ยื่นขอ 5 รายได้แค่ 3 รัฐไฟเขียว ‘มาม่า-ไวไว-ยำยำ’ ขึ้นราคา 7 บาทต่อซอง

ยื่นขอ 5 รายได้แค่ 3 รัฐไฟเขียว ‘มาม่า-ไวไว-ยำยำ’ ขึ้นราคา 7 บาทต่อซอง

ที่สุดแล้ว รัฐไฟเขียวให้ผู้ผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป 3 ราย ปรับขึ้นราคาสินค้าหลัก จากซอง 6 บาท ไปเป็น 7 บาทต่อซอง ได้แก่ “มาม่า-ไวไว-ยำยำ” ส่วนอีก 2 ราย ลุ้นแจงต้นทุนให้ครบ และยื่นขอขึ้นราคาอีกครั้ง

นายพันธ์ พะเนียงเวทย์ ผู้จัดการสำนักอำนวยการ บริษัท ไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์ จำกัด(มหาชน) ผู้ผลิต “มาม่า” กล่าวว่า หลังจากกระทรวงพาณิชย์อนุมัติให้ปรับขึ้นราคาบะหมี่ฯหมวดหลัก ซอง 6 บาท ไปเป็นซองละ 7 บาท มีผล 25 สิงหาคมนี้ ถือว่าช่วยบรรเทาผลกระทบด้านต้นทุนการผลิตสินค้า แต่การปรับขึ้นอยู่ภายใต้เงื่อนไข ที่รัฐจะเกาะติดสถานการณ์ต้นทุนการผลิตอย่างใกล้ชิด

ทั้งนี้ ผู้ผลิตจะต้องส่งรายละเอียดต้นทุนสินค้าให้กับกรมการค้าภายใน(คน.) กระทรวงพาณิชย์พิจารณาทุกเดือน จากเดิมเป็นรายไตรมาส หรือตามที่ภาครัฐร้องขอ หากมีแนวโน้มต้นทุนการผลิตปรับตัวลดลงอย่างถาวร อาจให้ราคาขายยขยับลงมาอยู่ที่เดิม

ขณะเดียวกันผู้ผลิตชี้แจงกรณีต้นทุนกระชากสูงขึ้น จะดำเนินการยื่นขอปรับขึ้นราคาอีกครั้ง เพื่อให้เป็นไปตามกลไกด้านต้นทุน

อย่างไรก็ตาม ที่น่าสนใจคือการปรับขึ้นราคาครั้งนี้ ไม่ได้ครบทั้ง 5 รายที่รวมตัวกันครั้งประวัติศาสตร์ โดย 2 รายอย่าง "นิชชิน" และ "ซื่อสัตย์" มีการยื่นขอขึ้นราคาไปแล้ว แต่เมื่อให้ชี้แจงรายละเอียดต้นทุนเพิ่มเติม อาจส่งข้อมูลไม่ครบหรือไม่ทันท่วงที และทางผู้ผลิตยังไม่มีการยื่นขอขึ้นราคากลับไปอีกครั้ง

กรณีดังกล่าวเป็นเพียงปัญหาทางเทคนิคเท่านั้น แต่ที่ต้องจับตาคือ เมื่อ 2 แบรนด์ยังไม่ได้ไฟเขียวให้ขึ้นราคา คือสถานการณ์ “ขายส่ง–ขายปลีก” ผ่านร้านยี่ปั๊วซาปั๊วจะ “ตรึงราคาเดิม” หรือไม่

“การขึ้นราคาครั้งนี้ ไม่ใช่การขึ้นทั้งตลาด แต่อนุมัติให้ขึ้นราคาเป็นรายๆไป ส่วนการขึ้นราคาจาก 6 บาทต่อซอง เป็น 7 บาทต่อซอง ต่ำกว่าที่ผู้ผลิตยื่นขอ 8 บาทต่อซอง ภาพรวมการขยับราคาย่อมดีกว่าไม่ได้เลย เพราะนีเป็นปัจจัยที่ทำให้ธุรกิจเราพ้นน้ำ ส่วนการขึ้นราคาจะมีผลให้ผู้บริโภคเกิดภาวะช็อกหรือไม่ มองว่าไม่เกิดขึ้น เพราะผู้บริโภครับรู้ราคา 7 บาทอยู่แล้ว บางรายเข้าใจว่าขึ้น 8 บาทด้วย”

สำหรับการปรับราคาบะหมี่ฯ อย่างมาม่า ไวไว และยำยำ ถือเป็นการขยับขึ้นครั้งแรกในรอบ 14-15 ปี ท่ามกลางสถานการณ์ต้นทุนการผลิตสินค้าที่พุ่งแรงเป็นประวัติการณ์ในรอบ 50 ปี ไม่ว่าจะเป็นแป้งสาลี น้ำมันปาล์ม ที่เพิ่มขึ้นหลายเท่าตัว โดยมีปัจจัยลบจากภาวะสงครามรัสเซีย-ยูเครน ที่ส่งผลให้วัตถุดิบการผลิตแพงขึ้นถ้วนหน้า

ด้านนายปริญญา สิทธิดำรง กรรมการ บริษัท โชคชัยพิบูล จำกัด ผู้ผลิตบะหมี่ฯ “ซื่อสัตย์” กล่าวว่า การที่บะหมี่ฯ ซื่อสัตย์ยังไม่ได้ขึ้นราคาจากซองละ 6 บาท เป็น 7 บาท เนื่องจากมีเอกสารที่ต้องส่งให้กรมการค้าภายในพิจารณาเพิ่มเติม ส่วนจะใช้เวลามากน้อยเพียงใด เบื้องต้นคาดว่าตามรอบการทำงานของราชการ ประกอบกับแบรนด์ใหญ่ได้ปรับราคาแล้ว แบรนด์เล็กน่าจะได้ปรับตามกันไป

ส่วนการได้ขยับราคาเป็น 7 บาทต่อซอง จากที่ผู้ผลิตทั้ง 5 รายยื่นขอไป 8 บาทต่อซอง ขึ้นอยู่กับความกรุณาของภาครัฐ ส่วนบริษัทจะพยายามหาทางบริหารจัดการต้นทุนด้านอื่นแทนในทุกจุด เช่น โลจิสติกส์ นอกเหนือจากค่าวัตถุดิบที่เผชิญต้นทุนสูง

ด้านการปรับราคาขึ้นอย่างมีเงื่อนไข ด้วยการที่ผู้ผลิตต้องส่งข้อมูลต้นทุนการผลิตสินค้าให้กับรัฐดูทุกเดือน บริษัทต้องดำเนินการตามและหากต้นทุนปรับขึ้นจริง อาจต้องขอขึ้นราคา หากต้นทุนลดจะหาแนวทางในการลดราคาสินค้าด้วยวิธีต่างๆ เช่น แพ็ค 10 ซอง ราคา 70 บาท อาจมีโปรโมชั่นจำหน่าย 67-68 บาท เป็นต้น  

"แม้ราคา 8 บาทที่ยื่นขอปรับขึ้น สะท้อนต้นทุนที่แท้จริง แต่การอนุมัติให้ปรับราคาเป็น 7 บาทต่อซอง ถือเป็นความกรุณาของภาครัฐ"