Virtual Bank ธนาคารไร้สาขาแต่ต้องไม่ไร้ความหวัง (จบ)…
Virtual Banking จึงเป็นนวัตกรรมทางการเงินที่ช่วยให้ลูกค้าใช้บริการผ่านช่องทางดิจิทัลที่ง่าย สะดวก รวดเร็ว ปลอดภัย สอดคล้องกับวิถีชีวิตของลูกค้าในยุค New Normal
ยอดเงินฝากคงค้างของระบบธนาคารพาณิชย์ไทยตั้งแต่ปี 2556-2565 มีการเติบโตเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 4.7% ต่อปี โดยมีเงินฝากกระแสรายวันและเงินฝากออมทรัพย์ หรือ CASA เป็นตัวขับเคลื่อนหลัก ธุรกรรมของลูกค้าในการฝากถอนแต่ละเดือนเติบโตเฉลี่ยถึง 9.7% ต่อปี อัตราการหมุนเวียนของเงินฝากเพิ่มจากระดับ 3.4 เท่า ในปี 2556 เป็น 5.1 เท่าในปี 2565
โดยปรับตัวเพิ่มขึ้นตั้งแต่ปี 2558 ก่อนการเริ่มใช้งานระบบ PromtPay ในปี 2560 และธนาคารพาณิชย์ได้ทยอยยกเลิกค่าธรรมเนียมการโอนระหว่างธนาคารในปี 2561 จากจำนวนธุรกรรมและลูกค้าที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องการบริการแบบดั้งเดิม (Traditional Banking) จึงไม่สามารถให้บริการลูกค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ
รวมถึงพฤติกรรมของผู้บริโภคยุคใหม่ที่ให้ความสำคัญกับ Digital Banking ที่สะดวกรวดเร็วและประหยัดค่าใช้จ่าย Virtual Banking จึงเป็นนวัตกรรมทางการเงินที่ช่วยให้ลูกค้าใช้บริการผ่านช่องทางดิจิทัลที่ง่าย สะดวก รวดเร็ว ปลอดภัย สอดคล้องกับวิถีชีวิตของลูกค้าในยุค New Normal
Virtual Bank เป็นบริการทางการเงินรูปแบบใหม่ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำลังศึกษารูปแบบของธนาคารไร้สาขา แต่ในต่างประเทศที่มีบริการเต็มรูปแบบมาหลายปีแล้ว ในประเทศจีน กลุ่ม Tencent ผู้ให้บริการ WeChat (แอปพลิเคชันส่งข้อความอันดับหนึ่งของจีน) ได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจธนาคารไร้สาขา WeBank ตั้งแต่ปี 2557 โดยปัจจุบันสามารถขยายฐานลูกค้าได้กว่า 100 ล้านคน
ในเกาหลีใต้ Virtual Bank ช่วยส่งเสริมการออมและสร้างวินัยทางการเงินให้แก่คนรุ่นใหม่ มีผลิตภัณฑ์บัญชีเงินออมที่ลูกค้าสามารถกำหนดจำนวนเงินออมได้ โดยจะได้ virtual gifts เมื่อออมได้ตามเป้าหมาย ในแอฟริกา Virtual Bank ได้พัฒนาการเปิดบัญชีที่รวดเร็วภายใน 5 นาที โดยใช้เทคโนโลยีสแกนลายนิ้วมือลูกค้า
ปัจจุบัน Virtual Bank ในบางประเทศยังเผชิญอุปสรรคสำคัญ ในสหราชอาณาจักรยังมีลูกค้าจำนวนมากนิยมใช้บัญชีธนาคารพาณิชย์แบบดั้งเดิม โดยไปใช้บริการที่สาขา เปิดบัญชีหลักเพื่อรับเงินเดือนหรือหักเงินแบบ direct debit และนิยมใช้บัญชีธนาคารไร้สาขาเป็นบัญชีรอง ทำให้ธนาคารไร้สาขาบางแห่งเช่น Monzo ยังมีผลขาดทุนต่อปีค่อนข้างสูง เนื่องจากยังไม่มีผลิตภัณฑ์ทางการเงินครบวงจรที่สามารถสร้างรายได้จากลูกค้า
ธนาคารแห่งประเทศไทย มุ่งหวังให้ Virtual Bank เข้ามาพัฒนานวัตกรรมทางการเงินที่รับผิดชอบต่อสังคม (Responsible innovation) ไม่ใช่นวัตกรรมที่สร้างความเสี่ยงจนเกินไป โดยเฉพาะผู้ใช้บริการรายย่อย และ SMEs กลุ่มที่ยังไม่ได้รับบริการทางการเงินอย่างเพียงพอให้เข้าถึงบิการทางการเงินอย่างเหมาะสม จึงได้กำหนดกรอบหลักเกณฑ์การขอจัดตั้งและการกำกับดูแล โดยมีสาระสำคัญ คือ
1 ให้ Virtual Bank สามารถประกอบธุรกิจธนาคารพาณิชย์ได้เต็มรูปแบบ มีความยืดหยุ่นสามารถปรับเปลี่ยนบริการให้ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าที่เปลี่ยนไปได้
2 ผู้ขอจัดตั้ง Virtual Bank จะต้องมีคุณสมบัติที่เหมาะสม มีรูปแบบธุรกิจที่ตอบโจทย์เป้าหมายข้างต้นได้อย่างยั่งยืน มีความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ การให้บริการดิจิทัล และการใช้ข้อมูลที่หลากหลาย
3 ให้ Viirtual Bank ปฎิบัติตามหลักเกณฑ์การกำกับดูแลเช่นเดียวกับธนาคารพาณิชย์ในปัจจุบัน โดย ธปท. จะกำกับ Virtual Bank ตามระดับความเสี่ยงและให้ความสำคัญกับธรรมาภิบาลและวัฒนธรรมด้านความเสี่ยง (risk culture)
4 ให้ Virtual Bank ดำเนินกิจการในช่วงแรก (phasing) ตามเงื่อนไขที่กำหนด ภายใต้การกำกับดูแลอย่างใกล้ชิด เพื่อให้การดำเนินการในช่วงแรกเป็นไปอย่างมั่นคงและไม่ก่อให้เกิด ความเสี่ยงต่อระบบ
ธปท. ได้เปิดรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับแนวทางการอนุญาตให้จัดตั้ง Virtual Bank เสร็จสิ้นไปแล้วตั่งแต่วันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2566 และอยู่ในระหว่างจัดทำหลักเกณฑ์การอนุญาตให้จัดตั้ง Virtual Bank ให้กระทรวงการคลังพิจารณา โดยคาดว่าจะสามารถออกหลักเกณฑ์ พร้อมเปิดรับสมัครขอจัดตั้งได้ในปี 2566 ประกาศผลผู้ได้รับคัดเลือกและได้รับความเห็นชอบจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้ภายในปี 2567 ขณะนี้ มีผู้สนใจขอจัดตั้งแล้วกว่า 10 ราย
ผู้ประกอบการ SMEs ที่เป็น Smart SME หรือกลุ่ม Start Up จะต้องติดตามและศึกษารายละเอียดอย่างใกล้ชิด เพราะเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่จะสามารถเข้าถึงสถาบันการเงินและใช้บริการสินเชื่อได้ ในประเทศจีนผู้มีรายได้น้อย และ SMEs ที่ไม่เคยได้รับสินเชื่อจากธนาคารพาณิชย์แบบดั้งเดิม Virtual Bank ใช้ข้อมูลทางเลือก (alternative data) และ artificial intelligence ในกระบวนการพิจารณาสินเชื่อและประเมินความเสี่ยงลูกค้า จนสามารถให้สินเชื่อขนาดเล็ก (micro credit) ได้เป็นจำนวนมาก
ผมหวังว่าธนาคารไร้สาขาที่กำลังจะเกิดขึ้นในประเทศไทย จะช่วยให้ผู้ประกอบการ SMEs ไม่ไร้ความหวังเหมือนในอดีต เป็นห่วงก็แต่ SMEs รายย่อยที่ยังต้องพึ่งบริการธนาคารพาณิชย์แบบดั้งเดิม เพราะเวลาถอนเงินยังต้องให้พนักงานเขียนสลิปให้ สาขาธนาคารพาณิชย์ก็ปิดบริการเป็นจำนวนมาก เข้าไปใช้บริการในสาขาก็มีพนักงานให้บริการน้อยมาก หวังว่าคงจะมีพื้นที่ให้บริการ SMEs กลุ่มนี้…