รับบท “กุนซือ” เมื่อ “เจ้าสัวบุณยสิทธิ์” หวนคืนตำแหน่งประธานกรรมการ SPI

รับบท “กุนซือ” เมื่อ “เจ้าสัวบุณยสิทธิ์”  หวนคืนตำแหน่งประธานกรรมการ SPI

“เจ้าสัวบุณยสิทธิ์” ลาออกจากประธานกรรมการ บมจ.ไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์ เพื่อคืนสู่บัลลังก์ "ผู้นำ" บมจ.สหพัฒนาอินเตอร์โฮลดิ้ง กับบทบาท "กุนซือ" ผ่องถ่ายประสบการณ์ ความเก๋าของผู้บริหารยุคเก่าให้แก่บุตรเขย "วิชัย กุลสมภพ" สานอาณาจักร สร้างการเติบโตให้องค์กร

การลาออกของ “ประธานกรรมการ” ของบริษัท หลายครั้งมักถูกจับตามองถึงการ “เขย่า” โครงสร้างการบริหารงานหรือไม่อย่างไร อะไรกำลังจะเกิดขึ้นกับองค์กรนั้นๆ

15 กันยายนที่ผ่านมา “เจ้าสัวบุณยสิทธิ์ โชควัฒนา” ได้แสดงความจำนงขอลาออกจากตำแหน่งประธานกรรมการบริษัท ไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์ จำกัด(มหาชน) ผู้ผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป “มาม่า” เบอร์ 1 ของเมืองไทย แต่ยังคงดำรงตำแหน่งอื่นอยู่ ทั้งกรรมการบริษัทและประธานกรรมการสรรหาและกำหนดค่าตอบแทน

ถือเป็นประเด็นที่สื่อให้ความสนใจไม่น้อย เพราะระดับ “เจ้าสัวบุณยสิทธิ์” ขยับเขยื้อนเคลื่อนตัวทำอะไร ย่อมต้องติดตาม

แหล่งข่าวใกล้ชิด “เจ้าสัวบุณยสิทธิ์” เล่าว่า การปรับเปลี่ยนตำแหน่งดังกล่าว เพราะต้องการย้ำให้เห็นภาพองค์กรยักษ์ใหญ่ของเมืองไทยแห่งนี้ ไม่ได้มี “ผู้นำ“ เพียงคนเดียวทำหน้าที่กุมบังเหียน เคลื่อนอาณาจักร แต่มีการกระจาย “อำนาจ” ให้ผู้บริหารมากฝีมือร่วมขับเคลื่อน สร้างการเติบโตไปด้วยกัน

การออกลาออกจากตำแหน่งใหญ่ในบริษัทหนึ่ง “เจ้าสัวบุณยสิทธิ์” ได้กลับไปนั่งในตำแหน่งประธานกรรมการบริษัทอีกแห่ง นั่นคือ การนั่งเก้าอี้ “ประธานกรรมการ” บริษัท สหพัฒนาโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน)หรือ SPI ตั้งแต่วันที่ 7 กันยายนที่ผ่านมา เพื่อทำงานเคียงข้างกับ “บุตรเขย” อย่าง “วิชัย กุลสมภพ” ซึ่งเป็นแม่ทัพบริหารธุรกิจมานานหลายปี ที่ผ่านมาการมีคนสำคัญหลายคนเป็นเสมือน “กุนซือ” คอยผ่องถ่ายองค์ความรู้ต่างๆให้ หนึ่งในนั้นคือ “ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์” อดีตรองนายกรัฐมนตรี และแม่ทัพเศรษฐกิจที่อยู่ในรัฐบาลต่างๆหลายสมัย

เมื่อ “ดร.สมคิด” ลาออกไปลงสนามการเมืองอีกครั้ง เพื่อเป็นแคนดิเดต “นายกรัฐมนตรี” ตำแหน่งที่ว่างลง “เจ้าสัวบุณยสิทธิ์” จึงกลับมารับหน้าที่ดังเดิม

รับบท “กุนซือ” เมื่อ “เจ้าสัวบุณยสิทธิ์”  หวนคืนตำแหน่งประธานกรรมการ SPI 2 ผู้นำกับบทบาท "กุนซือ" ให้ทายาทธุรกิจ

เป็นที่ทราบกันว่าบทบาทของ “ประธานกรรมการ” อาจไม่ได้ลงมานั่งทำงานประจำ แต่ความสำคัยคือเป็นผู้กำกับ “ทิศทาง” ขององค์กรในภาพรวม ดูแลให้ “คณะกรรมการบริษัท” หรือบอดร์ใหญ่ทำงานให้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และบรรลุเป้าหมายตามที่ตั้งไว้

ความน่าสนใจคือการกลับสู่บัลลังก์ผู้นำ SPI ของ “เจ้าสัวบุณยสิทธิ์” เหมือนกลับสู่บทบาทการเป็น “กุนซือ” ให้ทายาทอีกครั้ง นำความรู้ประสบการณ์ที่สั่งสมมาหลายสิบปี ผ่องถ่ายสู่ลูกหลาน ลูกเขย ฯ ทั้งนี้ ปกติในงานใหญ่ของเครือสหพัฒน์ เช่น สหกรุ๊ปแฟร์ การลงนามความร่วมมือกับ “ทุนญี่ปุ่น” เพื่อขยายการลงทุน ที่ SPI ดำเนินการ เช่น เปิดห้างดองกิ ที่เจ-พาร์ค ศรีราชา จะเห็น “เจ้าสัวบุณยสิทธิ์” อยู่ในงานเสมอ และมี “บุตรเขยวิชัย” เคียงข้างไม่ห่าง

“วิชัย” ทำงานกับ “เจ้าสัวบุณยสิทธิ์” มานาน แต่การเปิดตัวต่อสื่อถือว่าไม่นานนัก ขณะที่การเคลื่อนทัพธุรกิจของ SPI มีความสำคัญอย่างมาก เพราะทำหน้าที่ “ลงทุน” ในกิจการที่มีศักยภาพ ทำเงินให้เติบโตและสร้าง “ผลกำไรงดงาม” ให้กับบริษัท ซึ่งหนึ่งในนั้นคือการลงทุนไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์ หรือผู้ผลิตมาม่า นั่นเอง

รับบท “กุนซือ” เมื่อ “เจ้าสัวบุณยสิทธิ์”  หวนคืนตำแหน่งประธานกรรมการ SPI

เจ้าสัวบุณยสิทธิ์(กลาง)ร่วมเปิดดองกิ เจ-พาร์ค กับ "วิชัย"(ขวาสุด)บุตรเขย

ดังนั้น เจ้าสัวบุณยสิทธิ์ ลาออกจากประธานกรรมการมาม่า แต่ยังดูแล “มาม่า” ทางอ้อม

ส่วนไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์ ปัจจุบันมีทายาท “พะเนียงเวทย์” หลายชีวิตเข้ามารับไม้ต่อจาก “พิพัฒ พะเนียงเวทย์” ที่ดำรงตำแหน่งรองประธานกรรมการบริษัท และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร

“พิพัฒ” เคยเล่าถึงแผนการ “เกษียณ” จากการทำงาน ซึ่งไม่ใช่การหันหลังให้ธุรกิจ แต่จะยังคอยดูแล “ทายาท” ขับเคลื่อนองค์กรอยู่ต่อเนื่อง อีกมุมเปรียบเป็น “กุนซือ” ให้ลูกหลานนั่นเอง 

วิถีซีอีโอบะหมี่หมื่นล้าน 'พิพัฒ พะเนียงเวทย์'

รับบท “กุนซือ” เมื่อ “เจ้าสัวบุณยสิทธิ์”  หวนคืนตำแหน่งประธานกรรมการ SPI

สุวิทย์ เมษินทรีย์ รับบทเป็นกุนซือให้ทายาทมาม่า

ปัจจุบันไม่เพียง “พิพัฒ” ผู้เป็นทั้งบิดาและกุนซือ แต่ยังมี “กุนซือ” มืออาชีพเข้ามาคอยช่วยกล่อมเกลาบรรดาทายาท “มาม่า” นั่นคือ “สุวิทย์ เมษินทรีย์” อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม(อว.) อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และพ่วงอีกหลายตำแหน่งในรัฐบาลของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี

โดยหลังพ้นตำแหน่งการเมือง “สุวิทย์” ถูกทาบให้กลับมาช่วยวางยุทธศาตร์การเคลื่อนอาณาจักรมาม่า รับบริบทใหม่ของโลกธุรกิจในอนาคต โดยเฉพาะการสร้างโมเดลเศรษฐกิจใหม่ หรือ BCG Economy ทั้งด้านเศรษฐกิจชีวภาพ(Bio Eonomy) เศรษฐกิจหมุนเวียน( Circular Economy) และเศรษฐกิจสีเขียว(Green Economy) ให้สอดรับกับแนวทางการพัฒนาธุรกิจอย่างยั่งยืน (Sustainable Development Goals :SDGs) ของสหประชาชาติ(UN)

ทั้งนี้ ปูมหลังของ สุวิทย์ ก่อนเข้ามาเป็น “ที่ปรึกษา” ให้มาม่าเกิดจากความสัมพันธ์ที่มีมายาวนานนั่นเอง

“ผมผูกพันธ์บริษัทนี้มาก” เขาเคยเล่าในงานครบรอบ 50 ปี “มาม่า” ภายหลังจากเรียนจบบริหารธุรกิจ(MBA)เมื่อ 30 ปีก่อน บริษัทแรกที่เข้ามาทำงานด้วยคือ ไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์ จึงเห็นอดีตและพัฒนาการของบริษัทในฐานะคนเก่าแก่คนหนึ่ง

“ผมเรียกพี่พิพัฒ ตอนนั้นอยู่กันเป็นครอบครัว”

รับบท “กุนซือ” เมื่อ “เจ้าสัวบุณยสิทธิ์”  หวนคืนตำแหน่งประธานกรรมการ SPI ทายาท "พะเนียงเวทย์" ขับเคลื่อนมาม่าสานการเติบโต 50 ปี

จะเห็นว่า การปรับเปลี่ยนองค์กรที่ดูเหมือนไม่นัยยะ แต่ภายในสะท้อนความเคลื่อนไหวของนักธุรกิจฝีมือฉกาจเอาไว้มากมาย เพราะ “ผู้นำ” ทำหน้าที่กำหนดวิสัยทัศน์ และติดตามว่าสิ่งที่กำหนดทิศทางไว้ “ทีมบริหาร” ทำได้หรือไม่ หากไม่ได้ตามเป้า ก็ประชุมหรือนัดทานข้าวกันเดือนละครั้งเพื่อรายงาน รับทราบผลการดำเนินการแล้วกำชับปรับเปลี่ยนกันต่อไป

สำหรับเครือสหพัฒน์ เป็นเพียงนิยามที่เรียกอาณาจักรแสนล้านบาท ซึ่งภายใต้เครือมีบริษัท “หลายร้อย” และจำนวนมาก “ทายาท” รุ่นใหม่ รุ่นถัดไปได้ทำงานร่วมกับทายาทรุ่นก่อนที่เริ่มถอย ไปอยู่เบื้องหลังเป็น “กุนซือ” ในตำแหน่งผู้นำสูงสุด เช่น สหพัฒนพิบูล ไอ.ซี.ซี.อินเตอร์เนชั่นแนล ที่ “เลือดใหม่” รับบทบริหารเต็มขั้น สร้างการเติบโตให้องค์กร 80 ปี เคลื่อนสู่องค์กร “ร้อยปี” ต่อไป