“พิพัฒน์” สั่งตั้งทีมลุยศึกษา “ดัชนีค่าครองชีพเมืองท่องเที่ยว”

“พิพัฒน์” สั่งตั้งทีมลุยศึกษา “ดัชนีค่าครองชีพเมืองท่องเที่ยว”

“พิพัฒน์” สั่งตั้งทีมศึกษา “ดัชนีค่าครองชีพเมืองท่องเที่ยว” หวังบูรณาการภาครัฐ-เอกชนอย่างเป็นรูปธรรม กำหนดมาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยว กำกับดูแลราคาสินค้าให้มีประสิทธิภาพ ช่วยทัวริสต์วางแผนค่าใช้จ่ายเที่ยวไทย

นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เปิดเผยว่า ในที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการท่องเที่ยวแห่งชาติ (ท.ท.ช.) เมื่อวันที่ 29 ส.ค.ที่ผ่านมา ได้สั่งการให้ตั้งคณะทำงานเพื่อศึกษาเรื่องการจัดทำดัชนีค่าครองชีพเมืองท่องเที่ยว เพื่อให้นำกลับมาหารือกันในการประชุม ท.ท.ช. รอบต่อไป หลังจากกระทรวงพาณิชย์ได้เสนอให้มีการจัดทำดัชนีค่าครองชีพเมืองท่องเที่ยว ให้เหตุผลว่าเพื่อกำหนดมาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยวให้มีประสิทธิภาพ และกำกับดูแลราคาสินค้า

ทั้งนี้ดัชนีค่าครองชีพเมืองท่องเที่ยวจะเป็นตัวช่วยให้นักท่องที่ยวสามารถนำไปวางแผนการใช้จ่ายในการท่องเที่ยวได้อีกด้วย โดยเมื่อปี 2562 ก่อนเกิดวิกฤติโควิด-19 อุตสาหกรรมท่องเที่ยวของประเทศไทยสร้างรายได้ 3 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็นประมาณ 17.8% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ก่อให้เกิดการจ้างงาน ทั้งในภาคของการท่องเที่ยวและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง อาทิ โรงแรมที่พัก ภัตตาคารร้านอาหาร ธุรกิจทัวร์ ธุรกิจก่อสร้าง เกิดการกระจายความเจริญและรายได้สู่ท้องถิ่นและชุมชน

ดัชนีค่าครองชีพเมืองท่องเที่ยวจะช่วยสำรวจราคาสินค้าและบริการด้านการท่องเที่ยวในแต่ละจุดหมายปลายทาง โดยการจัดข้อมูลราคาสินค้าที่นักท่องเที่ยวนิยม อาทิ บริการแหล่งท่องเที่ยว การบริโภคสินค้า เป็นต้น นักท่องเที่ยวสามารถเลือกปลายทางและวางแผนการเดินทางที่สอดคล้องกับงบประมาณที่มี ในขณะที่รัฐบาลท้องถิ่นมีมุมมองที่ชัดเจนขึ้นในการวางแผนพัฒนาและส่งเสริมการท่องเที่ยว

ภาครัฐหรือภาคเอกชนสามารถนำดัชนีค่าครองชีพเมืองท่องเที่ยวไปใช้ในการออกแบบมาตรการส่งเสริมหรือกระตุ้นการท่องเที่ยวอย่างต่อเนื่อง รวมถึงทบทวนบริการแหล่งท่องเที่ยว หรือแหล่งขายสินค้าที่ระลึกด้านการท่องเที่ยว ช่วยให้การกำกับดูแลราคาสินค้าและบริการในเมืองท่องเที่ยวมีประสิทธิภาพ

สำหรับผลที่คาดว่าจะได้รับในเชิงคุณภาพของดัชนีค่าครองชีพเมืองท่องเที่ยว ได้แก่ การกำหนดนโยบายกับมาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยวในพื้นที่และภาพรวมมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น การกำกับดูแลราคาสินค้าและบริการในเมืองท่องเที่ยวที่มีประสิทธิภาพ เกิดการบูรณาการระหว่างภาครัฐและเอกชนอย่างเป็นรูปธรรม

นางสาวฐาปนีย์ เกียรติไพบูลย์ รองผู้ว่าการด้านตลาดภายในประเทศ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กล่าวว่า ทางกระทรวงพาณิชย์ให้เหตุผลว่าหากมีดัชนีค่าครองชีพเมืองท่องเที่ยว หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการควบคุมราคา จะสามารถกำหนดราคาสินค้าในเมืองท่องเที่ยวได้เหมาะสม สำหรับผลิตภัณฑ์และบริการด้านการท่องเที่ยว และอาจเป็นเกณฑ์มาตรฐานอย่างเป็นทางการสำหรับคู่มือการท่องเที่ยวระหว่างประเทศ เช่น Lonely Planet และ Michelin Green Guide