‘ธนจิรา กรุ๊ป’ ตีโจทย์ ‘หาญ-เคท คิดสตัน’ เสริมแกร่งพอร์ต เร่งสยายปีก

‘ธนจิรา กรุ๊ป’ ตีโจทย์ ‘หาญ-เคท คิดสตัน’  เสริมแกร่งพอร์ต เร่งสยายปีก

อาณาจักรสินค้าไลฟ์สไตล์ย่อมๆอย่าง “ธนจิรากรุ๊ป” มีหลายแบรนด์อยู่ในพอร์ตโฟลิโอ ได้แก่ แพนดอร่า (Pandora) มารีเมกโกะ (Marimekko) แคท คิดสตัน (Cath Kidston) และ หาญ (HARNN) ซึ่งผู้บริโภครู้จักเป็นอย่างดี

ทว่า สิ่งที่ซ่อนอยู่ภายในธุรกิจ ยังมีโจทย์ให้ต้องแก้มากมาย โดยเฉพาะ 2 แบรนด์ อย่าง “หาญ” ที่บริษัททุ่มทุนกว่า 1,000 ล้านบาท ซื้อกิจการมาอยู่ในมือได้ 3 ปีแล้ว รวมถึง “เคท คิดสตัน” ที่จัดโปรโมชั่น “ลดราคา” บ่อยจนมีผลต่อการซื้อสินค้าของกลุ่มเป้าหมาย

ในการกำจัด “จุดอ่อน” บริษัททยอยทำควบคู่กันไป แต่ล่าสุด แม่ทัพใหญ่ ธนพงษ์ จิราพาณิชกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัท ธนจิรากรุ๊ป ขอลุกขึ้นมาพลิกภาพแบรนด์หาญ ต่อยอดกลุ่มธุรกิจหาญ เวลเนส แอนด์ ฮอสพิทาลิตี้ เพื่อสร้างการเติบโต สร้างพอร์ตโฟลิโอสินค้าให้แกร่ง เมื่อเข้าตลาดหลักทรัพย์เพื่อระดมทุนปลายปี 2565 หุ้นจะได้สวยเตะตานักลงทุน

ธนพงษ์ เล่าแนวทางการปรับกลยุทธ์ ภาพลักษณ์แบรนด์หาญ มีหลายมิติ เริ่มจากตัวสินค้าที่ผู้บริโภคมีภาพจำในการซื้อให้แก่กันเพื่อเป็นของกำนัล ของขวัญในช่วงเวลาพิเศษ นั่นอาจทำให้การซื้อสินค้าแต่ละครั้งมีขนาดบิลที่ใหญ่ไม่เกิน 3,000 บาท พร้อมจัดเซ็ทเต็มที่ 3-4 ชิ้น แต่ด้านความถี่ไม่มี ทำให้โอกาส “การซื้อซ้ำ” หลุดลอยไป

บริษัทจึงพัฒนาสินค้าเพื่อตอบสนองผู้บริโภคกลุ่มเป้าหมาย สำหรับใช้ในชีวิตประจำวันมากขึ้น เน้นนำเสนอหมวดผลิตภัณฑ์บำรุงผิวกาย ผลิตภัณฑ์ดูแลผิวพรรณ(สกินแคร์) สบู่ แชมพู โลชั่น ต่างๆ ต้องโดดเด่นขึ้น

ด้านร้านต้องมีทำเลยุทธศาสตร์ ที่ลูกค้ากลุ่มเป้าหมายเข้าถึงได้ โดยเฉพาะนาทีนี้คือการโฟกัสฐานลูกค้าคนไทยมากขึ้น หลังจากโควิด-19 ระบาด กวาดลูกค้าต่างชาติ นักท่องเที่ยวหายเกลี้ยง ซึ่งเดิมเป็นตลาดหลักสัดส่วนถึง 95% และจีน เป็นลูกค้ากลุ่มใหญ่ถึง 70% ทำให้ที่ผ่านมา ยอดขายของบริษัทได้รับผลกระทบอย่างยากจะหลีกเลี่ยง

“หาญ” เคยมีร้านถึง 30 สาขา ปัจจุบันปรับลดเหลือ 19 สาขา โดยทำเลที่ปิดไปล้วนไม่ตอบโจทย์ทางธุรกิจ เช่น สนามบิน ห้างค้าปลีกย่านหาดป่าตอง ฯ กลับกัน ได้ยึดย่านใจกลางธุรกิจ(ซีบีดี) เช่น เซ็นทรัลเวิลด์ เอ็มควอเทียร์ ในการเป็น “ฮับ” และมีร้านในเมืองท่องเที่ยวหลัก อย่างเชียงใหม่ พัทยา เป็นต้น

นอกจากนี้ บริษัทยังปรับโฉมร้านใหม่ ไม่เพียงเป็นสถานที่จำหน่ายสินค้า แต่ผสมผสานสปา เพื่อให้บริการแก่ลูกค้าด้วย ซึ่งเดิมเคยทดลองตลาดที่สาขาปิ่นเกล้าพื้นที่ 100 ตารางเมตร(ตร.ม.) แต่เจอ Pain point จึงปรับปรุงใหม่ พร้อมลงทุนกว่า 10 ล้านบาท เปิดร้าน HARNN ภายในมีสปาชื่อ SCape by HARNN พื้นที่ใหญ่ขึ้นเป็น 150 ตร.ม.

“เกณฑ์การเลือกทำเล ต้องสะท้อนระดับและจุดยืนของแบรนด์ได้ระดับหนึ่ง และการทำตลาดของหาญจากนี้ ต้องตอบโจทย์คนไทย 60% นักท่องเที่ยวเราต้อนรับอยู่แล้ว แต่ภายใน 3 ปีนี้ให้เวลาตัวเองโฟกัสไทยแลนด์”

แบรนด์ “หาญ” อยู่ในตลาดราว 13 ปี โดยปี 2561 เคยทำรายได้เกือบ 400 ล้านบาท ปัจจุบันมีรายได้ราว 200 ล้านบาท ภายในปี 2567 จะกลับไปเติบโตที่ 400 ล้านบาทอีกครั้ง จากยอดขายในประเทศ ส่งออกไป เช่น ผ่านแพลตฟอร์มทีมอลล์ โกลบอล เถาเป่าในจีน ซึ่งปีก่อนปิดยอดขายได้ถึง 30 ล้านบาท และสปา ที่ร่วมกับพันธมิตรเชนโรงแรมชั่นนำระดับโลกไม่ต่ำกว่า 15 แห่งทั่วโลก

ขณะที่ภาพใหญ่ของ “ธนจิรา กรุ๊ป” ต้องการเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ เพื่อระดมทุนนำเงินไปใช้ 3 ด้านหลัก ได้แก่ การชำระเงินในการซื้อกิจการหาญ และเคท คิดสตัน ใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนรวมถึงนำไปขยายธุรกิจในต่างประเทศ และการซื้อและควบรวมกิจการ(M&A) เพื่อผลักดันองค์กรให้เป็นอาณาจักรค้าปลีกไลฟ์สไตล์ ที่จะต่อจิ๊กซอว์สู่อาหารและเครื่องดื่มเติมพอร์ตโฟลิโอ ตอบสนองความต้องการของลูกค้า

สำหรับภาพรวมรายได้ปี 2565 ตั้งเป้าอยู่ที่ 1,150 ล้านบาท การเติบโต “ทรงตัว” จากปี 2564 โดยครึ่งปียอดขายเกินครึ่งทางแล้ว หวังครึ่งปีหลังปัจจัยบวกหนุนการเติบโตมากขึ้น เพราะเป็นไฮซีซั่นในการจับจ่ายใช้สอย เทศกาลต่างๆ โดยเป้าหมายสำคัญบริษัทต้องการทำรายได้กลับไปยืนระดับ 1,300 ล้านบาทในปี 2562 ด้านสัดส่วนรายได้ แพนดอร่า ทำเงินสูงสุด 52% ตามด้วยมารีเมกโกะ 25-26% ที่เหลือคือหาญ และเคท คิดสตัน

“เป้าหมายในอนาคตเราต้องการเป็นอาณาจักรค้าปลีกไลฟ์สไตล์ระดับภูมิภาค”