กรุ๊ปเอ็มฯ ผ่าพฤติกรรมผู้บริโภค ยุคสู้ชีวิต หางาน เร่งรายได้เข้ากระเป๋า

กรุ๊ปเอ็มฯ ผ่าพฤติกรรมผู้บริโภค ยุคสู้ชีวิต หางาน เร่งรายได้เข้ากระเป๋า

กรุ๊ปเอ็ม โฟคัล 2022(GroupM FOCAL 2022)เป็นหนึ่งในงานใหญ่ประจำปีที่นักการตลาดต้องตามติด เพราะนอกจากจะมี “กูรู” ในวงการมากมายมาแบ่งปันข้อมูล เทรนด์ต่างๆที่เกิดขึ้น ยังมีงานวิจัยพฤติกรรมผู้บริโภคที่ทีมงานได้ทำการสำรวจ สัมภาษณ์ และคลุกคลีกับกลุ่มตัวอย่างจริงๆ

ปี 2565 ผ่าพฤติกรรมผู้บริโภคทั้งการใช้ชีวิต การเงิน การเสพสื่อ ตลอดจนนำแนะนำการตลาดเป็นอย่างไร ณัฐวีร์ ณีว มาวิจักขณ์ หุ้นส่วนผู้บริหาร แผนกพัฒนาการตลาด และ แพน จรุงธนาภิบาล ผู้อำนวยการแผนพัฒนาและการตลาด แห่งกรุ๊ปเอ็ม(ประเทศไทย) ร่วมเผยข้อมูล

ภาพรวมสิ่งที่ผู้บริโภคกล่าวขานกันมากใน 3-4 เดือนที่ผ่านมา ไม่ใช่การเอาตัวรอด เหมือนปีก่อน แต่เป็นการเข้าสู่ชีวิตจริง เจอแก๊งคอลเซ็นเตอร์หลอกลวงเสียงเสียเงินทอง การแข่งขันวอลเล่ย์บอล การเลือกตั้งผู้ว่าฯกรุงเทพมหานคร

เมื่อเจาะลึกแต่ละส่วน ด้านการใช้ชีวิต นิยามชัดเป็นภาวะ “เคราะห์ซ้ำกรรมซัด” และ “เศรษฐกิจฝืดเคือง” กำลังมาเยือน ผู้บริโภคมองเช่นนั้น เพราะโลกไม่เหมือนเดิม จากวิกกฤติโควิดนำมาซึ่งความเปลี่ยนแปลงมากมาย ทั้งค่าใช้จ่ายพุ่ง น้ำมันแพง เงินที่มีน้อยอยู่แล้ว ยังเสี่ยงเจอแก๊งคอลเซ็นเตอร์จ้องหลอกเอาเงิน ทำให้ต้องระวัง

“นี่คือสิ่งที่ผู้บริโภคเจอในชีวิตจริง”

ภาวะเศรษฐกิจฝืดเคือง ทำให้คนตกงาน จนต้องนำเงินเก็บทั้งชีวิตมาใช้จนหมด บางรายรายได้หายไป 50% แต่ปัจจัยลบยังไม่หมด เพราะสงครามรัสเซีย-ยูเครน ทำให้ต้นทุนสินค้าพุ่ง ของแพงแต่รายได้น้อยลงจนการใช้ชีวิตยากขึ้น ขณะที่ความพยายามหารายได้ เช่น เป็นไรเดอร์ แต่ถูกลดค่ารอบการส่งอาหาร การทำรายได้จึงลดลง 50%

“เมื่อคนไม่มีเงิน ต้องหางานทำเพิ่ม บางรายเคยขายลูกชิ้นในห้างค้าปลีกมีรายได้กว่า 4,000 บาทต่อวัน ตอนนี้เหลือหลักร้อยจนต้องปิดร้าน บางรายเป็นไรเดอร์แต่แพลตฟอร์มลดรอบการส่งสินค้า รายได้ลด แต่ค่าน้ำมันแพงขึ้น ภาพรวมคนไม่มีเงินจึงไม่มีความสุขด้วย”

ด้านการเงิน หนึ่งในความเปลี่ยนแปลงที่เห็นคือการมีแอปพลิเคชั่น”เป๋าตังค์” ทำให้คนไทยเปิดใจกับกระเป๋าเงินดิจิทัลมากขึ้น

เจาะลึกการ “หาเงิน” เข้ากระเป๋า ผู้คนจำนวนมาก โดยเฉพาะเด็กจบใหม่ยัง “หางานทำ” และงานประจำคือสิ่งที่ต้องการ อาชีพ “ข้าราชการ” กลายเป็นเป้าหมายของคนหมู่มากเพราะมีความมั่นคง สวัสดิการ

ส่วนการ “ใช้เงิน” ผู้บริโภคกล้าใช้จ่ายหลักร้อยบนโซเชียลคอมเมิร์ซ ซื้อสินค้าไม่ตรงปก ไม่เจ็บตัวมากและไม่ซื้อซ้ำ ส่วนสินค้าราคาแพงจะเลือกใช้แพลตฟอร์ม “มาร์เก็ตเพลส” เพราะน่าเชื่อ ดังนั้น นักการตลาดไม่ควรมองข้ามในการสร้างยอดขายสินค้าผ่านช่องทางดังกล่าว

นอกจากนี้ การใช้จ่ายเงินซื้อความสะดวกผ่านเดลิเวอรี ยังตอบโจทย์กลุ่มเป้าหมาย รวมถึงร้านค้าที่อยู่ระยะใกล้ เพราะผู้บริโภคไม่ต้องการเสียเวลา เสียค่าน้ำมันเดินทางไกล ตัวอย่างห้างประจำถิ่นร้านแจ่มฟ้าฯ เชียงใหม่ คนชอบไปช้อปเพราะมีโปรโมชั่นพิเศษ สินค้าราคาถูก

“ที่น่าสนใจคือวันเลขเบิ้ลหรือแคมเปญดับเบิ้ลเดย์ ไม่สำคัญเท่าวันเงินเดือนออก ที่ผู้บริโภคแพลนไปซื้อสินค้าคราวเดียวมากๆ เพราะซื้อช่วงอื่นไม่ไหวจริงๆ” สะท้อนเม็ดเงินที่มีจำกัด

ขณะที่การเสพสื่อ สิ่งที่เปลี่ยนไป เช่น เฟซบุ๊กได้รับความนิยมน้อยลง โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ เพราะเห็นผู้ใหญ่เข้ามาใช้งานมากขึ้น “ติ๊กต๊อก”(TikTok) เป็นแพลตฟอร์มมาแรงมาก เพราะมีคอนเทนท์ดึงดูด ผู้บริโภคยังใช้เสพข่าว เห็นเทรนด์น่าสนใจ นำไปค้นหาข้อมูลต่อ อินสตาแกรม ผู้คนสนใจมากขึ้น

ที่น่าสนใจคือ เมื่อผู้บริโภคมี “เงินน้อยลง” จึงเลิกใช้บริการสมัครสมาชิกแพลตฟอร์มฟังเพลงออนไลน์ ยอมสมัครเพียง 1 แพลตฟอร์ม หรือฟังโฆษณา 5 วินาทีบน “ยูทูป” สะท้อนว่านาทีนี้ “ประหยัดรายจ่ายได้” ต้องทำ

“ผู้บริโภคชอบเสพคอนเทนท์วิดีโอสั้นๆ หากจะดูคอนเทนท์ยาวๆเนื้อหาต้องเชื่อมโยงแต่ละบุคคลมากๆ หรือสำหรับฉัน ถ้าไม่ใช่ ปัดผ่าน ซึ่งน่ากลัวกว่าการกดสคิพหรือข้าม”