ส่องปฏิบัติการการบินสีเขียว! มุ่งลดคาร์บอน ฉบับ “ไทยแอร์เอเชีย”

ส่องปฏิบัติการการบินสีเขียว! มุ่งลดคาร์บอน ฉบับ “ไทยแอร์เอเชีย”

เมื่อการเปลี่ยนแปลง “สภาพภูมิอากาศ” ได้กลายเป็นวาระระดับโลก! “อุตสาหกรรมการบิน” จึงต้องมีส่วนร่วมในการรับผิดชอบอย่างยิ่ง เนื่องจากปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากภาคธุรกิจการบินนั้น นับเป็น 2.5% ของปริมาณก๊าซเรือนกระจกทั้งหมดที่ถูกปล่อยเข้าสู่ชั้นบรรยากาศโลก

จากผลกระทบดังกล่าว ทำให้บริษัท ไทยแอร์เอเชีย จำกัด ได้เห็นข้อเท็จจริงจากปรากฏการณ์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เกิดขึ้นในประเทศและทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นการเกิดอุทกภัย สภาพอากาศแปรปรวน และการขาดแคลนน้ำที่มีความรุนแรงเพิ่มขึ้น นอกจากนี้อุตสาหกรรมการบินยังต้องเผชิญหน้ากับมาตรฐานและการตรวจสอบในระดับที่สูงขึ้น เพื่อให้การดำเนินธุรกิจสายการบินส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด

รายงานข่าวจากฝ่ายสื่อสารองค์กร สายการบินไทยแอร์เอเชีย อ้างอิงตามรายงานประจำปีของ บริษัท เอเชีย เอวิเอชั่น จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของ บริษัท ไทยแอร์เอเชีย จำกัด ระบุว่า “ไทยแอร์เอเชีย” มีความมุ่งมั่นในการรับผิดชอบต่อสภาพภูมิอากาศ พร้อมทั้งสนับสนุนเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศไทย รวมถึงการเข้าร่วมโครงการ CORSIA ที่มีมาตรการในการควบคุมและชดเชยปริมาณการปล่อยก๊าซ CO2 สู่ชั้นบรรยากาศ

โดย ไทยแอร์เอเชีย มีเป้าหมายระยะยาวในการ "คงที่" ไว้ซึ่งปริมาณการปล่อยก๊าซ CO2 ออกสู่ชั้นบรรยากาศไม่ให้เกินกว่าเกณฑ์ค่าเฉลี่ยพื้นฐานที่ถูกกำหนดโดย “องค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ” (ICAO) ซึ่งใช้ปริมาณ CO2 จากปี 2562 เป็นปีฐาน ใช้กลยุทธ์เพื่อบริหารจัดการปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ภายใต้กรอบการดำเนินงานด้วยความปลอดภัยสูงสุด

“การจัดการด้านสิ่งแวดล้อม ยับยั้งการก่อมลพิษ และลดการปล่อยก๊าซ CO2 ที่เกิดจากการดำเนินธุรกิจ คือหนึ่งในหน้าที่ของคณะกรรมการกำกับดูแลความยั่งยืนของไทยแอร์เอเชีย ภายใต้การดำเนินงานของผู้อำนวยการแต่ละแผนกในการควบคุมการดำเนินงานโดยยึดหลักความยั่งยืนเป็นที่ตั้ง”

ด้าน “ประสิทธิภาพการใช้น้ำมันเชื้อเพลิง” ถือเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ ไทยแอร์เอเชีย สามารถ “ลดต้นทุนการบิน” ได้อย่างมีนัยสำคัญ จากการดำเนินโครงการลดและควบคุมปริมาณการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2561 และมีการเพิ่มโครงการใหม่เข้าไปในแผนงานตลอดระยะเวลา จนเกิดเป็น “แผนการปฏิบัติการบินสีเขียว” (Green Operating Procedure) ซึ่งได้ระบุขั้นตอนวิธีการปฏิบัติการบินสำหรับนักบินไว้โดยละเอียด เพื่อให้ได้ประสิทธิภาพสูงสุดในหลากหลายมิติ ไม่ว่าจะเป็นการลดอัตราการใช้เชื้อเพลิง การลดมลพิษทางเสียงต่อประชากรภาคพื้น โดยยังคงรักษามาตรฐานความปลอดภัยในการบินเป็นปัจจัยหลัก

จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 อย่างต่อเนื่องตลอดระยะเวลากว่า 2 ปีที่ผ่านมา ทำให้ปริมาณเที่ยวบินทั้งปีลดลงถึงครึ่งหนึ่งเมื่อเทียบกับสถานการณ์ปกติ ส่งผลให้ปริมาณการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงและการปล่อยก๊าซ CO2 ออกสู่ชั้นบรรยากาศของไทยแอร์เอเชียลดลงถึง 70%

อย่างไรก็ตาม ด้วยข้อจำกัดในการเดินทางข้ามประเทศ มาตรการการจำกัดจำนวนผู้โดยสารต่อเที่ยวบิน รวมถึงความไม่มั่นใจในการเดินทางของผู้โดยสารเนื่องจากโรคระบาด ส่งผลให้ค่า Carbon Intensity Ratio (gCO2/RPK) ของไทยแอร์เอเชีย มีค่าเพิ่มมากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญจากปี 2563 แม้ว่าจะพยายามเลือกการใช้งานเครื่องบินที่ใช้ปริมาณเชื้อเพลิงน้อยกว่าคือ A321neo แต่ยังไม่สามารถลดระดับ Carbon Intensity Ratio ได้ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้คือ 3 gCO2/RPK/ปี

“ทั้งนี้ ทางเราคาดการณ์ว่ามาตรการที่เป็นข้อจำกัดในการบินตามที่กล่าวมานั้นจะมีแนวโน้มลดลง เนื่องจากโรคโควิด-19 ลดความรุนแรงลงจนกลายเป็นโรคประจำถิ่น ส่งผลให้หลายประเทศในภูมิภาคเริ่มผ่อนคลายมาตรการการเดินทาง”

สำหรับการดำเนินงานวิธีปฏิบัติการบินสีเขียวเพื่อลดผลกระทบสิ่งแวดล้อม ไทยแอร์เอเชียยังคงเดินหน้าลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกออกสู่ชั้นบรรยากาศด้วยวิธีปฏิบัติการบินสีเขียวในทุกมิติให้ได้ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ ต่อเนื่องจากปี 2562 จนถึงปัจจุบัน

"ในปี 2564 ไทยแอร์เอเชียสามารถลดปริมาณก๊าซ CO2 ที่ถูกลดลงจากการถูกปล่อยสู่ชั้นบรรยากาศ จะเท่ากับ 3,838 ตัน โดยประมาณ และสามารถเทียบเท่ากับการปลูกต้นโกงกางใบใหญ่ ทั้งหมด 66,172 ต้น"

ส่องปฏิบัติการการบินสีเขียว! มุ่งลดคาร์บอน ฉบับ “ไทยแอร์เอเชีย”

ด้านแผนแม่บทการอนุรักษ์พลังงานและลดก๊าซเรือนกระจกจากภาคการบิน การปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากอากาศยานจากการปฏิบัติการบิน เป็นหนึ่งในตัวชี้วัดหลักที่ใช้ประเมินประสิทธิภาพและความยั่งยืนของการเดินอากาศ ในการติดตามผลการดำเนินงานดังกล่าวผ่านการรายงานผลการดำเนินงานต่างๆ ไทยแอร์เอเชียได้เข้าร่วมการหารือกับ ICAO เพื่อจัดทำแผนปฏิบัติการลดก๊าซเรือนกระจกภาคการบินระหว่างประเทศ State Action Plan” (SAP) โดยมีเป้าหมายเพื่อควบคุมการปล่อยก๊าซเรือนกระจกภาคการบินระหว่างประเทศให้คงที่ตั้งแต่ปี 2563 (Carbon Neutral Growth) และการปรับปรุงประสิทธิภาพการใช้น้ำมันอากาศยานในอัตรา 2% ต่อปี (2 Percent Annual Fuel Efficiency Improvement Through 2050)

ทั้งนี้ สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) ได้มีมาตรการเชิงนโยบายและเชิงปฏิบัติการ เพื่อสนับสนุนแผนแม่บทการอนุรักษ์พลังงานและลดก๊าซเรือนกระจกจากภาคการบิน ดังนี้ 1.สร้างการมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์พลังงานและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกภาคการบินให้แก่ผู้มีส่วนได้เสียในอุตสาหกรรมการบิน 2.ร่วมสนับสนุนเพื่อให้เกิดการใช้น้ำมันอากาศยานทดแทน (Sustainable Aviation Fuels : SAF) ในประเทศไทย และ 3.ร่วมสนับสนุนระบบคาร์บอนเครดิตภายในประเทศเพื่อเป็นทางเลือกในการชดเชย การซื้อขาย หรือแลกเปลี่ยน เพื่อรองรับการชดเชยของสายการบินภายใต้โครงการ CORSIA

หนึ่งในวิธีการสำคัญที่จะช่วยให้สายการบินลดการปล่อย CO2 คือการใช้ “น้ำมันอากาศยานทดแทน” (SAF) ซึ่งสามารถลดการปล่อย CO2 ได้มากถึง 80% ตลอดวัฏจักรชีวิตของเชื้อเพลิงเมื่อเทียบกับน้ำมันเจ็ทแบบดั้งเดิม นอกจากนี้ ICAO ออกมาสนับสนุนให้มีการทดแทนเชื้อเพลิงอากาศยานหรือน้ำมันเจ็ทที่ผลิตจากฟอสซิลด้วยการใช้ SAF ในสัดส่วนที่เหมาะสมภายในปี 2593

“ไทยแอร์เอเชียได้ทำการศึกษาและประเมินถึงความเป็นไปได้ในการใช้ SAF และในส่วนของผู้ผลิตเครื่องบินตระกูล Airbus ได้รับรองว่าเครื่องบินและเครื่องยนต์นั้นสามารถใช้ SAF ในอัตราส่วนผสม 50% กับเชื้อเพลิงอากาศยานแบบน้ำมันเจ็ททั่วไปได้ ปัจจุบันความท้าทายหลักของการใช้ SAF คือราคาที่สูงกว่าน้ำมันเจ็ทกว่า 5-7 เท่าของราคาเชื้อเพลิงแบบปกติ และยังไม่มีบริการในประเทศไทยหรืออาเซียน ทั้งนี้บริษัทฯคาดการณ์ว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงในปี 2565 เป็นต้นไป”

ขณะเดียวกัน ไทยแอร์เอเชียมีเป้าหมายในการหานวัตกรรมและวิธีการปฏิบัติการบิน “รูปแบบใหม่” เข้ามาใช้งานในฝูงบิน เพื่อช่วยลดปริมาณการใช้น้ำมันต่อชั่วโมงบิน รวมถึงตั้งเป้าหมายในการควบคุมและลดปริมาณการปล่อย CO2 ไม่ให้เกินจากค่าตั้งต้นจากข้อมูลของปี 2562 เป็นพื้นฐาน ซึ่งสอดคล้องกับข้อกำหนดของ ICAO ในโครงการ CORSIA