สูตรส่งไม้ต่อ “ทายาท” สืบสานธุรกิจครอบครัวยั่งยืน

สูตรส่งไม้ต่อ “ทายาท”  สืบสานธุรกิจครอบครัวยั่งยืน

การตั้งต้นธุรกิจในโลก “ครอบครัว” มีส่วนสำคัญอย่างมาก เช่นเดียวกันประเทศไทย องค์กรเล็กใหญ่ไม่น้อยที่ “พ่อแม่” ทุ่มเทสรรพกำลังแรงใจแรงกาย และเงินทุนก่อเกิดกิจการเล็กๆจนใหญ่โตกลายเป็น “อาณาจักร” ที่มั่งคั่ง

เมื่อถึงจุดหนึ่ง การผ่องถ่ายธุรกิจให้ “ทายาท” ย่อมเกิดขึ้น จากเจนเนอเรชั่น 1 สู่ 2 ความสำเร็จมักคงอยู่ ทว่า เข้าสู่เจนฯ 3-4 กลับเริ่มเห็นความร้าวฉานในครอบครัว นำไปสู่ผลกระทบทางธุรกิจ “กงสี”

สำหรับธุรกิจครับครัวในสังคมไทยมีตัวอย่างมากมาย ที่เติบโต เช่น บุญรอดบริวเวอรี่ องค์กร 89 ปี มีเจนฯ 4 ของตระกูล “ภิรมย์ภักดี” ร่วมขับเคลื่อนอาณาจักรเครื่องดื่มและอาหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์(ซีพี) ตระกูล “เจียรวนนท์” องค์กรก้าวสู่ “ร้อยปี” มีเจนฯ มาสืบสานกิจการ “ล้านล้านบาท” กลุ่มไทยเจริญคอร์ปอเรชั่น(ทีซีซี กรุ๊ป) ทายาทรุ่น 2 พี่น้อง 5 คน ตระกูล “สิริวัฒนภักดี” เบ่งธุรกิจให้เติบใหญ่

เครือสหพัฒน์ เบอร์ 1 สินค้าอุปโภคบริโภคแสนล้านอายุ 80 ปี ทายาท “โชควัฒนา” เข้ามากุมบังเหียนแต่ละหมวดธุรกิจ และกลุ่มเซ็นทรัล ห้างค้าปลีกเบอร์ 1 เมืองไทย ซึ่งภายใต้ตระกูล “จิราธิวัฒน์” มี 5 เจนฯ ทั้งลูกหลาน เขย-สะใภ้กว่า 230 ชีวิต และกว่า 50 คน ทำหน้าที่ขับเคลื่อนธุรกิจ(ข้อมูล ณ ก.ย.62) เป็นต้น

ทั้งนี้ ไม่ได้มีเพียงตระกูลใหญ่เคลื่อนธุรกิจราบรื่น เพราะ “คลื่นใต้น้ำ” ภายใต้กิจการกงสี มีเกิดขึ้นเสมอ บางครั้งปะทุเป็นประเด็นให้สังคมจับจ้อง ไม่ว่าจะเป็นแบรนด์ “ปุ้มปุ้ย”ของ “โตทับเที่ยง” ปมร้าวตระกูล “ณรงค์เดช” หรือศึก “แม่ประณอม” เป็นต้น

แล้วในยุคบริบทธุรกิจไม่เหมือนอดีต การแข่งขันรุนแรง หน้าตา “คู่แข่ง” เปลี่ยน พฤติกรรมผู้บริโภคปรับ สนามรบการค้าพลิกโฉม เทคโนโลยี นวัตกรรมล้ำสมัย อาวุธการตลาดใหม่ๆพลังเพิ่ม ธุรกิจ “ครอบครัว” จะอยู่ยั่งยืนอย่างไร รศ.ดร.วิเลิศ ภูริวัชร คณบดี คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้มุมมองหลายประการ

“เมื่อทายาทรับไม้ต่อหรือเทคโอเวอร์กิจการครอบครัวจากพ่อแม่มาดูแล สิ่งสำคัญต้องตระหนักคุณค่าหลักหรือ Core Value กิจการครอบครัวคืออะไร เพื่อนำต่อไปยอดสร้างความแข็งแกร่ง หรือปรับเปลี่ยนให้สอดคล้องกับบริบทธุรกิจในยุคปัจจุบันมากขึ้น”

ทั้งนี้ การดำเนินธุรกิจจากอดีตถึงปัจจุบัน การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นรอบทิศ ความสำเร็จดั้งเดิมในยุคพ่อแม่ผู้ก่อตั้ง อาจไม่ได้การันตีความสำเร็จบนสมรภูมิการค้าใหม่ได้ แต่เพื่อสร้างการเติบโตยั่งยืน “ทายาท” ต้องมี “วิสัยทัศน์” ที่ก้าวไกล ไม่มองเป้าหมาย การขับเคลื่อนธุรกิจในระยะยาว ระหว่างทาง ต้องมียุทศาสตร์ กลยุทธ์ ในการปฏิบัติงานสอดคล้องกับสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง

เมื่อธุรกิจต้องเบ่งอาณาจักร มีการ “ลงทุน” เข้ามาเกี่ยวข้อง การตระหนักใน “ความเสี่ยง” เป็นพื้นฐานที่จำเป็นที่ไม่ควรมองข้าม พิจารณาให้รอบทิศทั้งความเสี่ยงการเงิน การตลาด วิกฤติที่ไม่คาดฝัน เช่น น้ำท่วม หรือโรคระบาด สิ่งเหล่านี้ต้องมองเกมให้ขาด

“การขับเคลื่อนธุรกิจในยุคปัจจุบัน ไม่เหมือนอดีต หลายอย่างเปลี่ยนแปลงเร็วและแรง ทั้งคู่แข่งที่ไม่เหมือนเดิม เทคโนโลยี การทำตลาดมีวิวัฒนาการมากขึ้น การวางวิสัยทัศน์ระยะยาวจำเป็น แต่ต้องมีการปรับกลยุทธ์ การปฏิบัติงานอยู่ตลอดเวลา”

ขณะเดียวกันการเปิดใจกว้างเพื่อรับฟัง เรียนรู้ประสบการณ์จากพ่อแม่ผู้บริหารยุคเก่าสำคัญเช่นกัน เนื่องจากการขับเคลื่อนธุรกิจแต่ละยุคสมัย พบเจอเหตุการณ์แตกต่างกันตามช่วงอายุ สิ่งเหล่านั้นสามารถนำมาประยุกต์ใช้ เพื่อปรับเปลี่ยนธุรกิจให้มีความแข็งแกร่งขึ้น โดยบางประเด็นอาจไม่ต้องปรับทั้งหมด 100% แต่บางเหตุการณ์ ต้องยกเครื่องหมดก็มีเช่นกัน แต่ทุกอย่างต้องดำเนินาภายใต้ข้อเท็จจริง เหตุผล ไม่ใช่ “อารมณ์” ความรู้สึกเข้ามาเกี่ยวข้อง

“การเปิดรับความคิดเห็นซึ่งกันและกันระหว่างรุ่น เป็นเรื่องดี”

สำหรับการขยายธุรกิจ ต่อยอดอาณาจักรให้มั่งคั่ง กลยุทธ์ที่น่าสนใจ ต้องเริ่มมองคุณค่าหลักบริษัท เช่น กิจการครอบครัวเป็นฟาร์มสัตว์ สามารถลุยธุรกิจร้านอาหาร ทำให้ครบวงจรตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ธุรกิจโรงแรม ต้องเรียนรู้แพลตฟอร์มใหม่ๆในการจองเข้าพัก ส่วนธุรกิจเครื่องดื่ม หากทำแอลกอฮอล์ ต้องแตกไลน์ไปสู่กลุ่มนอนแอลกอฮอล์ ฯ

ด้านแบรนด์ หากภาพลักษณ์เก่าอาจปรับเปลี่ยนให้ทันสมัย เข้าถึงคนรุ่นใหม่มากขึ้น ด้านกลยุทธ์ตลาด นำเทคโนโลยี เครื่องมือ มาติดอาวุธให้ทรงพลัง เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม แม้วิชั่นเปรียบเสมือเข็มทิศนำทางธุรกิจครอบครัว รุ่น 1-2 มักไม่มีอุปสรรค เพราะยังเป็นครอบครัวเล็ก เมื่อเข้าสู่รุ่น 3-4 ปัญหามากเกิดตามมา สาเหตุเพราะ ครอบครัวขยายใหญ่ ไม่ได้มีแค่พ่อแม่ลูก แต่เพิ่มคือ หลาน ลูกเขย-สะใภ้ บางครั้งอาจเกิดการแบ่ง “พวกเขา-พวกเรา” ไม่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันเหมือนอดีต

“เมื่อครอบครัวขยายใหญ่ขึ้น การปรับมายด์เซ็ทเป็นสิ่งสำคัญ บางคนยึดติดว่าคือพ่อแม่ลูก พอมีสะใภ้ เขย ลูกหลานเพิ่ม อาจมองความหมายครอบครัวไม่เหมือนเดิม แบ่งแยกพวกพ้อง หากปรับวิธีคิดได้ว่าทุกคนคือครอบครัว แล้วดำเนินธุรกิจให้ขยายใหญ่ขึ้น ทุกคนก็จะได้แบ่งเค้กความมั่งคั่งมากขึ้น"

ยิ่งกว่านั้น หากมีทายาทในครอบครัวบางคนทำงาน นั่งเก้าอี้บริหารธุรกิจ บางคนกลับไม่ทำอะไร กลายเป็นสร้าง “ปมปัญหา” เพิ่มเติม

ดังนั้น เพื่อให้ธุรกิจกงสีเติบใหญ่ยั่งยืน จึงควรมีการร่าง “ธรรมนูญครอบครัว” หรือ Family Constitution ขึ้นมา เพื่อใช้เป็นแนวทางในการยึดถือปฏิบัติสำหรับทุกคนภายในครอบครัว ป้องกันการแหกกฎ

อ่านธรรมนูญตระกูล "จิราธิวัฒน์"

ด้าน “โครงสร้าง” ต้องแบ่งชัดเจน แยกคำว่า “ครอบครัว” กับ “ธุรกิจ” ออกจากกัน เพราะบางครั้งทาบาทในตระกูล มองกิจการเป็นของตนเอง อาจเข้าไปใช้บริการโดยไม่คำนึงถึงการจ่ายเงินในฐานะ “ลูกค้า” เป็นต้น

การสื่อสารใน “ธุรกิจครอบครัว” และสื่อสารภายใน “ครอบครัว” มีความแตกต่างกัน หากเป็นธุรกิจ การให้ข้อมูลแก่ทุกคนรับทราบถ้วนหน้าเท่าเทียมกันเป็นสิ่งจำเป็น ไม่มีการ “ปิดบัง” บางส่วนรู้กันแค่บางคน ยังช่วยลดทอนความขัดแย้งที่จะเกิดในอนาคตด้วย

รศ.ดร.วิเลิศ ยังหยิบยก 3 ศาสตร์เสริมแกร่งธุรกิจครอบครัว ได้แก่ ความซื่อสัตย์ระหว่างกัน การสอดประสานสามัครภายในครอบครัว ไม่แยกครอบครัวฉันครอบครัวเธอ และการเห็นอกเห็นใจกัน