ถ้าลูกน้องมือดีๆ ที่เคยลาออกไป ขอกลับมาทำงาน.. จะรับหรือไม่รับ !?

ถ้าลูกน้องมือดีๆ ที่เคยลาออกไป ขอกลับมาทำงาน.. จะรับหรือไม่รับ !?

จะให้โอกาสกลับมาทำงานอีกครั้งหรือไม่? และถ้าจะให้โอกาสกลับเข้ามาทำงาน ต้องระวังในเรื่องใด และควรรับอย่างไร เพื่อให้ท่าน หน่วยงานและบริษัทของท่าน มีคุณค่า ไม่ใช่ว่าใครอยากออก ใครอยากกลับเข้ามาก็ตามสบาย

Part.1. เรื่อง เข้าๆออกๆของพนักงาน ! 

การลาออกของพนักงานในทุกกิจการเป็นเรื่องปกติ แต่ถ้าลูกน้องลาออกมาก และถี่ นั่นแสดงว่า “ผิดปกติ”! สาเหตุอาจเกิดจากปัญหาภายใน (เช่น หัวหน้าหรือเจ้าของกิจการเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้ลูกน้องไม่อยากอยู่ หรือ ผลตอบแทนน้อยแต่งานหนัก) หรือสาเหตุเกิดจากปัญหาภายนอก (เช่น อยู่ในอุตสาหกรรมที่ขาดแคลนพนักงานด้านนั้นๆ ทำให้เกิดการดึงตัว ซื้อตัว) รวมไปถึงเหตุผลส่วนตัวที่มีความจำเป็นจริงๆที่ต้องลาออกไป เป็นต้น

Part.2. แล้วถ้าลูกน้องบางคน ที่เคยลาออกไปแล้ว อยากกลับมาทำงานล่ะ….?

อันนี้น่าคิดนะครับ เพราะผมเชื่อว่า เจ้าของกิจการ หรือ ผู้จัดการหลายๆคนน่าจะเคยเจอกับสถานการณ์นี้ ก่อนที่จะด่วนสรุปว่า ควรจะรับหรือไม่รับ อดีตลูกน้องที่เคยลาออกไปแล้ว มาร่วมกัน “ครุ่นคิด” เพื่อให้ได้คำตอบที่ผ่านการ “วิเคราะห์” กันสักนิดดีกว่า เพื่อให้ได้คำตอบที่เหมาะสมกับสถานการณ์ของท่านมากที่สุด

Part.3. ครุ่นคิด - วิเคราะห์ ในเรื่องอะไรบ้าง!?

ลองคิด วิเคราะห์ ตั้งแต่คำถามพื้นฐานคำถามแรกเลย เราขาดคนหรือเปล่า? ถ้าคำตอบคือ เราขาดคนในตำแหน่งนี้พอดี ก็ไม่ได้หมายความว่าคำตอบถัดไปจะต้องรับ เพราะยังต้องครุ่นคิดกับคำถามต่อๆไปอีก…

และต่อให้เราไม่ได้ขาดคน ก็ไม่ได้หมายความว่า จะไม่รับเช่นกัน!

เพราะประเด็นที่จะรับหรือไม่รับ ปัจจัยหลักไม่ใช่ว่าเราขาดคนในตำแหน่งนั้นหรือไม่!?

คำถามที่น่าจะเป็นปัจจัยหลักมีอยู่ 2 คำถามสำหรับเจ้าของกิจการ หรือ ผู้จัดการ ในสถานการณ์แบบนี้คือ

คำถามแรก…..

“ค่านิยม และ นโยบาย” ของบริษัท ห้ามหรือไม่ห้ามในการรับอดีตพนักงานที่เคยลาออกไปแล้วกลับเข้ามาทำงาน!

ผมคิดว่ามีบริษัทที่ไม่ห้าม น่าจะมากกว่าบริษัทที่ห้าม แต่ถึงกระนั้นก็ตาม ก็ยังมีผู้นำหรือผู้บริหารบางคน ที่มีค่านิยม มีความเชื่อว่าจะไม่รับอดีตพนักงานที่เคยลาออกไปแล้วกลับเข้ามาทำงาน ด้วยเหตุผลส่วนตัว เช่น เพื่อแสดงให้พนักงานทุกคนรับรู้ว่า ที่บริษัทแห่งนี้ มีคุณค่าเกินกว่าจะรับคนที่เคยลาออกไปแล้วกลับเข้ามาทำงาน หรือ มีความเชื่อว่าสามารถหาคนใหม่ๆมาทดแทนคนที่ลาออกไปแล้วได้ตลอดเวลา หรือ ดีกว่าคนที่ลาออกไปแล้ว เป็นต้น!

ถ้ามีค่านิยมส่วนตัวหรือนโยบายแบบนี้ คงได้คำตอบแล้วว่า ควรรับหรือไม่ควรรับ?

Part.4. ครุ่นคิด - วิเคราะห์ กันอีกนิด ก่อนตอบ…

คำถามที่สอง… พนักงานที่เคยลาออกไปแล้วคนนั้น ที่จะขอกลับมาทำงาน “มีคุณค่าและคู่ควร” หรือไม่!?

ขอขยายความ ความหมายของ “มีคุณค่าและคู่ควร” ในที่นี้ ดังนี้ครับ

คุณค่า คือ ความสามารถที่คนๆนั้นมีและสามารถส่งมอบให้กับธุรกิจ บริษัท ไปจนถึงลูกค้าได้….

คู่ควร คือ ความซื่อสัตย์ ความรับผิดชอบ วินัย ไปจนถึง สาเหตุที่ลาออกไป (โดยรวมๆ ไม่คู่ควรในความหมายเช่น ลาออกไปด้วย เหตุผลที่ไร้เหตุผล ลาออกไปด้วยอารมณ์ หรือความไม่ซื่อสัตย์ ขาดความรับผิดชอบ สร้างปัญหา เป็นต้น)

ถ้าตอบคำถามนี้ได้ (โดยผ่านคำถามข้อแรกมาแล้ว ว่าไม่ขัดกับค่านิยมส่วนตัวหรือนโยบายบริษัท) ว่า คนๆนี้ที่เคยลาออกไปแล้ว โดยเหตุผลที่ลาออกไป มีเหตุมีผลในช่วงเวลานั้น แล้วคนๆนี้มี “คุณค่าและคู่ควร” ก็พอจะได้คำตอบแล้วมั๊งครับว่า ควรรับหรือไม่?

ถ้าดูแล้ว ควรรับกลับมา….

Part5.ถ้ารับกลับมาแล้ว ควรจะอะไร ยังไงก่อน !?

ประเด็นสำคัญก็คือ ถ้าจะรับกลับมา (ถึงแม้คนๆนั้น จะมีคุณค่าและคู่ควร) ก็ไม่ควรให้การรับกลับมานั้น ดูง่ายเกินไป!

เพราะถ้าเจ้าของกิจการหรือผู้จัดการ แสดงออกถึงอาการดีใจ กระตือรือร้นมากเกินไปจะทำให้ทั้งคนที่จะกลับมาทำงาน และพนักงานทุกๆคน มีความรู้สึกว่า หน่วยงานหรือบริษัท ขาดคนๆนั้นไม่ได้ !

ก็จะกลายเป็นสร้างวัฒนธรรมผิดๆ ให้เกิดขึ้นว่า บริษัทแห่งนี้….ต้องง้อพนักงานโดยเฉพาะพนักงานที่ลาออกไปแล้ว!

โดยเฉพาะถ้าพนักงานคนนั้น เป็นระดับผู้จัดการขึ้นไปที่มีฝีมือ แล้วลาออกไป เมื่ออยากกลับมาทำงาน ท่านก็อย่าดีใจจนลืมตัวไปให้ข้อเสนอเพิ่มแบบ "ไร้สติ" โดยให้ผลตอบแทนหรือตำแหน่งมากกว่าเดิมตอนก่อนที่คนๆนั้นจะลาออกไป อันนี้ถือว่าพลาดมาก!

Part6.ทำให้รู้สึกว่า นี่เป็นโอกาสสุดท้าย !?

ถ้าจะรับกลับมา คืออย่าไปถามสาเหตุที่จะกลับมา! เหตุผลก็คือ การไม่ถามสาเหตุจะทำให้ท่านดูดีกว่า เพราะถามไปก็จะได้คำตอบแบบเอาอกเอาใจ เสียเวลาเปล่าๆ!

สิ่งที่ควรทำคือ ควรบอกถึง เหตุผลอะไรบ้าง ที่ท่านรับกลับมา! เช่น ให้โอกาสและเป็นโอกาสสำคัญที่มีแค่ครั้งเดียว รวมทั้งเล็งเห็นคุณค่า ความสามารถที่มี แต่ไม่ใช่รับกลับมาเพราะขาดคนๆนี้ไม่ได้!

และต้องบอกความคาดหวังด้วย ว่าท่านคาดหวังอะไรในการให้โอกาสครั้งนี้

เพื่อไม่ให้คนที่เคยลาออกไปแล้ว เรารับกลับเข้ามา แล้วมีอะไรไม่พอใจ ไม่ถูกใจ ไม่ได้ตามที่ต้องการ ก็อยากจะลาออกไปอีก

ท่านต้องไม่เปิดเงื่อนไขให้เกิดสถานการณ์แบบนี้ ต้องย้ำให้รู้ว่า นี่คือโอกาส และเป็นโอกาสสุดท้ายที่จะให้แสดงฝีมือและความรับผิดชอบมากขึ้น!

Part7.สรุป….จะรับหรือไม่รับ ขึ้นอยู่กับ…. !?

หวังว่าทุกๆ ท่านที่อ่านมาถึงตรงนี้ คงได้ครุ่นคิด-วิเคราะห์แล้วว่า ควรจะรับพนักงาน (โดยเฉพาะพนักงานฝีมือดี มีความรับผิดชอบ และที่เคยลาออกไป ลาออกไปด้วยเหตุผลที่สมควร) จะให้โอกาสกลับมาทำงานอีกครั้งหรือไม่? และถ้าจะให้โอกาสกลับเข้ามาทำงาน ต้องระวังในเรื่องใด และควรรับอย่างไร เพื่อให้ท่าน หน่วยงานและบริษัทของท่าน มีคุณค่า ไม่ใช่ว่าใครอยากออก ใครอยากกลับเข้ามาก็ตามสบายครับ!