วิกฤติธนาคารล้มในสหรัฐ คนและความเชื่อมั่นคือสิ่งสำคัญที่สุด (จบ)

วิกฤติธนาคารล้มในสหรัฐ คนและความเชื่อมั่นคือสิ่งสำคัญที่สุด (จบ)

วิกฤติที่เกิดขึ้นกับธนาคารพาณิชย์ในสหรัฐ คงไม่เกิดขึ้นกับแบงก์พาณิชย์ในไทยอย่างแน่นอน เพราะ ธปท. มีการตรวจสอบทั้งระบบบริหารงานและผู้บริหารอย่างใกล้ชิด เป็นห่วงก็แต่กฎกติกาที่ยังไม่เอื้ออำนวยให้ผู้ประกอบการ SME เข้าถึงแหล่งทุนที่สำคัญ

ธนาคารกลางในประเทศไทยเป็นธนาคารกลางที่เป็นระบบการรวมศูนย์ ตามพระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย พศ 2485 แก้ไขเพิ่มเติม พศ 2551 ธนาคารแห่งประเทศไทย ได้ถูกกำหนดให้ทำหน้าที่ในการรักษาเสถียรภาพของระบบเศรษฐกิจการเงิน โดยกำกับดูแลสถาบันการเงิน และผู้ให้บริการทางการเงินอย่างยืดหยุ่น เพื่อสนับสนุนการพัฒนานวัตกรรมทางการเงินได้อย่างเหมาะสม และฟื้นตัวอย่างรวดเร็วจากภาวะวิกฤติ (resilience) รักษาเสถียรภาพของระบบสถาบันการเงินและเศรษฐกิจโดยรวม

ตามพระราชบัญญัติธุรกิจสถาบันการเงิน พศ 2551 ธนาคารแห่งประเทศไทย ให้ความสำคัญให้ความสำคัญกับการกำกับดูแลธนาคารพาณิชย์ ที่เป็นตัวกลางในการระดมเงินฝากจากผู้ฝากเงิน เพื่อปล่อยสินเชือแก่ภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจ ธนาคารพาณิชย์แบ่งออกเป็นธนาคารพาณิชย์เต็มรูปแบบ ธนาคารพาณิชย์เพื่อรายย่อย ธนาคารพาณิชย์ที่เป็นบริษัทลูกของธนาคารต่างประเทศ และสาขาธนาคารพาณิชย์ต่างประเทศ รวมถึงสถาบันการเงินเฉพาะกิจ ซึ่งมีกฏหมายเฉพาะในการจัดตั้งขึ้น เช่น ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ธนาคารออมสิน ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย เป็นต้น

การแต่งตั้งกรรมการ ผู้จัดการ ผู้มีอำนาจในการจัดการ หรือที่ปรึกษาของสถาบันการเงิน และบริษัทลูกที่ประกอบธุรกิจทางการเงิน จะต้องได้รับความเห็นชอบจาก ธปท. ตามประกาศฉบับล่าสุดของธนาคารแห่งประเทศไทย ที่ สนส 3/2564 โดยเน้นด้าน คุณธรรม จริยธรรม และความรู้ความสามารถในการดูแลและบริหารกิจการของกรรมการ และผู้บริหารระดับสูงของสถาบันการเงินและบริษัทในกลุ่มธุรกิจทางการเงิน เป็นปัจจัยพื้นฐานที่ส่งเสริมให้มีการดำเนินงานอย่างมีประสิทธิภาพ โปร่งใส และน่าเชื่อถือ 

กำหนดลักษณะต้องห้ามของบุคคลดังกล่าว ธปท. ได้กำหนดลักษณะต้องห้ามเพิ่มเติม ให้ครอบคลุมการกระทำผิดกฎหมายเกี่ยวกับการประกอบธุรกิจทางการเงินและระบบการชำเงิน ความผิดเกี่ยวกับการปลอมและการแปลงตามประมวลกฎหมายอาญา และความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ รวมทั้งห้ามบุคคลที่เคยถูกถอดถอนการเป็นกรรมการ ผู้จัดการ หุ้นส่วนผู้จัดการ หรือผู้มีอำนาจในการจัดการของผู้ประกอบธุรกิจทางการเงินและระบบการชำระเงิน มาดำรงตำแหน่งที่สถาบันการเงิน

โดยเน้นด้านความซื่อสัตย์ สุจริต และชื่อเสียง (Honesty,Integrity and Reputation) โดยประกาศ ณ วันที่ 19 เมษายน 2564 และลงประกาศให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันถัดจากประกาศในราชกิจจานุเบกษา ลงวันที่ 24 พฤษภาคม 2564

จากประสบการณ์ในการทำงานธนาคารพาณิชย์นานเกือบ 40 ปี ธนาคารพาณิชย์ทุกแห่งมีกฎ ระเบียบที่เข้มงวด และต้องผ่านการตรวจสอบอย่างเข้มข้น ทั้งจากฝ่ายตรวจสอบภายในธนาคาร และการกำกับดูแลของ ธปท. กว่าจะได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้บริหารระดับสูงของธนาคาร ต้องถูกตรวจสอบอย่างละเอียดจาก ธปท. เพื่อให้ความเห็นชอบ

ตามประกาศฉบับล่าสุด จะเห็นว่า ธปท ให้ความสำคัญกับคน ซึ่งเป็นผู้บริหารธนาคารพาณิชย์ เพราะคนคือสิ่งที่สำคัญที่สุด ที่จะทำให้เกิดความเชื่อมั่นต่อลูกค้าผู้ใช้บริการ

วิกฤติที่เกิดกับธนาคารพาณิชย์ไทยจนต้องปิดกิจการล่าสุดทั้งจากธนาคารมหานคร และธนาคารกรุงเทพพาณิชย์การ เป็นบทเรียนสำคัญที่ธนาคารพาณิชย์ทุกแห่ง และ ธปท. ต้องมีการปรับปรุงกฎระเบียบในการคัดเลือกคนตลอดมา จนธนาคารพาณิชย์ที่เปิดดำเนินการปัจจุบันมีสถานะที่มั่นคงมาก

ผลการประกอบการในปี 2565 ธนาคารพาณิชย์มีกำไรสุทธิรวมทะลุ 2 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 10% จากปี 2564 การตั้งสำรององหนี้เสียเหลือเพียง 1.98 แสนล้านบาท ลดลง 8.3% สอดคล้องกับหนี้เสียทั้งระบบที่ปรับตัวลดลงต่อเนื่อง โดยมีรายได้ดอกเบี้ยเป็นปัจจัยสำคัญ จากการเติบโตของสินเชื่อ และการปรับดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น

วิกฤติที่เกิดขึ้นกับธนาคารพาณิชย์ในสหรัฐในขณะนี้ คงไม่เกิดขึ้นกับธนาคารพาณิชย์ในประเทศไทยอย่างแน่นอน เพราะ ธปท. มีการตรวจสอบทั้งระบบการบริหารงานและผู้บริหารอย่างใกล้ชิด เป็นห่วงก็แต่กฎกติกาที่ยังไม่เอื้ออำนวยให้ผู้ประกอบการ SME เข้าถึงแหล่งทุนที่สำคัญคือธนาคารพาณิชย์ตาม พรบ. ธนาคารแห่งประเทศไทย ที่ให้ธนาคารพาณิชย์ เป็นตัวกลางในการระดมเงินฝากจากผู้ฝากเงินเพื่อปล่อยสินเชื่อแก่ภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจ 

ต้องฝากรัฐบาลใหม่เข้าไปรื้อกฎและระเบียบที่จะช่วย SME และช่องว่างระหว่างดอกเบี้ยเงินฝากและเงินกู้ที่ทำให้ธนาคารพาณิชย์กำไรมากมาย ในขณะที่คนยากจนยังเต็มประเทศ…