"ซอฟต์พาวเวอร์" ปลุกมูลค่าเศรษฐกิจ! ฟื้นรายได้ท่องเที่ยว 2.4 ล้านล้านปี 66
การขับเคลื่อนรายได้อุตสาหกรรมท่องเที่ยวปี 2565-2566 ในช่วงการฟื้นตัวจากวิกฤติโควิด-19 ทางการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ระบุชัดว่าในปี 2565 เป้าหมายรายได้รวมการท่องเที่ยวอยู่ที่ 1.5 ล้านล้านบาท ฟื้นตัว 50% เทียบรายได้รวม “3 ล้านล้านบาท” เมื่อปี 2562 ก่อนโควิดระบาด
มาจากนักท่องเที่ยวต่างชาติไม่น้อยกว่า 10 ล้านคน และนักท่องเที่ยวไทย 160 ล้านคน-ครั้ง
แม้การประเมินแนวโน้มรายได้ปีนี้ที่คาดการณ์ว่าจะได้จริง น่าจะอยู่ที่ 1.2 ล้านล้านบาท ไม่ถึงเป้าหมาย เนื่องจากฐานนักท่องเที่ยวต่างชาติส่วนใหญ่ในปีนี้เป็นตลาด “วีคเอนด์ เดสติเนชั่น” เช่น มาเลเซีย และสิงคโปร์ แต่ ททท.ก็หวังว่าจะเห็นแรงส่งที่ดีของนักท่องเที่ยวตลาดระยะไกลในช่วงฤดูกาลท่องเที่ยวหรือ “ไฮซีซั่น”
จากมติของศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) ที่เพิ่งมีมติ “ขยายระยะเวลาพำนักในไทย” ให้กับชาวต่างชาติจากประเทศที่ได้รับการยกเว้นวีซ่า ให้อยู่ในไทยได้นานขึ้นจากไม่เกิน 30 วัน เป็นไม่เกิน 45 วัน และขยายเวลาให้กับผู้ที่มาขอวีซ่าหน้าด่าน (Visa on Arrival : VoA) จากไม่เกิน 15 วัน เป็นไม่เกิน 30 วัน ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.2565-31 มี.ค.2566 ครอบคลุมช่วงไฮซีซั่น
ยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กล่าวว่า ด้วยบรรยากาศการเดินทางในช่วงไฮซีซั่น รวมถึงมาตรการอำนวยความสะดวกแก่นักท่องเที่ยว และการร่วมมือระหว่าง ททท.กับภาคเอกชน จัดกิจกรรมส่งเสริมการขาย จะทำให้นักท่องเที่ยวต่างชาติใช้จ่ายและพำนักในไทยนานวันขึ้น
“ททท.ตั้งเป้าหมายปี 2566 ประเทศไทยมีรายได้รวมการท่องเที่ยวที่ 2.4 ล้านล้านบาท ฟื้นตัว 80% เมื่อเทียบกับปี 2562 โดยมาจากนักท่องเที่ยวต่างชาติ 25 ล้านคน และนักท่องเที่ยวไทย 180 ล้านคน-ครั้ง”
ด้านความเคลื่อนไหวของคณะกรรมการนโยบายการท่องเที่ยวแห่งชาติ (ท.ท.ช.) ล่าสุดกำลังจัดตั้งคณะทำงานบูรณาการการส่งเสริมซอฟต์พาวเวอร์สำหรับอุตสาหกรรมท่องเที่ยวโดยเฉพาะ โดยในที่ประชุม ท.ท.ช. เมื่อวันจันทร์ที่ 29 ส.ค.ที่ผ่านมา พิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ได้มอบหมายให้กระทรวงการท่องเที่ยวฯ ดำเนินการศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับเรื่องนี้ เพื่อ “แปรพลัง” ของ “ซอฟต์พาวเวอร์” ที่มีศักยภาพ เป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจที่จับต้องได้!
หลังจากเมื่อวันที่ 19 ส.ค. สำนักนายกรัฐมนตรีแต่งตั้ง “บอร์ดซอฟต์พาวเวอร์” หรือคณะกรรมการนโยบายส่งเสริมภาพลักษณ์ของประเทศด้วยซอฟต์พาวเวอร์ โดยมี สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เป็นรองประธานกรรมการฯ ถือเป็นการรวมศูนย์กลางขับเคลื่อนเรื่องนี้ จากระดับยุทธศาสตร์สู่ระดับปฏิบัติการ!
พิพัฒน์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ที่ประชุม ท.ท.ช. ได้เห็นชอบการประกาศ “พื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนเชียงราย” ตามที่องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. ได้นำเสนอ ภายใต้แนวคิดการพัฒนา “ท่องเที่ยวสร้างสรรค์ สีสันแห่งล้านนา” (Creative Chiang Rai)
โดยครอบคลุม 18 อำเภอของจังหวัดเชียงราย ประกอบด้วย อ.เมืองเชียงราย อ.แม่จัน อ.แม่สาย อ.เชียงแสน อ.เชียงของ อ.ป่าแดด อ.เทิง อ.เวียงชัย อ.พญาเม็งราย อ.เวียงเชียงรุ้ง อ.แม่สรวย อ.เวียงป่าเป้า อ.พาน อ.แม่ลาว อ.ขุนตาล อ.เวียงแก่น อ.แม่ฟ้าหลวง และ อ.ดอยหลวง พื้นที่รวม 11,687.4 ตารางกิโลเมตร โดยมอบหมายให้ อพท.ไปดำเนินการจัดทำแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาพื้นที่พิเศษเชียงรายมาเสนอ ท.ท.ช. ในโอกาสต่อไป
การประกาศพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนเชียงราย เพื่อให้ อพท.เข้าไปทำหน้าที่กำหนดนโยบายการพัฒนาแหล่งและกิจกรรมการท่องเที่ยวให้เกิดความยั่งยืน ภายใต้การบูรณาการจากทุกภาคส่วน เนื่องจากเชียงรายเป็นจังหวัดที่มีทรัพยากรการท่องเที่ยวที่มีความหลากหลาย ทั้งด้านธรรมชาติประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม ตลอดจนเป็นเกตเวย์ (Gateway) “เขตเศรษฐกิจชายแดน” ของอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงตอนบน มีโครงข่ายการคมนาคมที่เชื่อมโยงทั้งทางบก ทางน้ำและทางอากาศ แต่ปัจจุบันแหล่งท่องเที่ยวยังไม่มีคุณภาพและมาตรฐาน อัตลักษณ์ของล้านนาและกลุ่มชาติพันธุ์ยังไม่ได้รับการส่งเสริมอย่างเต็มที่ ขาดการบูรณาการจากแต่ละภาคส่วน เป็นผลให้มีจำนวนวันพักเฉลี่ยของนักท่องเที่ยวค่อนข้างต่ำ
“ดังนั้น หากดำเนินงานพัฒนาการท่องเที่ยวในรูปแบบพื้นที่พิเศษของ อพท.ที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน จะส่งผลให้พื้นที่ได้รับการพัฒนาศักยภาพและขีดความสามารถทางการแข่งขันอย่างเป็นรูปธรรม”
ที่ประชุม ท.ท.ช.ยังได้เห็นชอบแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน “ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา” ระยะ 5 ปี ตั้งแต่ปี 2566-2570 เพื่อใช้ขับเคลื่อนและพัฒนาการท่องเที่ยวใน 15 อำเภอของ 3 จังหวัดในลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลาให้มีเอกภาพไปในทิศทางเดียวกัน สามารถแก้ไขประเด็นปัญหาด้านการพัฒนาการท่องเที่ยวที่มีอยู่ในพื้นที่ได้อย่างเป็นรูปธรรม ภายใต้กระบวนการการมีส่วนร่วมจากภาคีพัฒนาทุกภาคส่วน ตามหลักเกณฑ์การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนโลก (Global Sustainable Tourism Criteria - GSTC) และการท่องเที่ยวโดยชุมชน ช่วยให้เกิดการสร้างงาน กระจายรายได้อย่างทั่วถึงทั้งพื้นที่
นาวาอากาศเอกอธิคุณ คงมี ผู้อำนวยการ อพท. กล่าวเสริมว่า สำหรับข้อเสนอประกาศพื้นที่พิเศษเชียงราย เกิดจากความต้องการของพื้นที่ที่ต้องการให้ อพท.ไปศึกษาและประกาศเป็นพื้นที่พิเศษ ซึ่ง อพท. ได้ไปศึกษาศักยภาพและความเหมาะสมของพื้นที่ และได้แนวทางการพัฒนาภายใต้ร่างวิสัยทัศน์ “สืบสานวัฒนธรรมล้านนา สร้างคุณค่าอย่างสร้างสรรค์ เพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน เชื่อมโยงอาเซียน” ที่ผ่านการรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนและได้รับความยินยอมการประกาศเป็นพื้นที่พิเศษของ อพท. จากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่จังหวัดเชียงรายทั้ง 144 แห่งเรียบร้อยแล้ว
นับจากนี้ อพท. จะเป็นหน่วยงานหลักในการบูรณาการทำงานร่วมกับทุกภาคส่วนในจังหวัดเชียงราย เพื่อแก้ไขปัญหาสำคัญด้านการพัฒนาและส่งเสริมการท่องเที่ยว เพื่อยกระดับการจัดการการท่องเที่ยว โดยใช้เกณฑ์ GSTC มาตรฐานการจัดการการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (STMS) และการท่องเที่ยวโดยชุมชน CBT Thailand ผ่านแผนขับเคลื่อนการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนที่สอดคล้องกับนโยบายการท่องเที่ยว
โดยจะพัฒนาชุมชนต้นแบบเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนที่มีกลไกบริหารจัดการตนเอง เพื่อสร้างและกระจายรายได้จากการท่องเที่ยวไปสู่ชุมชนท้องถิ่น และยกระดับมาตรฐานการท่องเที่ยวให้เป็นที่ยอมรับระดับสากล เช่น เมืองสร้างสรรค์ และแหล่งท่องเที่ยวยั่งยืน 100 แห่งของโลก หรือ Green Destination TOP-100 และ Global Geopark ซึ่ง อพท.จะจัดทำแผนยุทธศาตร์การพัฒนาพื้นที่พิเศษฯ เชียงรายเสนอ ท.ท.ช. พิจารณาให้ความเห็นชอบก่อนเสนอ ครม. ตามลำดับ
สำหรับลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา อพท.ได้กำหนด 5 ยุทธศาสตร์สำหรับใช้พัฒนาพื้นที่แห่งนี้ ประกอบด้วย 1.การพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวให้ได้มาตรฐาน 2.การพัฒนาและส่งเสริมกิจกรรมการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ตามวิถีเขา-โหนด-นา-เล 3.การพัฒนาสินค้าและบริการด้านการท่องเที่ยวที่ต่อยอดอัตลักษณ์ของลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา 4.การพัฒนาเครือข่ายและการมีส่วนร่วมในการพัฒนาและส่งเสริมการท่องเที่ยว และ 5.การพัฒนามาตรฐานการบริหารจัดการการท่องเที่ยว ระยะ 5 ปี ตั้งแต่ปี 2566-2570 มีโครงการภายใต้ยุทธศาสตร์รวม 270 โครงการ วงเงินงบประมาณกว่า 5,000 ล้านบาท ซึ่ง อพท.จะได้หารือและประสานสำนักงบประมาณ และสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาให้ความเห็นชอบตามขั้นตอนต่อไป