'5 บิ๊ก' บะหมี่ฯ แจงขาดทุนแล้ว ขอรัฐไฟเขียวขึ้นราคาสินค้า 8 บาทต่อซอง

'5 บิ๊ก' บะหมี่ฯ แจงขาดทุนแล้ว ขอรัฐไฟเขียวขึ้นราคาสินค้า 8 บาทต่อซอง

ผู้ผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป กระอักถ้วนหน้า หลังต้นทุนผลิตพุ่งแรง บางเดือนผลการดำเนินงานแดงแจ๋ แบก “ขาดทุน” วอนรัฐ ไฟเขียวปรับขึ้นราคาได้แล้ว

วีระ นภาพฤกษ์ชาติ กรรมการผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัท โรงงานผลิตภัณฑ์อาหารไทย จำกัด ผู้ผลิต ‘ไวไว’ เปิดใจถึงสถานการณ์ต้นทุนการผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปพุ่งขึ้นสูงมาก ทำให้บางเดือน ผลประกอบการ "สินค้าบางรายการ"(เอสเคยู) ของบริษัทอยู่ในโซนแดง หรือ “ขาดทุน”

ทั้งนี้ กว่า 14 ปี ที่บะหมี่ฯ ไม่ได้ปรับขึ้นราคา เนื่องจากเป็นสินค้าจำเป็นต่อการดำรงชีวิตของผู้บริโภค ทำให้มีการตรึงราคามาโดยตลอด ทั้งที่ต้นทุนต่างๆ เงินเฟ้อ ปรับตัวสูงขึ้นมาก โดยที่ผ่านมา การบริหารจัดการต้นทุนเพื่ออยู่รอด บริษัทมีการลดการจัดโปรโมชั่นต่างๆ ตัดส่วนลดให้ร้านค้า แต่ 1 ปีที่ผ่านมา ยังเจอน้ำมันแพง กระทบการขนส่ง ซึ่งบริษัททำหน้าที่กระจายสินค้าเอง

ต้นทุนวัตถุดิบ เป็นเด้งแรกที่กระทบต้นทุน มาเจอราคาน้ำมันเป็นเด้งที่ 2 อนาคต อาจเจอเด้งที่ 3 คือ ต้นทุนค่าแรงเพิ่ม สถานการณ์ดังกล่าวทำให้เราขาดทุน จึงทำเรื่องขอกรมการค้าภายใน เพื่ออนุมัติให้ขึ้นราคาสินค้า”

\'5 บิ๊ก\' บะหมี่ฯ แจงขาดทุนแล้ว ขอรัฐไฟเขียวขึ้นราคาสินค้า 8 บาทต่อซอง กิตติพศ ชาญภาวรกิจ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท วันไทย อุตสาหกรรม จำกัด ผู้ผลิต ‘ยำยำ’ กล่าวว่า วัตถุดิบหลักทั้งแป้งสาลี ปาล์น้ำมัน พุ่งสูงขึ้นมากตั้งแต่เกิดวิกฤติโควิด-19 ระบาด เรียกว่ากราฟพุ่งขึ้นทุกปี ล่าสุดขยับเพิ่มราว 40% กระทบต้นทุนการผลิตหนักมาก ทำให้บริษัทวอนขอให้กรมการค้าภายใน พิจารณาอนุมัติขึ้นราคาสินค้าด้วยเพื่อช่วยผู้ผลิต

สำหรับสินค้าในต่างประเทศ มีการปรับราคาแล้วคิดเป็นเปอร์เซ็นต์ในอัตรา 2 หลัก ทำให้ราคาขายสูงกว่าไทยราว 2 เท่า

ฮิจิริ ฟูกุโอกะ กรรมการผู้จัดการ บริษัท นิชชิน ฟูดส์ (ไทยแลนด์) จำกัด ผู้ผลิต ‘นิชชิน’ กล่าวว่า บริษัทเผชิญวิกฤติต้นทุนเหมือนกับผู้ผลิตบะหมี่ฯทุกราย แต่นิชชิน มีสินค้าทำตลาดในหลายประเทศ เช่น ญี่ปุ่น จีน สหรัฐ อินเดีย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย เวียดนามฯ จากภาวะต้นทุนที่พุ่ง ทำให้บริษัทมีการปรับราคาสินค้าในบางประเทศ เช่น ญี่ปุ่น ขึ้นเมื่อเดือ มิถุนายนขึ้นราว 5-12%

“บริษัทคิดว่า การขยับราคาให้อยู่ในภาวะที่เหมาะสม เพื่อให้ผู้ผลิตมีกำไรสมเหตุสมผล เพื่อผลิตสินค้าส่งมอบถึงผู้บริโภคในตลาดอย่างต่อเนื่อง”

พันธ์ พะเนียงเวทย์ ผู้จัดการสำนักอำนวยการ บริษัท ไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์ จำกัด(มหาชน) ผู้ผลิต ‘มาม่า’ กล่าวว่า ภาวะต้นทุนพุ่งสูง กระทบการผลิตบะหมี่ฯ ทำให้เป็นครั้งแรกในรอบ 50 ปี ผู้ผลิตไม่เคยมานั่งบนเวทีเดียวกัน แต่ครั้งนี้ เพราะทุกรายไม่ไหวแล้วจริงๆ

ทั้งนี้ กระแสข่าวการขึ้นราคามีมาโดยตลอด แต่ผู้ผลิตทุกรายไม่สามารถขึ้นได้ หากขึ้นถือว่าผิดกฏหมาย เพราะบะหมี่ฯ เป็นสินค้าจำเป็นและถูกควบคุมเข้มงวด จะขยับขึ้นราคาต้องได้รับอนุมัติจากภาครัฐเท่านั้น

ปริญญา สิทธิดำรง กรรมการ บริษัท โชคชัยพิบูล จำกัด ผู้ผลิต ‘ซื่อสัตย์’ กล่าวว่า ภาวะต้นทุนการผลิตสินค้าถือว่าชนเพดาแล้วจริงๆ ทำให้บริษัทดำเนินการขอขึ้นราคาสินค้า ขณะที่ผ่านมา บริษัทไม่ได้ขาดทุนกำไรเท่านั้น แต่เป็นการเผชิญภาวะ “ขาดทุน” จริงๆ ติดตัวแดง เพราะในประเทศบริษัทขายค่อนข้างมาก ตัวสินค้า 6 บาท มีสัดส่วนราว 70%

“อยากให้กรมการค้าภายในพิจารณาเรื่องราคากับเราด้วย เพื่อให้ธุรกิจเดินหน้าได้”