“วงการหนังสือไทย” ยังโตได้อีกไหม มีอะไรที่ต้องแก้ พูดคุยกับ “ทิพย์สุดา สินชวาลวัฒน์” นายก PUBAT

“วงการหนังสือไทย” ยังโตได้อีกไหม มีอะไรที่ต้องแก้ พูดคุยกับ “ทิพย์สุดา สินชวาลวัฒน์” นายก PUBAT

สัมภาษณ์พิเศษกับ “ทิพย์สุดา สินชวาลวัฒน์” นายกสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย หรือ PUBAT ถึงปัญหาที่วงการหนังสือไทยต้องเจอในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 และต่อจากนี้ไปสถานการณ์จะเป็นอย่างไร ตลอดจน “งานหนังสือ” ครั้งนี้มีอะไรเด็ด

เปิดตัวเป็นที่เรียบร้อยแล้ว สำหรับงานมหกรรมหนังสือระดับชาติครั้งที่ 27 (Book Expo Thailand 2022) ที่ครั้งนี้จัดขึ้นในแนวคิด "BOOKTOPIA :  มหานครนักอ่าน เพราะการอ่านคือจุดเริ่มต้นของการสร้างเมือง" โดยกลับมาจัดที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์อีกครั้ง หลังจากห่างหายไปถึง 3 ปี ตั้งแต่วันที่12 – 23 ตุลาคม 2565

ในโอกาสนี้ กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ ได้สัมภาษณ์พิเศษกับ “ทิพย์สุดา สินชวาลวัฒน์” นายกสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย หรือ PUBAT เกี่ยวกับปัญหาที่อุตสาหกรรมหนังที่ไทยต้องเผชิญจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 และแนวคิดแก้ไขจากกรณีศึกษาของต่างประเทศที่จะช่วยให้วงการหนังสือไทยกลับมาเดินหน้าต่อได้เหมือนเดิม

 

Q: ภาพรวมมูลค่าตลาดหนังสือช่วงที่ผ่านมา

ตั้งแต่ปี 2557 เป็นจุดพีคของเรามีมูลค่าถึง 29,500 ล้านบาท แต่ลดลงมาเรื่อย ๆ จนกระทั่งต่ำสุดในปี 2563 เหลือ 12,500 ล้านบาท เนื่องจากโควิดทำให้ร้านหนังสือต้องปิดไปหลายเดือน พอมาปีที่แล้วที่สถานการณ์เริ่มดีขึ้น รายได้กระเตื้องขึ้นมาเป็น 13,000 ล้านบาท 

ส่วนปีนี้ ตั้งแต่ม.ค. - ส.ค. หน้าร้านหนังสือเติบโตขึ้นประมาณ 10-20% เราคิดว่าปีนี้มูลค่าตลาดน่าจะแตะถึง 15,000 ล้านบาทได้

 

Q: ร้านหนังสือยังคงอยู่ได้?

ต้องแยกเป็น 2 ส่วน คือ ร้านอิสระ กับร้านสาขา ร้านอิสระเขาขายหนังสือด้วยความรัก รายได้กับกำไรตั้งแต่ช่วงก่อนโควิดไม่ได้มากอยู่แล้ว ดังนั้นถ้าไม่ได้มีปัญหาเรื่องทุนหรือสถานที่เขาอยู่ได้ ร้านแบบสาขาจะเป็นตัวกำหนดจำนวนร้านหนังสือ ในปี 2550 บ้านเรามีร้านหนังสือประมาณ 2,500-2,600 ร้าน แต่ปีนี้เหลือ 800 ร้าน อย่างซีเอ็ด เดิมทีมี 600 สาขา แต่ตอนนี้เหลือ 250 สาขา เหลือไว้แต่ร้านที่มีกำไร 

Q: การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้อุตสาหกรรมหนังสือปรับตัวอย่างไร

อย่างแรกเลยคืออีบุ๊ก ก่อนหน้านี้ สำนักพิมพ์ยังลังเลที่จะเอาหนังสือลงอีบุ๊กเพราะยังไม่ได้สร้างยอดขายให้เห็น แต่พอโควิดมาปุ๊บ อีบุ๊กโตขึ้นแบบก้าวกระโดดเลย สำนักพิมพ์เลยเอาหนังสือมาลงเยอะขึ้น ตลาดก็ยิ่งโตขึ้น

ตอนนี้มีสำนักพิมพ์เปิดพรีออเดอร์ผ่านทางออนไลน์เองแล้ว ไม่ต้องผ่านร้านหนังสือ อาจเป็นเพราะนักอ่านไว้ใจ ยอมรับช่องทางออนไลน์มากยิ่งขึ้น ขณะที่ร้านหนังสือเอง เริ่มหันมาพิมพ์หนังสือเองเพื่อให้ตรงกับความต้องการของนักอ่านมากขึ้น 

เราไม่แน่ใจว่าที่ร้านหนังสือผลิตหนังสือเองเพื่อแข่งกับสำนักพิมพ์มันมาผิดทางหรือเปล่า เพราะร้านต้องเอาหนังสือของเขาไปวางในตำแหน่งที่ดีที่สุดของร้าน

ที่จริงฝั่งยุโรปก็มีปัญหานี้เช่นกัน การเข้ามาของ Amazon ทำให้ทุกคนไปหาหนังสือจากร้านหนังสือ แล้วกลับไปซื้อที่ Amazon เพราะถูกกว่า เขาแก้ไขปัญหาด้วยการห้ามลดราคาหนังสือที่ตีพิมพ์ออกมาไม่เกิน 18 เดือน ซึ่งสำหรับเราคิดว่าวิธีนี้ดี สำนักพิมพ์ไม่ลดราคาหนังสือในเว็บไซต์ ให้ร้านหนังสืออยู่ได้ 

Q: ราคาหนังสือแพงเมื่อเทียบกับรายได้ขั้นต่ำ

ในอดีตเราผลิตหนังสือจำนวนมาก ยิ่งผลิตเยอะ ราคาก็จะถูกลง แต่ตอนนี้เราพิมพ์จำนวนหนังสือน้อยลง มันเลยทำให้ค่าพิมพ์แพงขึ้น แล้วการตั้งราคาหนังสือมันต้องคิดราคาที่ร้านค้าหักค่าวางขาย 45% ด้วย

ปีนี้ราคาหนังสือจะแพงขึ้นอีก เพราะสงครามรัสเซียยูเครนทำให้เรือขนส่งกระดาษมาไม่ได้ จีนก็ส่งไม่ได้เพราะโควิด ค่ากระดาษเพิ่มขึ้น 30% รัฐบาลช่วยเราโดยการไม่คิดภาษีกระดาษ แต่มันไม่ได้ทำให้ถูกลง ค่าขนส่งเพิ่มขึ้น 10 เท่า ส่วน SCG กับ Double A ไม่มีกำกลังการผลิตที่เพียงพอ 

ในต่างประเทศ รัฐจะช่วยสั่งซื้อหนังสือเข้าห้องสมุด สมมติถ้ามีห้องสมุด 2,500 แห่ง เขาก็ซื้อหนังสือแจกไปเลย 2,500 เล่ม พอรวมกับหนังสือที่สำนักพิมพ์ขายเองอีก จะช่วยให้ราคาหนังสือลดลงไปครึ่งหนึ่งเลย 

 

Q: ตอนนี้หนังสือประเภทไหนครองตลาด

นิยายรักและการ์ตูนครองตลาดอยู่ โดยเฉพาะการ์ตูน ก่อนหน้าโควิดคือซบเซามาก แต่พอ “ดาบพิฆาตอสูร” กับ “Jujutsu Kaisen” (จูจุทสึ ไคเซน) เข้ามา ทำให้คนกลับมาอ่านการ์ตูนกันเยอะมาก แล้วก็พลอยหาอ่านเรื่องไปด้วย ส่วนนิยายวายเติบโตขึ้น แต่ยังเฉพาะกลุ่มอยู่

 

Q: วรรณกรรมหรือการ์ตูนไทยเป็นอย่างไร

เรียกว่าเงียบ อาจเพราะนักเขียนไทยไม่ได้รับการสนับสนุน ขนาดเมื่อกี้ในวงเสวนา “อ่าน-สร้าง-เมือง: แรงบันดาลใจจากการอ่านสู่การสร้างสรรค์และพัฒนาตัวตน ชุมชน และเมือง” ที่เราพูดคุยกับตัวแทนหลากหลายอาชีพ ทุกคนอ่านหนังสือแปลกันหมด 

ดังนั้นอาจต้องใช้โมเดลของเกาหลีช่วยในการสนับสนุนศิลปินไทย คือ เริ่มตั้งแต่พัฒนาศักยภาพนักเขียน นักวาด จากนั้นพาไปโร้ดโชว์ทั่วประเทศ ให้คนในชาติรู้จัก สำนักพิมพ์ที่พิมพ์หนังสือของคนเกาหลีจะได้งบในการทำการตลาดด้วย แล้วถ้าเกิดขายลิขสิทธิ์ไปต่างประเทศได้ เขาก็ยังมีงบพานักเขียนไปโชว์ตัวต่างประเทศอีก มันครบวงจรในการพัฒนาซอฟต์ พาวเวอร์ แต่มันใช้งบประมาณมหาศาล เอาจริงตอนนี้เราไม่มีแม้กระทั่งพื้นที่ที่จะให้นักเขียนไทยได้แสดงฝีมือ ส่วนใหญ่เลยต้องไปเขียนในเว็บไซต์ก่อน 

 

“วงการหนังสือไทย” ยังโตได้อีกไหม มีอะไรที่ต้องแก้ พูดคุยกับ “ทิพย์สุดา สินชวาลวัฒน์” นายก PUBAT

 

Q: การมีคลังคำศัพท์น้อย ส่งผลอย่างไรกับวงการหนังสือ

มันเป็นปัญหากับคนเขียน ยิ่งตอนนี้พอมาเขียนนิยายแชต ยิ่งใช้คำศัพท์น้อย เพราะใช้แต่ภาษาพูด แต่ถ้ามีการบรรยาย การพรรณาแบบนิยายทั่วไป จะใช้คำศัพท์เยอะกว่า ตอนนี้กลายเป็นว่าหลายคนไม่รู้จักคำที่ง่าย ๆ อย่าง ร่อยหรอ เหยเก ก็ไม่รู้จัก เป็นเพราะว่าเขาอ่านหนังสือมาน้อย 

ส่วนภาษาวิบัติเป็นเรื่องของการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรม มันมีได้ ทุกภาษาเปลี่ยนแปลงไปหมด ไม่ได้เป็นปัญหา ขึ้นอยู่กับสำนักพิมพ์มากกว่าว่าเขาจะซีเรียสกับเรื่องนี้มากแค่ไหน

 

Q: คนไทยอ่านหนังสือเยอะกว่า 7 บรรทัดต่อปี

ถ้ายึดข้อมูลตามสำนักงานสถิติแห่งชาติ ที่นับการอ่านทั้งหมด รวมถึงแพล็ตฟอร์มบนโซเชียลมีเดีย ไม่นับเพียงแค่ SMS จะเห็นเลยว่าคนไทยอ่านเยอะมาก เยอะจนติดอันดับโลก แต่ถ้านับแค่หนังสือก็ตามยอดขายเลยค่ะ

 

Q: จะทำให้คนกลับมาอ่านหนังสือที่เป็นเล่มอย่างไร

เราควรเริ่มตั้งแต่เด็กระดับปฐมวัย เพราะการอ่านมันต้องเริ่มตั้งแต่เด็ก อย่างโครงการ Book Start ของอังกฤษ ที่แจกหนังสือให้เด็กแรกเกิด 3 เล่ม ซึ่งจากผลสำรวจบอกว่าเด็กที่ได้รับหนังสือจากโครงการนี้ โตมาจะกลายเป็นคนรักการอ่านมากกว่า 90% 

ที่จริงเคยเสนอเรื่องไปยังผู้ว่าฯ กรุงเทพแล้ว ทางสมาคมของบ 5 ล้านเพื่อจะแจกหนังสือ 3 เล่มต่อครอบครัว ให้กับเด็กทุกคนที่เกิดในกรุงเทพต่อปี แต่ยังอยู่ในช่วงดำเนินการ

ถึงโรงเรียนจะมีโครงการรักการอ่าน แต่ไม่ช่วยให้เด็กรักการอ่านจริง เพราะมันคือการบังคับให้ทำ ทุกอย่างที่บังคับให้ทำ เด็กไม่ชอบอยู่แล้ว เราควรจะสร้างบรรยากาศ สร้างกิจกรรมที่กระตุ้นให้เด็กอยากทำเอง ไม่ใช่ให้ทุกคนต้องอ่านให้ครบ 20 เล่ม สุดท้ายการเขียนสรุปมันก็ลอกมาจากหนังสืออยู่ดี

“วงการหนังสือไทย” ยังโตได้อีกไหม มีอะไรที่ต้องแก้ พูดคุยกับ “ทิพย์สุดา สินชวาลวัฒน์” นายก PUBAT

 

Q: ช่วง 3 ปีที่ย้ายไปจัดที่อื่นกระแสตอบรับเป็นอย่างไรบ้าง

คนบ่นหูชา หลัก ๆ เลย คือเรื่องการเดินทาง หลายคนบ่นว่า ถ้านั่งรถเมล์จากในเมืองไปเมืองทองใช้ 2 ชั่วโมง ส่วนมากไม่ไหวกัน เขาไม่ได้บ่นเรื่องการหิ้วหนังสือกลับมาเลย เพราะเรามีบริการส่งกลับ ตอนที่เราจัดที่ศูนย์สิริกิติ์มี คนมาเดิน 2,800,000 คนต่องาน แต่พอย้ายไปเมืองทองคนลดเหลือแค่ 500,000 คน 

คนที่มาเดินงานของเราส่วนใหญ่เป็นวัยรุ่นอายุ 15-23 ปี ส่วนใหญ่เขาซื้อการ์ตูน คู่มือเรียน คู่มือสอบเป็นหลัก งบประมาณที่ใช้แต่ละครั้งประมาณ 500 บาท โดยในครั้งนี้เราประเมินว่าจะมีคนมาร่วมงานราว 1,500,000 คน

 

Q: งานหนังสือฯ ที่จะถึงนี้ มีความน่าสนใจอย่างไรบ้าง

เราตกแต่งให้ทั้งงานในธีมเดียวกัน เป็นเมืองหนังสือ Booktopia  มีกิจกรรมภายมากมาย ทั้งจุดให้ถ่ายภาพ มีนิทรรศการให้ได้ชม มีจุดให้แชร์รายชื่อหนังสือที่ชื่นชอบ บนเวทีหลักยังมีพูดคุยและเปิดตัวหนังสือใหม่เช่นเดิมค่ะ และปีนี้ยังมี กิจกรรม Live-Brary ห้องสมุดมนุษย์ด้วย

อยากให้นักอ่านกลับบ้านมาพร้อมกับเราที่ศูนย์สิริกิติ์ ขอแค่มาเดิน มาร่วมทำกิจกกรมกับเรา ไม่ต้องซื้อก็ได้ มาแสดงให้เห็นว่า ยังมีคนที่คอยสนับสนุน อยากอ่านหนังสือแบบเล่มอยู่ คนทำหนังสือจะได้มีกำลังใจที่จะผลิตหนังสือดี ๆ ต่อไปค่ะ 


“วงการหนังสือไทย” ยังโตได้อีกไหม มีอะไรที่ต้องแก้ พูดคุยกับ “ทิพย์สุดา สินชวาลวัฒน์” นายก PUBAT