โอมิครอน-ภาวะเศรษฐกิจ ฉุดดัชนีเชื่อมั่นผู้บริโภคต่ำสุดในรอบ 6 เดือน

โอมิครอน-ภาวะเศรษฐกิจ ฉุดดัชนีเชื่อมั่นผู้บริโภคต่ำสุดในรอบ 6 เดือน

ม.หอการค้าไทย เผย ดัชนีเชื่อมั่นผู้บริโภค มี.ค.อยู่ที่ 42.0 ปรับลงต่อเนื่องเดือนที่ 3 ต่ำสุดในรอบ 6 เดือน กังวลโอมิครอนระบาด สงครามรัสเซีย-ยูเครน ขณะที่ดัชนีเชื่อมั่นหอการค้าไทยปรับตัวลดลงต่ำสุดในรอบ 4 เดือน ขอรัฐ เร่งประกาศโควิด-19 เป็นโรคประจำถิ่น

นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจเปิดเผยว่า  ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค เดือนมี.ค. 2565 อยู่ที่ระดับ 42.0 ลดลงจากเดือนก.พ. ซึ่งอยู่ที่ระดับ 43.3 ซึ่งเป็นการปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 และต่ำสุดในรอบ  6 เดือน ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวม อยู่ที่ 35.9, ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสการหางานทำ อยู่ที่ 38.9 และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคต อยู่ที่ 51.1

ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคปรับตัวลดลงมาจากผู้บริโภคยังคงมีความกังวลต่อการระบาดของโควิด- 19 ที่มีตัวเลขผู้ติดเชื้อสูง ส่งผลต่อการท่องเที่ยวและภาคบริการที่ยังไม่ฟื้นตัว สถานการณ์สงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครนซึ่งมีผลต่อราคาน้ำมันในตลาดโลกเป็นต้นทุนต่อการผลิตสินค้ากดดันการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยรวมถึงการส่งออก ทำให้ความเชื่อมั่นลดลง รายได้ไม่สอดคล้องกับรายจ่ายที่สูงขึ้นจากราคาน้ำมัน ประกอบกับเศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มชะลอตัวลงจากภาวะสงครามรัสเซีย-ยูเครน  ทั้งนี้ เชื่อว่าแนวโน้มดัชนีความเชื่อมั่นจะมีการปรับตัวดีขึ้นในช่วงเดือนพ.ค.เนื่องจากจะมีความชัดเจนในเรื่องของการลดผลกระทบค่าครองชีพและมาตรการดูแลต่างๆออกมามีผลบังคับใช้  โดยยังคงประมาณการตัวเลขเศรษฐกิจในปีนี้อยู่ที่ 3.5 %หรือ อยู่ในกรอบ 2.5-4.0%

นายธนวรรธน์ กล่าวว่า  ทั้งนี้มองว่า ยังมีสัญญาณบวกที่จะทำให้ความเชื่อมั่นผู้บริโภคเริ่มฟื้นตัวได้ในช่วงปลายไตรมาส 2 จากผลของการที่ ศบค. ได้ผ่อนคลายมาตรการให้แก่ผู้เดินทางเข้าประเทศที่เริ่มมีผลแล้วตั้งแต่ 1 เม.ย. 65 ในการยกเลิกการตรวจ RT-PCR ก่อนเดินทาง 72 ชม. รวมทั้งลดวันกักตัว ซึ่งจะช่วยผ่อนคลายสถานการณ์ด้านการท่องเที่ยวให้กลับมาเป็นแรงหนุนต่อเศรษฐกิจไทยได้ อย่างไรก็ดี ยังต้องติดตามว่ารัฐบาลจะมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจออกมาเพิ่มเติมหรือไม่ เช่น โครงการคนละครึ่ง เฟส 5 ซึ่งหากเริ่มได้ในช่วงเดือนมิ.ย. ก็จะทำให้เศรษฐกิจไทยพร้อมที่จะฟื้นตัวได้ในช่วงปลายไตรมาส 2

สำหรับความกังวลของหลายฝ่ายว่าจะมียอดผู้ติดเชื้อโควิดเพิ่มมากขึ้น หลังจากเทศกาลสงกรานต์นั้นนายธนวรรธน์ กล่าวว่า   หลังสงกรานต์จำนวนติดเชื้อโอมิครอนสูง อาจถึง 5 หมื่นถึง 1 แสนราย เชื่อว่ารัฐไม่น่าจะใช้มาตรการล็อกดาวน์ในภาครวม เพราะเห็นแล้วว่าธุรกิจและเศรษฐกิจจะเสียหาย ซึ่งขณะนี้มีการฉีดวัคซีนโควิดเข็ม 3 กันกว้างขวางแล้ว พร้อมกับเตรียมการเข้าสู่โรคประจำถิ่นพร้อมกับความคิดว่าร่วมอยู่กับโควิดได้ก็จะไม่มีปัญหาต่อระบบเศรษฐกิจ ซึ่งหากรัฐบาลสามารถร่นระยะเวลาการประกาศให้โควิด-19 เป็นโรคประจำถิ่นได้เร็วขึ้นจากเดิมที่ตั้งเป้าไว้ในเดือนก.ค. มาเป็น มิ.ย. ก็จะมีส่วนช่วยให้เศรษฐกิจไทยกลับมาฟื้นตัวได้เร็วขึ้น อย่างน้อยก็ช่วยเพิ่มขึ้นได้ 0.1 - 0.2% ในช่วงครึ่งปีหลัง ในขณะที่หากไม่ทำให้โควิด-19 เข้าสู่การเป็นโรคประจำถิ่น ก็อาจจะมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยปีนี้หายไป 0.5% หรือคิดเป็นมูลค่าประมาณ 7 หมื่นล้านบาท - 1 แสนล้านบาท

ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทยประจำเดือนมี.ค.ปรับตัวลดลงต่ำสุดในรอบ 4 เดือนมาอยู่ที่ระดับ 35.5 เนื่องจากภาคธุรกิจยังคงมีความกังวลต่อการระบาดของโควิด 19 สายพันธุ์โอไมครอนที่ยังคงกระจายตัวอยู่ในหลายพื้นที่และมีตัวเลขผู้ติดเชื้อสูง ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียกับยูเครนมีผลกระทบกับเศรษฐกิจไทยรวมถึงเศรษฐกิจโลกมากขึ้น ราคาสินค้าที่แพงขึ้น โดยเฉพาะราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศค่าเงินบาทถือว่ายังคงมีความผันผวน นอกจากนี้ ภาคธุรกิจยังคงมีความกังวลต่อการขาดแคลนสินค้าเกษตรที่มีแหล่งผลิตในยูเครน ซึ่งจะทำให้ต้นทุนสินค้าเกษตรบางรายการมีราคาสูงขึ้นได้และอาจมีผลต่อการผลิตสินค้าในประเทศไทยเป็นสำคัญ

ทั้งนี้เอกชนมีมีข้อเสนอต่อรัฐบาลคือ การออกมาตรการช่วยเหลือเพื่อบรรเทาราคาน้ำมัน ราคาก๊าซหุงต้ม ค่าไฟฟ้า รวมถึงภาระค่าใช้จ่ายของภาคธุรกิจ และประชาชน ต่อเนื่อง รัฐเร่งช่วยลดต้นทุนภาคการเกษตรที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ยูเครน และรัสเซีย รวมทั้งระดับราคาสินค้าที่เพิ่มสูงขึ้น เร่งเปิดประเทศลดขั้นตอนในการเข้าประเทศสาหรับนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศเร่งให้โควิดเป็นโรคประจำถิ่นและให้ประชาชนสามารถใช้ชีวิตได้ปกติในเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน เร่งกระตุ้นการใช้จ่ายของประชาชนภายในประเทศ และส่งเสริมให้ประชาชนเดินทางออกต่างจังหวัดในรูปแบบที่ปลอดภัยในช่วงเทศกาลวันหยุดยาว และส่งเสริมการลงทุนในประเทศ และสร้างความเชื่อมั่นให้นักลงทุน ลงทุนในสิ่งใหม่ๆ ให้มีความต่อเนื่องให้มีความสามารถการแข่งขันกับต่างประเทศ