินถังของการขายน้ำมันอยู่ระดับ 3.8 แสนล้านบาท และกำไรระดับ “หมื่นล้านบาท”

สมรภูมิธุรกิจกาแฟนอกบ้าน..ใครใหญ่ ส่องขุมกำลังบิ๊กเนม! ขณะที่ “เบอร์ 1” ของโลกอย่าง “สตาร์บัคส์” ซึ่งบมจ.ไทยเบฟเวอเรจ กิจการเครื่องดื่มครบวงจรของอาเซียนที่รายได้ระดับ 4 แสนล้านบาท ของ “เจ้าสัวเจริญ" แกร่งเกินด้าน เพราะหากเทียบจำนวนร้านที่มีทั่วประเทศกว่า 440 สาขา แต่การทำรายได้นั้นอยู่ในระดับ “สูง” เพราะกาแฟ 1 แก้ว ขายหลัก “เกินร้อย” แพงกว่าข้าวแกงต่อมื้อด้วยซ้ำ

ทั้งนี้ สตาร์บัคส์ ซึ่งดำเนินงานโดย บริษัท คอฟฟี่ คอนเซ็ปต์ รีเทล จำกัด ทำรายได้รวมเกินระดับ 8,000 ล้านบาท กระทั่งเจอวิกฤติโควิด-19 ระบาด ฉุดลงมาเหลือกว่า 6,000 ล้านบาท แต่กระนั้นความสามารถในการทำ “กำไร” ยังมี แม้จะต่ำตอนเกิดโรคระบาดเหลือกว่า 160 ล้านบาท แต่ช่วงสถานการณ์ปกติอู้ฟู่ไม่ต่ำกว่า 800 ล้านบาท

สมรภูมิธุรกิจกาแฟนอกบ้าน..ใครใหญ่ ส่องขุมกำลังบิ๊กเนม! “สตาร์บัคส์” ไม่ใช่แบรนด์เดียวในพอร์ตเจ้าสัวเจริญ เพราะยังมี “วาวี” ที่ดูแลโดย “บีเจเซี บิ๊กซี” อีกด้วย ทว่า หากมองศักยภาพ ไม่ได้เด่นแค่ “ทุนหนา” แต่แต้มต่อคือมีธุรกิจเกษตร จากการปลูกไร่กาแฟอาราบิก้า ที่เมืองแห่งกาแฟ “ปากซอง” ในประเทศลาวอีก 15,000 ไร่ หากมีการซีนเนอร์ยี ย่อมได้เปรียบไม่น้อยกว่า “คู่แข่ง” รายอื่น

เจ้าสัวธนินท์ เจียรวนนท์ อาจไม่ได้ถูกพูดถึงมากในสังเวียนกาแฟนอกบ้าน แต่หากดูแบรนด์ในพอร์ตโฟลิโอ เชื่อว่าหลายคนต้องเป็นลูกค้าอย่างแน่นอน

นอกจากทรูคอฟฟี่ ทรู คอฟฟี่ โก ยังมีจังเกิล คาเฟ่ ที่ให้บริการในโลตัส ขาดไม่ได้คือ “ออล คาเฟ่” ที่เสิร์ฟลูกค้าในร้านสะดวกซื้อเบอร์ 1 “เซเว่นอีเลฟเว่น” ไม่ต่ำกว่า 6,000-7,000 สาขา จากร้านสะดวกซื้อกว่า 12,000 สาขาทั่วไทย

สมรภูมิธุรกิจกาแฟนอกบ้าน..ใครใหญ่ ส่องขุมกำลังบิ๊กเนม!

ค่ายนี้ไม่ต้องพูดถึง “เงินทุน” เพราะหนาปึ้ก ศักยภาพการเปิดร้านยังมีมากมาย จากทำเลห้างค้าปลีก อาคารสำนักงานของตัวเอง เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม แม้เซเว่นอีเลฟเว่น จะมี “ออล คาเฟ่” เข้าแข่งขัน แต่พาร์ทเนอร์เบื้องหลังที่ทำงานร่วมกันยกให้ “ที.เอ.ซี.ซี.(TACC) ที่พัฒนาเมนูเครื่องดื่มต่างๆเสิร์ฟผู้บริโภค นอกจากกาแฟดังกล่าว ยังมีเครื่องดื่มกดในเซเว่นฯด้วย

++ส่องเกมสู้สไตล์ Underdog

นอกจาก “โออาร์” จะหาน่านน้ำใหม่จาก “ธุรกิจที่ไม่ใช่น้ำมัน” หรือนอน-ออยล์ อีกค่ายอย่าง “บางจาก” เป็นอีกรายที่ลุยนอน-ออยล์ และมีธุรกิจร้านกาแฟเช่นกัน

“อินทนิล” ไม่เพียงเปิดร้านในสถานีบริการน้ำมัน(ปั๊ม) ที่มีกว่า 1,300 สาขา แต่ยังมีร้านในทำเลเด่นอื่นๆ ทั้งห้างค้าปลีก อาคารสำนักงาน และสถานีรถไฟฟ้า เป็นต้น

สมรภูมิธุรกิจกาแฟนอกบ้าน..ใครใหญ่ ส่องขุมกำลังบิ๊กเนม! ตามแผนปี 2565 บางจากต้องการเปิดร้าน “อินทนิล” ให้แตะ 1,000 สาขา จากครึ่งปีแรกมี 886 สาขา จุดเด่นหนึ่งที่ทำให้ “อินทนิล” โดดเด่นในธุรกิจกาแฟ ไม่ใช่แค่ “กาแฟ” แต่มี “โกโก้” เป็นพระรองที่สาวกยกนิ้วให้ด้วย

ส่วนแบรนด์รองที่ทำตลาดเงียบๆ แต่ติดอาวุธเพียบในปี 2565 เพื่อเบียด “อินทนิล” ขึ้น “เบอร์ 2” แทนที่ให้ได้ คือร้านกาแฟ “พันธุ์ไทย” ของ “บมจ.พีทีจี เอ็นเนอยี” ค่ายพลังงานรายได้ “แสนล้าน” เช่นกัน

“พันธุ์ไทย” อยู่ในสมรภูมิกาแฟนอกบ้านครบ 10 ปี แทบไม่เคยเทงบทำตลาดสร้างแบรนด์เลย ทว่าล่าสุด ได้ “บุณย์ญานุช บุญบำรุงทรัพย์” มานั่งเป็น “กุนซือ” ด้านแบรนด์ให้ จึงติดเกียร์ลุยเต็มที่ ตั้งแต่ปรับโครงสร้าง ปลุกทีมงานให้นำของดีที่มีออกมา “ปล่อยของ” เขย่าตลาดได้แล้ว

ธุรกิจร้านอาหารและเครื่องดื่ม หรือคาเฟ่ จะเติบโตได้ แค่สาขาเดิม(Same store) ไม่เพียงพอ เพราะสาขาใหม่ คือหัวใจสำคัญมาก ทำให้แม่ทัพใหญ่ “พิทักษ์ รัชกิจประการ” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ พีทีจี ใช้โมเดล “แฟรนไชส์” มาช่วยเป็นกองทัพมดเปิดร้านให้ ซึ่งตามเป้าหมายปี 2566 จะมีร้านแตะ 1,500 สาขา

การเปิด 1 ร้าน ใช้เงินลงทุน 1.25 ล้านบาท ก่อสร้าง 2-3 เดือน ให้บริการลูกค้าได้ พร้อมจูงใจพาร์ทเนอร์ด้วยการ “คืนทุนเร็ว” ดึงดูด หากใครไม่มีทำเล บริษัทยังช่วยหนุน และหาสถาบันการเงินดอกเบี้ยต่ำให้

แผนระยะยาว 5 ปี หรือภายในปี 2570 “พิทักษ์” อยากเห็นร้านกาแฟพันธุ์ไทยทะยานสู่ 4,000-5,000 สาขา และเตรียมผลักดัน “เข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ” ต่อไป

ลุยเปิดร้านจำนวนมาก ขณะที่สิ้นปี 2565 กาแฟพันธุ์ไทยจะมีร้านราว 600 สาขา อาจดูน้อยเมื่อเทียบกับคู่แข่ง แต่ด้วยวิถี Underdog เชื่อว่าจะเติบโตตามเป้า เขย่าบัลลังก์ผู้นำที่อยู่ก่อนหน้าได้ทีละนิดๆ จนขึ้นแท่น “เบอร์ 2” ได้

สมรภูมิธุรกิจกาแฟนอกบ้าน..ใครใหญ่ ส่องขุมกำลังบิ๊กเนม! อย่างไรก็ตาม พิทักษ์ ประเมินตลาดกาแฟปี 2565 คาดตลาดมีมูลค่า 28,000 ล้านบาท เติบโตราว 10% ต่อปี โดยผู้เล่น Top4 ไล่เลียงกันดังนี้ คาเฟ่ อเมซอน สตาร์บัคส์(เบอร์ 2 ในแง่รายได้) อินทนิล (เบอร์ 2 ในแง่จำนวนร้าน) และ 4.ร้านกาแฟพันธุ์ไทย

เมื่อพูดถึง “กาแฟ” เรื่อง “รสชาติ” มาก่อนอันดับแรก “พิทักษ์” ถูกถามเรื่องนี้ เจ้าตัวตอบว่า

“ซื้อกาแฟพันธุ์ไทยสาขาไหน ผู้บริโภคต้องไม่เอ๊ะ! ทำไมรสชาติไม่เหมือนกัน เรามาทีหลัง เป็นไก่รองบ่อน แต่จะทำตลาดให้แตกต่าง และผู้บริโภคจะไม่เซอร์ไพรส์เลย จะคุมรสชาติ มาตรฐานอย่างเข้มงวด”

ประโยคดังกล่าว แย็บเบาๆให้สะเทือนเบอร์ 1 และเรื่องนี้ถือเป็นที่โจษจันกึ่งบุลลี่ในหมู่ "ผู้บริโภค" ด้วยซ้ำ