“นิวเจน” ลุยตลาดแนสแด็ก มั่นใจแข่งโกลบอลเกม

“นิวเจน” ลุยตลาดแนสแด็ก มั่นใจแข่งโกลบอลเกม

นักธุรกิจรุ่นใหม่รุกธุรกิจดิจิทัล “กรวัฒน์ เจียรวนนท์” มองการแข่งขันเป็น “โกลบอลเกม” วางเป้ามุ่งสู่ตลาดแนสแด็ก “เดิมพัน อยู่วิทยา” โชว์วิชั่นปั้น “ฟินเทค” สู่โกลบอลเล็งเข้าตลาดแนสแด็กปี 73 "ณภัทร จาตุศรีพิทักษ์’ ชี้ Web 3.0 สร้างโอกาสใหม่เศรษฐกิจดิจิทัล

“กรุงเทพธุรกิจ” จัดสัมมนา “Thailand Economic Outlook 2023” เมื่อวันที่ 4 ต.ค.2565 โดยมีภาคเอกชนมาร่วมแสดงวิสัยทัศน์ถึงทิศทางธุรกิจในอนาคต รวมถึงนักธุรกิจรุ่นใหม่ที่กำลังสร้างโอกาสจากเทคโนโลยีดิจิทัล

นายกรวัฒน์ เจียรวนนท์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอมิตี้ (Amity) โซเชียล คลาวด์ คอมพานี กล่าวว่า ตลาดซอฟต์แวร์ไม่เหมือนธุรกิจอื่นๆ เป็นโกลบอลเกม การทำตลาดจึงต้องมองไปที่ระดับภูมิภาคหรือระดับโลก ไม่เช่นนั้นคงไม่ง่ายทั้งนี้ หากจำกัดตัวเองอยู่เพียงภายในประเทศขนาดตลาดจะเล็กมาก ขณะเดียวกันการแข่งขันมีความรุนแรงต้องสู้กับผู้เล่นระดับบิ๊กจากต่างประเทศ

อีกทางหนึ่งเมื่อเทียบไทยกับประเทศเพื่อนบ้านจะเห็นได้ว่าตลาดเขาใหญ่กว่า มีเงินลงทุนเข้ามาจำนวนมากกว่า ทั้งมีข้อได้เปรียบเชิงประชากร สำหรับเอมิตี้ วางตำแหน่งเป็น “อินฟราสตรักเจอร์ โพรวายเดอร์” สำหรับแอปพลิเคชันธุรกิจองค์กร เป็นธุรกิจไทยที่ให้บริการลูกค้าในระดับโกลบอลเป็นหลัก

ขณะที่ ฐานลูกค้ามาจากธุรกิจที่หลากหลาย และเป็นบริษัทขนาดใหญ่ระดับโลก ความสำเร็จที่ผ่านมาตลาดอเมริกา และยุโรปธุรกิจเติบโตกว่า 250% ต่อปี สัดส่วนรายได้ 95% มาจากยุโรป และอเมริกา

ปัจจุบัน บริษัทมีพนักงานกว่าสองร้อยคน เฉพาะในยุโรป และอเมริกามีทีมขายประมาณ 50 คน และมีแผนว่าจะเพิ่มอีกสองเท่าในปีหน้า ส่วนไทยวางเป็นศูนย์กลางสำหรับการวิจัย และพัฒนา

พร้อมลุยตลาดแนสแด็ก

“เราเป็นผู้ให้บริการที่มีจุดต่าง มีมุมมองว่าการสร้างการเติบโตในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีต้องวางเป้าหมายที่จะเป็นธุรกิจระดับภูมิภาคหรือโกลบอล ขณะเดียวกันมุ่งตอบโจทย์การทำธุรกิจยุคดิจิทัล และความต้องการ การลงทุนซอฟต์แวร์ และแอปพลิเคชันยุคใหม่”

ที่ผ่านมาเพิ่มทุนไปแล้ว 30 ล้านดอลลาร์ โดยทุกกองทุนมาจากต่างประเทศ หลังจากนี้มีแผนที่จะระดมทุนเพิ่มเพื่อแข่งกับซิลิคอนแวลลีย์ และวางเป้าหมายว่าอนาคตจะเข้าจดทะเบียนในแนสแด็กได้

สำหรับกุญแจความสำเร็จ ที่สำคัญมาจากการสร้างทีมที่มีความแข็งแกร่ง บริษัทเองทีมงานมีอยู่กว่า 30 สัญชาติจากทั่วโลก เป็นทีมระดับเวิลด์คลาส มีความหลากหลาย การบริหารจัดการคนต้องพร้อมที่จะสร้างบรรยากาศ และสภาพแวดล้อมที่พนักงานพอใจ บริษัทต้องไปหาคน ไม่ใช่คนมาหาเรา

ขณะที่ อีกหนึ่งความท้าทายคือ เงินลงทุนซึ่งธุรกิจระดับโกลบอลต้องใช้เงินลงทุนสูงจำเป็นต้องสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนให้ได้

“ณภัทร” ชี้ความท้าทายสตาร์ตอัป

นายณภัทร จาตุศรีพิทักษ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท Siametrics Consulting และ บริษัท Vialink จำกัด กล่าวว่า ปัจจุบันสตาร์ตอัปในประเทศไทย และทั่วโลกเผชิญความท้าทายมากขึ้นเนื่องจากภาวะเศรษฐกิจมีความไม่แน่นอน ทำให้เงินสนับสนุนจากเวนเจอร์ฟันด์กำลังลดลง ส่วนหนึ่งที่จะทำให้สตาร์ตอัปจะสามารถผ่านวิกฤติได้คือ การเลือกอุตสาหกรรม และเทคโนโลยีที่ไปได้ในเศรษฐกิจจริงมีกลุ่มลูกค้าที่ใช้งานอย่างชัดเจน

สำหรับในฐานะที่เป็นผู้ประกอบการสตาร์ตอัปธุรกิจที่ตนเองก่อตั้ง และบริหารงานอยู่ 2 บริษัทคือ บริษัท Siametrics Consulting และ Vialink โดยในส่วนของบริษัท Vialink นั้นทำธุรกิจบน Web 2.0 ซึ่งทำในเรื่องของการปฏิวัติการทำงานของซัพพลายเชนในประเทศไทย เพราะปัญหาการขนส่งในประเทศเราก็คือ ความซับซ้อนของการขนส่งที่พบว่ายังมีการใช้กระดาษ และการใช้ดิจิทัลน้อยมากเมื่อสามารถที่จะเข้าไปทำในเรื่องนี้ทำให้สามารถลดต้นทุนได้ 10-15% และเป็นบริการที่สามารถบริหารตั้งแต่ต้นจนจบลูกค้าจึงมีความพอใจมากที่สุดในการรับบริการ

มองตลาดเกินประเทศไทย

สำหรับเทคโนโลยี Web 3.0 เป็นเรื่องที่ใหม่มาก ตอนนี้คิดว่าถึงเวลาที่ธุรกิจนี้จะไปได้ เราจึงเริ่มทำฐานข้อมูลในโลกดิจิทัลสำหรับคนทั้งโลก แต่ในส่วนนี้ทำในเรื่องดาต้า และทำเครดิต สกอริ่งให้กับคนทั่วโลกโดยไม่ต้องผ่านตัวกลางอย่างธนาคาร หรือระบบอื่นๆ การทำข้อมูลในเรื่องของดาต้า และ NFT และดิจิทัลโทเคน ที่ทำอะไรได้มากกว่าการเก็งกำไร และในอนาคตไม่ว่าอะไรในเรื่องของโซเชียลมีเดีย และเกมก็อาจจะพัฒนาจากจุดนี้เช่นกัน

“เรื่องของ Web 3.0 เป็นเรื่องที่ใหม่มากๆ มีธุรกิจที่มีการเปลี่ยนแปลง และแข่งขันกันสูงในทุกวัน หวังว่าจะสามารถพัฒนาไปให้ไกลที่สุดอาจจะไปไกลนอกโลก ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าสนใจมาก ว่าการพัฒนาจะรวดเร็วขนาดไหน และจะไปดิสรัปเทคโนโลยีใดบ้าง”

“เดิมพัน”รุกเข้าตลาดแนสแด็ก

นายเดิมพัน  อยู่วิทยา ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แรพพิด กรุ๊ป หรือ Rapid Group ซึ่งเป็นบริษัทฟินเทค (Fin Tech) กล่าวว่า มีวิสัยทัศน์ตั้งแต่วันแรกที่ก่อตั้ง “แรพพิด กรุ๊ป” ด้วยเป้าหมายสูงสุดเป็น “ธุรกิจฟินเทค” ที่สร้างเทคโนโลยีด้านการเงินไปสู่ระดับโลก “global champion"

โดยการนำ “แรพพิด กรุ๊ป” เข้าจดทะเบียนในตลาดหุ้นแนสแด็ก (NASDAQ) ภายในปี 2573  เพราะมองว่า ถึงเวลาแล้วที่ต้องมีบริษัทไทยติด 1 ใน 100 บริษัทของโลกให้ได้เชื่อมั่นว่าจะนำ “แรพพิด กรุ๊ป” ไปถึงเป้าหมายนี้ได้ เพราะว่าเราให้ความสำคัญกับเริ่มต้นวางโมเดลธุรกิจ เหมือนกับการติดกระดุมเสื้อ ต้องเริ่มติดเม็ดแรกให้ถูกก่อน

สำหรับโมเดลธุรกิจ “แรพพิด กรุ๊ป” มาจากแนวทางของธุรกิจฟินเทคชั้นนำที่ประสบความสำเร็จในระดับโลกมาแล้ว ซึ่งค้นพบว่าต้องมีเทคโนโลยีตอบโจทย์ความต้องการขั้นพื้นฐานของมนุษย์ (เงินกู้), เติบโตรวดเร็ว (Get Big Fast 2.0) ทำกำไรได้ตั้งแต่ปีแรกหรือภายใน 3 ปีแรก, เติบโตไปพร้อมกับเศรษฐกิจยุคใหม่ Green Economy , มีผลิตภัณฑ์โดดเด่นชนะตลาด “เร็วกว่า ดีกว่า ถูกกว่า ฉลาดเท่” (Faster, Better, Cheaper, Smarter) ตอบโจทย์คนยุคใหม่ ,มีวิธีคิด และปฏิบัติครบ 4 ด้าน“รวดเร็ว สร้างสรรค์ ประหยัด รัดกุม”

ลุยธุรกิจดิจิทัลแพลตฟอร์ม

สำหรับ “แรพพิด กรุ๊ป” ในเฟสแรกได้สร้างเทคโนโลยี “แพลตฟอร์มดิจิทัล” ทั้งขาเข้า ( มากู้) และ ขาออก(มารับทะเบียนรถคืน) สำหรับผู้ประกอบการรถมือสอง เพื่อมาเสริมพลังเศรษฐกิจใหม่ ด้วยการยกระดับ และทำให้บริการทางการเงิน และอุตสาหกรรมยานยนต์

นายเดิมพัน กล่าวว่า ในเฟสแรกเราทำกำไรติดต่อกันได้ตั้งแต่เริ่มต้น 13 เม.ย.2563 ถึงปัจจุบัน เป็นระยะเวลา 27 เดือน หรือ 3 ปีที่ผ่านมา มีกำไรโตถึง 700% ถือว่า “เร็วกว่าคาด” เป็นบทพิสูจน์ว่า เรามาถูกทาง และกำลังเดินไปตามแผนสู่เป้าหมาย รวมทั้งที่น่าตื่นเต้นไปมากกว่านั้น เพื่อรองรับธุรกรรมที่ขยายตัวอย่างรวดเร็ว เรากำลังไต่ระดับไปสู่  “National champion” วางเป้าหมายเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ mai ในไตรมาส 3 ปี 2566

พร้อมกับสร้างการเติบโตทางธุรกิจอย่างยั่งยืน สำหรับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหมด  โดยเตรียมขยายธุรกิจบริการเปลี่ยนรถยนต์ จากระบบเชื้อเพลิงฟอสซิล เป็นระบบไฟฟ้า (Electric Vehicles) แห่งแรกของโลก ที่ดำเนินกิจการในระดับ Mega Factory ที่จะสร้างมาตรฐานใหม่ คาดเปิดตัวโมเดลรถอีวีใหม่นี้ วิ่งได้เร็วกว่าเทสล่า ในงานมอเตอร์โชว์ มี.ค.2566 และเริ่มเปิดบริการไตรมาส 2 ปี 2567

รวมถึงสร้างวันสตอป คอมมูนิตี้ สำหรับคนซื้อขายรถ และคนรักรถในเมืองไทยแห่งแรกของโลก ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา และไลฟ์สไตล์คอมมูนิตี้ในการให้บริการชั้นนำระดับประเทศ คาดเริ่มเปิดบริการไตรมาส 2 ปี 2565

หนุนการเติบโตอีก 5 ปีข้างหน้า (ปี 2566-2570) คาดว่ามีจำนวนลูกค้าใหม่ 250,000 สัญญา สินเชื่อใหม่ทะลุ 30,000 ล้านบาท รายได้ 6,500 ล้านบาท กำไร 4,000 ล้านบาท และคาดว่าจะมีมูลค่าตลาดโดยรวมของหลักทรัพย์ อยู่ที่ 210,000 ล้านบาท

“ธุรกิจฟินแทค ต้องไม่จำกัดการเติบโตแค่รอเงินลงทุน แต่มองว่า อยู่ที่วิสัยทัศน์ของเราเองที่จะสร้างให้ธุรกิจให้เติบโตบนทั้งโลกออนไลน์ และออฟไลน์ไปพร้อมกันได้ สามารถ Unlearn ไม่ยึดติดละทิ้งสิ่งที่เรียนรู้มา เพื่อ Relearn เรียนรู้สิ่งที่เราเคยรู้แล้วด้วยมุมมองใหม่ มาพัฒนาสิ่งใหม่ เรามุ่งมั่นเป็นฟันเฟืองที่จะเสริมสร้างความแข็งแกร่งของเศรษฐกิจไทยให้ไปไกลทั่วโลก”        

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์