‘กอบศักดิ์’ แนะปรับเครื่องยนต์เศรษฐกิจ ดึงลงทุน ลดผลกระทบ ‘สงครามยูเครน’

‘กอบศักดิ์’ แนะปรับเครื่องยนต์เศรษฐกิจ ดึงลงทุน ลดผลกระทบ ‘สงครามยูเครน’

 “กอบศักดิ์” ชี้ผลกระทบจากยูเครน-รัสเซีย ส่งผลกระทบต่อศก.โลกระยะยาว ไทยเจอผลทางอ้อมหลายด้าน กระทบส่งออก ท่องเที่ยว ดันราคาพลังงาน - เงินเฟ้อสูง แนะรัฐบาลรักษาความเป็นกลางสร้างบาลานซ์ที่เหมาะสมในช่วงระเบียบโลกปรับสมดุล

สงครามที่เกิดขึ้นระหว่างยูเครนกับรัสเซีย ที่ดำเนินมาเกือบ 2 เดือนไม่ได้ส่งผลกระทบแค่ 2 ประเทศ แต่เกิดผลสะเทือนต่อเศรษฐกิจไปทั้งโลก สะท้อนผ่านราคาพลังงาน สินค้าโภคภัณฑ์ ราคาปุ๋ย ที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้อัตราเงินเฟ้อในหลายประเทศปรับตัวสูงขึ้นในอัตราเร่ง

“กรุงเทพธุรกิจ” สัมภาษณ์ “กอบศักดิ์ ภูตระกูล” รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) อดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้นระหว่างรัสเซียกับยูเครน ผลกระทบที่เกิดขึ้นรวมทั้งผลที่เกิดขึ้นกับเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทย

 

การคว่ำบาตรจะส่งผลต่อเศรษฐกิจระยะยาว 

กอบศักดิ์กล่าวว่าความขัดแย้งในปัจจุบันต้องมองให้ไกลและลึกมากกว่าความขัดแย้งระหว่างยูเครนและรัสเซีย เพราะเหตุที่เกิดขึ้นที่ยูเครนเป็นเพียงหน้าฉากของความขัดแย้งเท่านั้น แต่สิ่งที่เกิดขึ้นตามมาคือการแบ่งขั้วระหว่างสหรัฐฯกับกลุ่มองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (NATO) และรัสเซียและกลุ่มประเทศที่สนับสนุนรัสเซีย

“สิ่งที่จะเกิดขึ้นจากความขัดแย้งในครั้งนี้ก็คือสงครามในยูเครนอาจจะยุติลงได้ แต่สงครามในทางเศรษฐกิจจะดำเนินต่อไปอย่างต่อเนื่อง มาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจที่สหรัฐฯและพันธมิตรทางตะวันตกจะมีความเข้มข้นและรุนแรงมากขึ้น

 

เศรษฐกิจที่เข้มแข็งทำให้กองทัพเข้มแข็ง

โดยเป้าหมายที่มีคือทำให้เศรษฐกิจของรัสเซียที่มีการเติบโตต่อเนื่องในช่วงหลังอ่อนแอลง เพื่อไม่ให้กองทัพของรัสเซียเข้มแข็งเกินไป เนื่องจากสหรัฐฯเห็นว่าเศรษฐกิจของรัสเซียเติบโตมาอย่างต่อเนื่องและเศรษฐกิจที่เติบโตทำให้กองทัพมีความเข้มแข็งมากขึ้นซึ่งกระทบกับการเป็นมหาอำนาจอันดับหนึ่งของสหรัฐฯ”กอบศักดิ์ กล่าว

เขากล่าวว่าแม้ผลกระทบที่เกิดขึ้นคือเศรษฐกิจของรัสเซียที่มีการคาดการณ์ว่าผลกระทบจากมาตรการนี้เศรษฐกิจรัสเซียจะหดตัวประมาณ 10% ในปีนี้ แต่นอกจากเศรษฐกิจรัสเซียแล้วผลที่จะเกิดขึ้นก็คือเศรษฐกิจโลกจะได้รับผลกระทบไม่น้อยเช่นกันเพราะรัสเซียเป็นประเทศผู้ส่งออกพลังงาน และสินค้าโภคภัณฑ์จำนวนมาก การที่รัสเซียถูกคว่ำบาตรก็จะส่งผลต่อเศรษฐกิจโลกทั้งทางตรงและทางอ้อมและกระทบกับเศรษฐกิจไทยด้วยเช่นกัน 

 

การวางตัวเป็นกลางส่งผลดีต่อเศรษฐกิจไทยมากกว่า 

ทั้งนี้มองว่าในสถานการณ์ที่เกิดการแบ่งขั้วออกเป็นสองฝั่ง ประเทศไทยจำเป็นที่จะต้องวางตัวเป็นกลาง เพราะเราเป็นประเทศขนาดเล็กที่ต้องพึ่งพาทางเศรษฐกิจ ตลาดการค้า และเทคโนโลยีจากทั้งสองฝั่ง การที่เราสามารถสร้างสมดุลความสัมพันธ์กับทั้งสองฝั่งในช่วงเวลาที่โลกกำลังปรับสมดุลในระเบียบโลกใหม่การที่รักษาความเป็นกลางเอาไว้จะเป็นประโยชน์กับเศรษฐกิจของประเทศในมากกว่าเพราะจะทำให้เราสามารถเข้าถึงเทคโนโลยีใหม่ๆ และมีตลาดรองรับการส่งออกสินค้าในอนาคต 

ไทยรับผลกระทบ 3 ระลอกสงครามรัสเซีย - ยูเครน 

ทั้งนี้ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับประเทศไทยจะเกิดขึ้น 3 ระลอก หรือ 3 ช่วง ดังนี้

1.ผลกระทบทางตรง ในเรื่องของการค้า การลงทุน ประเทศไทยมีการค้ากับรัสเซียน้อยมาก เนื่องจากระหว่างไทยและรัสเซียมีการค้าขายกันโดยตรงน้อยมาก เรามีสัดส่วนการค้ากับรัสเซียเพียง 0.3% ในแง่ของการให้สินเชื่อเพื่อการค้าของผู้ประกอบการที่จะไปทำการค้าในรัสเซียยิ่งมีน้อยมาก

ดังนั้นผลกระทบที่เกิดขึ้นโดยตรงกับประเทศไทยจากเหตุการณ์ในยูเครนจึงเป็นเรื่องของภาคการท่องเที่ยว เนื่องจากปกติจะมีนักท่องเที่ยวรัสเซียเดินทางเข้ามายังประเทศไทยประมาณ 1.5 ล้านคนต่อปี หรือประมาณ 4% จากนักท่องเที่ยวต่างชาติ 40 ล้านคนที่เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวประเทศไทยช่วงก่อนสถานการณ์โควิด-19 ซึ่งในช่วงที่มีการเปิดการท่องเที่ยวแบบแซนด์บ็อกในช่วงเดือน ก.ค.ปีก่อนก็มีนักท่องเที่ยวรัสเซียเข้ามาประมาณ 1.6 หมื่นคน คิดเป็น 6% ซึ่งเมื่อเกิดสถานการณ์สงครามแบบนี้นักท่องเที่ยวชาวรัสเซียก็คงไม่กลับมายังประเทศไทยในปีนี้ทำให้การคาดการณ์จำนวนนักท่องเที่ยวในปีนี้อาจทำไม่ได้ตามเป้า

2.ผลกระทบทางอ้อม แม้ว่าตลาดของรัสเซียจะเป็นตลาดที่มีขนาดเล็ก เมื่อเทียบกับหลายประเทศแต่เศรษฐกิจของรัสเซียนั้นเกี่ยวข้องกับหลายประเทศ โดยรัสเซียเป็นประเทศที่มีการส่งออกน้ำมันดิบถึงประมาณ 10% ของปริมาณการใช้น้ำมันทั่วโลก ส่วนก๊าซรัสเซียเป็นผู้ส่งออกกว่า 17ดังนั้นการคว่ำบาตรรัสเซียนอกจากทำให้ราคาน้ำมันสูงยังมีเรื่องของสินค้าโภคภัณฑ์อื่นๆ ที่เป็นแร่ธาตุสำคัญเช่นพลาเดียม นิกเกิล โปรแตส และสินค้าอาหารสัตว์ที่ปรับเพิ่มสูงขึ้นมาก ซึ่งจะเห็นว่าผลกระทบในครั้งนี้เป็นผลกระทบทางอ้อมเป็นจำนวนมาก

3.ผลกระทบที่ต่อเนื่องมาจากผลกระทบทางตรงและทางอ้อม โดยที่สุดแล้วจะเกิดภาวะเงินเฟ้อจากสินค้าราคาแพง ค่าขนส่งสินค้า และค่าเดินทางแพงขึ้น ซึ้งหากราคาน้ำมันสูงระดับ 120 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลเป็นเวลานาน และรัฐถอนมาตรการในการดูแลราคาเงินเฟ้อบางเดือนอาจสูงขึ้นไปถึง 7 – 9% ได้ สุดท้ายจะกระทบกับกำลังซื้อของประชาชน สิ่งที่จะตามมาก็คือเมื่อค่าครองชีพสูง สินค้าแพง การบริโภคของประชาชนที่เดิมคาดว่าจะดีก็จะไม่ดีอย่างที่หลายฝ่ายคาดการณ์ไว้เนื่องจากกำลังซื้อบางส่วนเริ่มแผ่วลง

“ราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างรวดเร็วจากเดิมในช่วงก่อนปี 2565 ราคาน้ำมันเบรนท์อยู่ที่ประมาณ 70 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ปัจจุบันราคาปรับขึ้นมาอยู่ที่ 110 – 115 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ราคาน้ำมันเบนซินในประเทศเพิ่มขึ้นจาก 28 บาทต่อลิตร เป็น 40 บาทต่อลิตร ซึ่งทำให้คนที่ขับรถมีค่าใช้จ่ายจากราคาน้ำมันเพิ่มขึ้น 2,000 – 3,000 บาทต่อคนต่อเดือน ซึ่งรายจ่ายที่เพิ่มขึ้นจะกระทบกับกำลังซื้อประชาชนการบริโภคอาจไม่ได้ดีอย่างที่คิดไว้”

 

แนะไทยปรับเครื่องยนต์เศรษฐกิจรับผลกระทบสงคราม

กอบศักดิ์ กล่าวว่าในสถานการณ์ที่การคว่ำบาตรระดับนานาชาติจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกดังนั้นไทยต้องปรับน้ำหนักการบริหารเศรษฐกิจมาเน้นในเรื่องของการส่งเสริมการลงทุน และการท่องเที่ยว เพราะไม่สามารถจะพึ่งพาการส่งออกได้เหมือนปีที่ผ่านมา เนื่องจากเศรษฐกิจโลกจะขยายตัวเพียง 3 – 4% โดยธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) คาดการณ์ว่าภาคการส่งออกจะขยายตัวได้เพียง 4 – 5% ลดลงเมื่อเทียบกับปีก่อนที่การส่งออกขยายตัวได้ถึง 17% ในปีนี้การส่งออกจึงไม่ใช่เครื่องยนต์หลักที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจแต่ต้องเป็นเรื่องของการลงทุน ทั้งการลงทุนในพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี) และการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานที่ยังมีความล่าช้า

ทั้งนี้มองว่าในเรื่องการลงทุนจะเป็นโอกาสที่สำคัญของประเทศไทยเพราะประเด็นความขัดแย้งระหว่างยุโรปกับรัสเซียในพื้นที่ยุโรปตะวันออก บวกกับสงครามการค้าจีนและสหรัฐฯ ที่ต่อเนื่องทำให้ความต้องการลงทุนในอาเซียนมีมากขึ้น ดังนั้นการมีนโยบายดึงดูดการลงทุนที่เหมาะสมจะดึงดูดการลงทุนทางตรง (FDI) ถือว่าเป็นเรื่องสำคัญที่จะส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจได้

ในส่วนของภาคการท่องเที่ยวถือว่าเป็นเรื่องที่ต้องมีมาตรการสนับสนุนให้มีการท่องเที่ยวทั้งในประเทศ และภายนอกประเทศควบคู่กัน เพราะปัจจุบันการท่องเที่ยวของคนไทยด้วยกันเองช่วยเพิ่มอัตราเข้าพักได้เพียง 30% ทำให้ปัจจุบันแรงงานที่อยู่ในอุตสาหกรรมภาคท่องเที่ยวยังที่จ้างงานอยู่ประมาณ 10 ล้านคน หากสามารถทำให้แรงงานท่องเที่ยวประมาณ 5 ล้านคน กลับมาทำงานได้ก็จะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจได้มาก 

 

ฟื้นแรงงานท่องเที่ยว 5 - 6 ล้านคนเข้าระบบ 

ปัจจุบันประเทศไทยมีการฉีดวัคซีนได้มากขึ้นทำให้ความเสี่ยงในการป่วยหนักจากโควิด -19 ลดลง การเปิดประเทศให้นักท่องเที่ยวเข้ามาให้ได้ตามเป้าหมายประมาณ 5 – 6 ล้านคนในปีนี้ (เฉลี่ยประมาณ 5 แสนคนต่อเดือน) ถือว่าเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญอีกส่วนหนึ่ง ซึ่งรวมไปถึงนักท่องเที่ยวจากประเทศเพื่อนบ้าน เช่น มาเลเซีย และ สปป.ลาว เข้ามาจะช่วยสร้างงานและเพิ่มรายได้ให้คนในประเทศได้มากขึ้น

“เศรษฐกิจไทยจะยังขยายตัวได้ในปีนี้ที่ระดับ 3 – 4% จะยังไม่เผชิญกับภาวะเศรษฐกิจถดถอยในขณะนี้ แต่ในเรื่องของเงินเฟ้อที่สูงเป็นเรื่องที่จะกดดันเศรษฐกิจของเราอย่างมาก แบงก์ชาติเองก็จะยังไม่ปรับขึ้นดอกเบี้ยตามเฟดแต่จะประคองไว้ให้เศรษฐกิจมีความพร้อมมากขึ้น

อัตราการว่างงานในภาคท่องเที่ยวลดลง การปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายของไทยแบงก์ชาติของเราอาจจะเริ่มคิดในปีหน้าในช่วงที่เศรษฐกิจมีความพร้อมมากกว่าในปัจจุบัน”กอบศักดิ์ กล่าว