เอกชนชงเร่ง "เปิดประเทศเต็มรูปแบบ" 1 พ.ค.65 สาดแคมเปญแรงฟื้นเที่ยวไทย

เอกชนชงเร่ง "เปิดประเทศเต็มรูปแบบ" 1 พ.ค.65 สาดแคมเปญแรงฟื้นเที่ยวไทย

บิ๊กคอร์ปค้าปลีก-ท่องเที่ยว “สยามพิวรรธน์-เครือไมเนอร์ฯ” โหมแคมเปญแรงดึงต่างชาติ รับไทม์ไลน์ “เปิดประเทศ" เต็มรูปแบบ 1 มิ.ย. ตามข้อเสนอกระทรวงท่องเที่ยวฯ ชี้ภาครัฐผนึกเอกชนรวมพลังโปรโมทเที่ยวไทย

ด้าน “สทท.” ชงไอเดียรัฐหนุนค่าบินเช่าเหมาลำให้เอกชน เริ่ม 2 แสนบาทต่อเที่ยว สร้างแรงจูงใจเร่งปลุกเครื่องยนต์เศรษฐกิจ 

หากไทม์ไลน์ “เปิดประเทศเต็มรูปแบบ” เป็นไปตามที่กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาเตรียมเสนอให้ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) พิจารณาให้มีผลตั้งแต่วันที่ 1 มิ.ย.2565 เป็นต้นไป นักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้าประเทศไทยไม่ต้องลงทะเบียนระบบไทยแลนด์พาส (Thailand Pass) ย่อมส่งผลดีอย่างมากต่อภาคเอกชนท่องเที่ยวและค้าปลีกของไทย ผู้ประกอบการหลายรายต่างเตรียมความพร้อมทำการตลาดรอบด้าน โหมแคมเปญโปรโมชั่นดึงชาวต่างชาติเข้ามาจับจ่ายและสัมผัสประสบการณ์ท่องเที่ยวในไทยหลังวิกฤติโควิด-19 ลากยาวนานกว่า 2 ปี

นางชฎาทิพ จูตระกูล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัท สยามพิวรรธน์ ผู้พัฒนาธุรกิจค้าปลีกและอสังหาริมทรัพย์ เจ้าของและผู้บริหาร สยามพารากอน สยามเซ็นเตอร์ สยามดิสคัฟเวอรี่ หนึ่งในพันธมิตรเจ้าของไอคอนสยาม และสยาม พรีเมี่ยม เอาท์เล็ต กรุงเทพฯ กล่าวกับ “กรุงเทพธุรกิจ” ว่า กลุ่มสยามพิวรรธน์เตรียมความพร้อมทุกรูปแบบรอการเปิดประเทศเต็มรูปแบบตั้งแต่ปีที่แล้ว ด้วยการทำตลาดระดับโลก (Global Marketing) มาตลอด ถึงแม้ว่าในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ระบาด เราก็ไม่ได้หยุด ผ่านการสื่อสารและนำเสนอคอนเทนต์กับลูกค้าอย่างต่อเนื่องมาตลอด 2 ปีนับตั้งแต่เกิดวิกฤตินี้

โดยปัจจุบันศูนย์การค้าในเครือสยามพิวรรธน์ทำการตลาดร่วมกับโรงแรมหลายแห่ง เช่น หากนักท่องเที่ยวเช็กอินโรงแรมริมแม่น้ำเจ้าพระยา ก็จะได้ส่วนลดสำหรับชอปปิงที่ไอคอนสยาม ตามกลยุทธ์การสร้างเน็ตเวิร์กเพื่อช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ส่วนศูนย์การค้าที่สยาม เราก็ทำเน็ตเวิร์กกับโรงแรมต่างๆ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มเช่นกัน นอกจากนี้ ยังจัดโปรโมชั่นส่งเสริมการขายแบบครบวงจร เช่น ทำงานร่วมกับพันธมิตรบัตรเครดิต หรือมอบกิฟต์การ์ด มอบเงินคืน และมอบส่วนลดต่างๆ ให้นักท่องเที่ยว

“เครือสยามพิวรรธน์กับภาคธุรกิจท่องเที่ยวต้องกอดกันแน่นเหมือนแฝดสยาม ไม่สามารถแยกจากกันได้”

++ รัฐผนึกเอกชนโหมโปรโมท

โดยหลังจากรัฐบาลกลับมาเปิดระบบลงทะเบียนรับนักท่องเที่ยวประเภท Test & Go รอบใหม่เมื่อวันที่ 1 ก.พ. เริ่มเห็นนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาเที่ยวมากขึ้นเรื่อยๆ ตั้งแต่เทศกาลตรุษจีน เฉพาะเดือน มี.ค.นักท่องเที่ยวจากประเทศเพื่อนบ้าน เช่น ลาว กัมพูชา และเมียนมา เดินทางมาเพื่อรับการรักษาพยาบาลในไทยและชอปปิง นอกจากนี้ยังเห็นนักท่องเที่ยวจีนและตะวันออกกลางเข้ามาชัดเจนมากขึ้น จับจ่ายใช้สอยกันเต็มที่

ทั้งนี้ ภาครัฐและเอกชนต้องร่วมมือกันเดินหน้าเปิดประเทศเต็มรูปแบบให้ประสบความสำเร็จ เพราะด้วยศักยภาพของผู้ประกอบการไทยทุกคนเก่งกันหมด ก่อนเผชิญการระบาดของโควิด-19 ทั้งรัฐและเอกชนต่างโปรโมทจนประเทศไทยขึ้นแท่นอันดับ 1 ที่นักท่องเที่ยวต่างชาติอยากมา 

“เราเคยทำการตลาดกันอย่างไร ก็ควรกลับไปทำในสิ่งที่ตัวเองเคยทำ ช่วยกันทำตลาดแบบไปให้สุด อย่าออมมือ เพื่อไปให้ถึงเป้าหมายของรัฐบาลที่ตั้งเป้าดึงนักท่องเที่ยวต่างชาติมาเยือนไทยอย่างน้อย 10 ล้านคนในปีนี้ เพราะเมื่อนักท่องเที่ยวมาแล้ว จะช่วยสาดกระจายรายได้ไปทั้งประเทศ”

ประเมินว่าสถานการณ์ท่องเที่ยวปีนี้ดีขึ้นแน่นอน เครือสยามพิวรรธน์ได้เตรียมโปรแกรมส่งเสริมการขายสำหรับนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติ ขอแค่รัฐบาลกดสวิตช์เปิดประเทศเต็มรูปแบบ เพราะรอมาเป็นปี ไม่กลัวอะไรแล้ว เอาเลย เราเต็มที่ ภาคเอกชนเองก็ต้องช่วยกันขับเคลื่อนยอดใช้จ่ายเพื่อประเทศไทยด้วยหลังจากเผชิญวิกฤติโควิดกันมา หน้าที่ของศูนย์การค้าคือทำอย่างไรให้คนที่อยู่กับเรามียอดขายของดีให้ได้ภายในปีนี้

++ ไมเนอร์ฯลุยโปรโมชั่นพิเศษ

นายวิลเลี่ยม เอ็ลล์วู๊ด ไฮเน็ค ประธานกรรมการ บริษัท ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า แนวทางการทำตลาดของโรงแรมเครือไมเนอร์ฯ ในประเทศไทย ได้มีการทำ Virtual Tour และ Sales Call ทางออนไลน์กับเอเย่นต์ในประเทศกลุ่มเป้าหมาย โดยปลายเดือน มี.ค.ที่ผ่านมา ตัวแทนโกลบอลเซลส์ของเครือไมเนอร์ฯ จากสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ซาอุดีอาระเบีย และอียิปต์ เดินทางมาประเทศไทยเพื่อเยี่ยมชมและสัมผัสประสบการณ์การเข้าพัก ณ ทุกโรงแรมของเครือไมเนอร์ฯ เพื่อนำประสบการณ์ตรงไปส่งเสริมการโปรโมทและการขาย ขณะที่ฝ่ายขายของโรงแรมในเครือในประเทศไทยได้วางแผนเพื่อเดินทางไปทำ Sales call เริ่มจากประเทศใกล้เคียง ได้แก่ อินเดีย เกาหลี ญี่ปุ่น ตามด้วยประเทศในแถบยุโรป

“นอกจากนี้ยังมีการจัดทำแคมเปญประชาสัมพันธ์ความพร้อมต้อนรับการกลับมาของนักท่องเที่ยว จัดโปรโมชั่นพิเศษที่ตอบโจทย์ความสนใจของลูกค้าในแต่ละประเทศและกลุ่มประเภทของลูกค้า ทั้งกลุ่มนักท่องเที่ยวพักผ่อนทั่วไป (Leisure) กลุ่มครอบครัว และกลุ่มคู่รัก”

++ เปิดประเทศเต็มตัว1มิ.ย.ช้าเกินไป

อย่างไรก็ตาม ตามไทม์ไลน์ที่กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาเตรียมเสนอต่อที่ประชุม ศบค. พิจารณายกเลิกระบบไทยแลนด์พาส (Thailand Pass) ให้มีผลตั้งแต่วันที่ 1 มิ.ย.2565 เป็นต้นไป ซึ่งหมายถึงการเปิดประเทศเต็มรูปแบบนั้น มองว่าเป็นไทม์ไลน์ที่ช้าเกินไป เพราะขณะนี้ "เพื่อนบ้าน" ทยอยเปิดประเทศกันหมดแล้ว รัฐบาลควรประกาศเปิดประเทศในทันที และยกเลิกมาตรการต่างๆ ที่จะทำให้นักท่องเที่ยวขาดความสะดวกสบายในการเดินทาง รวมถึงยกเลิกการขอวีซ่า โดยคาดการณ์ว่าทันทีที่รัฐบาลกดปุ่มเปิดประเทศเต็มรูปแบบ แนวโน้มการฟื้นตัวของนักท่องเที่ยวต่างชาติจะมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว

“ขณะนี้จะเห็นได้ว่าโรงแรมและสถานประกอบการท่องเที่ยวในไทยมีความพร้อมที่จะเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติแล้ว แต่ยังมีอุปสรรคและข้อจำกัด เช่น การมีกฎระเบียบในการเดินทางเข้าประเทศ ซึ่งอาจส่งผลให้นักท่องเที่ยวเกิดความกังวลในการเดินทางว่าจะไม่ได้รับความสะดวกสบาย จึงเลือกเดินทางไปประเทศอื่นที่มีการผ่อนคลายหรือยกเลิกกฎระเบียบแล้ว ด้านจำนวนเที่ยวบินระหว่างประเทศ ปัจจุบันยังมีจำนวนน้อย โดยเฉพาะเที่ยวบินตรงไปตามเมืองท่องเที่ยว อาทิ เชียงใหม่ และกระบี่”

นอกจากนี้ ยังมีเรื่องการขาดแคลนทรัพยากรบุคคลในสายงานโรงแรมและการบริการ เพราะช่วงโควิด-19 ระบาดส่งผลให้พนักงานจำนวนมากมีความจำเป็นต้องออกจากงานและเปลี่ยนอาชีพไปทำงานในสายงานอื่น แม้การท่องเที่ยวจะเริ่มกลับมาฟื้นตัวอีกครั้ง คนที่เคยทำงานโรงแรมหลายคนก็ไม่กลับมาทำงานโรงแรมอีก จึงทำให้ขาดแคลนทรัพยากรบุคคลที่มีทักษะ เครือไมเนอร์ฯจึงมุ่งรักษาพนักงาน (Retention) ที่มีความรู้ความสามารถ และต้องฝึกอบรมพนักงานใหม่ที่ยังไม่มีทักษะ

++ ชงรัฐหนุนค่าเช่าเหมาลำดึงทัวริสต์

ด้านนายชำนาญ ศรีสวัสดิ์ ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) กล่าวว่า สทท.ต้องการให้รัฐบาลพิจารณาร่นไทม์ไลน์เปิดประเทศเต็มรูปแบบเร็วขึ้นอีก 1 เดือน หรือมีผลตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค.เป็นต้นไป เพราะจะช่วยเพิ่มมูลค่ามหาศาลแก่ภาคท่องเที่ยวไทย

นอกเหนือจากการอำนวยความสะดวกในการเดินทางแก่นักท่องเที่ยวแล้ว รัฐบาลควรทุ่มงบประมาณประชาสัมพันธ์และส่งเสริมการตลาดให้กับหน่วยงานรัฐต่างๆ รวมถึงการสนับสนุนค่าใช้จ่ายแก่ภาคเอกชนในการดึงนักท่องเที่ยวต่างชาติ เช่น สนับสนุนค่าเครื่องบินเช่าเหมาลำ (ชาร์เตอร์ไฟลต์) เริ่มต้นที่ 2 แสนบาทต่อเที่ยวบิน เพราะสามารถกระตุ้นการเดินทางเข้ามาอย่างรวดเร็ว เกิดการใช้จ่ายท่องเที่ยวในไทยเฉลี่ย 5-8 หมื่นบาทต่อคน 

“เพราะนี่คือช่วงเวลาที่ต้องเร่งแย่งชิงโอกาสทางการตลาดและผลักดันให้ประเทศไทยมีแรงเดินต่อ สู้กับคู่แข่งต่างประเทศ กลับมาเป็นผู้นำการท่องเที่ยวของโลกอีกครั้ง”

โดยเป้าหมายดึงนักท่องเที่ยวต่างชาติมาไทย 10 ล้านคนของรัฐบาลในปีนี้ สทท.ประเมินว่าไม่เพียงพอกับซัพพลายด้านการท่องเที่ยวไทยที่เคยรองรับนักท่องเที่ยวต่างชาติถึง 40 ล้านคนเมื่อปี 2562 ก่อนเกิดวิกฤติโควิด-19 ควรจะได้อย่างน้อย 40% หรือที่ 16 ล้านคน ถึงจะได้จุดคุ้มทุนทำให้ผู้ประกอบการท่องเที่ยวอยู่รอดและไปต่อได้ โดยภาครัฐและเอกชนต้องร่วมมือกันเตรียมความพร้อมทุกรูปแบบเพื่อให้ได้นักท่องเที่ยวต่างชาติถึงจุดคุ้มทุนดังกล่าว