เลือกลงทุนตราสารหนี้อย่างไร ? Credit ดี ปลอดภัยชัวร์ไม่กลัว Default

เลือกลงทุนตราสารหนี้อย่างไร ? Credit ดี ปลอดภัยชัวร์ไม่กลัว Default

จะเห็นได้ว่าแม้ "ตราสารหนี้" จะเป็นประเภทตราสารลงทุนที่มีความเสี่ยงต่ำกว่าตราสารทุนในทางทฤษฎี แต่ในแง่ของความเสี่ยง ประเด็นของ "อันดับความน่าเชื่อถือ" ของผู้ออกตราสารหนี้นั้นเป็นปัจจัยสำคัญที่จะกำหนดความสำเร็จของการลงทุนในช่วงเศรษฐกิจชะลอตัวหรือถดถอย

จากข้อมูลของ CME Fedwatch ที่ปัจจุบันยังบ่งชี้ว่า Fed มีแนวโน้มที่จะลดดอกเบี้ยนโยบายลงในปี 2024 เพื่อประคับประคองเศรษฐกิจเพราะเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาอาจเข้าสู่ภาวะชะลอตัวหรือถดถอยได้จากผลของการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอย่างรวดเร็วตลอด 16 เดือนที่ผ่านมา สอดคล้องกับแบบสำรวจของ Bloomberg MLIV Survey ที่สอบถามนักลงทุนทั้งหมด 410 เมื่อวันที่ 31 ก.ค. – 4 ส.ค. โดยมีนักลงทุนกว่า 65% มองว่าสหรัฐฯ มีโอกาสเกิดเศรษฐกิจถดถอยภายในปี 2024

ประกอบกับทิศทางของธนาคารกลางยุโรป ECB เริ่มส่งสัญญาณว่าการขึ้นดอกเบี้ยใกล้สิ้นสุด ทำให้การลงทุนในตราสารหนี้ต่างประเทศเพื่อคาดหวังผลตอบแทนในภาวะที่นักลงทุนลดความเสี่ยงเริ่มมีความน่าสนใจมากขึ้น จากอัตราดอกเบี้ยพันธบัตรทั้งสหรัฐฯ หรือยุโรปที่สูงที่สุดในรอบกว่า 10 ปี และมีแนวโน้มที่นักลงทุนตราสารหนี้จะมีโอกาสได้ผลตอบแทนส่วนเพิ่ม (Capital gain) จากทิศทางการลดดอกเบี้ยในอนาคตอีกด้วย

อย่างไรก็ดี ช่วงเศรษฐกิจถดถอยไม่ได้หมายความว่าตราสารหนี้ทุกตัวจะสามารถลงทุนได้ ซึ่งหากไม่พิจารณาก่อนการลงทุนให้ดีแทนที่จะช่วยเพิ่มโอกาสสร้างผลตอบแทนยามวิกฤต อาจทำให้พอร์ตลงทุนเกิดวิกฤตซ้ำได้หากเลือกตราสารหนี้ผิดประเภท

วิธีการเลือกตราสารหนี้ยามที่นักลงทุนต้องการปรับพอร์ตการลงทุนให้มีความเสี่ยงต่ำลงหากมีโอกาสเกิดเศรษฐกิจถดถอยในระยะข้างหน้า ควรให้ความสำคัญกับความมั่นคงของผู้ออกตราสารหนี้โดยพิจารณาจากความน่าเชื่อถือของผู้ออกตราสาร หรือ Credit rating ที่จัดทำโดยหน่วยงานจัดอันดับความน่าเชื่อถือ ซึ่งแบ่งออกมาได้ 2 กลุ่ม คือ 1) ตราสารหนี้ “ระดับน่าลงทุน” หรือ Investment grade (IG) ซึ่งจะมีอันดับระหว่าง AAA ถึง BBB- ซึ่งตราสารหนี้กลุ่มนี้จะมีฐานะทางการเงินมั่นคงและมีความสามารถในการชำระหนี้สูง และ 2) ตราสารหนี้ “ต่ำกว่าระดับลงทุน” หรือ High yield (HY) ซึ่งจะมีอันดับระหว่าง BB+ ถึงระดับต่ำสุดที่ D ซึ่งเป็นระดับที่ผู้ออกตราสารหนี้มีฐานะการเงินอ่อนแอและมีโอกาสผิดนัดชำระหนี้ (Default) สูงกว่า IG นั่นเอง

โดยช่วงเวลาเศรษฐกิจขาขึ้นไร้ปัจจัยลบที่นักลงทุนมีความมั่นใจ นักลงทุนย่อมแสวงหาการลงทุนในสินทรัพย์ที่มีผลตอบแทนสูงสุดบนความเสี่ยงที่ยอมรับได้ ซึ่งตราสารหนี้ HY มีผลตอบแทนโดยเฉลี่ยสูงกว่า IG แน่นอนเพราะ HY มีอัตราดอกเบี้ยสูงกว่าเพื่อชดเชยความสามารถในการชำระหนี้ที่ด้อยกว่า IG แต่ช่วงภาวะเศรษฐกิจถดถอยหรืออาจลุกลามไปถึงวิกฤตเศรษฐกิจนั้น ธุรกิจต่างๆ ที่ฐานะการเงินอ่อนแอย่อมมีโอกาสขาดสภาพคล่องอันนำไปสู่การผิดชำระหนี้ได้

ดังนั้น ตราสารหนี้กลุ่ม HY จะมีโอกาสผิดนัดชำระหนี้สูงกว่ากลุ่ม IG ซึ่งเมื่อเกิดการผิดนัดชำระหนี้ผู้ที่ถือตราสารหนี้อาจสูญเสียเงินที่ลงทุนในตราสารหนี้ทั้งจำนวนได้ หรือหากลงทุนในกองทุนรวมตราสารหนี้อาจเกิดผลขาดทุนเทียบเท่ากับมูลค่าของตราสารหนี้ที่มีสถานะผิดนัดชำระหนี้ที่กองทุนลงทุนอยู่ เทียบเคียงกับสถิติในอดีต

โดยเปรียบเทียบผลตอบแทนระหว่างดัชนีตราสารหนี้ IG และ HY ทั่วโลกช่วงเวลาเศรษฐกิจถดถอยจากวิกฤต 3 ครั้งที่ผ่านมา คือ Dot-com, Hamburger และ COVID-19 จะเห็นว่าการลงทุนในตราสารหนี้ช่วงที่เกิดวิกฤตเศรษฐกิจ ผลตอบแทนของ IG กลับมากกว่า HY แม้อัตราดอกเบี้ยของ HY โดยเฉลี่ยจะสูงกว่า IG ก็ตาม ซึ่งเกิดจากประเด็นผิดนัดชำระหนี้ที่กล่าวไป และรวมถึงการขายออกของนักลงทุนในตลาดเพื่อลดความเสี่ยงการลงทุนออกไป ส่งผลให้ราคาตราสารหนี้ HY ลดลงมากกว่ากลุ่ม IG ด้วยเช่นกัน

เลือกลงทุนตราสารหนี้อย่างไร ? Credit ดี ปลอดภัยชัวร์ไม่กลัว Default

จะเห็นได้ว่าแม้ตราสารหนี้จะเป็นประเภทตราสารลงทุนที่มีความเสี่ยงต่ำกว่าตราสารทุนในทางทฤษฎี แต่ในแง่ของความเสี่ยงในการลงทุนตราสารหนี้นั้น ประเด็นของอันดับความน่าเชื่อถือของผู้ออกตราสารหนี้นั้นเป็นปัจจัยสำคัญที่จะกำหนดความสำเร็จของการลงทุนในช่วงเศรษฐกิจชะลอตัวหรือถดถอย ซึ่งหากนักลงทุนต้องการแสวงหาผลตอบแทนจากตราสารหนี้ช่วงที่เศรษฐกิจมีทิศทางไม่สดใสนักจะต้องเน้นลงทุนกับตราสารหนี้กลุ่ม IG จะช่วยรักษาเงินต้นและเพิ่มผลตอบแทนจากการลงทุนได้ดีกว่า

ขณะที่การเลือกลงทุนกลุ่ม HY นั้นไม่ว่าจะลงทุนตราหรือลงทุนผ่านกองทุนรวม อาจทำให้ผลลัพธ์ของการลดความเสี่ยงการลงทุนด้วยการซื้อตราสารหนี้อาจกลายเป็นการ “หนีเสือปะจระเข้” ซึ่งทำให้ขาดทุนจากการลงทุนได้อีกด้วย

หากท่านใดมีข้อข้องใจเกี่ยวกับการวางแผนการเงินของตนเอง สามารถส่งคำถามของท่านมาได้ที่ [email protected]  I บทความโดย ศิวกร ทองหล่อ CFP® Wealth Manager