ส่อง Soft Power ไทย ไปไกล..ทำเงินแค่ไหน? ในเวทีโลก

ส่อง Soft Power ไทย  ไปไกล..ทำเงินแค่ไหน? ในเวทีโลก

เมื่อ Soft Power เบ่งบานเป็นกระแสที่นานาประเทศในโลกต่างให้ความสำคัญมากขึ้น เพราะไม่เพียงประกาศศักดาอำนาจอ่อน อวดศิลปะ วัฒนธรรม แต่ยังเป็นเครื่องยนต์สร้างมูลค่าเศรษฐกิจมหาศาล แล้ว Soft Power ไทย ยืนอยู่ตรงไหนในโลก ติดตาม!

Soft Power มีมานานแล้ว แต่หลายปีที่ผ่านมา กระแสของ Hallyu Star หรือ Korean Wave การส่งออกศิลปิน คอนเทนท์ ตลอดจนวัฒนธรรมเกาหลี ช่วยปลุกให้ “ชาติเอเชีย” รวมถึง “ไทย” ต้องหันกลับมามองอำนาจอ่อนหรือ Soft Power ตัวเองมากขึ้น ว่าอยู่ตรงไหนของโลก

ปฏิเสธไม่ได้ว่า Soft Power ไม่ได้เป็นเพียงเครื่องยนต์กลไกขับเคลื่อน ส่งออกศิลปะ วัฒนธรรม ประเพณี และอีกหลายอย่างของประเทศเพื่อให้โลกประจักษ์รับรู้ อีกมิติสามารถสร้าง “มูลค่าเศรษฐกิจมหาศาล” จากไอเดีย ความคิดสร้างสรรค์ ตลอดจนคลังสมบัติ รากเหง้าที่ติดตัวประเทศชาติมาแต่กำเนิด

หลายครั้งที่มักได้ยินประโยคให้กำลังใจตัวเองว่า “ไทยไม่แพ้ชาติใดในโลก” แต่ในการแข่งขันโชว์ศักยภาพ Soft Power ของพี่ไทย ดูเหมือนจะไปไม่ถึงฝั่งฝั่นเสียที ยิ่งจะไปกรุยตลาดโลก บางครั้งมักจอดแค่เวทีระดับภูมิภาค เพราะขาดแรงหนุนจากภาครัฐ งบประมาณ แม้กระทั่งคนในอุตสาหกรรมเดียวกัน เลยกลายเป็นการ “โชว์เดี่ยว” กำลังไม่พอต่อกรโลกนั่นเอง

ทว่า หากมอง Soft Power ของไทย อะไรบ้างที่โดดเด่น เตะตาชาวโลก และสามารถทำเงินเป็นกอบเป็นกำ เพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ สมาพันธ์สมาคมวิชาชีพวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ จัดงานเสวนาหน้าจอโชว์ ONLINE VARIETY หัวข้อ “SOFT POWER TO GREAT HERO #1 ขายของดีของไทยยังไงให้โลกสนใจ” พร้อมกันนี้ ได้นำข้อมูลจากสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) ซึ่งรวบรวมโดยรายการ BUSINESS WATCH มีสิ่งที่น่าสนใจดังนี้

++ไทยทรงอิทธิพลด้านวัฒนธรรมอันดับ 5 ของโลก

ประเทศไทยขึ้นชื่อว่าเป็นหนึ่งในดินแดนที่ร่ำรวยด้านศิลปะ วัฒนธรรมต่างๆ และข้อมูลการเปรียบเทียบกับ 165 ประเทศทั่วโลก พบว่า ไทยรั้งอันดับ 5 ที่ทรงอิทธิพลด้านวัฒนธรรม โดยเป็นรองอิตาลี ที่นำมาเป็นอันดับ 1 ของโลก ตามด้วย กรีซ สเปน และประเทศอินเดีย

ขณะที่วัฒนธรรมไทยมีศักยภาพโดดเด่น หรือเป็น Soft Power ที่เหนือๆ ได้แก่ อาหาร ภาพยนตร์ ผ้าไทย แฟชั่น มวยไทย ตลอดจนเทศกาล ประเพณีต่างๆ

ส่อง Soft Power ไทย  ไปไกล..ทำเงินแค่ไหน? ในเวทีโลก เจาะลึกเฉพาะ “มวยไทย” เรียกว่าโลกรู้จักเป็นอย่างดี เพราะไม่เพียงถูกนำเสนอผ่านภาพยนตร์ดัง การประกวดนางงาม ยังมีการเปิดเป็นโรงเรียนสอนศิลปะป้องกันตัวในหลากหลายประเทศด้วย ทั้งนี้ มวยไทย ทำรายได้หนุนเครื่องยนต์เศรษฐกิจมูลค่าถึง 1 แสนล้านบาท เฉพาะการตั้งค่ายมวยในประเทศไทย มีมากถึง 5,000 แห่ง และต่างประเทศราว 4,000 แห่ง โดยอัตราค่าเล่าเรียนต่อคอร์สอยู่ระดับ 3,500-5,000 บาทเลยทีเดียว

++ซีรี่ส์วายไทย เขย่าเทรนด์โลก

ในยุคดิจิทัลที่แพลตฟอร์มรับชมวิดีโอออนไลน์(OTT : Over The Top) เบ่งบาน สารพัดเนื้อหา(Content)จากทั่วโลกถูกป้อนเพื่อแย่งเวลาชีวิตและสายตาจากคนดู

เมื่อ Content Is King เพื่อสะกดผู้ชมให้อย่บนแพลตฟอร์มนานที่สุดเท่าที่จะเป็นได้ และหากผู้บริโภคที่สิงสถิตย์อยู่บนแพลตฟอร์มโปรด จะพบว่าจะมีกลุ่มเป้าหมายหลักที่ชื่นชอบรายการ เนื้อหาของแต่ละชาติแตกต่างกันไปตาม “จริต” ของตัวเอง อย่าง เน็ตฟลิกซ์(Netflix) กระแสซีรีย์เกาหลีไม่เคยแผ่วเลย เรื่องไหนมาจะต้องถูกนำมาโปรโมท ถก แสดงความเห็นกัน

ส่วนแพลตฟอร์ม HBO คอคอนเทนท์ตะวันตกจะนำเรื่องโปรดมาแชร์กันให้แฟนๆคนอื่นตามไปดู ส่วนแพลตฟอร์มเอเชียไม่ว่าจะเป็น Viu iQiyi WeTV แน่นอนว่า “ซีรีย์จีน” ยืนหนึ่ง

และยังมีซีรีย์พลังเงียบจาก “ญี่ปุ่น” ที่ครองใจกลุ่มเป้าหมายได้เช่นกัน จากการมีทั้งละคร รายการ อนิเมะ ภาพยนตร์ ป้อนคนดูไม่ต่างคอนเทนท์ประเทศอื่นๆ

ส่อง Soft Power ไทย  ไปไกล..ทำเงินแค่ไหน? ในเวทีโลก

ขณะที่ไทย “ซีรีย์วาย” หรือละคร ที่มีเนื้อหา “ชายรักชาย” เมื่อศิลปินนักแสดงคู่จิ้นคนโปรดถูกจับคู่ สามารถดึงคนดูได้เช่นกัน จากข้อมูล “ซีรีย์วาย” จากไทยฮิตติดลมบนเป็นอันดับ 1 ในเอเชีย สร้างเม็ดเงินสะพัดได้ 1,000 ล้านบาท โดยประเทศที่นิยมชื่นชอบคอนเทนท์​ ได้แก่ ไต้หวัน อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และชาติละตินอเมริกา

แต่ชาติที่นิยมซื้อคอนเทนท์ไปออกอากาศ กลับเป็น ญี่ปุ่น ไต้หวัน และเวียดนาม จึงเป็นโจทย์การตลาดที่ผู้ประกอบการ หรือผู้ผลิต(Content Provider)ต้องหาทางเจาะตลาด ทำเงินให้มากขึ้น

นอกจากการผลิตคอนเทนท์ป้อนคนดู ปฏิเสธไม่ได้ว่าประเทศไทย เป็น Destination ของการถ่ายทำภาพยนตร์ สารคดีต่างๆจากทั่วทุกมุมโลกด้วย โดยปี 2563 ไทยมีการถ่ายทำภาพยนตร์ถึง 74 เรื่อง สร้างเม็ดเงินมูลค่า1,748 ล้านบาท และปี 2564 มีหนังมาถ่ายทำถึง 94 เรื่อง ทำเงินถึง 4,015 ล้านบาท เติบโตกว่า 200%

ขณะที่ตลอด 5 ปีที่ผ่านมา รายได้จากกองถ่ายภาพยนตร์มีมูลค่าถึง 40,000 ล้านบาท แบ่งเป็นจากกองถ่ายโดยตรง 20,000 ล้านบาท และธุรกิจเกี่ยวเนื่องอีก 20,000 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม Soft Power ก่อให้เกิดเศรษฐกิจสร้างสรรค์มูลค่าสงถึง 1.4 ล้านล้านบาท และมีผู้ประกอบการราว 7.9 หมื่นราย อยู่ในอุตสาหกรรม แบ่งเป็นขนาดเล็ก 96.8% กลาง 2.6% และใหญ่ 0.6%

ส่อง Soft Power ไทย  ไปไกล..ทำเงินแค่ไหน? ในเวทีโลก ทั้งนี้ ดูเหมือน Soft Power ของไทย จะสร้างผลงานโดดเด่นไม่น้อย เหมือนจะไปได้ไกล แต่จริงๆอาจยังอยู่แค่ปากซอย เพราะหากวัดขุมกำลัง ศักยภาพกับประเทศชั้นนำ โดยเฉพาะเกาหลีใต้ ไทยยังห่างชั้นอยู่มาก เพราะหากประเมินแค่ ศิลปิน ไอดอลดังอย่าง "บังทัน" หรือวงบีทีเอส “BTS” ทำเงินได้หลัก “หมื่นล้านบาท” ต่อปี นี่แค่วงเดียว หรือหากดูการสร้างซีรีย์ต้นฉบับฉายบนแพลตฟอร์มดังอย่างเน็ตฟลิกซ์ เรียกว่าต่อตอนมีมูลค่าหลายล้านดอลลาร์ แต่ละปี สร้างสรรค์ผลงานหลายเรื่อง จึงเพิ่มมูลค่าเศรษฐกิจ และเป็นเครื่องยนต์ที่ทำให้ Soft Power ของเกาหลีใต้เริ่มยืนหนึ่งในเวทีโลกชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ