มุมมอง 2 ซีอีโอ ‘โชควัฒนา’ เครือสหพัฒน์ ฟันธงสินค้าจำเป็น แฟชั่นฟื้นตัว

มุมมอง 2 ซีอีโอ ‘โชควัฒนา’ เครือสหพัฒน์  ฟันธงสินค้าจำเป็น แฟชั่นฟื้นตัว

2 ซีอีโอคู่แฝดตระกูล “โชควัฒนา” ได้ฉายภาพตลาดสินนค้าอุปโภคบริโภคหรือสินค้าจำเป็นยังคงขยายตัว แต่ปัจจัยเปราะบาง “การเมือง” ยังต้องเฝ้าระวัง ขณะที่สินค้าแฟชั่น เริ่มกระเตื้อง แต่ยอดขายไอ.ซี.ซี.ฯ จะทะลุ “หมื่นล้าน” เท่าก่อนโควิด อาจใช้เวลาถึงปี 2568

ภาคธุรกิจมองสัญญาณบวกหลัง 1 ตุลาคม 2565 ปลดล็อกโควิด-19 จากโรคอันตรายเป็นเฝ้าระวัง หนุนการท่องเที่ยว จับจ่ายใช้สอยกลับมาคึกคักได้

ทั้งนี้ 2 ซีอีโอคู่แฝดตระกูล “โชควัฒนา” ได้ฉายภาพตลาดสินนค้าอุปโภคบริโภคหรือสินค้าจำเป็นยังคงขยายตัว แต่ปัจจัยเปราะบาง “การเมือง” ยังต้องเฝ้าระวัง ขณะที่สินค้าแฟชั่น เริ่มกระเตื้อง แต่ยอดขายไอ.ซี.ซี.ฯ จะทะลุ “หมื่นล้าน” เท่าก่อนโควิด อาจใช้เวลาถึงปี 2568

บุญชัย โชควัฒนา ประธานกรรมการ บริษัท สหพัฒนพิบูล จำกัด(มหาชน) ผู้จัดจำหน่ายบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปมาม่า ผงซักฟอกเปา ไลปอนเอฟ คิเรอิ คิเรอิ ดอยคำ ฯ ฉายภาพว่า บรรยากาศหลังจากไม่ต้องใส่หน้ากาก การลดระดับโรคโควิดเป็นเฝ้าระวัง ส่งผลให้อารมณ์หรือมู้ดในการจับจ่ายใช้สอยของผู้บริโภคชาวไทยดีขึ้นกว่าที่ผ่านมา และจะเป็นแรงหนุนให้ภาวะเศรษฐกิจปรับตัวดีขึ้นด้วย

ขณะที่สถานการณ์น้ำท่วม ยังเป็นหนึ่งในปัจจัยต้องเฝ้าระวัง เพราะหากแก้ไขล่าช้า อาจสร้างความเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจได้เช่นกัน จึงคาดหวังให้เกิดขึ้นในระยะสั้นเท่านั้น

เหตุการณ์น้ำท่วมหลายพื้นที่ ทำให้บริษัทต้องเตรียมตัวและนำประสบการณ์บริหารจัดการน้ำท่วมใหญ่ช่วงปี 2554 มาใช้ เพื่อให้สามารถส่งสินค้าไปยังช่องทางจำหน่ายทั่วประเทศ ตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคได้ แต่ยอมรับว่าอาจมีความล่าช้าบ้าง เนื่องจากบางพื้นที่ไม่สามารถขนส่งได้ตามปกติ

แม้เครือสหพัฒน์ จำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตประจำวันของผู้บริโภค แต่ปัจจัยที่ต้องระวังปลายปี คือการเมือง จะเดินหน้าอย่างไรทั้งการยุบสภา การเลือกตั้ง เป็นไปด้วยดี มีการชุมนุมหรือไม่ เพราะหากเกิดประเด็นเหล่านี้ ธุรกิจบริษัทย่อมได้รับผลกระทบ

“ภาพรวมสหพัฒน์มีการเติบโตทุกปี เพราะเราขายสินค้าจำเป็น แต่โตมากน้อยแตกต่างกัน ซึ่งแนวโน้มไตรมาส 4 กำลังซื้อดีขึ้น แต่ผู้บริโภคมีการซื้อสินค้าปริมาณมากบ้าง อาจทำให้บางช่วงการขายชะลอ ผู้ผลิตต้องเน้นผลิตสินค้าที่ตอบสนองความต้องการของลูกค้าให้ได้”

บุญเกียรติ โชควัฒนา ประธานกรรมการ บริษัท ไอ.ซี.ซี.อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด(มหาชน) ผู้ผลิตและทำตลาดสินค้าแฟชั่น เช่น วาโก้ ลาคอสต์ แอร์โรว์ บีเอสซี ฯ เล่าว่า ภาพรวมตลาดสินค้าแฟชั่น เครื่องสำอาง ของใช้จำเป็นช่วง 9 เดือน มีการปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง แม้ยังไม่เท่ากับก่อนเกิดโควิด-19 ระบาดก็ตาม โดยหมวดสินค้าที่สัญญาณขายดีขึ้น เช่น ชุดชั้นในวาโก้ เสื้อผ้าแบรนด์ลาคอสต์ แอร์โรว์ บีเอสซี ฯ ขณะที่บางหมวดยอมรับว่ายังเผชิญภาวะ “ขาดทุน” อยู่

ทั้งนี้ ตัวแปรสำคัญที่กระทบการใช้จ่ายสินค้าแฟชั่น เนื่องจากกว่า 2 ปีที่เกิดวิกฤติโควิด ทำให้ประชาชนบางส่วน “ตกงาน” ขาดรายได้ และการจะทำให้ตนเองกลับมามีงานทำและสร้างรายได้กลับมาใหม่ ต้องใช้เวลาอีกระยะ

“ปัจจัยลบกระทบธุรกิจยังมีอยู่ ที่ผ่านมาคนตกงานจำนวนมาก กว่าจะทำให้มีรายได้กลับมาใหม่ บริษัทต่างๆต้องมีการจ้างงาน รับคนเข้าทำงาน ส่วนปัจจัยบวก หลัง 1 ตุลาคม โควิดเป็นโรคเฝ้าระวัง จะเอื้อให้คนเดินทางท่องเที่ยว เข้าชอปปิงในห้างค้าปลีก ทำให้ยอดขายสินค้าปรับตัวเพิ่มขึ้นได้”

โค้งสุดท้ายปียังมีประเด็นเปราะบาง การเมือง กำลังซื้อ ต้นทุน น้ำท่วม ฯ แต่ “บุญเกียรติ” ไม่กังวลนัก เพราะหลายเหตุการณ์ที่เกิดในไทยดีกว่าต่างประเทศ แต่ในฐานะภาคธุรกิจต้องเตรียมพร้อมรับมือทุกปัญหา

“ธุรกิจเจอปัญหาบ้าง ไม่มากก็น้อย”

ล่าสุด การทำตลาดปลายปี ยังลุยตลาดกาแฟลดน้ำหนักแบรนด์ “แคทเธอรีน” เจาะคนรักสุขภาพ พร้อมขยายช่องทางขาย โดยซินเนอร์ยี “สหพัฒนพิบูล” ปูพรมเจาะร้านค้า ห้างค้าปลีก ออนไลน์ให้ครบทุกแพลตฟอร์มครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายมากขึ้น พร้อมตั้งเป้ายอดขาย 200 ล้านบาท จากตลาดรวมกาแฟลดน้ำหนัก 2,000 ล้านบาท มีผู้เล่นราว 2-3 รายเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม ปี 2565 ไอ.ซี.ซี.ฯ คาดยอดขายรวมเติบโต 10% จากปีก่อน มีรายได้รวมกว่า 7,000 ล้านบาท กำไรสุทธิกว่า 120 ล้านบาท ส่วนรายได้จะแตะระดับ “หมื่นล้านบาท” เหมือนก่อนโควิดคาดเห็นในปี 2568 เพราะเสื้อผ้าชะลอการซื้อใหม่ได้

เครือสหพัฒน์ถือเป็นเบอร์ 1 ตลาดสินค้าอุปโภคบริโภคของไทย รายได้หลายแสนล้านบาท จากค่าเงินบาทอ่อนค่า ส่งผลดีต่อการส่งออก ซึ่งในเครือมีบริษัทนับร้อยและเป็นผู้ผลิตสินค้าทั้งเสื้อผ้า รองเท้า ของกินของใช้ เพื่อส่งออกไปยังตลาดต่างประเทศ คิดเป็นสัดส่วนราว 30%