ผู้บริโภครัดเข็มขัด รัฐไร้เงินอัดฉีดสู่ระบบ สินค้าจำเป็นฝืดแรงกว่าปี 64

ผู้บริโภครัดเข็มขัด รัฐไร้เงินอัดฉีดสู่ระบบ สินค้าจำเป็นฝืดแรงกว่าปี 64

ตลาดสินค้าอุปโภคบริโภคมูลค่ามหาศาล อยู่ในภาวะค้าขายฝืดเคือง เหตุกำลังซื้อผู้บริโภคอ่อนตัว เงินหายจากระบบเศรษฐกิจ โดยเฉพาะมาตรการปลุกใช้จ่ายจากภาครัฐ

ตุลย์ วงศ์ศุภสวัสดิ์ ผู้จัดการใหญ่ ธุรกิจสินค้าอุปโภคบริโภค บริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ บีเจซี คือ หนึ่งในยักษ์ใหญ่สินค้าจำเป็นมีทั้งของกินของใช้แบรนด์ดัง เช่น สบู่นกแก้ว แพรอท กระดาษทิชชู เซลล็อกซ์ ซิลค์ ฯลฯ  ขนมขบเคี้ยวเทสโต ฯลฯ ฉายภาพการจับจ่ายใช้สอยของผู้บริโภคนั้นมีการชะงักไปบ้างจากสถานการณ์ต้นทุนวัตถุดิบพุ่ง ส่งผลกระทบให้สินค้าราคาแพงขึ้น

ทั้งนี้ บริษัทซึ่งมีผลิตภัณฑ์ที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตประจำวัน เผชิญต้นทุนที่เพิ่มขึ้น ทำให้ช่วงครึ่งปีแรก สินค้าบางรายการปรับราคาแล้วราว 5% รวมถึงการปรับปริมาตรสินค้า  เช่น สบู่ เนื่องจากวัตถุดิบปาล์มราคาสูงมาก หากเทียบ 2-3 ปีที่ผ่านมา ปรับขึ้นกว่า 2 เท่าตัว

แนวโน้มการจับจ่ายใช้สอยสินค้าจำเป็นครึ่งปีหลัง คาดว่าจะมีทิศทางที่ดีขึ้นจากหลายปัจจัย เช่น การเปิดประเทศ เอื้อให้การท่องเที่ยวฟื้นตัว ซึ่งเป็นผลดีต่อสินค้าบางหมวดของบริษัทอย่างกระดาษทิชชู่  นอกจากนี้ ราคาน้ำมันยังเริ่มอ่อนตัวเมื่อเทียบกับก่อนหน้านี้ที่พุ่งขึ้นแรง รวมถึงปลายปีเป็นช่วงที่องค์กรธุรกิจเริ่มพิจารณาให้โบนัสแก่พนักงาน เพิ่มอำนาจซื้อได้

ท่ามกลางสถานการณ์เปราะบาง แนวทางการทำตลาดสินค้าอุปโภคบริโภควางกลยุทธ์แตกต่างกันตามหมวดสินค้า โดยกลุ่มสบู่แพรอท ขนมขบเคี้ยวโดโซะ มันฝรั่งทอดกรอบเทสโต จะโฆษณาประชาสัมพันธ์สร้างแบรนด์ กระตุ้นยอดขายในวงกว้างหรือแมส ส่วนสินค้ากระดาษทิชชู เน้นกิจกรรมส่งเสริมการขายมากกว่าโฆษณา

"เวลาที่ผู้บริโภคเจอราคาสินค้าเพิ่ม จะส่งผลกระทบต่อกำลังซื้อ การใช้จ่ายชะงักในช่วงสั้นๆ 2-3 เดือน แต่หลังจากนั้นจะเริ่มปรับตัวได้ เมื่อกำลังซื้ออ่อนตัวสิ่งที่เห็นในตลาดคือ พฤติกรรมผู้บริโภคปรับตัว โดยซื้อสินค้าแพ็คใหญ่ เนื่องจากราคาขายต่อหน่วยต่ำลง”

ผู้บริโภครัดเข็มขัด รัฐไร้เงินอัดฉีดสู่ระบบ สินค้าจำเป็นฝืดแรงกว่าปี 64

ด้าน สุวรรณา โชคดีอนันต์ กรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท มุ่งพัฒนา อินเตอร์แนชชั่นแนล จำกัด (มหาชน) ที่นอกจากมีสินค้าแม่ และเด็ก แบรนด์พีเจ้น ยังสินค้าจำเป็นอื่นๆ ทั้งของใช้จำเป็นวีแคร์ นมอัดเม็ดมิลค์มี เครื่องดื่มสมุนไพร เบา กระบอกฉีดน้ำฟ๊อกกี้ ฯลฯ และยังเป็นตำแทนจำหน่ายสินค้า เช่น นงผงก้อน “เมจิ อีซี่คิวบ์” เล่าถึงสถานการณ์กำลังซื้อของผู้บริโภคปี 2565 ค่อนข้างแย่กว่าปีก่อน ร้านค้าทั่วไปหรือจีที(General trade)เงียบเหงาอย่างมาก เนื่องจากตัวแปรสำคัญคือ รัฐยุติมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆ ที่เคยอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบ โดยเฉพาะโครงการคนละครึ่ง

ขณะเดียวกัน โครงการคนละครึ่งเฟส 5 จะเริ่มใช้ในเดือนกันยายน นี้ แต่เม็ดเงินที่ให้น้อยลงเหลือ 800 ต่อคน จากเดิมที่เคยให้ทั้ง 1,500 บาท และ 3,000 บาท จึงทำให้กำลังซื้อไม่กลับมาเท่าเดิม

“กำลังซื้อดาวน์ไปหมดเลย ครึ่งปีแรกร้านค้าทั่วไปเงียบมาก เพราะเมื่อก่อนมีเงินอัดฉีดจากภาครัฐทำให้ร้านค้าต่างๆ ได้อานิสงส์ ตอนนี้ทั้งภาวะเงินเฟ้อสูง รัฐไม่อัดฉีดเงินแล้ว หรือต่อให้มีโครงการคนละครึ่งเฟส 5 แต่เงินน้อยลง ตลาดก็ยังคงซบเซา”

ผู้บริโภครัดเข็มขัด รัฐไร้เงินอัดฉีดสู่ระบบ สินค้าจำเป็นฝืดแรงกว่าปี 64 นอกจากสินค้าจำเป็นที่ผู้บริโภคชะลอใช้จ่าย ยังเห็นพฤติกรรมพ่อ แม่ เปลี่ยนการซื้อของให้บุตรหลานหรือเด็กโตในราคาต่ำลง หรือสินค้าระดับกลาง จากเดิมเป็นสินค้าพรีเมียม ราคาสูงเท่าไร ยินดีจ่าย

“ตลาดสินค้าแม่และเด็กไม่เคยได้รับผลกระทบเลยแต่กลายเป็นว่าปีนี้ต้องประหยัดเงินในการซื้อของให้ลูก มีการคิดรอบคอบ บางอย่างรอ ยังไม่ซื้อ เน้นเทเงินให้สินค้าจำเป็นก่อน”

สำหรับภาพรวมบริษัทปีนี้ ยังมองการเติบโตปกติหรือออร์แกนิกที่ 6-7% จากหมวดอาหาร เครื่องดื่ม ของใช้ส่วนบุคคล และสินค้าตอบโจทย์ผู้สูงวัย ทั้งนี้ หากมีโอกาสขายธุรกิจใหม่มองการเติบโต 10-12%

“เรามีกระแสเงินสด และมองหาโอกาสลงทุนเพิ่มขยายธุรกิจใหม่ ส่วนธุรกิจตัวแทนจำหน่ายยังเพิ่มสินค้าใหม่เข้าพอร์ตโฟลิโออีก 2-3 รายการ จากปีนี้มีน้ำแร่วอสส์ จากนอร์เวย์ ผลิตภัณฑ์จากชานอ้อยซีล และเมจิ อีซี่คิวบ์”

ผู้บริโภครัดเข็มขัด รัฐไร้เงินอัดฉีดสู่ระบบ สินค้าจำเป็นฝืดแรงกว่าปี 64 มิลินทร์ วีระรัตนโรจน์ ประธาน กรรมการผู้จัดการ บริษัท ตั้งงี่สุน ซูเปอร์โสตร์ จำกัด ผู้ดำเนินธุรกิจค้าส่ง-ค้าปลีก ผู้เล่นรายใหญ่จังหวัดอุดรธานี กล่าวว่า กำลังซื้อในต่างจังหวัดชะลอตัวตั้งแต่ต้นปีจนถึงขณะนี้ ปัจจัยหลักคือ รัฐยกเลิกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ทำให้เงินหายจากระบบ รวมถึงราคาสินค้าแพง ทำให้กระทบอำนาจซื้อของลูกค้า ที่ส่วนหนึ่งตกงาน ขาดรายได้ หรือรายได้ลดลง

ทั้งนี้ กำลังซื้อที่หดตัว ทำให้บริษัทไม่ตั้งเป้าหมายยอดขายโต เนื่องจากห้างค้าส่ง-ค้าปลีก ต้องรับเป้าจากผู้ผลิตยักษ์ใหญ่ต่างๆ อีกทอดหนึ่ง ขณะที่ปี 2564 บริษัทปิดยอดขายกว่า 4,200 ล้านบาท

“สถานการณ์กำลังซื้อชะลอตัว ทำให้การค้าขายไม่สนุก อีกทั้งผู้ผลิตยังเร่งการเก็บค่าสินค้าเต็มเม็ดเต็มหน่วย จากเมื่อก่อนยอดขาย 100 บาท ขายได้ 60 บาท เก็บไม่หมด 60 บาท มาเก็บภายหลังได้ ซึ่งเข้าใจต้องการรักษาสภาพคล่อง แต่ร้านค้าเจอแบบนี้ก็เป็นปัญหาเช่นกัน จึงต้องปรับตัวพิจารณาเน้นขายสินค้าขายดี 20 ตัว แต่ทำเงิน 80% ดีกว่าขายจำนวนมาก เพราะมีผลต่อการสต็อกสินค้า”

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์