ปั้นไม่ทันขาย! ‘เตาอั้งโล่’ ออเดอร์พุ่ง

หนุ่มข้าวของธุรกิจผลิตเตาอั้งโล่ เมืองเจดีย์ใหญ่ เผยน้ำมันแพง แก๊สขึ้นราคา ทำประชาชน พ่อค้าหันมาใช้เตาถ่าน ส่งผลยอดขายปังผลิตไม่ทัน โดยพร้อมเปิดสอนฟรี มีออร์เดอร์ให้สำหรับคนตกงาน หรือคนที่สนใจ แถมมียอดขายพ่วงให้อีกด้วย

ผู้สื่อข่าวรายงานถึงสถานการณ์ในช่วงธุรกิจพลังงานมีการถีบตัวขึ้นราคาอย่างต่อเนื่องทั้งน้ำมันและแก๊สหุงต้ม ซึ่งปัจจัยดังกล่าวส่งผลให้มีประชาชน ไม่น้อยที่หันมาหาพลังงานทางเลือก ซึ่งหนึ่งในการปรับพฤติกรรมของผู้บริโภคและประชาชน นั่นคือการหาแหล่งพลังที่มาราถูกกว่าพลังงานหลักที่ยังไม่มีทิศทางว่าจะขยับตัวลง ส่งผลให้ต้นทุนการประกอบอาหารสูงขึ้น ท่ามกลางที่สถานการณ์ของวัตถุดิบในการประกอบอาหาร คือเนื้องหมู และผักมีราคาปรับตัวสูงเช่นกัน 

นายธนพล คำแสน อายุ 38 ปี 93 ม.4 ต.ลำเหย อ.ดอนตูม จ.นครปฐม ช่างปั้นเตาอั้งโล่โบราณซึ่งมีประสบการณ์ในการผลิตรังผึ้งและเตาอั้งโล่มานานกว่า 10 ปี บอกว่าตอนนี้ยอดสั่งซื้อเตาอั้งโล่ มีเข้ามาเพิ่มขึ้นโดยเป็นผลสืบเนื่องจากทั้งราคาน้ำมันและแก๊สหุงต้นมีราคาแพง การหันมาใช้พลังงานถ่าน เพื่อประกอบอาหารจากเตาอั้งโล่ ซึ่งเราใช้กันมาตั้งแต่รุ่นปู่ย่า ตาทวด และได้ลดความนิยมลงไป เพราะปัจจุบัน ประชาชนหันมาใช้เตาแก๊สและเตาไฟฟ้า กันแทบทุกครัวเรือน แต่เมื่อเกิดสถานการณ์ข้าวของแพง น้ำมันแพง สินค้ามีราคาแพง เตาถ่านหรือที่เรียกว่าเตาอั้งโล่ได้กลับมาได้รับความนินมอีกครั้งเพราะมีราคาต้นทุนที่ถูกว่า ทำให้ตอนนี้มีพ่อค้าคนกลางเข้ามาสั่งซื้อเพิ่มขึ้นทุกเดือนและยังไม่มีวี่แววว่าจะมีการลดยอดการสั่งผลิตลง

นายธนพล บอกว่า การผลิตเตาอั้งโล่ของตัวเอง เกิดจากความอยากรู้ เพราะตอนแรกที่บ้านได้รับทำตะแกรง หรือรังผึ้งที่วางในเตาอั้งโล่ ก่อนจะศึกษาวิธีทำเตาด้วยตัวเองเพราะเห็นว่าถ้าทำทั้งใบจะเพิ่มรายได้ในครัวเรือนได้ จากที่เคยทำแผ่นตระแกรงวันละ 1 พันชิน ได้เงิน 1 พันกว่าบาทต่อวัน ก็ขยับมาผลิตเตา เบอร์ 1-4 โดยจะมีการสั่งหน้าดินเหนียวมาผลิตเตาได้ถึงวันละ600 ลูกต่อวัน และจะส่งให้ลูกค้าในภาคตะวันออก เช่นจังหวัดชลบุรี ระยอง จันทบุรีและจังหวัดใกล้เคียง อีกส่วนก็จะส่งลงภาคใต้ตั้งแต่จังหวัดเพชรบุรี สุราษฎร์ธานี ซึ่งจะขายส่งในราคาลูกละ 90 บาท หักทุนแล้วก็จะได้กำไรลูกละ 20 บาท 

 
นายธนพล บอกต่อว่า สำหรับขั้นตอนการผลิตจะนำเตาดิบเข้าไปเผาไฟไว้ประมาณ 12 ชั่วโมงหลังจากนั้นพักไฟเอาไว้อีก 1 วันและนำเตาดิบมาประกอบในการประกอบมีการผสมขี้เถ้าแกลบนำขี้เถ้าแกลบมาพอกรอบเตาและนำมากดลงถังที่เตรียมเอาไว้และนำมาแต่งหน้าประตูเตาถ่านและใส่ลิ้นเตา(ตระแกรงเตา)และป้ายขอบตะแกรงเตาและใส่หูหิ้วเป็นอันเสร็จซึ่งเตาที่จังหวัดนครปฐมเป็นเตาอั้งโล่ที่คนนิยมซื้อไปใช้ในครัวเรือนเนื่องจากเป็นดินเหนียว เตาทนทาน แข็งแกร่ง ยิ่งร้อนยิ่งแข็ง เตา1 ลูกใช้งานเป็นปีจึงได้รับความนิยมทำให้ผลิตไม่ทันความต้องการ 

“ ผมยินดีหากมีผู้ที่สนใจหรือผู้ที่ตกงาน ไม่มีงานทำ อยากทำอาชีพทำเตาอั้งโล่เป็นอาชีพสู้ความจน ผมจะสอนให้ฟรีพร้อมมีงานรองรับให้ทำ โดยใช้เวลาฝึกทำเตาแค่ 1-2 วันก็ทำได้แล้วสร้างรายได้สร้างอาชีพและเป็นมรดกภูมิปัญญาชาวบ้านอีกด้วยหากมีผู้ที่สนใจมาฝึกการทำเตาอั้งโล่สามารถโทรสอบถามได้ที่เบอร์ 061-4837666” นายธนพล กล่าวปิดท้าย