‘เครดิตบูโร’ห่วงหนี้ค้างชำระ1-3เดือน 4แสนล้าน ทะลักเป็น ‘หนี้เน่า’

‘เครดิตบูโร’ห่วงหนี้ค้างชำระ1-3เดือน 4แสนล้าน ทะลักเป็น ‘หนี้เน่า’

เปิดหนี้ครัวเรือนไทยกระฉูด 14.5ล้านล้าน ขณะที่ข้อมูลบนฐานเครดิตบูโรพบลูกหนี้ เป็นหนี้เสียทะลักเฉียดล้านล้าน ‘เครดิตบูโร’ห่วงลูกหนี้ค้างชำระ1-3เดือน ไหลเป็นหนี้เสียเพิ่ม ด้าน’ธปท.’รับหนี้เสียยังไม่หยุดไหล เร่งขึ้นต่อแต่ไม่กระโดด เชื่อแบงก์บริหารจัดการได้

       “หนี้เสีย” ยังคงเป็นโจทย์ใหญ่ ของระบบการเงินที่ต้องเร่งแก้ และเป็นจุดเปราะบางของเศรษฐกิจไทย หากประเทศไทยยังไม่สามารถแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนให้ลดลงได้ ปัญหา “หนี้” ก็ยังคงเป็นประเด็นหลอกหลอน และฉุดรั้งการเติบโตของเศรษฐกิจไทยอย่างต่อเนื่อง

    “สุรพล โอภาสเสถียร” ผู้จัดการใหญ่ บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด หรือ เครดิตบูโร กล่าวว่า ณ​ สิ้นปี​ 2564​ ประเทศ​ไทยเรามีภาระหนี้สินภาคครัวเรือน​ 14.58ล้านล้านบาท​ คิดเป็นอัตราส่วน​ 90.1%ของ​จีดีพี

‘เครดิตบูโร’ห่วงหนี้ค้างชำระ1-3เดือน 4แสนล้าน ทะลักเป็น ‘หนี้เน่า’      ภาระหนี้สินภาคครัวเรือนระดับนี้ จะเป็นปัจจัยสำคัญที่จะฉุดรั้งการเติบโต​ทางเศรษฐกิจ​ ที่ต้องอาศัยการบริโภคภายในประเทศ​ เพราะว่ารายได้ที่ครัวเรือนจะได้รับในปัจจุบันและอนาคต จะต้องนำเอาบางส่วนไปชำระหนี้ทั้งต้นเงินและดอกเบี้ย​ 

      เมื่อชำระหนี้ไม่ได้ตามนัด ตัวลูกหนี้ก็จะกลายเป็นหนี้ค้างชำระ​ ถ้าค้างเกิน​ 90วันหรือ​ 3งวดการชำระก็จะกลายเป็นหนี้เสีย​ หรือเป็นหนี้เอ็นพีแอล ในลำดับถัดไป จะยิ่งเผชิญกับ​ ความยากลำบากเพิ่มขึ้น หากเจ้าหนี้ดำเนินการตามกฏหมายเช่นฟ้องร้อง​ ดำเนินคดี​ บังคับให้มีการชำระหนี้​ เป็นต้น

    หากมาดูไส้ในของหนี้สินภาคครัวเรือนไทย ที่เป็นจุดเปราะบาง​สำคัญ พบว่า 27-28% เป็นการก่อหนี้เพื่อเอาไปอุปโภค​ บริโภค​ส่วนบุคคล​ กล่าวง่ายๆ คือเป็นหนี้​ 100บาท​ ในจำนวนนี้​ 28บาทเอาไปกินใช้หมดไปแล้ว​ จึงต้องเอารายได้วันนี้และอนาคตมาใช้หนี้ คำถามคือ? ถ้ารายได้หดหายไปจากโควิด-19 เพิ่มขึ้น แล้วจะเอาที่ไหนมาใช้หนี้?

    ด้านภาระหนี้สินครัวเรือนบนฐานข้อมูลของเครดิตบูโรมีสูงถึง 12.68ล้านล้านบาท ในนี้เป็นบัญชีที่เป็นหนี้เสีย 9.5แสนล้านบาท​ ที่มีการค้างชำระเกิน90 วัน หรือคิดเป็นสัดส่วน 7.5%ของหนี้บุคคล​ธรรมดา​ที่อยู่ในระบบของเครดิตบูโร​

    ในขณะที่มีอีกจำนวนหนึ่งที่เรียกว่าหนี้มีปัญหาที่ปรับโครงสร้าง​ ที่เคยเป็นหนี้เสียมาแล้ว จนเข้าสู่การปรับโครงสร้างหนี้หรือ TDR ตรงนี้มีอีก​ 7.8แสนล้านคิดเป็น​ 6.2%ของหนี้บุคคลธรรมดา

     แต่ที่น่ากังวล คือ บัญชี​หนี้สินที่มีการเริ่มค้างชำระ 1เดือน,2เดือน,3เดือน​ แต่ยังไม่เกิน​ 90วัน​ หนี้ก้อนนี้กำลังจะไหลมาเป็นหนี้เสีย ถ้าไม่เร่งแก้ไขด้วยการปรับโครงสร้างหนี้ให้เร็ว​ จำนวนหนี้ลักษณะ​นี้มีสูงถึง​ 4แสนกว่าล้านบาทคิดเป็น​ 3.3%ของหนี้สินประชาชนในฐานข้อมูล​เครดิตบูโร​

     หากมองไประยะข้างหน้า หากมาตรการผ่อนปรนแบบพิเศษของสถาบันการเงินหมดไป และเข้าสู่มาตรการปกติ เข้าสู่​มาตรการแก้ไขหนี้สินระยะยาวปี​ 2565-2566 แน่นอนว่าตัวเลขหนี้เสียอาจมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น​ เพราะหนี้ปรับโครงสร้างแล้วไปต่อไม่ได้ จะกลับมาเป็นหนี้เสียอีกครั้ง​ กับหนี้ที่กำลังจะเสียแล้วไหลมาเป็นหนี้เสีย​เพิ่ม​

        “มิ.ย. 65” เมื่อถอดมาตรการพิเศษ​ออกหมดแล้ว และเข้าสู่​การปรับโครงสร้างหนี้ระยะยาว​ บนการเติบโตทางเศรษฐกิจ​ประมาณ​ 3% ภายใต้ต้นทุนการดำรงชีวิตเพิ่มขึ้น จากการเพิ่มขึ้นของราคาพลังงาน อาหาร เหล่านี้จะเป็นความท้าทายอย่างยิ่งในระยะข้างหน้า ว่า​ ตัวเลขหนี้เสียจะเป็นเท่าใด​ ตัวเลขหนี้ปรับโครงสร้างจะเพิ่มมากหรือไม่​ และตัวเลขหนี้ที่เริ่มเสียเริ่มค้างชำระจะชะลอตัวลงได้หรือไม่​?

   “รณดล นุ่มนนท์” รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ทิศทาง “หนี้เสีย” ที่ยังคงมีสัญญาณเพิ่มขึ้นต่อในปี 2565 ถือเป็นสิ่งที่ธปท.คาดการณ์อยู่แล้ว ซึ่งตัวเลขเหล่านี้ ไม่ใช่ปัญหา หรือสัญญาณที่บอกว่าเพิ่งเกิด แต่ธปท.เห็นทิศทางนี้มาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่เกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19

 “หนี้สินครัวเรือน”จึงเป็นปัญหาที่ธปท.และทุกส่วนให้ความสำคัญ เพราะถือเป็นโครงสร้างพื้นฐานของเศรษฐกิจไทย และต้องหาวิธีที่จัดการปัญหานี้ให้ลดลง ที่ผ่านมาธปท.จึงมีการออกมาตรการอย่างต่อเนื่อง ผ่านมาตรการต่างๆ เช่นการเร่งให้แบงก์มีการปรับโครงสร้างหนี้ การรวมหนี้ เพื่อช่วยบรรเทาปัญหาในระยะสั้นให้กับลูกหนี้

     นอกจากแก้หนี้ อีกด้านที่ต้องทำควบคู่กันเพื่อแก้ปัญหา “หนี้”ระยะยาว คือการเร่งรัดให้ลูกหนี้มีวินัยทางการเงินมากขึ้น เรียนรู้การออม ให้ตระหนักถึงความสำคัญของ “รายได้ “ตราบใดที่มีหนี้ แต่ไม่มีรายได้ “ลูกหนี้”จะต้องเผชิญความยากลำบากในชีวิตมาก

    แต่จะเห็นได้ว่า การออกมาตรการแต่ละครั้งของธปท. อีกด้านที่ธปท.ต้องระวังด้วย คือมาตรการที่ธปท.ออกมา จะต้องไม่ไปส่งเสริมให้เกิดการผิดนัดชำระหนี้ หรือ moral hazard ด้วยไม่งั้นจะมีผลกระทบเป็นวงกว้างไปสู่ระบบสถาบันการเงินได้

    “ตอนนี้สถาบันการเงินก็พร้อมช่วยลูกหนี้ โดยเฉพาะลูกหนี้ที่มีปัญหาอย่างต่อเนื่องผ่านมาตรการต่างๆ ส่วนพักหนี้เรามองว่า คงไม่ใช่มาตรการที่ตอบโจทย์ระยะยาว แต่การปรับปรุงโครงสร้างหนี้ให้เหมาะสมกับรายได้ สิ่งนี้จำเป็นมากกว่า ส่วนภาพหนี้เสีย เป็นภาพที่ธปท.เห็นอยู่แล้วที่มองว่าคงมีทิศทางเพิ่มขึ้น แต่คงไม่ก้าวกระโดด และจะอยู่ในวิศัยที่บริหารจัดการได้ในปีนี้”

    สอดคล้องกับ บทความของ “ดอน นาครทรรพ” ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเสถียรภาพระบบการเงิน ธปท.ที่ระบุว่า ปี 2565 เป็นปีแห่งการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือน แต่งานนี้ไม่หมู!

   โดยมองว่า “หนี้ครัวเรือน”จะเป็นระเบิดลูกใหญ่ของเศรษฐกิจไทย หากไม่ได้รับการแก้ไขอย่างจริงจัง ซึ่งจะเป็นปัญหาฉุดรั้งการบริโภคเอกชน ฉุดรั้งเครื่องยนต์เศรษฐกิจนำไปสู่ความเปราะบางสำคัญของระบบการเงิน จากความเสี่ยงที่จะเกิด การ “ผิดนัดชำระหนี้”ของครัวเรือนเป็นวงกว้าง หากเศรษฐกิจสะดุดอีกครั้ง ดังนั้นปัญหาหนี้ครัวเรือน อาจเกินกำลังที่ธปท. จะแก้ปัญหาเพียงลำดับได้

    ดังนั้นสิ่งสำคัญ เพื่อดูแลปัญหาหนี้ครัวเรือน คือ จัดการหนี้ปัญหา และการชะลอหนี้ใหม่ที่จะเกิดในอนาคต

    ล่าสุดหากดูตัวเลขการช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อย บนข้อมูลของธปท. แม้ข้อมูลการช่วยเหลือจะอยูระดับสูง แต่มองว่าสถานการณ์ยังมีความ “สุ่มเสี่ยง” เพราะวันนี้ครัวเรือนยังมีความเปราะบางเชิงรายได้ เหล่านี้เป็นเหตุผลให้ธปท.ต้องเร่งออกมาตการเร่งด่วน เพื่อช่วยเหลือประคับประคองลูกหนี้ ทั้งมาตาการ 3ก.ย. การปรับโครงสร้างหนี้ระยะยาว การรวมหนี้ ฯลฯ

   “ดอน”ระบุว่า การแก้ไขหนี้ครัวเรือนอย่างยั่งยืนได้นั้น ต้องก้าวข้ามอุปสรรค 3ประการ คือ เพียง 3ใน 4ของสถาบันการเงินที่ปล่อยกู้ ให้กับภาคครัวเรือน อยู่ภายใต้กำกับธปท. แต่ยังมีอีกมาก ที่อยู่ภายใต้สหกรณ์ออมทรัพย์ ที่ปล่อยกู้หนี้ครัวเรือนรายใหญ่ อุปสรรคที่สองคือหนี้นอกระบบ และสุดท้ายคือ การที่ไม่มีข้อมุลหนี้ครัวเรือนที่เพียงพอ!

    “ที่น่ากังวล คือ ครัวเรือนรายได้น้อยจำนวนมากมีทั้งหนี้ในระบบและหนี้นอกระบบ ซึ่งมีอัตราดอกเบี้ยต่างกันราวกับฟ้ากับดิน ถ้าเน้นแต่การแก้หนี้ในระบบ แต่ไม่ได้ล้างหนี้นอกระบบไปด้วย สุดท้ายหนี้นอกระบบจะเพิ่มพูน และครัวเรือนก็จะจมกองหนี้อยู่ดี”

    จากข้อมูล พบว่าหนี้นอกระบบของภาคครัวเรือนไทยในช่วงครึ่งแรกของปี 2021 เท่ากับ 8.5 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงก่อนโควิด-19 ในปี 2019 อยู่ที่ 4.8 หมื่นล้านบาท แต่เกือบทุกคนที่ทำงานเรื่องหนี้นอกระบบที่ผมคุยด้วย บอกว่า หนี้นอกระบบน่าจะอยู่ในหลักแสนล้านบาท และยังพบอีกว่า จำวนหนี้นอกระบบจำวนมากไม่ได้อยู่ในระบบฐานข้อมูเครดิตแห่งชาติหรือเครดิตบูโร

    ดังนั้นมองว่า ควรมี “ศูนย์รวมข้อมูลกลาง” ซึ่งอาจไม่ใช่เครดิตบูโรก็ได้ เหล่านี้จะทำให้เราทราบหนี้ที่เปราะบางในระบบมีมากน้อยแค่ไหน คนเปราะบางมีหน้าตาอย่างไร?

   "กาญจนา โชคไพศาลศิลป์" ผู้บริหารงานวิจัยศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดการณ์ว่า หนี้เสียมีทิศทางเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ภายใต้วิกฤติโควิด-19 โดยคาดว่าหนี้เสียของทั้งระบบธนาคารพาณิชย์ปีนี้ จะอยู่ที่ 2.95-3.05%หรือ หนี้เสีย  5.50-5.65 แสนล้านบาท จากสิ้นปีก่อนที่นหนี้เสียอยู่ที่ 2.98% หรือ 5.30 แสนล้านบาท 

    บนการคาดการณ์หนี้เสียข้างต้น คาดว่าจะเห็นการปรับโครงสร้างหนี้อย่างหนักอีกปี ถึงระดับ 9.16 หมื่นล้านบาท ซึ่งเป็นระดับเดียวกันกับปีที่ผ่านมา หรือเฉลี่ยต้องเห็นการปรับโครงสร้างหนี้สูงถึง 2.29 หมื่นล้านบาท