ธุรกิจเปลี่ยนโหมดสู่ภาวะปกติหลังปิดฉากโควิด ลุยลงทุน รุกตลาด เร่งฟื้นยอด

ธุรกิจเปลี่ยนโหมดสู่ภาวะปกติหลังปิดฉากโควิด ลุยลงทุน รุกตลาด เร่งฟื้นยอด

เอกชนขานรับสัญญาณบวกปิดฉากโควิด ธุรกิจ ผู้บริโภค เปลี่ยนโหมดสู่ภาวะปกติ กล้าเดินทาง ใช้ชีวิต ปลุกบรรยากาศไฮซีซันคึกคัก เดินหน้าขยายการลงทุน จี้รัฐโหมกระตุ้นท่องเที่ยวไทยต่อเนื่องสร้างความได้เปรียบเหนือคู่แข่ง หลังพบแนวโน้มฟื้นตัวเร็วสุดในโลก

นายสันติสุข คล่องใช้ยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายการบินไทยแอร์เอเชีย กล่าวว่า จากการปรับมาตรการของภาครัฐให้โรคโควิด-19 เป็นโรคติดต่อเฝ้าระวัง มีผลตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 2565 เป็นต้นไป จะทำให้ประชาชนกล้าออกเดินทาง และมั่นใจในการใช้บริการของสายการบินมากขึ้น เช่น การทานอาหารบนเครื่องบินได้อย่างสะดวกใจมากยิ่งขึ้น

ไทม์ไลน์ 1 ต.ค.ดังกล่าว ยังสอดรับกับเพิ่มเที่ยวบินเส้นทางในและระหว่างประเทศช่วงไฮซีซันนี้ ปัจจุบันไทยแอร์เอเชียให้บริการเที่ยวบินเส้นทางในประเทศ 70% เทียบปี 2562 ในไตรมาสสุดท้ายนี้จะเพิ่มเต็ม 100% ส่วนเที่ยวบินเส้นทางระหว่างประเทศ ปัจจุบันให้บริการ 30% เทียบปี 2562 ไตรมาสสุดท้ายนี้จะเพิ่มเป็น 50% โดยหลักยังขาดเส้นทางระหว่างประเทศสู่ประเทศจีน

++ “ประยุทธ์”ไปต่อหวังเร่งกระตุ้นท่องเที่ยว

นายชำนาญ ศรีสวัสดิ์ ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) กล่าวว่า เมื่อรัฐบาลผ่อนคลายให้โควิด-19 เป็นโรคติดต่อเฝ้าระวัง ถือว่าเปลี่ยนโหมดภาคธุรกิจ คืนความปกติแก่ภาคท่องเที่ยว แม้ภาครัฐยังแนะนำให้ประชาชนสวมหน้ากากอนามัยเมื่อไปพื้นที่เสี่ยงหรือสถานที่แออัด เชื่อว่าจะไม่เป็นประเด็นหรือส่งผลให้นักท่องเที่ยวต่างชาติรู้สึกอึดอัดแต่อย่างใด

อย่างไรก็ดี ความเป็นนายกรัฐมนตรีของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ไปต่อนั้น สทท.มองว่าเป็นเรื่องทางกฎหมาย ไม่ใช่ปัจจัยหลักที่ส่งผลต่อภาคการท่องเที่ยวไทย

"ใครจะเป็นนายกฯ ไม่ใช่ประเด็น ขอเพียงแค่อย่าทิ้งขว้างภาคท่องเที่ยวซึ่งอยู่ในช่วงฟื้นตัวจากวิกฤติโควิด ถ้ามองในมุมความต่อเนื่องของการทำงาน ถือว่าการกลับมาทำหน้าที่นายกฯของ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นเรื่องดี เพราะ พล.อ.ประยุทธ์ มีส่วนสำคัญในการผลักดันการเปิดประเทศเต็มรูปแบบรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ”

สทท.ต้องการให้ พล.อ.ประยุทธ์ เดินหน้าขับเคลื่อนภาคท่องเที่ยวไทยอย่างต่อเนื่อง ด้วยการทุ่มงบประมาณกระตุ้นตลาด เปรียบเสมือนการฉีดบูสเตอร์ช็อตแก่ภาคท่องเที่ยวทั้งตลาดนักท่องเที่ยวไทยและต่างชาติให้กลับมาเติบโต เร่งเติมทุน เติมความรู้ เติมลูกค้า ควบคู่การพัฒนาภาคท่องเที่ยวไทยสู่ความยั่งยืนสอดรับกับเทรนด์โลก กระจายรายได้ไปยังเมืองท่องเที่ยวทั้งเมืองหลักและรอง คนตัวเล็กคนตัวใหญ่ได้ประโยชน์กันถ้วนหน้า ไม่กระจุกเฉพาะผู้ประกอบการรายใหญ่ และสนับสนุนการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวแบบมนุษย์สร้าง (Man-made Attraction) ให้โดดเด่นเหมือนแหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติที่ประเทศไทยมีอยู่แล้ว

++ เตรียมรับมือเหตุไม่คาดฝัน "ศึกภูมิรัฐศาสตร์โลก"

นายพสุ ลิปตพัลลภ กรรมการบริหาร บริษัท พราว เรียล เอสเตท จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า แนวโน้มภาคการท่องเที่ยวไทยน่าจะเห็นการพลิกกลับมาดีหลังสถานการณ์โควิดคลี่คลาย จากฐานนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ยังค่อนข้างต่ำ ซึ่งเป้าหมายของภาครัฐที่ต้องการดึงนักท่องเที่ยวต่างชาติมาไทย 10 ล้านคนในปีนี้ เพิ่มเป็น 20 ล้านคนในปี 2566 มีความท้าทายจากภาวะเศรษฐกิจโลกถดถอยอย่างมาก

ขณะเดียวกัน ยังมีตัวแปรเรื่องการฟื้นตัวของตลาดนักท่องเที่ยวจีนซึ่งเคยไหลออกไปเที่ยวต่างประเทศ แปลเป็นการขาดดุลสะพัด 2 แสนล้านดอลลาร์ โดยปัจจุบันรัฐบาลจีนยังคงดำเนินนโยบายโควิดเป็นศูนย์ (Zero Covid-19) และน่าจะยังต้องการให้เม็ดเงินกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศจีนมากกว่า ประกอบกับยังมีประชากรชาวจีนอายุ 65 ปีขึ้นไปยังไม่ได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโควิดจึงมีความเสี่ยงอีกมาก กว่ารัฐบาลจีนจะตัดสินใจปล่อยให้ชาวจีนออกไปเที่ยวต่างประเทศ

อย่างไรก็ตาม ช่วงที่ผ่านมาบริษัทฯ ได้เปิดตลาดใหม่ๆ เช่น นักท่องเที่ยวจากตะวันออกกลาง แสดงให้เห็นว่าเราสามารถหาตลาดใหม่ๆ ได้ ไม่ยึดติดกับตลาดเดิมๆ และมุ่งโฟกัสการท่องเที่ยวมูลค่าสูง ดึงนักท่องเที่ยวให้อยู่นานขึ้น ใช้เงินมากขึ้น ซึ่งเป็นกลยุทธ์ที่ช่วยผู้ประกอบการได้ในระยะสั้น

“แต่ในระยะกลางและยาว ยังต้องหาวิธีปรับกลยุทธ์เพื่อรับมือกับเศรษฐกิจโลกที่ได้รับผลกระทบจากภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitics) เช่น ความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครน และจีน-ไต้หวัน-สหรัฐ เราจะรับมืออย่างไรกับเรื่องไม่คาดฝันจากผลกระทบด้านภูมิรัฐศาสตร์ที่อาจรุนแรงขึ้น เราจะวางตำแหน่งตัวเองอย่างไรท่ามกลางสถานการณ์นี้ เพราะแต่ละประเทศล้วนเป็นคู่ค้าหลักของไทย”

++ เที่ยวไทยฟื้นตัวVดีดกลับ10ล้านคนปีนี้

นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กล่าวว่า แนวโน้มการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวไทยเป็นแบบ V-shaped ถือเป็นประเทศที่มีการฟื้นตัวด้านท่องเที่ยวเร็วที่สุดในโลก จากข้อมูลนักท่องเที่ยวต่างชาติสะสมช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้ ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.-30 ก.ย. ทะลุ 6 ล้านคนตามคาดการณ์ เฉพาะเดือน ก.ย. เฉลี่ย 46,000 คนต่อวัน มีความเป็นไปได้สูงว่าจะถึงเป้าหมาย 10 ล้านคนในปีนี้ คาดการณ์ไตรมาส 4 (ต.ค.-ธ.ค.) จะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติมาไทย 1.5 ล้านคนต่อเดือน

หลังผ่านจุดต่ำสุดเมื่อเดือน เม.ย.2563 ซึ่งมีการปิดน่านฟ้าเพื่อสกัดการระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้มียอดนักท่องเที่ยวต่างชาติเป็นศูนย์ ปี 2564 มีนักท่องเที่ยวต่างชาติมาไทยเพียง 4 แสนคน จากเคยสร้างสถิติมากที่สุดเป็นประวัติการณ์เมื่อปี 2562 ด้วยจำนวน 39.8 ล้านคน

++ เร่งฟื้นทราฟฟิกแก้ตั๋วบินแพงหูฉี่

อย่างไรก็ตาม พบว่ายังมีอุปสรรคในช่วงการฟื้นตัวจากวิกฤติโควิด-19 โดยเฉพาะเรื่องราคาตั๋วเครื่องบินแพง เนื่องจากปริมาณเที่ยวบินยังไม่ฟื้นตัวกลับสู่ภาวะปกติ ประกอบกับประเทศและเมืองต่างๆ ประกาศปลดล็อกมาตรการเดินทาง “เปิดประเทศ” มากขึ้น อาทิ ญี่ปุ่น ไต้หวัน และฮ่องกง ทำให้ดีมานด์การเดินทางเริ่มฟื้นตัว

แต่เมื่อดูแนวโน้มการฟื้นตัวของปริมาณที่นั่งโดยสารของเที่ยวบินจากภูมิภาคต่างๆ เดินทางมาไทยในช่วงตารางบินฤดูหนาวปี 2022/2023 เทียบตารางบินฤดูร้อนปี 2022 พบว่ามีปริมาณที่นั่งโดยสารรวมจากทุกภูมิภาค 573,538 ที่นั่งต่อสัปดาห์ เพิ่มขึ้น 74.2% ช่วยอำนวยความสะดวกแก่นักท่องเที่ยวต่างชาติมากขึ้น ซึ่งเป็นผลจากความพยายามในการเดินหน้าเปิดประเทศเต็มรูปแบบของไทย หลังยกเลิกระบบการลงทะเบียนไทยแลนด์พาส (Thailand Pass) ตั้งแต่ 1 ก.ค.2565 ต่อเนื่องการปรับมาตรการล่าสุดของภาครัฐ ให้โควิด-19 เป็นโรคติดต่อเฝ้าระวัง มีผล 1 ต.ค.นี้เป็นต้นไป

++ "บาทอ่อน" อานิสงส์บวกทัวริสต์สหรัฐ

สำหรับปัจจัยเงินบาทอ่อนค่า ซึ่งปัจจุบันอยู่ในระดับ 37-38 บาทต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐ ททท.มองว่า ค่าเงินที่เปลี่ยนแปลงไม่ว่าจะอ่อนหรือแข็งค่าขึ้น มีผลกระทบต่ออุตสาหกรรมท่องเที่ยวบ้างแต่ไม่มีนัยสำคัญ เพราะนักท่องเที่ยวตัดสินเดินทางบนความต้องการเดินทางและประสบการณ์ที่จะได้รับมากกว่าปัจจัยด้านราคาอย่างเดียว หรือการเปลี่ยนแปลงราคาที่เกิดขึ้นจากค่าเงินที่เปลี่ยนแปลงไป

“อัตราแลกเปลี่ยนไม่มีผลต่อการตัดสินใจในการเดินทาง แต่มีผลต่อการใช้จ่ายเมื่ออยู่ในประเทศ ค่าเงินบาทที่อ่อนจะช่วยให้มีการใช้จ่ายมากขึ้น เพราะเมื่อเทียบกับเงินสกุลหลัก เช่น ดอลลาร์สหรัฐ จะมีมูลค่าถูกลงในสายตานักท่องเที่ยวต่างชาติ น่าจะเป็นผลดีต่อนักท่องเที่ยวตลาดระยะไกลจากสหรัฐ ในขณะที่ค่าเงินที่แข็งขึ้นของประเทศต้นทาง ก็อาจมีผลต่อต้นทุนการเดินทางที่สูงขึ้นตามค่าเงินที่เปลี่ยนแปลงไป”

++ ลุ้น"สี จิ้นผิง"มอบของขวัญคลายล็อก"จีนเที่ยวไทย"

นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวว่า ต้องติดตามสถานการณ์ตลาดนักท่องเที่ยวจีนซึ่งเคยครองอันดับ 1 ของตลาดต่างชาติเที่ยวไทย จำนวน 11 ล้านคนเมื่อปี 2562 ว่านายสี จิ้นผิง ประธานาธิบดีจีนซึ่งยืนยันการเดินทางมาเยือนไทย เพื่อเข้าร่วมประชุมสุดยอดผู้นำเอเปค 2022 ระหว่าง 13-18 พ.ย.นี้ จะมีการประกาศผ่อนคลายมาตรการเดินทาง อนุญาตให้นักท่องเที่ยวชาวจีนมาเที่ยวประเทศไทยหรือไม่

“ต้องรอดูว่าช่วงปลายปีนี้ที่ นายสี จิ้นผิง เดินทางมาร่วมประชุมเอเปค 2022 แล้ว จะมีการมอบของขวัญให้ประเทศไทยก่อนปีใหม่ ด้วยการอนุญาตให้ชาวจีนเดินทางมาเที่ยวไทยหรือไม่ ถ้าได้ คาดว่าจะทำให้เฉพาะเดือน ธ.ค.มีชาวจีนเดินทางมาเที่ยวไทย 1.5 ล้านคน และทำให้ตลอดปีนี้มีจำนวนต่างชาติเที่ยวไทยเกินเป้าหมาย 10 ล้านคน เพิ่มเป็น 12 ล้านคน”

ส่วนตลาดท่องเที่ยวภายในประเทศ ปีนี้จะมีนักท่องเที่ยวไทยเป้าหมาย 160 ล้านคน-ครั้งแน่นอน จากปัจจุบันมีจำนวนสะสม 130 ล้านคน-ครั้ง ปัจจัยที่ช่วยหนุนคือโครงการกระตุ้นท่องเที่ยวและการใช้จ่ายของภาครัฐ ทั้งโครงการคนละครึ่ง เราเที่ยวด้วยกัน และทัวร์เที่ยวไทย รวมถึงความเสี่ยงจากการเดินทางไปเที่ยวต่างประเทศ คนไทยบางส่วนอาจยังไม่สะดวกใจเรื่องการระบาดของโควิด นอกจากนี้ที่นั่งโดยสารเส้นทางบินระหว่างประเทศยังหายาก ทำให้ราคาตั๋วบินแพงอีกด้วย

++ ปาดเหงื่อฟื้นรายได้รวมท่องเที่ยว 1.28 ล้านล้าน

แม้จะมั่นใจว่าในเชิงจำนวนนักท่องเที่ยวทั้งตลาดในและต่างประเทศปี 2565 ทำได้ตามเป้าหมายแน่นอน แต่ความกังวลขณะนี้อยู่ที่เป้าหมายรายได้รวมการท่องเที่ยวปีนี้ซึ่งกระทรวงการท่องเที่ยวฯ ตั้งไว้ 1.28 ล้านล้านบาท ยอมรับว่าเป็นเป้าหมายที่ยากอยู่แล้ว ต้องมีอะไรมาเสริมเพื่อให้รายได้รวมการท่องเที่ยววิ่งไปถึงเป้าหมายที่กระทรวงฯตั้งไว้ ไปจนถึงเป้าหมายใหญ่ของรัฐบาลตามที่นายกรัฐมนตรีให้ไว้ 1.5 ล้านล้านบาท

สำหรับเป้าหมายปี 2566 กระทรวงการท่องเที่ยวฯตั้งเป้าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติไว้ที่ 20 ล้านคน และมีจำนวนนักท่องเที่ยวไทย 160 ล้านคน-ครั้ง สร้างรายได้รวม 2.4 ล้านล้านบาท คิดเป็นการฟื้นตัว 80% เมื่อเทียบกับรายได้รวมปี 2562 ก่อนโควิด-19 ที่เคยมีรายได้รวมสูงสุดเป็นประวัติการณ์อยู่ที่ 3 ล้านล้านบาท

++ ท่องเที่ยวไทย"เสือตัวที่1"คว้าชัยเหนือโควิด

นายพิพัฒน์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ขณะนี้เศรษฐกิจไทยเปรียบเสมือนเจอพายุถาโถมอย่างหนัก เริ่มตั้งแต่พายุลูกที่ 1 วิกฤติโควิด-19 ที่ยาวนานเกือบ 3 ปี แม้เริ่มคลี่คลาย แต่ก็มาเจอพายุลูกที่ 2 สงครามรัสเซีย-ยูเครน ส่งผลให้เกิดวิกฤติพลังงาน ราคาน้ำมันผันผวน ก่อนจะตามมาด้วยพายุลูกที่ 3 ภาวะเงินเฟ้อ ที่หลายประเทศกำลังชุลมุนอยู่กับการขึ้นดอกเบี้ยเพื่อสกัดเงินเฟ้อ ส่งผลกระทบต่อประชาชนที่ต้องรับภาระเพิ่มขึ้น ทุกอย่างถาโถมเข้ามาในเวลาเดียว เหมือนผจญพายุกลางทะเล ทางกระทรวงการท่องเที่ยวฯ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ต้องร่วมกับภาคเอกชน บุกทำตลาดทั้งในและต่างประเทศควบคู่กัน เพื่อฝ่าคลื่นพายุที่รุนแรงนี้ไปให้ได้

“เมื่อทุกฝ่ายช่วยกันฟันฝ่าไปด้วยกัน สู่วันที่เราสามารถประกาศชัยชนะได้ ว่าประเทศไทยไม่ใช่เสือตัวที่ 10 ในการฟื้นภาพรวมเศรษฐกิจ แต่เป็นเสือตัวที่ 1 ที่ประสบความสำเร็จในการฟื้นเศรษฐกิจหลังโควิด-19 ระบาด ด้วยภาคการท่องเที่ยวเรียบร้อยแล้ว”

++ มาม่ามั่นใจตลาดคึกคักลุยส่งออก

นายพันธ์ พะเนียงเวทย์ ผู้จัดการสำนักกรรมการผู้อำนวยการ บริษัท ไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์ จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป “มาม่า” กล่าวว่า เมื่อโรคโควิด-19 ถูกปรับเป็นโรคเฝ้าระวัง ทำให้สถานการณ์โดยรวมเกี่ยวกับไวรัสไม่มีอะไรน่าเป็นห่วงมากนัก ยิ่งในต่างประเทศ โดยเฉพาะยุโรป เปิดหน้ากากใช้ชีวิตปกตินานแล้ว เมื่อติดเชื้อไวรัสดูแลรักษาตนเองสักระยะอาการก็หาย

ขณะที่ประเทศไทย หลังวันที่ 1 ต.ค.ถือเป็นการเริ่มนับหนึ่งเต็มตัว บรรยากาศต่างๆ คาดว่าจะคึกคักกันเต็มที่ ส่วนภาวะเศรษฐกิจปรับตัวดีขึ้นอย่าชัดเจน คงต้องรอตลาดใหญ่อย่างจีน มีนโยบายเปิดประเทศให้ประชาชนเดินทางท่องเที่ยวไปยังต่างประเทศได้

“ไทยเพิ่งเริ่มนับหนึ่งเต็มที่ แต่สถานการณ์กำลังซื้อของผู้บริโภคจะกลับมาดีขึ้น ต้องใช้เวลาอีกระยะ เพราะต้องรอปัจจัยของภาคท่องเที่ยวและบริการเดินหน้าได้เต็มที่ ซึ่งคาดการณ์ปลายปีนี้หรือต้นปี 2566 จึงจะปรับตัวดีขึ้น”

ส่วนแนวทางการดำเนินธุรกิจหลังจากนี้ บริษัทฯ มุ่งเพิ่มกำลังการผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปเพื่อบุกต่างประเทศมากขึ้น เนื่องจากโอกาสทางการตลาดที่มีอยู่สูงมาก จะเป็นปัจจัยผลักดันยอดขายเติบโต

“ตลาดต่างประเทศยังมีพื้นที่ให้บะหมี่ฯ ของบริษัทเติบโตได้อีกมาก เราจึงเดินหน้าเพิ่มกำลังการผลิตสินค้าเพื่อป้อนตลาดโลก”

อย่างไรก็ตาม การเฝ้าระวังโรคโควิด-19 บริษัทยังวางแนวทางปฏิบัติให้สอดคล้องกับภาครัฐ โดยให้พนักงานล้างมือ ดูแลสุขอนามัย ใส่หน้ากากดังเดิม ขณะเดียวกันหากพบผู้มีความเสี่ยงสูง จะดำเนินการตรวจไวรัสตามปกติ

++ เร่งเครื่องขยายค้าปลีก ผลิตแพคเกจจิ้ง

นายอัศวิน เตชะเจริญวิกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ จำกัด(มหาชน) และบริษัท บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ จำกัด(มหาชน) กล่าวว่า การเปิดเมือง มาตรการต่างๆ ผ่อนคลาย จะเป็นปัจจัยส่งเสริมให้ภาพรวมธุรกิจค้าปลีกปรับตัวดีขึ้น อย่างปัจจุบันบิ๊กซี สาขาราชดำริ แม้ยังไม่มีนักท่องเที่ยวจีนกลับเข้ามา แต่การฟื้นตัวอยู่ที่ 90% เทียบก่อนโควิดระบาด โดยต่างชาติที่เข้ามาชอปปิง ได้แก่ เวียดนาม และตะวันออกกลาง นอกจากค้าปลีกฟื้น ตลาดสินค้าอุปโภคบริโภค(FMCG) ก็เริ่มกลับมาขยายตัวดีขึ้นด้วย

ขณะที่ปัจจัยเสี่ยงต้องจับตาดูอย่างใกล้ชิด คือ สถานการณ์การค้าโลก ค่าเงินมีความผันผวนสูงมาก และสภาพคล่องธุรกิจไทยโดยรวมจะเป็นอย่างไร นอกจากนี้ หมวดสินค้าอุปโภคบริโภคยังคงเผชิญแรงกดดันด้านต้นทุนการผลิตสินค้า โดยเฉพาะวัตถุดิบนำเข้า ซึ่งเงินบาทที่อ่อนค่าจาก 35 บาทต่อดอลลาร์ เป็น 38 บาทต่อดอลลาร์ หรือเพิ่มขึ้นราว 10% ทำให้การนำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศแพงขึ้น อีกทั้งบริษัทยังนำเข้าสินค้าจาก 80 ประเทศทั่วโลกมาจำหน่ายตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค

“สถานการณ์หลายอย่างคลี่คลาย การปรับแผนทำงานของบริษัทคือต้องเร่งสร้างเครือข่ายค้าปลีกให้แข็งแกร่ง ลดกระบวนการ ขั้นตอนของการขยายสาขาให้เร็วขึ้น รวมถึงการปรับแผนกำลังการผลิตบรรจุภัณฑ์แก้วให้เร็วขึ้น เพราะหากนักท่องเที่ยวกลับเข้ามา จะส่งผลให้ความต้องการใช้บรรจุภัณฑ์แก้วกลับมาดีขึ้น”