3 สิ่งจำเป็นเสริมแกร่งคุ้มครองโรคร้ายของประกัน CI ยุคใหม่

3 สิ่งจำเป็นเสริมแกร่งคุ้มครองโรคร้ายของประกัน CI ยุคใหม่

"โรคร้ายแรง" ที่มีความซับซ้อนและความรุนแรงถึงชีวิตมากขึ้น ส่งผลให้ค่าใช้จ่ายทางการแพทย์มีราคาสูงขึ้นตามไปด้วย การใช้ประกัน CI ที่มี 3 จุดเด่นสำคัญ ที่ถูกพัฒนาขึ้นมาใหม่จากบริษัทประกันภัยเพื่อตอบโจทย์ Pain point ของคนในยุคปัจจุบัน

ในยุคที่เงินเฟ้อค่ารักษาพยาบาลเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง การทำประกันสุขภาพจะช่วยจำกัดค่ารักษาพยาบาลก้อนใหญ่ที่อาจเกิดขึ้นโดยไม่คาดฝันจากการเจ็บป่วยได้ อย่างไรก็ตาม โรคร้ายแรง (Critical Illness: CI) ที่รุนแรงถึงชีวิต มีความซับซ้อนในการรักษาและใช้เวลาในการรักษาอย่างต่อเนื่อง เช่น โรคมะเร็ง, โรคระบบหลอดเลือด, โรคระบบประสาทและสมอง

การทำประกันสุขภาพโดยไม่ศึกษาเงื่อนไขความคุ้มครองให้ละเอียด อาจเกิดข้อจำกัดบางอย่างในการรักษา หรือไม่สามารถเบิกสินไหมได้ทั้งหมด ซึ่งสามารถแก้ไขปัญหาได้ด้วยประกันโรคร้ายแรง หรือ ประกัน CI เพิ่มเติมได้ อย่างไรก็ดี ด้วยความจำเป็นของประกัน CI ที่มากขึ้นทำให้บริษัทประกันเริ่มพัฒนาผลิตภัณฑ์มาต่อเนื่องจนได้ “3 สิ่งจำเป็น” เพื่อสอดคล้องกับแนวทางการรักษาโรคร้ายแรงและช่วยให้บริหารจัดการค่าใช้จ่ายได้ดียิ่งขึ้น 

สิ่งจำเป็นแรก คือ ประกัน CI รับเป็นเงินก้อนทันทีเมื่อตรวจพบโรคร้าย สามารถบริหารจัดการค่าใช้จ่ายได้ยืดหยุ่นเพิ่มเติมจากประกันสุขภาพที่คุ้มครองค่าใช้จ่ายในรักษาเป็นผู้ป่วยในของโรงพยาบาลเท่านั้น แต่อาจไม่คุ้มครองค่าใช้จ่ายอื่นๆ ระหว่างการรักษานอกโรงพยาบาลทั้งหมดหากไม่มีระบุเพิ่มเติมในกรมธรรม์ เช่น การผ่าตัดมะเร็งเต้านม ที่ประกันสุขภาพมักจะคุ้มครองอยู่แล้ว แต่หากมีการรักษาต่อเนื่องโดยใช้นวัตกรรมใหม่ เช่น การใช้ยารักษาแบบมุ่งเป้า (Targeted Therapy) ที่มีค่าใช้จ่ายสูงไปจนถึง 2 ล้านบาท ประกันสุขภาพบางแบบอาจไม่คุ้มครอง แต่ประกัน CI ที่รับเป็นเงินก้อนเมื่อตรวจเจอโรคร้ายจะเป็นตัวช่วยด้านค่าใช้จ่ายในการรักษา รวมทั้งการเพิ่มคุณภาพชีวิตระหว่างระยะพักฟื้นหรือการรักษาอื่น ที่อยู่นอกเหนือความคุ้มครองของกรมธรรม์ประกันสุขภาพที่ระบุไว้ได้ทันที

ประการที่สอง คือ “เจอ จ่าย แต่ไม่จบ” เมื่อตรวจพบโรคร้ายในแต่ละกลุ่มโรคหรือระยะของโรคที่ต่างกัน โดยในอดีตเมื่อตรวจเจอโรคร้ายไม่ว่าระยะไหนก็ตาม ประกัน CI อาจจ่ายเงินก้อนครั้งเดียวแล้วจบสัญญา แต่เนื่องจากโรคร้ายแรงในปัจจุบันมีหลายโรคหลายระยะ และยังมีโอกาสเกิดขึ้นภายในคนเดียวกันได้ เช่น โรคมะเร็ง, โรคหลอดเลือดหัวใจ, โรคทางระบบประสาทและสมอง

ดังนั้น ในแบบประกัน CI ยุคใหม่จะจ่ายเงินก้อนหลายครั้งตามระยะที่ตรวจพบ และยังจ่ายให้เพิ่มเติมหากตรวจพบเพิ่มอีกกลุ่มโรค เช่น หากทุนประกัน 1 ล้านบาท เมื่อผู้ซื้อประกันตรวจพบว่าเป็นมะเร็งระยะไม่ลุกลาม จะได้เงินก้อน 30% ของทุนประกัน ต่อมามะเร็งกลายเป็นระยะลุกลามและตรวจพบเพิ่มว่าเป็นหลอดเลือดสมองแตกที่ไม่เกี่ยวข้องกับมะเร็งร่วมด้วย

ผู้ซื้อประกันจะได้เงินก้อนเพิ่มเติมอีก 70% ที่เหลือจากความคุ้มครองกลุ่มโรคมะเร็ง และโรคหลอดเลือดอีก 100% ของทุนประกันหรือรวม 2 ล้านบาท เพื่อที่ผู้ซื้อประกันจะมีเงินก้อนเพื่อรักษาตัวเองมากขึ้นเมื่อเจ็บป่วยเป็นโรคร้ายแรงมากกว่า 1 โรคในช่วงชีวิตของผู้ป่วยซึ่งมีโอกาสเกิดขึ้นได้

ประการที่สาม ไม่มีระยะเวลารอคอยระหว่างกลุ่มโรค (No-claim period) เมื่อมีการเจ็บป่วยโรคร้ายแรงต่อเนื่อง เช่น หากแพทย์ตรวจพบว่าเป็นโรคมะเร็งและ 6 เดือนต่อมาตรวจพบว่าเป็นโรคกล้ามเนื้อหัวใจด้วย แม้แพทย์อาจวินิจฉัยว่าไม่มีความเกี่ยวเนื่องกับโรคมะเร็งที่เป็นอยู่ ประกัน CI บางแบบอาจจ่ายเงินก้อนให้เพียงแค่โรคมะเร็ง ไม่รวมโรคกล้ามเนื้อหัวใจ เพราะยังอยู่ในระยะเวลารอคอยระหว่างกลุ่มโรค No-claim period ที่แบบประกันกำหนดไว้ เช่น สามารถเคลมกลุ่มโรคอื่นได้ต่อเมื่อครบ 1 ปีจากวันที่ตรวจพบกลุ่มโรคแรก

แต่ในปัจจุบันพัฒนาการของประกัน CI หากผู้ป่วยที่ได้รับการวินิจฉัยเป็นโรคร้ายแรงต่างกลุ่มโรคกันอาจได้รับความคุ้มครองได้ต่อเนื่องทันทีเมื่อตรวจพบ ซึ่งจะทำให้ผู้เอาประกันมีความคุ้มครองสำหรับรูปแบบความคุ้มครอง เจอ จ่าย แต่ไม่จบ อย่างแท้จริง

ด้วยโรคร้ายแรงที่มีความซับซ้อนและความรุนแรงถึงชีวิตมากขึ้น ส่งผลให้ค่าใช้จ่ายทางการแพทย์มีราคาสูงขึ้นตามไปด้วย การใช้ประกัน CI ที่มี 3 จุดเด่นสำคัญ ที่ถูกพัฒนาขึ้นมาใหม่จากบริษัทประกันภัยเพื่อตอบโจทย์ Pain point ของคนในยุคปัจจุบัน ทั้งสามารถลดความเสี่ยงจากค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพที่จะบานปลายขึ้นหลังการรักษาตัวในโรงพยาบาล และเพื่อช่วยเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงเทคโนโลยีการรักษา ทั้งยังช่วยสร้างกำลังใจระหว่างการรักษาของตนเองและสมาชิกในครอบครัว เพราะไม่ต้องกังวลเรื่องการเงินซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้สถาบันครอบครัวมีความมั่นคงสามารถมีแรงและกำลังใจต่อสู้โรคร้ายไปด้วยกันอีกด้วย

หากท่านใดมีข้อข้องใจเกี่ยวกับการวางแผนการเงินของตนเอง สามารถส่งคำถามของท่านมาได้ที่ [email protected] I บทความโดย ศิวกร ทองหล่อ CFP® Wealth Manager