เจาะภารกิจ "ภาวิต จิตรกร" ทุ่ม 500 ล้าน เดบิวต์ศิลปินเลือดใหม่แกรมมี่

เจาะภารกิจ "ภาวิต จิตรกร" ทุ่ม 500 ล้าน เดบิวต์ศิลปินเลือดใหม่แกรมมี่

จีเอ็มเอ็ม มิวสิค พอร์ตสัดส่วนรายได้หลักแกรมมมี่ เดินหน้าทุ่มเงินลงทุนเป็นประวัติการณ์ ควัก 500 ล้านบาท ปลุกปั้นศิลปินหน้าใหม่ ด้านบริษัทร่วมทุน "วายจีเอ็มเอ็ม" มีคนแห่ออดิชั่นกว่า 60,000 คน จาก 93 ประเทศทั่วโลก ไตรมาส 2 ฟื้นโชว์บิส คอนเสิร์ต หลังรัฐไฟเขียวอนุญาตจัดงาน

หนึ่งในตลาดที่ทำเงินหอมหวล ต้องยกให้ "ศิลปิน" ไอดอล นักร้อง นักแสดง เพราะเป็นเวทีที่เหล่าคนมากความสามารถทำเงินได้เป็นกอบเป็นกำไม่ยากหรือง่ายจนเกินไป ยิ่งหากศิลปินรายใด ดังเป็นพลุแตก! งานจำนวนมากจะเรียงคิวมาให้เลือก พร้อมทำเงินมหาศาล 

ตัวอย่างศิลปิน ไอดอลเกาหลี บางค่ายมีเพียงวงเดียว แต่สร้างรายได้ต่อปีหลัก "หมื่นล้านบาท" แต่นั่นต้องแลกมาด้วยการที่ไอดอลฝึกหนัก ทั้งร้อง ซ้อม เต้น จนมีคนมากมายทั่วโลกรัก คลั่งไคล้ พร้อมเปย์ และสนับสนุนไม่ว่าศิลปินคนโปรดจะทำ หรือหยิบจับอะไร

ปีที่ผ่านมา "จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่" ค่ายเพลงเบอร์ 1 ของเมืองไทย จับมือพันธมิตรค่ายเพลงเกาหลี เพื่อตระเตรียมเดบิวต์ศิลปินไทยให้แจ้งเกิดในตลาดระดับภูมิภาค หรืออาจดังไกลถึงเวทีโลก แต่ปี 2565 ภารกิจการปั้นศิลปิน นักร้องยังมีอีกมาก โดย "ภาวิต จิตรกร" ยังรับบทแม่ทัพเพื่อทำให้ธุรกิจดังกล่าวเติบโตต่อท่ามกลางวิกฤติโรคโควิด-19 ที่ยังไม่จางหาย

ในฐานะประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายธุรกิจ จีเอ็มเอ็ม มิวสิค บริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด (มหาชน) ปีนี้ "ภาวิต" วางยุทธศาสตร์ไว้มากมาย เฉพาะแนวทางการขับเคลื่อนธุรกิจจีเอ็มเอ็ม มิวสิค บริษัทเตรียมงบประมาณถึง 500 บาท เพิ่มจากปีก่อนที่ใช้ไปประมาณ 300 ล้านบาท เพื่อลงทุนสร้างศิลปินใหม่ๆเสริมทัพความแข็งแกร่ง จากปัจจุบันมีศิลปิน นักร้องกว่า 300 ชีวิต ครอบคลุมทุกแนวเพลง เช่น ลูกทุ่ง ป๊อป ร็อก ฯ

ปีที่ผ่านมา บริษัทมีการจัดตั้งบริษัทร่วมทุน “วายจีเอ็มเอ็ม” (YG”MM) เพื่อพัฒนาศิลปินระดับโลกแบบครบวงจร ซึ่งมีการประกาศออดิชั่นผู้ที่จะมาเป็นศิลปินฝึกหัด จนมีผู้สนใจมากกว่า 60,000 คน จาก 93 ประเทศทั่วโลก

ทั้งนี้ แนวโน้มธุรกิจเพลงยังมีการขยายตัวต่อเนื่อง โดยพฤติกรรมผู้บริโภคหันไปฟังผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ ดิจิทัลมากขึ้น และปัจจุบันการเสพคอนเทนท์ มีระยะเวลาหรืออายุสั้นลงเรื่อยๆ แต่เพลง ยังเป็นคอนเทนท์ที่มียอดการรับชม(วิว)เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และสร้างรายได้ อย่างแกรมมี่ โกลด์ มีศิลปินเพลงลูกทุ่งอย่าง “มนต์แคน แก่นคูณ” ที่เป็นอันดับ 1 ตลอดกาลที่เพลงมียอดวิวสูงสุด โดยปี 2564 ยอดวิวแยู่ที่ 808 ล้านวิว ซึ่งเป็นแชมป์ 2 ปีซ้อนน จากปี 2563 โกยยอดกว่า 976 ล้านวิว

นอกจากนี้ บริษัทยังมีการพัฒนาแอปพลิชันเพลิน(Plern) แพลตฟอร์มฟังเพลงของประเทศไทย ซึ่งปัจจุบันมียอดขายดาวน์โหลดทะลุ 1.1 ล้านครั้ง หลังจากเปิดตัวเพียง 3 เดือน และมียอดสตรีมฟังเพลงภายในแอปฯกว่า 6 แสนครั้ง

“เราใช้เงินลงทุนมากเป็นประวัติศาสตร์เพื่อสร้างศิลปินใหม่อย่างมีนัยยะ เพื่อรองรับการฟื้นตัวของตลาด ทั้งการแสดงคอนเสิร์ต โชว์บิสต่างๆ มีการสร้างแพลตฟอร์มเพลินแอปพลิเชคชันฟังเพลงของประเทศไทย เพื่อทำให้อีโคซิสเทมธุรกิจเพลงมีความแข็งแกร่งมากขึ้น”

นอกจากการปั้นศิลปินใหม่ ปีนี้บริษัทพร้อมกับมาจัดคอนเสิร์ต โชว์บิสต่างๆ ซึ่งคาดว่าจะคิกออฟกิจกรรมได้ช่วงเดือนเมษายนนี้ หลังจากได้รับใบอนุญาตให้จัดงาน ขณะที่ 2 ปีที่ผ่านมา ผู้ประกอบการร่วมมือกับภาครัฐเพื่อป้องกันโรคโควิด-19 ระบาด จึงมีการงดคอนเสิร์ต โชว์บิส แต่บริษัทมีการปรับตัวหันไปรุกช่องทางออนไลน์มากขึ้น เพื่อหาโอกาสเติบโต

“2 ปีที่ผ่านมา ธุรกิจกระทบค่อนข้างมาก เมื่อจัดอีเวนท์ โชว์บิสไม่ได้ เราเปลี่ยนไปลุยออนไลน์ ไม่งอมืองอเท้ารอสถานการณ์ให้ดีขึ้น ต้องปรับตัว เพราะทุกคนโดนหมด ทางออกจัดคอนเสิร์ต ถ่ายงานไม่ได้ แต่การอยู่ในอุตสาหกรรมครีเอทีฟ เราจึงย้ายโลกกายภาพหรือPhysical ไปสู่ดิจิทัล นี่คือการทรานส์ฟอร์ม ที่สามารถทำเงินได้ตลอดเวลา”

ปี 2565 บริษัทยังให้ความสำคัญกับการรุกบริการกลยุทธ์การตลาดเชิงดนตรีหรือมิวสิค มาร์เก็ตติ้งด้วย ซึ่งจากทิศทางที่รัฐจะประกาศให้โรคโควิด-19 เป็นโรคประจำถิ่นช่วงกลางปี คาดว่าทำให้ลูกค้ากลับมาใช้จ่ายเงินเพื่อทำแคมเปญสื่อสารการตลาด จึงต้องการผลักดันให้การฟื้นตัวกลับมาเป็น V-Shape

นายภาวิต กล่าวอีกว่า นอกจากการวางแผนธุรกิจระยะสั้นเพื่อสร้างการเติบโตฝ่าวิกฤติโรคระบาด บริษัทยังวางแผนระยะยาว 5 ปี ในการเคลื่อนธุรกิจเพลงด้วย

“แผนระยะยาวไม่ทำไม่ได้ ต้องเจาะลึกแต่ละเซ็กเมนต์ธุรกิจว่าอะไรคือแหล่งสร้างรายได้อย่างยั่งยืน แต่ละตัวมีอายุขัยอย่างไร เพราะท่ามกลางโลกธุรกิจหมุนเร็ว การคิดวางแผนงานระยะสั้น อาจทำให้ยืนต่อกรในโลกอนาคตไม่ได้”

อย่างไรก็ตาม แกรมมี่ฯรายงานผลการดำเนินงานปี 2564 ต่อตลาดหลักทรัพย์ฯ บริษัทมีรายได้กว่า 3,835 ล้านบาท ลดลง 22.9% กำไรสุทธิกว่า 497 ล้านบาท จากปี 2563 ขาดทุนกว่า 175 ล้านบาท ทั้งนี้ธุรกิจเพลงสร้างรายได้กว่า 1,816 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 47.4% โดยดิจิทัล มิวสิค และการขายลิขสิทธิ์มีรายได้เติบโตขึ้น