ธ.ก.ส.เล็งออกสินเชื่อลดต้นทุนปุ๋ย5.6หมื่นล้าน

ธ.ก.ส.เล็งออกสินเชื่อลดต้นทุนปุ๋ย5.6หมื่นล้าน

ธ.ก.ส.เตรียมออกสินเชื่อผ่อนปรนเพื่อลดต้นทุนการผลิตแก่เกษตรกรที่ต้องการนำเงินไปซื้อปุ๋ย กำหนดวงเงิน 5.6 หมื่นล้านบาท หลังพบขณะนี้ราคาปุ๋ยเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 87%จากช่วงเดียวกันของปีก่อน​

นายธนารัตน์ งามวลัยรัตน์ ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า ในภาวะที่ ราคาปุ๋ยเคมี ปรับสูงขึ้น ซึ่งส่งผลกระทบต่อต้นทุนการผลิตแก่เกษตรกร ทางธนาคารจึงเตรียมมาตรการสินเชื่อเพื่อช่วยลดต้นทุนการผลิตให้แก่เกษตรกร โดยสินเชื่อดังกล่าวจะเป็นสินเชื่อในลักษณะผ่อนปรน มีกรอบวงเงินไม่ต่ำกว่า 5.6 หมื่นล้านบาท เตรียมเสนอเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการ(บอร์ด)ธนาคารภายในเดือนเม.ย.นี้

 

ทั้งนี้ ราคาปุ๋ยเคมีที่ปรับสูงขึ้น เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน พบว่า เพิ่มขึ้นเฉลี่ย 87% หรือ จากเดิมราคาประมาณ 1 หมื่นบาทต่อตัน เป็น 1.87 หมื่นบาทต่อตัน

“ที่ผ่านมา ธ.ก.ส.จะมีสินเชื่อเพื่อใช้จ่ายในการผลิตอยู่แล้ว ซึ่งจะรวมสินเชื่อที่เกี่ยวกับปุ๋ยด้วย โดยมีวงเงินที่ปล่อยกู้ไปคิดเป็น 30%-35% จากวงเงินสินเชื่อ คงค้าง 5.6 แสนล้านบาท แต่เนื่องจากต้นทุนปุ๋ยที่เพิ่มขึ้นมา 87% เราจึงต้องเข้าไปช่วยเหลือเกษตรกรเพิ่ม ซึ่งบอร์ดธนาคารจะพิจารณาภายในเดือนเม.ย.นี้ เพื่อให้ทันรอบการผลิตข้าวนาปีที่จะถึง”

สำหรับกรอบวงเงินที่ธนาคารจะใช้ในการดำเนินมาตรการดังกล่าวไม่ต่ำกว่า 5.6 หมื่นล้านบาทนั้น เป็นการประเมินจากความต้องการใช้ปุ๋ยของเกษตรในปีการผลิตที่ผ่านมา ที่มีการใช้ปุ๋ยอยู่ที่ปริมาณ 1.5 ล้านตัน โดยเป็นการนำเข้าปุ๋ยเคมีจากต่างประเทศคิดเป็นมูลค่าประมาณ 5.6 หมื่นล้านบาท ซึ่งยังไม่รวมกับปุ๋ยอินทรีย์ และปุ๋ยอินทรีย์ชีวภาพ แต่ยืนยันว่า กรอบวงเงินที่จะให้จะเพียงพอต่อความต้องการของเกษตรอย่างแน่นอน  

ทั้งนี้ สินเชื่อดังกล่าวจะมีรูปแบบที่ผ่อนปรน อาทิ ยกเว้นการชำระดอกเบี้ยในช่วง 2 ปีนี้  หรือ วงเงินการชดเชยต้นทุนที่สูงขึ้นให้กับเกษตรกร หรือ การยกภาระการซื้อปุ๋ยของเกษตรกรให้ไปชำระในปีที่ 3-5 แทน เพื่อแบ่งเบาภาระของเกษตรกรในช่วงที่ปุ๋ยยังมีราคาสูงขึ้นอย่างมาก

ส่วนวงเงินสินเชื่อต่อรายที่จะปล่อยให้เกษตรกรนั้น จะขึ้นอยู่กับรอบการผลิต และพืชที่ผลิต เนื่องจาก เกษตรกรจะใช้ปุ๋ยแต่ละพืชและรอบการผลิตไม่เท่ากัน โดยธนาคารจะใช้ฐานข้อมูลของเกษตรกรที่ได้ขึ้นทะเบียนกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นตัวตั้ง  เช่น เกษตรกรปลูกข้าว 10 ไร่ ใช้ปุ๋ย 10 กระสอบ คิดเป็นค่าปุ๋ยประมาณ 1.5 หมื่นบาท ก็จะให้สินเชื่อในวงเงินดังกล่าว

กรณีเกษตรชาวไร่อ้อยนั้น หากทำไร่อ้อย 100 ไร่ ใช้ปุ๋ย 100 กระสอบ ต้องใช้เงินประมาณ 1 แสนบาท ธนาคารก็จะให้วงเงินสินเชื่อตามการผลิตจริง เป็นต้น ทั้งนี้ เพื่อให้มีการให้สินเชื่อได้ถูกเป้าหมายกับการใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจริง

สำหรับการปล่อยสินเชื่อใหม่ของธนาคารในปีบัญชี 2564/65 นั้น ธนาคารปล่อยได้ 3.5 หมื่นล้านบาท ส่วนปี 2565/66 ตั้งเป้าหมายปล่อยสินเชื่อใหม่ได้ในระดับเท่ากับปีบัญชี 2564/65

ภาพรวมผลประกอบการของธนาคารในปีบัญชี 2564/65

  • ธนาคารมีสินทรัพย์รวม 2.23 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 5.75%
  • สินเชื่อคงค้าง 1.6 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 2.26%
  • หนี้สิน 2.08 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 6.03%
  • รายได้ลดลง 9.7 หมื่นล้านบาท ลดลง 4.98%
  • ค่าใช้จ่าย 9 หมื่นล้านบาท ลดลง 4.79%
  • กำไรสุทธิ 7.2 พันล้านบาท ลดลงจากปีบัญชีก่อนที่มีกำไร 7.9 พันล้านบาท