‘กรีนบอนด์-สินเชื่อสีเขียว’ แรงหนุนบ้าน-คอนโดติดแผงโซลาร์-อีวีชาร์จ

‘กรีนบอนด์-สินเชื่อสีเขียว’ แรงหนุนบ้าน-คอนโดติดแผงโซลาร์-อีวีชาร์จ

กระแสตื่นตัวในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมทำให้กรีนบอนด์และสินเชื่อสีเขียวของสถาบันการเงินเป็นแรงกระตุ้นชั้นดี! ให้ดีเวลลอปเปอร์หันมาพัฒนาโครงการสีเขียว สังเกตได้จากการนำเสนอบ้าน-คอนโดติดแผงโซลาร์-อีวีชาร์จเจาะคนรุ่นใหม่หัวใจรักษ์โลก!

ดึงกลไกไฟแนนซ์เชียลกระตุ้น

เกษรา ธัญลักษณ์ภาคย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เสนา ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า Green Bond  เป็นการสร้างแรงกระตุ้น (Incentive) จากปัญหาโลกเกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) อย่างรุนแรง และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย มีนโยบายสนับสนุนการดำเนินธุรกิจคาร์บอนต่ำ ประกอบกับทุกภาคส่วนกำลังสร้างอีโคซิสเต็มที่จะช่วยแก้ปัญหา Climate Change เดินหน้าไปได้อย่างยั่งยืน เสมือนการซื้อรถอีวี หากไม่มีสถานีชาร์จจำนวนมากพอ คนจะไม่กล้าซื้อรถอีวี ตลาดจะเป็นนิชมาร์เก็ตมากๆ ดังนั้นการที่ทำให้เป็นแมสได้ต้องสร้างความสมบูรณ์ของอีโคซิสเต็ม

“ช่วงแรกจำเป็นต้องสร้างแรงกระตุ้นเพื่อจูงใจให้คนอยากเข้ามาร่วมก่อนเหมือนโซลาร์เซลล์ที่รัฐบาลให้การสนับสนุนคนที่ทำได้ 10 บาทต่อหน่วย เพื่อดึงให้คนเข้ามาทำเช่นเดียวกับกรีนบอนด์ หากเราระดมทุนนำไปทำอะไรที่เกี่ยวข้องกับเรื่องกรีน จะเกิดข้อดีตามมา เช่น ทำโครงการขึ้นมาแล้วลดคาร์บอนเครดิตได้เท่านี้อาจทำให้ได้ประโยชน์ด้านดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นเท่าไร ซึ่งเป็นรูปแบบหนึ่งของการระดมทุน”

ปัจจุบัน ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ระบุว่า บ้านไหนที่ติดโซลาร์เซลล์จะให้ดอกเบี้ยพิเศษ เป็นการกระตุ้นให้ผู้บริโภคอยากติดโซลาร์เซลล์มากขึ้น เพราะต้องการผลักดันกระแสรักษ์โลก ซึ่งสามารถทำมิติเดียวกันกับกลุ่มผู้ประกอบการได้ โดยดูว่าผู้ประกอบการธุรกิจระดมทุนจากช่องทางไหน ถ้าผ่านตลาดทุนก็ให้ Incentive เช่นเดียวกับการกระตุ้นรายย่อยด้วยสินเชื่อสีเขียวผ่านธนาคาร สะท้อนความพยายามในการใช้กลไกของ “ไฟแนนซ์เชียลเซ็นเตอร์” เพื่อทำให้การแก้ปัญหา Climate Change ไปได้เร็วขึ้น

อย่างไรก็ดี การที่ผู้ประกอบการจะออกกรีนบอนด์เพราะอยากได้เรตพิเศษจากกรีนบอนด์คงไม่ใช่!  เหมือนคนจะซื้อบ้านเพราะอยากได้ดอกเบี้ยพิเศษจากโซลาร์เซลล์ แต่กลไกของไฟแนนเชียลเซ็นเตอร์ จะทำให้คนอยากทำมากขึ้น กู้เพราะได้ดอกเบี้ยต่ำกับบ้านที่ตนเองชอบ เช่นเดียวกับผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ที่พัฒนาโครงการกรีนขึ้นมา แม้ต้นทุนแพงขึ้น แต่ได้บอนด์ที่ถูกลง จูงใจให้อยากทำมากขึ้น

สร้างแต้มต่อธุรกิจตอบโจทย์คนหัวใจสีเขียว

"เราปฏิเสธไม่ได้ว่า Green Content  มีผลต่อการทำธุรกิจในอนาคตอย่างมาก คนที่สนใจสิ่งแวดล้อมไม่ได้มีแต่เพียงนักอนุรักษ์อย่างแต่ก่อน แม้แต่ในกลุ่มนักลงทุนก็ยังมองหาบริษัทที่ได้รับการสนับสนุนเงินทุนจาก Green Bond เพราะจะมีต้นทุนทางการเงินที่ต่ำกว่า! ทำให้มีศักยภาพในการเติบโตยั่งยืนสูงกว่า และในกลุ่มลูกค้าก็มองว่าธุรกิจที่มีความรับผิดชอบต่อสังคมจะสะท้อนภาพลักษณ์ที่ดีให้กับตัวตนของเขาด้วยเช่นกัน" ฐิติมา รุ่งขวัญศิริโรจน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สิงห์ เอสเตท จำกัด (มหาชน) กล่าวและว่า

เมกะเทรนด์ดังกล่าวเกิดขึ้นเพราะแรงบีบจากวิกฤติโควิด-19 สถานการณ์ระดับโกลบอลอิมแพ็คที่ส่งผลต่อการพัฒนากลยุทธ์สินค้าและบริการ ซึ่งทุกวันนี้เราไม่สามารถปฏิเสธ “สีเขียว” ได้เลย ผู้บริโภควันนี้พูดถึง Green Living, Sustainability Journey, BCG (Bio-Circular-Green Economy) แม้กระทั่ง วัยรุ่น กลุ่มแฟชั่นนิสต้า ผู้นำเทรนด์ต่างๆ ก็ใส่ใจเรื่องเหล่านี้ รวมถึง Green Bond ที่กำลังมา

นั่นหมายความว่า ถ้าคุณดูแลสิ่งแวดล้อมดีแค่ไหนคุณจะมีแต้มต่อในการทำธุรกิจ! นั่นคือ สามารถระดมทุนได้ต้นทุนต่ำกว่าคนอื่น

แม้ปัจจุบันไทยยังไม่เห็นภาพชัด แต่ในประเทศอื่นให้ความสำคัญมาก โดยเฉพาะกลุ่มนักลงทุนจากสแกนดิเนเวีย 20% มีคำถามเกี่ยวกับเรื่องกรีนว่า มีการบริหารจัดการอย่างไร? ดังนั้นเป้าหมายระดับอินเตอร์เนชันแนล สแตนดาร์ด บนมาตรฐานโลกที่ได้รับการยอมรับ นั้นกำลังเป็นมาตรฐานใหม่ของธุรกิจ

‘กรีนบอนด์-สินเชื่อสีเขียว’ แรงหนุนบ้าน-คอนโดติดแผงโซลาร์-อีวีชาร์จ

 กระทุ้งซัพพลายและดีมานด์

วสันต์ ศรีรัตนพงษ์ ประธานเจ้าหน้าที่กลุ่มพัฒนาธุรกิจ บริษัท พร็อพเพอร์ตี้ เพอร์เฟค จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า แผนความร่วมมือกับพันธมิตรในการติดตั้งโซลาร์รูฟท็อป จำนวน 30,000 หลัง และ 50,000 หลัง สำหรับการติดตั้งเครื่องชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าในบ้าน เป็น โอกาสดีในการเข้าร่วมโครงการสินเชื่อสีเขียว (Green Finance) ของธนาคารหลายแห่งที่ออกมาสนับสนุนผู้บริโภค ผู้ผลิต และ ผู้ลงทุนกรีนบอนด์ ไปสู่เศรษฐกิจสีเขียว หากโครงการไหนที่มีวัสดุที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเข้าเงื่อนไขอยู่แล้ว ยิ่งมีแผงโซลาร์- EV ชาร์จ สามารถเข้าโครงการสินเชื่อสีเขียวได้

“เป็นเทรนด์ที่ผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ต้องให้ความสำคัญ แม้ว่าต้นทุนการทำโครงการจะเพิ่มขึ้นแต่ในระยะยาวจะส่งผลดีในแง่ของการช่วยแก้ปัญหา Climate Change ดังนั้น มาตรการทางการเงินจะเข้าช่วยสร้างแรงกระตุ้นให้เกิดขึ้นทั้งในส่วนของซัพพลายและดีมานด์”

อย่างไรก็ดี ในช่วงแรกเทคโนโลยีมีต้นทุนสูง การที่รัฐบาล และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีมาตรการสนับสนุนจะทำให้เกิดการใช้มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นแผงโซลาร์ หรือ EV ชาร์จ ในโครงการบ้านและคอนโดมิเนียมแทนที่ผู้บริโภคซื้อติดตั้งเอง ทางผู้ประกอบการจะดำเนินการให้ส่งผลต่อต้นทุนลดลงจาก Economies of scale

“เมื่อธนาคารเห็นความตั้งใจของผู้ประกอบการในการทำธุรกิจสีเขียวจะมีกรีนโลนเข้ามา รวมถึงการระดมทุนผ่าน Green Bond ช่วยลดต้นทุนทางการลงได้บ้าง ถือเป็นจุดเริ่มต้นและเทรนด์ที่เข้ามามีบทบาทสำคัญกับผู้ประกอบการในการพัฒนาโครงการให้มีความเป็นกรีนมากขึ้น”

เช่นเดียวกับ อภิชาติ เกษมกุลศิริ หัวหน้าคณะเจ้าหน้าที่บริหารด้านการเงิน บริษัท แอล.พี.เอ็น.ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) มองว่า การออก Green Bond เป็นที่เทรนด์ที่กำลังจะมา โดยบริษัทที่ออกจะต้องนำเงินที่ได้ไปใช้ในโครงการที่เป็นกรีนจริงๆ น่าจะเห็นในอีก 3-5 ปีข้างหน้า หลังมีการกระตุ้นจากธนาคารในการสนับสนุนสินเชื่อออกมารองรับเทรนด์รักษ์โลก ทำให้โครงการอสังหาริมทรัพย์ลงทุนเรื่องโซลาร์เซลล์ และ EV ชาร์จ ให้ลูกบ้านมากขึ้น