ธปท.ชี้ เดือนก.พ. ยอดใช้ "แบงก์พัน" สูงสุดเป็นประวัติการณ์

ธปท.ชี้ เดือนก.พ. ยอดใช้ "แบงก์พัน" สูงสุดเป็นประวัติการณ์

ธปท.ชี้ยอดใช้ธนบัตรลดลงในอัตราที่น้อยลง สวนทางอดีตยอดใช้ลดลงสูงเฉียด10% สะท้อนมีความต้องการเก็บตุนธนบัตรสูงขึ้น มากกว่านำธนบัตรมาจับจ่ายใช้สอย เพื่อรองรับสถานการณ์ที่ไม่แน่นอนจากโควิด-19 พบแบงก์ยอดใช้ ‘แบงก์พัน’ในระบบเศรษฐกิจพุ่งสูงสุดเป็นประวัติการณ์

        นายสมบูรณ์ จิตเป็นธม ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายออกบัตรธนาคาร ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า หากดูการใช้ธนบัตรนับตั้งแต่ปี 2563 เป็นต้นมา จนถึงปัจจุบัน  ตั้งแต่เกิดการแพร่ระบาดไวรัสโคโรนา สายพันธุ์ใหม่หรือโควิด-19 พบการใช้ธนบัตรลดลงเพียงระดับ 2-3% หากเทียบกับก่อนหน้าที่ยอดการใช้ธนบัตรลดลงถึงระดับ 8-9% 

        เหล่านี้สะท้อนว่า การใช้ธนบัตรของคนไทย ลดลงในอัตราที่น้อยลงหากเทียบกับอดีต เพราะประชาชนบางส่วนมีการเบิกธนบัตร และเก็บตุนมากขึ้น เพื่อรองรับสถานการณ์ไม่แน่นอน จากโควิด-19 ทำให้มีการใช้ธนบัตรลดลงในอัตราที่น้อยลง ไม่ใช่มาจาก การเบิกใช้ธนบัตรแล้วนำมาใช้จ่ายในระบบมากขึ้นในช่วงโควิด-19 

       ส่วนหนึ่ง สะท้อนว่า คนอาจยังไม่มั่นใจในการใช้จ่าย และมีมาตรการดูแลตัวเองในช่วงโควิด-19  จีงมีการสำรองเงินสดไว้ค่อนข้างมาก เพื่อใช้ในช่วงฉุกเฉิน แต่อย่างไรก็ตาม การใช้ธนบัตรที่ลดลง ก็ถือเป็นแนวทางที่ธปท.ผลักดัน และอยากเห็นเนื่องจากต้องการสนับสนุนให้คนไทย หันมาใช้ช่องทางดิจิทัลมากขึ้น ในการใช้จ่าย

    “ที่แปลกคือ ช่วง 3-4 ที่ผ่านมา ยอดการใช้ธนบัตรลดลง ปีละราว 8-9% แต่หากดูช่วงปี 2563 เป็นต้นมาถึงปัจจุบัน ยอดใช้ธนบัตรลดลงเพียง 2-3% สะท้อนว่าการใช้ธนบัตรลดลงในอัตราที่น้อยลงหากเทียบกับอดีต คนมีการเก็บเงินมากขึ้น โดยเฉพาะแบงก์พัน เพื่อให้อุ่นใจ กรณีมีเหตุฉุกเฉินจากโควิด-19 ไปแบงก์ไม่ได้ ถอนเงินเกิดปัญหาติดขัดจึงมีการเบิกเงินไปสำรองไว้บางส่วน”

    อย่างไรก็ตาม มองว่าในอนาคต ยอดการใช้ธนบัตร น่าจะลดลงต่อเนื่อง จากการใช้ และการเข้าถึงดิจิทัลอย่างก้าวกระโดดในปัจจุบัน ดังนั้นอาจไม่เห็นการพิมพ์ธนบัตรในระยะข้างหน้าเติบโตมากนัก หรือลดลงในที่สุด

     สำหรับธนบัตร และเหรียญกษาปณ์ที่หมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ เดือนก.พ.2565 ล่าสุด ด้านเงินสดที่หมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจมีทั้งสิ้น 2.312 ล้านล้านบาท ลดลงหากเทียบกับ 2 เดือนก่อนหน้า โดยเฉพาะเทียบกับม.ค. ที่มีเงินสดหมุนเวียนในระบบที่ 2.341 ล้านล้านบาท

     ซึ่งหากดูเงินสดหมุนเวียน แม้ ก.พ.ยอดเงินสดหมุนเวียนจะลดลง หากเทียบกับเดือนก่อนหน้า แต่ในส่วนของการเบิกธนบัตรชนิดราคา 1,000 บาทพบว่า มีเบิกใช้สูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ ที่ 1.943 ล้านล้านบาท สะท้อนให้เห็นว่าประชาชนมีการเบิกใช้ธนบัตรแบงก์ 1,000 บาท สำรองเพื่อไว้ใช้จ่ายในช่วงโควิด-19 ค่อนข้างมาก

      อย่างไรก็ตาม หากเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน พบว่าเงินสดที่หมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น หากเทียบกับก.พ.ช่วงเดียวกันปีก่อนที่อยู่เพียง 2.71 ล้านล้านบาท

 

พิสูจน์อักษร โดย....สุรีย์  ศิลาวงษ์