ย้อนอดีตการล่มสลายของ ‘ธนาคารพาณิชย์ไทย’ สาเหตุและบทเรียนที่ต้องเรียนรู้….(2)

ย้อนอดีตการล่มสลายของ ‘ธนาคารพาณิชย์ไทย’ สาเหตุและบทเรียนที่ต้องเรียนรู้….(2)

วิกฤติเศรษฐกิจที่เรียกว่า “ต้มยำกุ้ง” ในปี 2540 ธนาคารมหานคร เผชิญปัญหาที่หนักหน่วงกว่าปัญหาที่เคยเผชิญในปี 2530 ธนาคารแห่งประเทศไทย ได้ส่งทีมบริหารที่เป็นกูรูในการแก้ไขปัญหาหนี้

ในปี 2477 ซึ่งเป็นช่วงการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร ชาวจีนโพ้นทะเลกลุ่มหนึ่งได้ร่วมกันก่อตั้งธนาคารพาณิชย์ โดยใช้ชื่อว่า “ธนาคารตันเปงชุน” เริ่มต้นลูกค้าส่วนใหญ่เป็นชาวจีนโพ้นทะเลที่เข้ามาค้าขายในประเทศไทย จนถึงปี 2503 กิจการขยายตัวเพิ่มขึ้น จึงได้เปลี่ยนชื่อเป็น “ธนาคารไทยพัฒนา” มีสำนักงานใหญ่อยู่ที่สวนมะลิ ตรงข้ามกับสำนักงานใหญ่ของธนาคารศรีนคร 

ตอนผมยังเรียนหนังสือชั้นมัธยม เวลาจะเข้ากรุงเทพ ต้องขึ้นรถไฟจากสถานีรถไฟนครปฐม ผ่านธนาคารไทยพัฒนาสาขานครปฐมที่ตั้งอยู่หน้าสถานีรถไฟ จะเห็นพ่อค้าชาวจีนในตลาดมาใช้บริการมากกว่าธนาคารอื่น เพราะผู้จัดการสาขาเป็นคนจีนที่พูดภาษาจีนได้ ชาวบ้านส่วนใหญ่ เรียกว่าธนาคารของคนจีน

วิธีการอำนวยสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ในอดีต เขาพิจารณากันแค่ 2C คือ Character และ Collateral คือ ดูแค่โหงวเฮ้งของลูกค้า และหลักประกัน บางรายไม่มีการนำงบการเงินมาวิเคราะห์ ไม่มีการวิเคราะห์ความเสี่ยงหรือ Risk Analytics โดยทีมงานของสายเสี่ยงข้ามาดูแล ถ้ารู้จักเป็นพรรคพวก มีหลักประกัน (ยึดหลัก No land no loan) ก็สามารถให้สินเชื่อได้จึงมีสินเชื่อรายใหญ่ที่เรียกว่า “สินเชื่อพรรคพวก” เป็นจำนวนมาก มีปัญหาหนี้เสียมากมาย ในปี 2514 มีหนี้เสียถึง 400 ล้านบาท จนทางการและสมาคมธนาคารไทยที่อยู่ในช่วงที่ อุเทน เตชะไพบูลย์ เป็นประธานสมาคมต้องเข้ามากอบกู้

ในปี 2520 เป็นปีที่ผมพึ่งเรียนจบจากคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ไปสมัครเป็นเสมียนที่ธนาคารกรุงไทย คำรณ เตชะไพบูลย์ หรือที่นักธุรกิจชาวจีนตั้งฉายาว่า “โคโร” น้องชายของ อุเทน เตชะไพบูลย์ ซึ่งเคยเป็นผู้จัดการธนาคารศรีนครสาขาประตูน้ำ ได้ถูกส่งเข้ามาบริหารธนาคารไทยพัฒนา และเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของธนาคารจนได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้จัดการใหญ่ และเปลี่ยนชื่อเป็นธนาคารมหานครศรีนครกับมหานครมีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ตรงข้ามกันที่สวนมะลิ ถือเป็นอาณาจักรทางการเงินที่ยิ่งใหญ่ของพี่กับน้อง เป็นธนาคารที่มีลูกค้าเงินฝากและสินเชื่อเป็นคนจีนที่มีฐานะหลักฐานมั่นคงทั้งย่านเยาวราชและประตูน้ำ ทั้งลูกค้าและพนักงานของธนาคารมีความเชื่อมั่นในความมั่นคงมาก เพียงแค่ 8 ปี ภายใต้การบริหารงานที่ไม่สามารถสลัดทิ้งความเป็นพรรคพวกได้ ธนาคารมหานครก็ประสบปัญหา NPL จนธนาคารแห่งประเทศไทยต้องสั่งลดทุนและส่งทีมงานเข้ามาดูแล

ในปี 2530 กลุ่มพันธมิตร เจริญ สิริวัฒนภักดี ได้เข้ามาซื้อหุ้นธนาคารมหานครจากกลุ่มคำรณ เตชะไพบูลย์ กลายเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ และนำทีมงานฝีมือดีที่คุ้นเคยจากธนาคารกรุงเทพ เข้ามาร่วมบริหาร ในปี 2539 ธนาคารมหานครมีสาขา 70 สาขา มีทุนจดทะเบียน 10,000 ล้านบาท ชำระแล้ว กว่า 8,000 ล้านบาท ราคาหุ้นประมาณ 15-25 บาท จากราคาพาร์ 5 บาท มีสินทรัพย์กว่า 200,000 ล้านบาท มียอดเงินฝาก 8,700 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิประมาณ 3,500 ล้านบาท 

วิกฤติเศรษฐกิจที่เรียกว่า “ต้มยำกุ้ง” ในปี 2540 ธนาคารมหานคร เผชิญปัญหาที่หนักหน่วงกว่าปัญหาที่เคยเผชิญในปี 2530 ธนาคารแห่งประเทศไทย ได้ส่งทีมบริหารที่เป็นกูรูในการแก้ไขปัญหาหนี้ จากธนาคารกสิกรไทย สิริวุฒิ เสียมภักดี เข้ามาบริหาร แต่ก็ไม่สามารถกอบกู้ให้ธนาคารมหานคร อยู่รอดได้

ในวันที่ 2 พฤศจิกายน 2541 จึงถูกควบรวมกิจการกับ บมจ.ธนาคารกรุงไทย เป็นไตรมาสสุดท้ายของปี 2541 ซึ่งเป็นช่วงหนึ่งของชีวิตการทำงานหนักในธนาคารกรุงไทย ซึ่งยังอยู่ในความทรงจำตลอดมา…..