"ศุภจี" ปลุกขุมพลัง "ดุสิตธานี" สานเป้าใหญ่ "Bring THAI to The World"

"ศุภจี" ปลุกขุมพลัง "ดุสิตธานี" สานเป้าใหญ่ "Bring THAI to The World"

เข้าสู่ปีที่ 7 แล้วสำหรับ “ศุภจี สุธรรมพันธุ์” นับตั้งแต่เข้ารับตำแหน่งซีอีโอกลุ่ม บริษัท ดุสิตธานี จำกัด (มหาชน) เมื่อปี 2559 เดินหน้าสร้างเส้นทางการเติบโตตามแผน 9 ปี แบ่งเป็น 3 ระยะในทุกๆ 3 ปี สานเป้าหมายใหญ่ “Bring THAI to The World”

โดยระยะแรก วางฐานบริษัทให้แข็งแรง ก่อนเข้าสู่ระยะที่ 2 สร้างการเจริญเติบโต และระยะที่ 3 มุ่งก้าวสู่บทใหม่ (New Chapter) ของกลุ่มดุสิตธานี! 

ด้วยกลยุทธ์ Balance สร้างสมดุล, Expand ขยายธุรกิจ และ Diversify สร้างความหลากหลายแก่พอร์ตโฟลิโอ ให้กลุ่มดุสิตธานีกระจายกำลัง ยืนด้วยธุรกิจ 4 ขาหลัก ได้แก่ กลุ่มโรงแรมและฮอสพิทาลิตี้ กลุ่มอาหาร กลุ่มการศึกษา และกลุ่มพัฒนาอสังหาริมทรัพย์

ศุภจี สุธรรมพันธุ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บริษัท ดุสิตธานี จำกัด (มหาชน) หรือ DUSIT เล่าว่า พอเกิด “วิกฤติโควิด-19” มาเป็น “เพื่อนร่วมทาง” ที่ไม่ได้ตั้งใจเชิญ! กลุ่มดุสิตธานีจึงต้องปรับแผนในช่วงที่กลุ่มธุรกิจโรงแรมและฮอสพิทาลิตี้หยุดชะงัก เข้าไปลุยเตรียมความพร้อมกลุ่มธุรกิจอื่นๆ มารองรับ เช่น กลุ่มธุรกิจอาหาร “ดุสิตฟู้ดส์” ซึ่งมีศักยภาพในการเติบโต วางวิสัยทัศน์ Bring ASIA to The World” หลังจากเริ่มรุกกลุ่มธุรกิจนี้เมื่อปี 2561

“บริษัทมุ่งผลักดันการเติบโตของดุสิตฟู้ดส์ ตั้งเป้าสร้างรายได้ในปี 2570 อยู่ที่ 2,500 ล้านบาท เติบโตเฉลี่ย 15-20% ต่อปีจากปัจจุบัน มีอัตราการเติบโตสูงกว่ากลุ่มธุรกิจอื่นๆ ของบริษัท หลังจากเมื่อปี 2562 ดุสิตฟู้ดส์สร้างรายได้ประมาณ 1,000 ล้านบาท ก่อนจะหดตัวลงเหลือ 479 ล้านบาทในปี 2564 จากการระบาดของโควิด-19”

ล่าสุดเมื่อเดือน ส.ค.ที่ผ่านมา กลุ่มดุสิตธานี ผนึกความร่วมมือกับ บริษัท ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ OR โดย “มอดูลัส เวนเจอร์” บริษัทย่อยของ OR ลงทุนถือหุ้นสัดส่วน 25% ในดุสิตฟู้ดส์ เพื่อเดินหน้าสร้างความแข็งแกร่งให้กับธุรกิจอาหาร ด้วยการผสานจุดแข็งของกลุ่มดุสิตธานีที่เชี่ยวชาญด้านธุรกิจอาหารตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ ถึงปลายน้ำ กับความเป็นผู้นำในช่องทางการจำหน่ายในธุรกิจค้าปลีกของ OR ที่สามารถเข้าถึงไลฟ์สไตล์ของผู้คนและชุมชนต่างๆ ทั่วประเทศ

ปัจจุบันพอร์ตการลงทุนหลักของดุสิตฟู้ดส์ ประกอบด้วย บริษัท เอ็บเพอคิวร์ เคเทอริ่ง จำกัด ผู้นำธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มที่ให้บริการกับโรงเรียนนานาชาติ เล็งขยายธุรกิจไปยังลูกค้ากลุ่มองค์กรต่างๆ และโรงพยาบาลที่ต้องการบริการจัดงานเลี้ยงนอกสถานที่, บริษัท เดอะ เคเทอเรอร์ส จอยท์ สต็อก จำกัด หรือ “เดอะ เคเทอเรอร์ส” (The Caterers) ซึ่งเป็นผู้นำด้านการจัดเลี้ยงสำหรับโรงเรียน และงานเลี้ยงรับรองนอกสถานที่ในประเทศเวียดนาม

นอกจากนี้ ยังมีร้านอาหาร KAUAI” (คาวาอิ) ซึ่งเป็นแบรนด์ร้านอาหารสุขภาพยอดนิยมจากประเทศแอฟริกาใต้ที่เข้ามาทำตลาดในประเทศไทย ปัจจุบันมี 5 สาขา เตรียมเปิดเพิ่มอีกอย่างน้อย 2-3 สาขาในไทย และมีแผนขยายตลาดเพิ่มในเอเชียแปซิฟิกและตะวันออกกลางอีก 3-4 สาขาต่อปี ในช่วงปี 2566-2570

รวมถึง บริษัท บองชู เบเกอรี่ เอเชีย จำกัด ซึ่งเป็นเจ้าของแฟรนไชส์ขนมเบเกอรี่ “บองชู” (BONJOUR) และโรงงานผลิตเบเกอรี่ขนาดใหญ่ที่ใช้เครื่องจักรอุตสาหกรรมที่ดีและทันสมัยที่สุดที่นำเข้าจากประเทศชั้นนำในยุโรป ตั้งอยู่ที่นิคมอุตสาหกรรมอีสเทิร์นซีบอร์ด จ.ระยอง โดยปัจจุบันร้านแฟรนไชส์ขนมเบเกอรี่บองชู มีสาขารวม 60 แห่ง แบ่งเป็นในประเทศไทย 59 แห่ง รวมถึงในประเทศจีนอีก 1 แห่ง ซึ่งเป็นตลาดที่มีศักยภาพการเติบโตในอนาคต ทั้งนี้ยังมองการขยายตลาดในประเทศเวียดนามด้วย

"ศุภจี" ปลุกขุมพลัง "ดุสิตธานี" สานเป้าใหญ่ "Bring THAI to The World"

“การผนึกกับ OR เป็นการร่วมมือทำในสิ่งที่ต่างฝ่ายต่างเติมเต็มกันและกัน พยายามเชื่อม ผสานพลังหรือ Synergy ร่วมกันเพื่อต่อยอดธุรกิจในอนาคต โดยอาศัยจุดแข็งของดุสิตฟู้ดส์ที่กระจายธุรกิจไปยัง 17 ประเทศทั่วโลก ซึ่งรู้จักตลาดในประเทศเหล่านั้นดีอยู่แล้ว ไม่ต้องไปทำความรู้จักใหม่”

ยกตัวอย่างเช่น อาจนำเบเกอรี่ของแบรนด์บองชูไปวางขายในคาเฟ่อเมซอน หรือเปิดหน้าร้านในปั๊มน้ำมันของ OR ทั่วประเทศด้วยโมเดลการใช้พื้นที่ขนาดมินิ 15 ตารางเมตร หรือนำแบรนด์บองชูไปผสานพลังกับแบรนด์ KAMU KAMU ของ OR ขณะเดียวกันก็อาจนำน้ำสลัดของแบรนด์โอ้กะจู๋ที่ OR เข้าถือหุ้น มาขายผ่านช่องทางของ Dusit Gourmet หรือนำคาเฟ่อเมซอนไปตั้งในโรงเรียนที่เอ็บเพอคิวร์ฯรับบริหาร รวมถึงการเช่าพื้นที่ของ OR ใน อ.วังน้อย จ.พระนครศรีอยุธยา เพื่อผลิตเบเกอรี่ ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นไปได้

ทั้งนี้ในช่วงต้นปี 2566 เตรียมเปิดตัวแบรนด์ใหม่ Savor Eats” ซึ่งเป็นอาวุธลับใหม่ของดุสิตฟู้ดส์ด้วย

ด้าน “กลุ่มธุรกิจการศึกษา” นอกเหนือจากวิทยาลัยดุสิตธานี และโรงเรียนสอนการประกอบอาหาร เลอ กอร์ดอง เบลอ ดุสิต แล้ว ล่าสุดได้เปิด “เดอะ ฟู้ด สคูล” (The Food School) ในโครงการ BLOCK 28 แถบสามย่าน กรุงเทพฯ โดยลงทุนร่วมกับพันธมิตร ใช้เงินลงทุนรวม 336 ล้านบาท มุ่งสอนประกอบอาหารอิตาเลียน ญี่ปุ่น และไทย พร้อมให้บริการเช่าครัวแก่ผู้ประกอบการทั่วไปด้วย

"ศุภจี" ปลุกขุมพลัง "ดุสิตธานี" สานเป้าใหญ่ "Bring THAI to The World" "ศุภจี" ปลุกขุมพลัง "ดุสิตธานี" สานเป้าใหญ่ "Bring THAI to The World"

ศุภจี เล่าเพิ่มเติมถึงภาพรวมธุรกิจของกลุ่มดุสิตธานีว่า บริษัทประเมินรายได้ทั้งหมดตลอดปี 2565 ฟื้นตัว 75% เมื่อเทียบกับรายได้รวมประมาณ 6,000 ล้านบาทในปี 2562 ก่อนโควิด-19 ระบาด ก่อนจะฟื้นตัว 100% ในปี 2566 ตั้งใจกลับมามีกำไรอีกครั้ง!

หลังเห็นแนวโน้มการฟื้นตัวของ “กลุ่มธุรกิจโรงแรม” ดีขึ้นต่อเนื่องในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ สร้างแรงส่งที่ดีแก่อัตราการเข้าพักของโรงแรมในเครือดุสิตธานีเมื่อเดือน มิ.ย.อยู่ที่ 53% และเดือน ก.ค.เพิ่มเป็น 64% สูงกว่าอัตราการเข้าพักเฉลี่ยรวมของโรงแรมทั่วประเทศไทยในเดือน มิ.ย. และ ก.ค.ซึ่งอยู่ที่ 42% และ 47% ตามลำดับ ขณะที่ช่วงไตรมาส 4 ซึ่งเข้าสู่ไฮซีซั่น อัตราการเข้าพักของโรงแรมในเครือดุสิตธานีมีแนวโน้มขยับเป็นมากกว่า 70% จากการเปิดประเทศเต็มรูปแบบ

โดยปัจจุบันกลุ่มดุสิตธานีมีโรงแรมในเครือรวม 47 แห่ง เมื่อรวมกับกลุ่มแบรนด์ “อีลิธ เฮเวนส์” (Elite Havens) ธุรกิจบริหารจัดการและให้เช่าวิลล่าหรูรายใหญ่ในเอเชียอีก 285 หลัง ทำให้มีอสังหาริมทรัพย์ในพอร์ตโรงแรมและฮอสพิทาลิตี้รวม 332 แห่ง กระจายใน 16 ประเทศ

“ตามแผนขยายธุรกิจ 5 ปี ตั้งแต่ปี 2566-2570 เครือดุสิตธานีจะมีโรงแรมรวมทั้งหมดไม่น้อยกว่า 92 แห่ง ขยายเพิ่มอีก 45 แห่งใหม่ที่มีการเซ็นสัญญารับบริหารแล้วและอยู่ระหว่างพัฒนา กระจายกว่า 20 ประเทศ ปักธงในจุดหมายใหม่ ไม่ว่าจะเป็นกรีซ เนปาล บาห์เรน เมียนมา และซาอุดีอาระเบีย”

เฉพาะในช่วง 2 ปีนี้ บริษัทจะเปิดโรงแรมใหม่ 10-15 แห่ง เช่น ประเทศญี่ปุ่น เมืองเกียวโต 2 แห่ง เป็นแบรนด์ดุสิตธานีและอาศัย (ASAI) ในโลเกชั่นใจกลางเมืองและชานเมืองตามลำดับ กำหนดเปิดในช่วงครึ่งหลังปี 2566 ส่วนในประเทศจีน จะเปิดอีกอย่างน้อย 2-3 แห่ง ขณะที่ประเทศไทย เตรียมเปิด อาศัย สาทร 12 ในเดือน ม.ค.2566 และไฮไลต์สำคัญ โรงแรมดุสิตธานี กรุงเทพฯ เตรียมกลับมาเปิดให้บริการช่วงต้นปี 2567 ถือเป็นหนึ่งในจิ๊กซอว์สำคัญของโครงการมิกซ์ยูสขนาดใหญ่ “ดุสิต เซ็นทรัล พาร์ค” มูลค่าโครงการรวม 46,700 ล้านบาท

“เป้าหมายในปี 2570 บริษัทจะมีสัดส่วนรายได้จากกลุ่มโรงแรมที่ 60-65% รองลงมาเป็นกลุ่มอาหาร 25-30% กลุ่มการศึกษา 7-8% และอื่นๆ 2-3% ซึ่งยังไม่ได้คำนวณรายได้ขาที่ 4 กลุ่มพัฒนาอสังหาริมทรัพย์”

เปลี่ยนไปจากโครงสร้างรายได้เดิมของกลุ่มดุสิตธานีเมื่อปี 2559 ซึ่งมาจากกลุ่มธุรกิจโรงแรมมากถึง 90% โดยขณะนั้นมีโรงแรม 28 แห่งใน 7 ประเทศ แบ่งเป็นเป็นเจ้าของเอง 10 แห่ง และรับบริหาร 18 แห่ง ส่วนกลุ่มธุรกิจการศึกษามีสัดส่วนที่ 10% ในปีดังกล่าว

"ศุภจี" ปลุกขุมพลัง "ดุสิตธานี" สานเป้าใหญ่ "Bring THAI to The World"