นายกฯ สั่งเร่งแก้ไขสินค้าราคาสูง ย้ำสินค้าต้องไม่ขาดตลาด-ไฟฟ้าต้องไม่ดับ

นายกฯ สั่งเร่งแก้ไขสินค้าราคาสูง ย้ำสินค้าต้องไม่ขาดตลาด-ไฟฟ้าต้องไม่ดับ

นายกฯ สั่งการเร่งแก้ไขปัญหาสินค้าราคาสูง ย้ำสินค้าต้องไม่ขาดตลาด ไฟฟ้าต้องไม่ดับ ราคาต้องไม่สูง พร้อมเร่งหามาตรการรองรับผลกระทบเงินเฟ้อ ให้สอดคล้องกับงบประมาณที่มีอยู่

วันนี้ (12 เม.ย. 2565) เวลา 12.30 น. ณ ทำเนียบรัฐบาล ภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี  พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เปิดเผยว่า ได้เน้นย้ำต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เกี่ยวกับการแก้ปัญหาราคาสินค้าที่เพิ่มสูงขึ้นซึ่งได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โลกที่เกิดขึ้น ทั้งปัจจัยความขัดแย้งระหว่างยูเครน-รัสเซีย ซึ่งคาดว่าอาจจะยังไม่ยุติโดยเร็วจึงทำให้ค่าใช้จ่ายต่างๆ เพิ่มสูงขึ้นไม่ว่าจะเป็นเรื่องของพลังงาน ก๊าซ น้ำมัน ปุ๋ย อาหารสัตว์ และอื่นๆ เป็นต้น รวมถึงความห่วงใยปัญหาเรื่องของเงินเฟ้อ ซึ่งที่ประชุมคณะรัฐมนตรีก็ได้มีการหารือในประเด็นเหล่านี้เพราะเข้าใจถึงความเดือดร้อนของประชาชนเป็นอย่างดีจากผลกระทบที่เกิดขึ้น โดยขณะนี้รัฐบาลกำลังมีการพิจารณาหามาตรการมารองรับในเรื่องของผลกระทบจากเงินเฟ้อ โดยดำเนินการด้วยความระมัดระวัง และให้สอดคล้องกับงบประมาณของประเทศที่มีอยู่ โดยให้การลงทุนภาครัฐยังสามารถขับเคลื่อนต่อไปได้ตามเป้าหมายที่กำหนดเพราะเป็นโครงสร้างสำคัญที่ทำให้ประชาชนทุกคนได้รับประโยชน์
 
รวมทั้งนายกรัฐมนตรีแสดงความห่วงใยภาคเกษตรกร ที่จะส่งผลไปยังผู้ประกอบการ และส่งผลกระทบย้อนกลับมาที่ผู้บริโภค จึงได้สั่งการให้ทุกกระทรวงไปดำเนินการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นโดยเร่งด่วน ย้ำหลักการสำคัญสินค้าต้องไม่ขาดตลาด ไฟฟ้าต้องไม่ดับ ราคาต้องไม่สูง และต้องมีการปรับราคาสินค้าที่ควบคุม 18 หมวด รวมไปถึงการเร่งแก้ปัญหาเรื่องความล่าช้าในการขนส่งผลไม้ และสินค้าไปจีนด้วย โดยจะมีการหารือระหว่างรัฐบาลต่อรัฐบาล ซึ่งเรื่องการขนส่งสินค้าก็จะทำได้สะดวกมากขึ้นโดยมีการเคารพหลักการซึ่งกันและกัน จะมีการแก้ปัญหาที่ต้นทางและลดขั้นตอนลง โดยแก้ปัญหาที่ต้นทางประเทศไทยก่อนเพื่อไม่ให้เสียเวลาขนส่งที่จีน ซึ่งจะต้องเป็นข้อตกลงร่วมกันของทั้งสองฝ่าย

นายกรัฐมนตรียังกล่าวถึง 10 มาตรการสำคัญที่รัฐบาลได้ออกมาเพื่อดูแลช่วยเหลือประชาชนทุกกลุ่มในด้านต่างๆ รวมถึงการช่วยเหลือด้านพลังงานด้วย ซึ่งขณะนี้หลายโครงการได้ดำเนินการไปแล้ว และเกิดผลต่อประชาชน รวมถึงกลุ่มเปราะบาง และผู้มีรายได้น้อยซึ่งมีอยู่จำนวนหลายล้านคน โดยคาดว่าจะสามารถช่วยประคับประคองให้สามารถผ่านพ้นช่วงเวลานี้ไปได้ด้วยดี พร้อมกันนี้ นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรียังได้มีการพิจารณาในเรื่องการสร้างรายได้ การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน การพัฒนาสิ่งแวดล้อมทรัพยากรธรรมชาติ การพัฒนาคุณภาพชีวิต และการอำนวยความสะดวกประชาชนด้วย
 
นายกรัฐมนตรีย้ำถึงการที่ไทยต่อสู้กับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 มายาวนานกว่า 2 ปีและหลายเรื่องก็เริ่มคลี่คลายแล้ว ซึ่งเป็นผลจากการที่ทุกคนร่วมมือกันขับเคลื่อนนโยบายต่างๆ ไปพร้อมกับการแก้ปัญหาสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ผ่านมาด้วย ทั้งเรื่องของการสนับสนุนนโยบายการใช้รถ EV ซึ่งขณะนี้รัฐบาลกำลังเริ่มจัดหารถประจำทางเข้ามาใหม่ โดยให้สอดคล้องกับทิศทางการพัฒนาที่นำด้วยเศรษฐกิจ BCG บนพื้นฐานที่สมดุลยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม รวมไปถึงการลดโลกร้อน และการลดก๊าซคาร์บอน การพัฒนาอุตสาหกรรมใหม่ เทคโนโลยีดิจิทัล การสร้างเขตอุตสาหกรรมเมืองอัจฉริยะ เพื่อพัฒนานวัตกรรมประเทศไทยให้มีรายได้สูงขึ้น และสามารถมีรายได้เข้าประเทศมากขึ้นด้วย

นายกรัฐมนตรียังกล่าวถึงปัจจัย และกุญแจสำคัญของการอยู่ดีกินดีของประชาชนว่าคือ การเพิ่มรายได้ควบคู่กับการแก้ไขปัญหาหนี้สิน และความยากจนอย่างยั่งยืนในเชิงรุก ซึ่งขณะนี้หลายหน่วยงานได้เข้ามาแก้ปัญหาเรื่องหนี้ต่างๆ ทั้งหนี้จากการผ่อนบ้าน ผ่อนรถยนต์ การประนอมหนี้ และการเจรจาไกลเกลี่ยหนี้ซึ่งกระทรวงยุติธรรม ดำเนินการในเรื่องนี้ประสบผลสำเร็จแล้วหลายพันราย จึงขอให้ทุกกระทรวงได้นำแนวทางการดำเนินการดังกล่าวไปเป็นแบบอย่างในการปฏิบัติต่อไปอย่างต่อเนื่องด้วย
 
นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีกล่าวถึงแนวทางในการที่จะทำให้ภาคการเกษตรของประเทศอยู่ได้ว่า รัฐบาลกำลังเร่งขับเคลื่อนเกษตรอัจฉริยะหรือ Smart Farmer การทำระบบ Agri-Map แผนที่เกษตร แผนที่บริหารจัดการน้ำ การเปิดช่องทางการค้าขายผ่านทางออนไลน์ การเพิ่มมูลค่าผลผลิตด้วยการตลาด เกษตรปลอดภัย GAP และการจัดหาที่ดินให้ชุมชนอย่างเป็นธรรม และยั่งยืน ขณะที่การดำเนินงานด้านการท่องเที่ยวตามนโยบายของรัฐบาลก็มีความก้าวหน้าอย่างมาก ซึ่งจากรายงานตั้งแต่ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาจนถึงขณะนี้พบว่า มีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้าประเทศไทยจำนวนมากพอสมควร ทำให้ส่งผลต่อหลายธุรกิจมีการเติบโตขึ้น อย่างไรก็ตามอาจประสบปัญหาเรื่องความความแออัด และความคับคั่งอยู่บ้าง เนื่องจากมีเที่ยวบินเข้ามาในช่วงเวลาเดียวกันมาก ที่จะทำให้มีคนจำนวนมากในสนามบินโดยเฉพาะในช่วงเช้า ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นแล้ว เพื่ออำนวยความสะดวกให้มากยิ่งขึ้น โดยอยู่ภายใต้มาตรการด้านสาธารณสุขในการป้องกันโควิด-19 ด้วย

 

 

พิสูจน์อักษร โดย....สุรีย์  ศิลาวงษ์