แพงไม่ใช่ปัญหา เมื่อรองเท้า ‘Super Shoes’ กลายเป็นของต้องมีของนักวิ่ง

แพงไม่ใช่ปัญหา เมื่อรองเท้า ‘Super Shoes’ กลายเป็นของต้องมีของนักวิ่ง

ศักราชใหม่ แพงไม่ใช่ปัญหา เมื่อรองเท้า ‘Super Shoes’ กลายเป็นของต้องมีของนักวิ่ง

Key Points:

  • สำหรับรองเท้า Nike Alphafly 3 จัดเป็นรองเท้าในกลุ่ม ‘Super Shoes’ หรือเรียกง่ายๆคือ ‘รองเท้าเทพ’  เพราะเป็นรองเท้าที่ถูกออกแบบและสร้างขึ้นมาด้วยเทคโนโลยีที่ดีที่สุด ซึ่งความเทพของรองเท้านี้ทำให้แฟนๆนักวิ่งต่างต้องการจะได้มาเป็นเจ้าของสักคู่
  • ปัญหาสำหรับนักวิ่งทั่วโลกที่ต้องการจะได้ Alphafly 3 มาไว้ครอบครองคือรองเท้าไม่มีขาย เพราะไม่ว่าจะเป็นหน้าร้านของ Nike หรือตัวแทนจำหน่าย ไปจนถึงเว็บไซต์อย่างเป็นทางการ nike.com เองก็ไม่มีสินค้าวางจำหน่าย เพราะมันได้ถูกขายออกไปจนหมดเกลี้ยงอย่างรวดเร็ว
  • ในประเทศไทยจากการสำรวจพบว่าสนนราคาไม่ได้สูงขนาดนั้น โดยจากราคาป้าย 9,400 บาท (ซึ่งก็แพงมากแล้ว) สามารถหาซื้อได้ตั้งแต่ราคา 10,000-12,000 บาท โดยขึ้นอยู่กับไซส์ด้วยว่าเป็นไซส์มหาชนหรือไม่
  • ตลาดรองเท้าวิ่งของไทยเป็นหนึ่งในตลาดที่น่าสนใจ โดยเฉพาะในช่วงหลายปีที่ผ่านมาที่มีกระแสการรักสุขภาพ ทำให้ผู้คนนิยมออกกำลังกายด้วยการวิ่ง เทรนด์ที่มาแรงในช่วงปีที่แล้วคือรองเท้าวิ่งในแบรนด์ทางเลือก

เปิดศักราชใหม่ในปี 2024 มาไม่มีรองเท้าวิ่งรุ่นใดที่จะร้อนแรงไปกว่า ‘Nike Alphafly 3’ นวัตกรรมสำหรับคนรักสุขภาพล่าสุดจากบริษัทยักษ์ใหญ่ของสหรัฐอเมริกา ที่ได้รับความสนใจจากคนรักนักวิ่งทั่วโลก

ความร้อนแรงที่ว่านั้นถึงขั้นที่รองเท้าถูกจำหน่ายหมดในระยะเวลาอันรวดเร็ว เช่น ในสหราชอาณาจักรมีรายงานว่า Alphafly 3 ขายหมดภายในเวลาเพียงแค่ 2 นาทีเท่านั้น ทั้งๆที่รองเท้ารุ่นนี้มีสนนราคาที่สูงถึง 284.99 ปอนด์ หรือในไทย Nike ประเทศไทยจำหน่ายที่ 9,400 บาท (ซึ่งก็หมดเกลี้ยงอย่างรวดเร็วเช่นกัน)

แพงไม่ใช่ปัญหา เมื่อรองเท้า ‘Super Shoes’ กลายเป็นของต้องมีของนักวิ่ง

และรองเท้าวิ่งรุ่นนี้เป็นรองเท้าที่มีความทนทานต่ำ เนื่องจากถูกสร้างมาเพื่อให้มีความเบาที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ด้วยเทคโนโลยีระดับสูง ไม่เหมาะสำหรับการใช้วิ่งในชีวิตประจำวันหรือวิ่งซ้อม แต่เหมาะสำหรับการวิ่งแข่งอย่างจริงจังที่อาจจะอยู่ได้เพียงแค่รายการเดียวหรือมากกว่านั้นเล็กน้อยเท่านั้น

แล้วทำไมคนถึงยังเต็มใจที่จะไขว่คว้าหารองเท้ารุ่นนี้มาครอบครอง?

  • เพราะนี่คือรองเท้าเทพ!

สำหรับรองเท้า Nike Alphafly 3 จัดเป็นรองเท้าในกลุ่ม ‘Super Shoes’ หรือเรียกง่ายๆคือ ‘รองเท้าเทพ’

เทพเพราะเป็นรองเท้าที่ถูกออกแบบและสร้างขึ้นมาด้วยเทคโนโลยีที่ดีที่สุด ไม่ว่าจะเป็นในส่วนของหน้าผ้าที่เบาและบางง่ายต่อการสวมใส่ ไปจนถึงหัวใจของรองเท้าอย่างพื้นโฟมที่มีความหนาช่วยสะท้อนพลังกลับมาให้แก่นักวิ่งในทุกก้าวที่ลงในสนาม

อีกหนึ่งสิ่งที่สำคัญคือ ‘Carbon-fibre plate’ หรือแผ่นคาร์บอนที่แทรกอยู่ในชั้นของพื้นรองเท้าที่ทำหน้าที่ในการห้ามไม่ให้รองเท้ายืดหยุ่น ซึ่งมันอาจจะฟังดูแปลกแต่ในหลักการแล้วการยืดหยุ่นของรองเท้าหมายถึงการสูญเสียพลังงานไป แผ่นคาร์บอนจะช่วยให้รองเท้าคงรูปเหมือนอยู่ในตำแหน่งการออกตัวตลอดเวลา

ความจริงแล้ว Nike มีการออกแบบและผลิตรองเท้าในตระกูลนี้ออกมาหลายปีแล้ว ในรุ่น ‘Vaporfly’ เมื่อปี 2016 โดยมี อีเลียด คิปโชเก สุดยอดนักวิ่งของโลกเป็นคนแรกที่ได้สวมใส่ในการแข่งขันและสร้างปรากฏการณ์ขึ้นมา 

ครั้งนั้นเรียกได้ว่าเป็นการปฏิวัติวงการรองเท้าวิ่งโดย Nike เลยทีเดียว และทำให้พวกเขาแทบจะรันวงการอยู่เพียงเจ้าเดียว ก่อนที่ adidas คู่แข่งจากเยอรมนีจะเริ่มตีโต้กลับมาเมื่อปี 2023 ด้วยรองเท้า Super Shoes ของพวกเขาเองในรุ่น ‘Adidas Adizero Adios Pro 1’ ซึ่งสวมใส่โดย ทิกิสต์ อัสเซฟา นักวิ่งสาวชาวเอธิโอเปียที่ทุบสถิติโลกได้ด้วยเวลาที่ดีกว่าสถิติเดิมถึง 2 นาทีในรายการใหญ่อย่าง ‘เบอร์ลิน มาราธอน’ ในเดือนกันยายน

แพงไม่ใช่ปัญหา เมื่อรองเท้า ‘Super Shoes’ กลายเป็นของต้องมีของนักวิ่ง แต่ในเดือนต่อมา Nike ก็เอาคืนด้วย Alphafly 3 ซึ่งสวมใส่โดยเคลวิน คิปตุม สุดยอดนักวิ่งชาวเคนยาที่ทำลายสถิติโลกของประเภทชายเหมือนกันในรายการชิคาโก มาราธอน และกลายเป็นมนุษย์คนแรกที่ทำสถิติได้ต่ำกว่า 2 ชั่วโมง 1 นาทีในรายการแข่งขันจริง

ความเทพของรองเท้านี้ทำให้แฟนๆนักวิ่งต่างต้องการจะได้มาเป็นเจ้าของสักคู่

  • ของต้องมีแต่ซื้อไม่ได้

ปัญหาสำหรับนักวิ่งทั่วโลกที่ต้องการจะได้ Alphafly 3 มาไว้ครอบครองคือรองเท้าไม่มีขาย

เพราะไม่ว่าจะเป็นหน้าร้านของ Nike หรือตัวแทนจำหน่าย ไปจนถึงเว็บไซต์อย่างเป็นทางการ nike.com เองก็ไม่มีสินค้าวางจำหน่าย เพราะมันได้ถูกขายออกไปจนหมดเกลี้ยงอย่างรวดเร็ว ซึ่งไม่ได้เป็นแค่ประเทศใดประเทศหนึ่งแต่เป็นทั่วโลก

ในสหราชอาณาจักร มีรายงานใน The Times ระบุว่ารองเท้า Alphafly 3 บนเว็บไซต์หมดภายในเวลาแค่ 2 นาทีเท่านั้นหลังเปิดจำหน่ายอย่างเป็นทางการเมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา ซึ่งจำนวนหนึ่งไปปรากฏอยู่บนแพลตฟอร์มขายของบนโลกออนไลน์แทน โดยเหล่าพ่อค้ารองเท้าที่คาดการณ์เอาไว้ล่วงหน้าว่ารุ่นนี้จะเป็นรุ่นที่ทำกำไรได้อย่างดี

ดีแค่ไหน? ก็จากราคาเดิม 284.99 ปอนด์ หรือราว 12,000 บาท ราคานั้นถูกปั่นขึ้นไปจนใกล้กับหลัก 600 ปอนด์ หรือกว่า 26,000 บาทสำหรับรองเท้าคู่เดียว

ขณะที่ในประเทศไทยจากการสำรวจพบว่าสนนราคาไม่ได้สูงขนาดนั้น โดยจากราคาป้าย 9,400 บาท (ซึ่งก็แพงมากแล้ว) สามารถหาซื้อได้ตั้งแต่ราคา 10,000-12,000 บาท โดยขึ้นอยู่กับไซส์ด้วยว่าเป็นไซส์มหาชนหรือไม่

สำหรับเหล่านักวิ่งที่อยากได้ทดสอบและได้ชื่อว่าเป็นคนแรกๆที่ได้สวมใส่จึงไม่มีทางเลือกมากไปกว่าการยอมจ่ายเพื่อให้ได้มา

เพราะไม่รู้ว่า “สินค้าชิ้นนี้ไม่พร้อมจำหน่ายในขณะนี้” จะกลับเข้าสต็อกอีกครั้งเมื่อไร

  • ระหว่างนวัตกรรมกับความยุติธรรม

อย่างไรก็ดี ในแวดวงของกรีฑา คำถามเรื่องของความเหมาะสมในรองเท้าระดับ ‘Super Shoes’ ยังคงเป็นคำถามใหญ่ที่เชื่อว่าจะส่งผลต่อเนื่องอีกในปี 2024

เพราะแม้ว่าทางองค์กรกรีฑาโลก (World Athletics) จะพยายามหาจุดที่ยอมรับได้ของการอนุญาตให้ใช้รองเท้าวิ่งที่สามารถสร้างความได้เปรียบในการแข่งขัน โดยค่าความแตกต่างของผลงานที่อาจทำได้ดีขึ้นอยู่ที่ราว 4% แต่ก็ยังมีการชิงไหวชิงพริบกันในเรื่องนี้ตลอดเวลา

ในมุมของผู้ผลิตไม่ว่าจะ Nike หรือ adidas หรือเจ้าอื่นที่พยายามไล่ตามในการสร้างรองเท้า Super Shoes นั้นพวกเขาต้องพยายามคิดค้นสิ่งใหม่ๆที่ต้องดีขึ้นกว่าเดิมเพื่อช่วงชิงความเป็นหนึ่งในสนามแข่งการสร้างรองเท้าด้วยเช่นกัน โดยไม่นับเรื่องของการตามหานักวิ่งระดับสุดยอดที่จะเป็นตัวแทนที่สวมใส่รองเท้าเหล่านี้ลงสนามเพื่อไล่ล่าความสำเร็จ

การพัฒนาที่จะเกิดขึ้น สุดท้ายแล้วก็จะนำมาสู่คำถามเดิมอีกว่ามันแฟร์แล้วใช่ไหมระหว่างนักวิ่งที่ได้สวมใส่รองเท้าที่เทพกว่าซึ่งได้รับการสนับสนุนมาจากผู้ผลิตเอง กับนักวิ่งที่ไม่มีโอกาสจะได้สวมใส่รองเท้าแบบนี้ในการแข่งขันจริง

และต่อให้เป็น Super Shoes เหมือนกันจริง ระหว่างรองเท้าที่ผู้ผลิตทำให้เฉพาะ กับรองเท้าที่วางจำหน่ายในท้องตลาด มันจะเท่าเทียมกันหรือไม่?

เรื่องนี้เป็นคำถามที่เกิดขึ้นมาร่วม 8 ปีแล้วและคาดว่าจะยังดำเนินต่อไป

  • ตลาดรองเท้าวิ่งไทยเหมือนใส่ปีก

สำหรับนักวิ่งทั่วไปที่ไม่ใช่สายแข่งขันระดับ Elite รองเท้า Super Shoes ก็อาจจะไม่ใช่รองเท้าที่ใช่นัก

เพราะอย่างที่บอกไว้ว่ารองเท้าประเภทนี้ถูกสร้างมาเพื่อการแข่งขัน ไม่เหมาะสมกับการวิ่งในชีวิตประจำวัน หรือการซ้อม เนื่องจากมีความทนทานต่ำกว่ารองเท้าโดยทั่วไปมาก

การจะเอารองเท้าวิ่งราคาเรือนหมื่นมาวิ่งตามสวนสาธารณะก็อาจจะไม่ใช่ทางเลือกที่อยากแนะนำนัก ยกเว้นเสียว่าจะติดใจเรื่องราคา และอยากทดสอบประสิทธิภาพของรองเท้าที่ขึ้นชื่อว่าเทพที่สุดของโลกในเวลานี้

อย่างไรก็ดี ตลาดรองเท้าวิ่งของไทยเป็นหนึ่งในตลาดที่น่าสนใจ โดยเฉพาะในช่วงหลายปีที่ผ่านมาที่มีกระแสการรักสุขภาพ ทำให้ผู้คนนิยมออกกำลังกายด้วยการวิ่ง

เทรนด์ที่มาแรงในช่วงปีที่แล้วคือรองเท้าวิ่งในแบรนด์ทางเลือก อย่างเช่น On, Hoka, Salomon หรือ Saucony ที่เริ่มเจาะหัวใจของนักวิ่งชาวไทยได้มากขึ้นเรื่อยๆด้วยรองเท้าที่อาจจะมีราคาสูงพอสมควร (ในรุ่นดีๆต้องมี 5,000-6,000 บาทขึ้นไป) แต่ก็ได้รองเท้าที่มีคุณภาพดี ประสิทธิภาพสูง และเป็นผู้ช่วยที่ดีในการวิ่ง ในการสนับสนุนไม่ทำให้เกิดอาการบาดเจ็บ

แพงไม่ใช่ปัญหา เมื่อรองเท้า ‘Super Shoes’ กลายเป็นของต้องมีของนักวิ่ง
โดยสิ่งที่เป็นปัจจัยสนับสนุนคือการที่ผู้บริโภคหรือเหล่านักวิ่งทั้งหลายสามารถเข้าถึงข้อมูลต่างๆได้ ไม่ว่าจะตามแฟนเพจ ตามกลุ่มบนโลกออนไลน์ หรือตามอินฟลูเอนเซอร์สายนักวิ่งต่างๆ ทำให้ได้รับข้อมูลที่มากขึ้นกว่าในอดีตทำให้ไม่ยึดติดกับแบรนด์ยอดนิยมเหมือนเคย

จากไปยืนงงในร้านเครื่องกีฬาว่ารุ่นไหนสวย สีไหนสวย ตอนนี้นักวิ่งชาวไทยมองไปถึงระดับเทคนิค คุณสมบัติ ไปจนถึงดูความเข้ากันระหว่างรองเท้ากับคาแรคเตอร์

ที่สำคัญคือแนวคิดในปัจจุบันนักวิ่ง 1 คนไม่จำเป็นต้องมีรองเท้าแค่ 1 คู่ อาจจะมีรองเท้าสำหรับวิ่งเบาๆ วิ่งซ้อม ไปจนถึงวิ่งแข่งสำหรับนักวิ่งในระดับอาชีพหรือมีความจริงจัง

สิ่งเหล่านี้เป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้ตลาดรองเท้าวิ่งในไทยมีโอกาสเติบโตได้อีกมาก และเป็นตลาดที่น่าจับตามองเป็นอย่างยิ่ง

และสุดท้ายคำว่า ‘ของต้องมี’ ยังน่ากลัวสำหรับกระเป๋าสตางค์เสมอ…